กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund เรื่องที่คนทำงานหลายคนอาจจะมองข้าม หลายคนไม่สนใจมองว่าไม่มีประโยชน์ แต่หารู้ไม่ว่า เรื่องนี้สามารถช่วยเราให้ถึงเป้าหมายเกษียณได้ง่าย และไวกว่าเดิมอีกด้วย
ความกังวลที่ติดอันดับต้นๆ ของมนุษย์เงินเดือนในยุคนี้ ก็คือ เรื่องไม่มีเงินพอใช้ในยามเกษียณ เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะมาก มนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้น แต่คนส่วนมากกลับมีเงินไม่พอสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ
ปัญหาหลักๆ ก็คือ
“คนส่วนมากเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณช้าเกินไป”
เพราะคิดว่ายังไกลตัว ถ้าเริ่มต้นออมเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน อาจทำให้มีเงินเพียงพอ ที่จะเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่ความเป็นจริง มาเริ่มรู้ตัว มาเริ่มออมกันจริงๆ ก็อายุ 30 กว่าๆ เกือบ 40 กันเข้าไปแล้ว ระยะเวลาในการออมจนถึงเกษียณเหลือน้อย นั่นเลยทำให้ไม่มีเงินพอใช้ในยามเกษียณ
“คนส่วนมากเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณน้อยเกินไป”
อาจด้วยการไม่เข้าใจ หรือ ประเมินค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในยามเกษียณผิดไป เช่น ลืมคิดถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาล อื่นๆ หรือ ขาดวินัยในการออมเงิน
ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ไม่มีเงินพอใช้ในยามเกษียณ
“คนส่วนมากขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการลงทุน”
ความไม่รู้ ก็ทำให้เสียโอกาส ยังมีหลายคนคิดว่าการลงทุนคือการฝากธนาคาร แท้จริงแล้ว การฝากเงินธนาคารคือการ “ออมเงิน” เสมือนการเก็บเงินไว้ในที่ที่ปลอดภัย ได้รับผลตอบแทนคือดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยอาจโตไม่ทันเงินเฟ้อและผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายเกษียณได้อย่างแน่นอน
“การลงทุน” คือการทำให้เงินงอกเงย หรือเอาเงินไปต่อเงินให้โตขึ้นเรื่อยๆ มีหลายแบบ
1. ลงทุนในธุรกิจ หรือในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ
2. ลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน อาจลงทุนเอง เช่น ลงทุนในหุ้น หุ้นกู้ หรือ ผ่านผู้เชี่ยวชาญโดยลงทุนผ่าน กองทุนรวมก็ได้
หากเราแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายเกษียณได้เร็วขึ้น
แต่การลงทุนก็จะมาพร้อมความความเสี่ยง ดังนั้นควรเลือกลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ด้วย
ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนจึงมีส่วนสำคัญมากสำหรับคนที่ต้องการเกษียณแบบไม่เป็นทุกข์ หรือเกษียณสุข
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตัวช่วยชั้นดี เพื่อให้เรามีเงินพอใช้ในยามเกษียณ”
ทำไมถึงเรียกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตัวช่วยชั้นดี ก็เพราะว่า มันมีส่วนของนายจ้างที่สบทบให้เราด้วยไง
มาทำความเข้าใจในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบบง่ายๆ กันอีกสักรอบ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บออมเงินให้ลูกจ้างใช้จ่ายตอนเกษียณอายุแล้ว และถือว่าเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง
แต่ตอนนี้ตามกฏหมาย ไม่ได้บังคับว่าทุกบริษัทจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นสวัสดิการที่ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้
หลักการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ
ลูกจ้างหรือสมาชิก ซึ่งถูกหักเงินส่วนหนึ่งจากเงินเดือนเข้ากองทุนเป็นรายเดือน หรือที่เรียกกันว่า “เงินสะสม”
ส่วนนายจ้าง ซึ่งจะจ่ายเงินอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน นอกเหนือจากการจ่ายเงินค่าจ้างประจำให้แก่ลูกจ้าง โดยเงินส่วนนี้จะเรียกกันว่า “เงินสมทบ”
เงินสะสม ที่จะถูกหักทุกเดือน จำนวนที่จะถูกหัก ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกจ้าง และกฏข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง เช่น ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง
เงินสบทบ ที่นายจ้างจะจ่ายสบทบให้เรา ก็ขึ้นอยู่กับกฏข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง เช่น อัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง เป็นต้น
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ช่วยเราได้อย่างไร?
