กองทุน LTF ยกเลิกแล้ว ตั้งแต่ปี 2562 ถ้าเรามีกองทุน LTF อยู่ในมือ แล้วบางส่วนกำลังจะครบกำหนดในปี 2563 เราควรทำอย่างไรดี?
ก่อนที่จะมาตัดสินใจ มาทำความเข้าใจเรื่อง กองทุน LTF ยกเลิกแล้ว กันก่อน ว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง?
“กองทุน LTF จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึงแค่ปี 2562 นี้เท่านั้น”
เชื่อว่าหลายคน เมื่อได้ทราบเรื่องนี้ คนทำงานที่ถือกองทุน LTF อยู่ คงกังวล และคงจะมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เช่น การยกเลิกกองทุน LTF หมายถึงกองทุนจะปิดไปเลยไหม? เงินที่อยู่ในกองทุนจะเป็นอย่างไร? ปีนี้ปีสุดท้าย ควรซื้อดีไหม? แล้วอะไรจะมาแทนกองทุน LTF?
ดังนั้นอย่าเพิ่งตกใจ หรือ กังวลไปก่อน เรามาหาคำตอบกัน ว่าแนวทางของ กองทุน LTF เดิม จะเป็นอย่างไรต่อไป
“สำหรับสิทธิการลดหย่อนทางภาษีของกองทุน LTF จะหมดในปีนี้ แต่กองทุน LTF ยังไม่ได้ยกเลิก”
กองทุน LTF ยังคงอยู่ ไม่ได้ปิด หรือ ยกเลิกตามที่หลายๆ คนเข้าใจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เขาก็ยังมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและให้บริการกับเราเหมือนเดิม
“กองทุน LTF ที่ถืออยู่จะเป็นอย่างไร? และ สำหรับใครที่ซื้อใน ปี 2562 ไปแล้ว เอาไงดี”
ถ้าเราถือกองทุน LTF ยังไม่ครบเงื่อนไข หรือ ซื้อเกิดไปเพิ่มขึ้นในปี 2562 นี้ เราก็ยังต้องถือต่อไปให้ครบกำหนดอายุ (7 ปีปฏิทิน) ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีเดิมของกองทุน LTF
โดยเฉพาะปี 2562 เป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยก็มีความผันผวนอีกปีหนึ่ง แต่โดยภาพรวม ก็ยังถือว่ายังให้ผลตอบแทนดีกว่าปี 2561 ที่ผ่านมา กรณีที่ใครที่ซื้อแบบ DCA หรือ ลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนทุกเดือน จากสถิติแล้วมีโอกาสได้กำไรดีกว่า คนที่ซื้อเพียงครั้งเดียว หรือ รอบเดียว และ เป็นปีสุดท้ายของการลดหย่อนทางภาษีของ กองทุน LTF จึงเป็นปีที่น่าลงทุนใน LTF
ซึ่งมีข้อดี ก็คือ เราจะถือแค่ 7 ปีปฏิทิน และ ได้ลดหย่อนภาษีได้เต็มๆ อีกด้วย (วงเงินลดหย่อน LTF 500,000 แยกต่างหากจากกองทุนลดหย่อนอื่นๆ)
“กองทุน LTF ที่ถืออยู่ครบกำหนดแล้ว ขายดีไหม?”
ก่อนอื่นต้องเข้าใจภาวะตลาดหุ้นก่อน SET Index ปี 2562 ที่ผ่านมา วิ่งอยู่ 1,500-1,600 บางช่วงก็ทะลุไปถึง 1,700 แต่หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด SET Index ก็ตกลงมาอย่างรุนแรง เกือบๆ 1,000 จุด ในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา และ ตอนนี้ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีทีท่าที่จะกลับมาเหมือนเดิม แล้วจะเอาอย่างไรดี?
