
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จะต้องทำอย่างไรดี ใครที่เป็นสมาชิกเอาไว้ หากวันนึงเราต้องเปลี่ยนงาน หรือ ลาออกจากงานเพื่อไปทำกิจการส่วนตัว
การเปลี่ยนงาน ลาออกจากงานนึงไป เริ่มต้นกับอีกงานนึง ถือเป็นเรื่องปรกติ เป็นวัฏจักรที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน แต่ทุกๆ การเปลี่ยนงานเราก็ไม่ควรต้องมาพลาดกับเรื่องที่เราไม่รู้ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั่นก็คือ เรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) เป็นเรื่องที่ดีหากนายจ้างหรือบริษัทมีนโยบายและสวัสดิการให้กับเราในเรื่องนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา บรรลุเป้าหมายมีเงินเอาไว้ใช้ยามเกษียณได้ง่ายขึ้น
แต่ในเรื่องนี้ ก็ยังมีหลายคนเข้าใจผิด เช่น คิดว่าเมื่อเราออกจากงานแล้ว เราก็สามารถขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เลย โดยไม่ต้องยื่นภาษี (ถ้าทำแบบนี้ อาจจะโดนเรื่องภาษีเพิ่มเติม หรือ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีในส่วนนี้ ก็อาจจะเจอค่าปรับได้)
หรือ ไม่รู้วิธีการว่า หากต้องออกจากงาน ถ้าไม่อยากขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องทำอย่างไร เป็นต้น
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ออกตอนไหน อย่างไร ที่ไม่ต้องเสียภาษี
มาเข้าใจเรื่องแรกที่สำคัญกันก่อนว่า เราสามารถออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้อย่างไร? ในแบบที่ถูกต้อง และ ได้รับการยกเว้นภาษี นั่นก็คือ
กรณีแรก คือ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างน้อย 5 ปี และมีอายุ 55 ปี ขึ้นไป เราจะสามารถนำเงินทั้งหมดออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี
กรณีที่สอง คือ เสียชีวิต หรือทุพพลภาพเท่านั้น ที่จะสามารถนำเงินทั้งหมดออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี เช่นกัน
ดังนั้นถ้าหากการออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา เป็นกรณีที่นอกเหนือจากทั้งสองกรณีนี้ เราก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
นั่นหมายความว่า ถ้าเราตัดสินใจออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็ต้องยื่นและเสียภาษีภาษีในส่วนของเงินสบทบ และ ผลประโยชน์ ของเงินสะสมและเงินสมทบด้วย
แล้วถ้าเรากำลังวางแผนที่จะลาออก เรามีทางเลือกอย่างไรบ้างสำหรับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กรณีที่ 1 : ถึงแม้เราออกแล้ว เราก็ยังสามารถเก็บกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างต่อได้อีก 1 ปี
แต่ในกรณีนี้ เรายังได้รับเงินผลประโยชน์ในการลงทุนต่อไป แต่จะไม่มีเงินสมทบจากนายจ้างเดิมของเรา จากนั้นก็รอจนกว่าเราได้งานใหม่ เราก็จะสามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมของเรา ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างบริษัทใหม่ได้ (ถ้านายจ้างใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ซึ่งในกรณีนี้ เราไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใดๆ
กรณีที่ 2 : ถึงแม้เราออกแล้ว เราก็ยังสามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF ได้
กรณีนี้นอกจากทำให้เราไม่เสียภาษีแล้ว ยังช่วยให้เงินลงทุนเดิมของเราเกิดดอกผลงอกเงยไว้ใช้ยามเกษียณได้อีกด้วย โดยการโอนย้ายไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีนี้ ก็มีเงื่อนไขเพิ่มเติมนั่นก็คือ
เมื่อย้าย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปกองทุน RMF แล้ว เราจะไม่สามารถย้ายกลับมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีก แต่เราสามารถย้ายหรือสับเปลี่ยนไปได้ภายในเฉพาะกองทุน RMF ด้วยกันเท่านั้น
การย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปกองทุน RMF
ต้องเป็นกองทุน RMF ที่ระบุในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่าเป็นระบบ RMF ที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เท่านั้น (RMF for PVD) ซึ่งเป็นกองทุนที่แยกต่างหากจาก RMF ปกติ โดยมีหลักการเสมือนการ “คงเงิน” ไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาชิกไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม (ต่างจากกองทุน RMF ปกติ ที่ต้องซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องทุกปี)
เงื่อนไขการถอนเงินก็จะเหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม คือ ถืออย่างน้อย 5 ปี โดย
อายุสมาชิกจะนับต่อเนื่องจากอายุการเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป กับ อายุการถือหน่วยลงทุนใน RMF และ ต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นปี จึงจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
ถึงตรงนี้แล้ว เราก็คงได้คำตอบแล้วว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จะต้องทำอย่างไรดี
สำหรับคนที่กำลังมีแผนจะเปลี่ยนงาน ก็คงจะมีทางเลือกสำหรับ การวางแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในอนาคต นอกจากนี้ขอฝากให้พวกเรา กลับไปศึกษาเพิ่มเติมกฏกติกา และ นโยบายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราให้ละเอียดด้วยนะครับ จะได้รู้เท่าทัน และ เลือกทางที่ดีที่สุดที่ตอบโจทย์ของเรา
สุดท้าย อย่าลืมว่า ทุกๆ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงก็จริง แต่ถ้าไม่ลงทุน หรือ ไม่ออมเงินเอาไว้เลยตั้งแต่ตอนนี้ จะเสี่ยงยิ่งกว่า

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การเงินและการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตัวช่วยที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ในยามเกษียณ
Provident Fund – กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำไปทำไม เงินแทบจะไม่พอใช้อยู่แล้ว?
กองทุน RMF ปี 2563 มีอะไรใหม่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ดีกว่าเดิมไหม?