เป็นการส่งเสริมการสร้างวินัยในการออม และ การลงทุน เพราะ หักเงินเราเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เท่าๆ กัน ทุกเดือน
และ ถ้าบริษัทเรามีสวัสดิการเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือว่าเราโชคดีที่มีนายจ้างใจดี เป็นโบนัสสำหรับเราเลย เพราะเราลงทุนในส่วนเรา นายจ้างใจดีก็สมทบเงินมาให้อีก
ยิ่งเราสะสมมาก หรือสูงสุดไปเลย (15%) ยิ่งดีสำหรับตัวเรา
เคยได้เงินพลังดอกเบี้ยทบต้นกันมั้ยครับ ยิ่งเราสะสมมาก โอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินก็ยิ่งมาก พอสิ้นปี ผลตอบแทนจะรวมกับเงินต้น กลายเป็นเงินต้นก้อนใหม่
หากเราสะสมมาก และ สะสมนานเท่าไหร่ เงินก็เพิ่มพูนเรื่อยๆ ผลตอบแทนก็ทวีไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกันในส่วนของการสมทบของบริษัท จะขึ้นอยู่กับนโยบายบริษัทนั้นๆ
ดังนั้นสะสมฝั่งของเราให้เต็มสิทธิไปเลย หรือค่อยๆเพิ่ม % สะสม เมื่อเงินเดือนขึ้นก็ได้
โดยเงินทั้งสองก้อนนี้ ก็จะถูกนำไปลงทุนในกองทุน ที่ให้ผลตอบแทน สูง หรือ ต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะเลือกแผนการลงทุนแบบไหน ก่อนอื่นควรสำรวจระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ แล้วเลือกแผนที่เหมาะกับเราและตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณเราด้วย
ระหว่างที่เงินอยู่ในกองทุนนั้น เงินในกองทุนไม่ได้เอาไปฝากธนาคารเพื่อได้ผลตอบแทนแค่ดอกเบี้ยเงินฝากเล็กน้อยเพียงอย่างเดียว แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ จะมีมืออาชีพ ที่เรียกว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มาช่วยเรา จะนำเงินกองทุนของพวกเราไปลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ หรือ ตราสารทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น เป้าหมายคือ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน
โดยนำผลตอบแทนที่เกิดขึ้น มาเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกในกองทุน ตามสัดส่วนของเงินลงทุนของพวกเรา ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดจาการลงทุนนี้ เรียกว่า ผลประโยชน์ของเงินสะสม และ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ นั่นเอง
พนักงานได้อะไร จากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้าง ลูกจ้างจะสมัคร หรือไม่สมัครก็ได้ ประโยชน์หากเป็นสมาชิกของกองทุนฯ ก็คือ เป็นการสร้างวินัยในการออมเพื่อการเกษียณอย่างต่อเนื่อง เหมือนได้รับเงินเดือนเพิ่มจากนายจ้างผ่านเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเพิ่มให้ และ ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ถือว่าการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้อะไรมากกว่าเยอะจริงๆ
“คนทำงานก็สามารถมีเงินเก็บเป็นล้านได้ ด้วยการออมผ่าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
ดังนั้นถ้าบริษัทให้ทำ แต่เราไม่ทำ ถือว่าพลาดมาก สิ่งที่เราควรทำต่อไปก็คือ ลองกลับไปดูนโยบาย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทของเราดู ว่า ณ ปัจจุบัน เขามีให้เลือกหักเงินเดือนกี่ % และ บริษัทจะสบทบให้สูงสุดกี่ %
ยังไงก็ไม่ควรพลาดกับสวัสดิการในเรื่องนี้ที่บริษัทเขามีให้กับพนักงาน และ อีกเรื่องนึงที่สำคัญ ยิ่งเราทำงานอยู่นาน เราก็จะได้ผลประโยชน์จากเงินสบทบมากขึ้นอีกด้วย เช่นตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ก็จะได้ 100% ในส่วนของเงินสบทบจากบริษัทฯ ดังนั้นใครที่อยู่บริษัทฯ มานานกว่านี้ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือว่าน่าเสียดายเอามากๆ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund จึงเป็นโอกาสที่ดี และ เป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับคนทำงาน ที่บริษัทมีสวัสดิการในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาสะสมเงินสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้น เป็นรางวัลให้กับตัวเองกันครับ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประโยชน์อย่างไร? สามารถดูเพิ่มเติมได้ตามวิดีโอนี้ได้เลยครับ
ในตอนต่อไป จะมาต่อกับเรื่องของ เงื่อนไขเพิ่มเติม หรือ เรื่องที่มนุษย์เงินเดือนยังเข้าใจผิดในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การเงินและการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
กองทุน RMF ปี 2563 มีอะไรใหม่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ดีกว่าเดิมไหม?
กองทุน LTF ยกเลิกแล้ว ถ้าเรามี LTF ที่ครบกำหนดแล้ว เราควรทำอย่างไรดี?