ถ้าถือจนครบ 7 ปีปฏิทิน เราก็มีทางเลือก คือ
“ขายทิ้ง” ถ้ามีทางเลือกในการลงทุนที่ดีกว่า เช่น เอาไปลงทุนใหม่ในกองทุนอื่นๆ ที่มีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีในปีถัดไป หรือเอาไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ หรือ เอาไปพักไว้ในเงินฝากประจำหรือออมทรัพย์ เพื่อหาจังหวะดี ๆในการลงทุน เป็นต้น
“ถือต่อไป” มีคนทำงานหลายคน ที่หลังจากที่กองทุน LTF ที่ถืออยู่ครบกำหนดแล้ว ก็ยังถือต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า พอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินปันผล หรือกำไรที่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของหน่วยลงทุน
แต่อย่างที่ทราบสถานการณ์ของตลาดหุ้นในปีนี้ปรับตัวลดลงรุนแรง อาจจะจำเป็นต้องถือเอาไว้ก่อน แล้วค่อยรอจังหวะขายในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกไหน ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และ วัตถุประสงค์ของการลงทุนของเราเอง
“กองทุน LTF ที่ถืออยู่ครบกำหนดแล้ว ถ้าถือต่อไป มันจะตก หรือ ทำให้เราขาดทุนไหม?
คนทำงานหลายคน มีความวิตกกังวลว่า กองทุน LTF ที่ถืออยู่ เมื่อมีการครบกำหนด ก็จะถูกไถ่ถอนออกไปเยอะๆ ในแต่ะปี ซึ่งกลัวว่าจะทำให้มูลค่าของหน่วยลงทุนตกลงไปด้วย และ อาจจะกระทบตลาดหุ้น
เริ่มต้นจากมูลค่าหน่วยลงทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้น ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่กองทุนนั้นลงทุน ดังนั้นมูลค่าหน่วยลงทุนจะไม่ได้ลดลงจากการขายกองทุน LTF ออกมาในแต่ละปี
ต่อมาดูผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยบ้าง?
“ผลกระทบมันอาจจะไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด” เพราะ เม็ดเงินที่ลงทุนในกองทุน LTF ทั้งหมด มีสัดส่วนประมาณ 2.5 % ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) เท่านั้น
“ถ้าเราซื้อ กองทุน LTF หลังจากปี 2562 จะเป็นอย่างไร?”
ใช่ บางกองของ กองทุน LTF ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ถ้าเราอยากลงทุนก็ได้ เราสามารถลงทุนได้เหมือนกองทุนรวมทั่วไป เราจะได้เงินปันผล (หากกองทุน LTF นั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล) หรือ เราจะได้กำไรจากส่วนต่างราคา (ถ้ามูลค่าหน่วยลงทุนวันที่เราซื้อ(ต้นทุน) น้อยกว่ามูลค่าหน่วยลงทุนวันที่เราขาย(รายได้)) โดยส่วนต่างกำไรนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ข้อสำคัญก็คือ “เราจะไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี
บทสรุปสำหรับ กองทุน LTF
สิทธิลดหย่อนภาษี ได้ภายในปี 2562 นี้เท่านั้น และ กองใหม่ที่มาแทนและจะได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund หรือ SSF) (เริ่มตั้งแต่ปี 2563) กองทุน LTF จะถือต่อ จะขายออก ถือจนครบ 7 ปีปฏิทิน
ถึงแม้ว่า กองทุน LTF ยกเลิกแล้ว ก็เลือกได้ จะซื้อเพิ่มในปี 2563 ก็ได้ แต่จะไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี
ไม่ว่ากองทุนไหนจะออกมาก็ตาม ทุกๆ การลงทุนก็ยังมีความเสี่ยง แต่ระดับความเสี่ยงก็อาจแตกต่างไปตามประเภทและลักษณะกองทุน ผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงก็มากด้วย เป็นตามแนวคิดที่ว่า high risk high return
ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ดี ดูตัวเราว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน วัตถุประสงค์การลงทุนเราเป็นยังไง แล้วดูนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง เงื่อนไข และ สิทธิประโยชน์ เพื่อประโยชน์สูงสุด ของตัวเราเอง