
กรีน สไตล์ เป็นหนึ่งในองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายในการมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas)
บริษัท กรีน สไตล์ จำกัด เป็นองค์กรที่ให้การปรึกษาเพื่อขอการรับรอง คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) คาร์บอนฟุตพริ้นท์อีเว้นท์ (Carbon Neutral Event) ที่ปรึกษาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก และ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในตอนนี้เราจะไปทำความรู้จักบริษัท กรีน สไตล์ จำกัด กับเรื่องราวการลดก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันนำไปสู่ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากบทสัมภาษณ์ของ คุณแหม่ม จรัญพร เลิศสหกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฯ
จุดเริ่มต้นของ กรีน สไตล์
คุณแหม่ม เล่าว่ากว่าจะมาเป็นบริษัท กรีน สไตล์ จำกัด ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่มาที่ไปก็คือ จุดเริ่มต้นก่อนหน้านี้ทีมงานทุกคนเคยทำงานเกี่ยวกับด้าน NGO หรือ มูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยกันมาก่อน ส่วนตัวคุณแหม่มเองก็จบด้านบริหารมา แต่ด้วยที่ตนเองมีความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อม จึงไปเรียนต่อในด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แล้วก็จบออกมาทำงานมูลนิธิ แต่ปรากฏว่าลักษณะงานมันไม่ยั่งยืน เพราะต้องคอยหาโครงการระดมเงินบริจาคอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มูลนิธิสามารถคงอยู่ต่อไปได้ และไม่ใช่แค่มูลนิธิของคุณแหม่มเท่านั้น เพราะมูลนิธิในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยการระดมเงินบริจาคแทบทุกที่ ดังนั้นการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หากจะให้สำเร็จได้จริง และ อยู่ได้อย่างยั่งยืน จะหวังรอคอยการบริจาคไม่ได้

จุดเริ่มต้นของวิสาหกิจเพื่อสังคม
ในตอนนั้นกระแสวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise กำลังเข้ามาใหม่ๆ คุณแหม่มเล็งเห็นว่าการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมน่าจะตอบโจทย์ได้ ซึ่งยังคงเลือกทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สามารถหาเงินก็ได้ และยังสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายที่อยากทำไปได้ด้วย ในตอนที่โปรเจคสุดท้ายของมูลนิธิจบ คุณแหม่มจึงเลือกเปลี่ยนเส้นทางมาดำเนินธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมเลย ซึ่งทีมงานทั้งหมดที่เคยทำมูลนิธิอยู่ด้วยกันก็ยกขบวนกันออกมาทำวิสาหกิจเพื่อสังคมกันหมด
“เราอยากเห็นสิ่งแวดล้อมแบบนี้ อยู่กับเราไปนานๆ อยู่กับลูกหลานของเราตลอดไป”
เมื่อเลือกลงมาทำธุรกิจในด้านสิ่งแวดล้อม คนจะตั้งคำถามกันเยอะว่าทำไมต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม? ทำไมไม่ช่วยเหลือคน หรือสังคมโดยตรง? ซึ่งคุณแหม่มเล่าว่าการทำงานทุกวันนี้ เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัว คุณแหม่มเองชอบสิ่งแวดล้อม ชอบสีเขียว ชอบต้นไม้ เพราะเมื่อมองไปแล้วให้ความรู้สึกสดชื่น เมื่อได้ลองไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและเยาวชน อย่างงานฝึกอบรมหรืองานให้ความรู้ต่างๆ ก็ยิ่งพบว่าตัวเองหลงใหลในงานด้านนี้มาก จึงเลือกที่จะทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมนี้ต่อไปเรื่อยๆ
“การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องง่าย”
การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ตอบคำถามคนอื่นได้ยากมากคือทำแล้วได้อะไร? แก้ปัญหาแล้วดีขึ้นไหม? เข้าอบรมแล้วสิ่งแวดล้อมจะมีอะไรดีขึ้นอย่างไร? โชคดีที่ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจค้นคว้าและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อกระจายความรู้และสิ่งที่มนุษย์เราสามารถทำได้เพื่อรักษาโลกเอาไว้ ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงเป็นตัวชี้วัดในการประเมินความสำเร็จทางรูปธรรมได้
“เรามีเป้าหมายในการหาวิธีทำงานอย่างไรให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด”
หลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่องของก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้น จึงเริ่มมีแรงผลักดันจากทางภาครัฐและภาคเอกชน มีเรื่องของกฎหมาย ข้อกำหนด และนโยบายบริษัท เช่น ทุกบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะต้องได้รับการตรวจประเมินก๊าซเรือนจก ซึ่งเป็นทิศทางการดำเนินการที่สอดคล้องกับงานของกรีนสไตล์อย่างการเป็นที่ปรึกษาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินก๊าซเรือนกระจก และ Carbon Footprint ขององค์กรต่างๆพอดี
“คนเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องที่ต้องเปลี่ยนเสียก่อน”

ด้วยเป้าหมายของกรีนสไตล์เอง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่คนเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ผ่านทางสื่อต่างๆ หรือการอบรม เพราะเมื่อพวกเขามีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว พวกเขาจะเริ่มตระหนักถึงปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและทัศนคติต่อไปว่าพวกเขาควรมีส่วนร่วมอย่างไร? ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางไหน?
สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่บริษัทฯ มีการรวบรวมและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประเภท Green Product, Eco Product และ Green Living Product มีการนำสินค้าชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาช่วยในเรื่องส่งเสริมการขาย มีทั้งที่ได้รับรองและยังไม่ได้รับรอง เพราะการรับรองก็มีค่าใช้จ่าย ทางกรีนสไตล์จึงนำสินค้าเหล่านี้มาส่งเสริมการขายให้พวกเขาขายได้ เมื่อขายได้พวกเขาก็จะสามารถยกระดับมาตรฐานตัวเองให้ได้รับการรับรองและเพิ่มคุณภาพของสินค้าในรูปแบบต่างๆได้

“การใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเหมือนการที่เราจ่ายเพื่อซื้ออนาคต จ่ายเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่สิ่งแวดล้อมเราดีขึ้น คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น”
ทุกคนจะมองว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วๆ ไปที่เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง แต่จริงๆ แล้วมูลค่าที่สูงขึ้นเป็นเพราะว่าปริมาณการซื้อยังน้อย เมื่อคนซื้อน้อยราคาจึงสูง และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาสูงก็คือผู้ผลิตได้จ่ายค่าดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเราไปแล้ว สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะทำมาจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ไม่เป็นมลพิษในอนาคต หากมีคนช่วยกันซื้อเยอะขึ้นราคาก็จะถูกลง
การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19
คุณแหม่มเล่าว่า ตัวบริษัทฯ เองก็มีโมเดลธุรกิจเปลี่ยนไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน การขายสินค้าจำเป็นต้องระงับไป เพราะการสั่งสินค้าเข้ามาสต็อกไว้มีต้นทุนที่สูง และผลกระทบจากโควิด-19 เองก็ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าเหล่านี้ได้มากเท่าที่ควร ในปัจจุบันจึงเน้นด้านงานบริการ ด้านการให้คำปรึกษา ให้ความรู้อบรมในเรื่อง สิ่งแวดล้อม ก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ เป็นต้น ในตอนนี้บริษัทฯ มีงานบริการด้านการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งในอนาคตมีเป้าหมายว่าอยากจะยกระดับให้สามารถกลายเป็นผู้ตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกและ Carbon Footprint ได้ เพื่อให้อยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
“ก่อนที่เราจะประเมินคนอื่น เราก็ประเมินตัวเองก่อน”
คุณแหม่มอธิบายถึงเป้าหมายของบริษัทฯ เอาไว้ว่า การตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกไม่ควรเริ่มจากลูกค้า แต่ควรเริ่มจากตัวเองก่อน ในการทำงานตรงนี้บริษัทฯ ก็มีเป้าหมายว่าต้องลดก๊าซเรือนกระจกและ Carbon Footprint ของตัวเองให้ได้ก่อน ตรวจวัดประเมินตัวเองว่าได้ผลลัพธ์มากน้อยแค่ไหน เพราะเราต้องเรียนรู้และทำให้ได้ก่อนที่จะมอบความรู้ให้คนอื่นและช่วยเหลือแนะนำคนอื่น

“ก๊าซเรือนกระจกและ Carbon Footprint เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ประเมินได้ รับรู้ได้ ตรวจสอบได้”
บริษัทฯ ไม่ได้ตั้งเป้ากับลูกค้าว่าต้องลดให้ได้เท่าไร? แต่จะเป็นการให้คำแนะนำลูกค้าแทน ซึ่งตอนนี้มีโครงการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการคำนวณเบื้องต้นว่าถ้าลดกระดาษได้เท่านี้ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไร? เป็นต้น เป้าหมายของบริษัทฯ จริงๆ แล้วก็คืออยากให้ทุกคนรู้ว่าการลดก๊าซเรือนกระจกและ Carbon Footprint เป็นเรื่องง่าย การเห็นตัวเลขว่าเราสร้างความเปลี่ยนแปลงไปได้เท่าไร? สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนกำลังใจในการช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
บทสรุป
คุณแหม่มได้ฝากไว้ว่า การที่จะทำธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยดำเนินไปได้อย่างยาวนานและมั่นคง เราต้องตอบให้ได้ว่าเราแก้ปัญหาได้จริงๆ หรือเปล่า? บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องไปสัมภาษณ์ใครเพื่อวัดความสำเร็จ แต่การได้รับการรับรองในรูปแบบต่างๆ ก็สามารถเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเราได้เช่นกัน อย่างกรีนสไตล์เองก็ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ลูกค้าก็จะเข้าไปพบข้อมูลของพวกเราได้จากตรงนั้น
ถ้าวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องการวัดความสำเร็จ สามารถลองมองหาช่องทางที่จะทำให้สินค้าหรือบริการได้รับการรับรองหรือได้รับมาตรฐานในด้านที่ตัวเองทำ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และจะยิ่งทำให้ธุรกิจไปได้ดีมากยิ่งขึ้น มีช่องทางที่กว้างมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ธุรกิจไปได้ดี
สำหรับในเรื่องของสิ่งแวดล้อมบางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่สิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ซึ่งบางครั้งมันใกล้เราจนเราสามารถสัมผัสมันได้เลยด้วยซ้ำ และโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ก็ไม่ได้ไกลเกินกว่าที่คุณจะช่วยรักษาเอาไว้เลย พฤติกรรมของเราจะถูกปรับเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อเราเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น เปลี่ยนมันเป็นความตระหนัก แล้วในตอนนั้นเราจะรู้ถึงก้าวต่อไป ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเอง
“ถ้าเราได้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ก็แปลว่าเราช่วยให้โลกเย็นลง ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้”
กรีนอย่างมีสไตล์ | The Practical Sustainability วิสาหกิจ “เพื่อน” สังคม
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ช่องทางการติดต่อ
Tel: 089-515-0247
E-mail: greenstyle.se@gmail.com
Website: http://greenstylethailand.com/
Fanpage: https://www.facebook.com/GreenstyleSE
สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)