กองทุน RMF ปี 2563 ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพดานการลงทุนให้สูงขึ้น และ การยกเลิกเพดานการซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำ ถือเป็นการช่วยผู้มีรายได้น้อยสามารถลงทุนในกองทุน RMF นี้ได้
มาทำความเข้าใจ กองทุน RMF กันก่อน
RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ซึ่งจะคล้ายๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของภาคเอกชน หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ เรียกว่า Government Pension Fund ของราชการ
สำหรับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) บางบริษัทอาจจะมี หรือ ไม่มีก็ได้ เพราะไม่ได้บังคับว่าภาคเอกชนทุกองค์กรต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เนื่องจาก RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ
ดังนั้น เงื่อนไขการลงทุนของ กองทุน RMF เป็นการลงทุนที่บังคับให้คนทำงานอย่างเราลงทุนยาว ๆ กองทุน RMF จึงมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของเราที่สามารถรับได้ ซึ่งมีความเสี่ยงตั้งแต่ต่ำไปจนสูง เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้น โดยเราสามารถสลับกองทุนได้ แต่เราไม่สามารถขายหน่วยลงทุนได้จนกว่าจะอายุ 55 ปี ขึ้นไป
กองทุน RMF เหมาะกับใคร?
RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เหมาะสำหรับ คนทุกกลุ่ม ที่ต้องการมีเงินออมเอาไว้ใช้ยามเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น
- กลุ่มอาชีพอิสระ ที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยยเกษียณมารองรับ
- ลูกจ้าง หรือ พนักงานบริษัท ที่นายจ้าง หรือ บริษัทฯ ยังไม่พร้อมที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ลูกจ้า หรือ พนักงาน ไม่สามารถสะสมเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้
- ลูกจ้าง หรือ ข้าราชการที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อการเกษียณอยู่แล้ว แต่ต้องการออมเพิ่มเติมให้มากขึ้น เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี
กองทุน RMF ยังไม่ยกเลิก
ในอดีตที่ผ่านมา ว่ากันตรงๆ ก็ต้องบอกว่า กองทุน LTF ในอดีต มีคนสนใจในเรื่องการลงทุนมากกว่า กองทุน RMF ด้วยเหตุที่ว่า กองทุน RMF มีเงื่อนไขที่ คนทำงาน หรือ คนที่เพิ่งลงทุนไม่ชอบ นั่นก็คือ ต้องถือนานกว่าจะไถ่ถอนได้ คือต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีเงื่อนไขที่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี และมีกำหนดเงินซื้อขั้นต่ำ 5,000 บาท หรือ 3 % ของเงินได้แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า เป็นต้น)
ด้วยเหตุนี้เอง ทางรัฐบาล ก็เลย มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ กองทุน RMF ซะใหม่ แต่จะต่างจาก กองทุน RMF ของเดิมอย่างไร? ดีกว่าเดิมไหม? มาหาคำตอบกันได้เลย
กองทุน RMF ปี 2563 ยังมีเหมือนดิม เพิ่มเติมคือ เงื่อนไขที่ปรับเปลี่ยนไป
เพดานการลงทุน :
กองทุน RMF ปี 2563 ใหม่ ให้สิทธิบุคคลธรรมดาสามารถซื้อเพื่อไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 30% (ต่างจาก RMF เดิม ที่สามารถซื้อได้ไม่เกิน 15%) ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ถ้าเราได้ลงทุนใน กองทุน RMF แล้ว
เมื่อเอาไปรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฏหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, เบี้ยประกันบำนาญ และ กองทุน SSF (Super Saving Fund) ซึ่งจะเริ่มให้ลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยรวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
จำนวนซื้อขั้นต่ำ :
กองทุน RMF ใหม่ ไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน [ต่างจาก RMF เดิม ที่มีการกำหนดขั้นต่ำ คือ 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า]
เงื่อนไขการซื้อ :
เงื่อนไข เหมือนเดิม คือ ต้องซื้อหน่วยลงทุน RMF ต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี)
เงื่อนไขการถือครอง :
เงื่อนไข เหมือนเดิม คือ ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ ถึงจะสามารถขายหน่วยลงทุนทั้งหมดได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี โดยกองทุน RMF เงื่อนไขใหม่ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
กรณีผิดเงื่อนไขการลงทุนในกองทุน RMF :
กรณีถือหน่วยลงทุนยังไม่ครบ 5 ปี นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (นับแบบวันชนวัน) และมีการผิดเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติดังนี้
- คืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนไปแล้วให้แก่กรมสรรพากร
- หากมีกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน ผู้ลงทุนต้อง เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50(2) โดยคำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ และ นำกำไรไปรวมกับเงินได้อื่นๆ ที่ผู้ลงทุนได้รับในปีภาษีนั้น เพื่อชำระภาษีเงินได้
กรณีถือหน่วยลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (นับแบบวันชนวัน) และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน โดยมีการลงทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ยกเว้น หน่วยลงทุนที่ซื้อก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551) ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติดังนี้
- คืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนไปแล้วย้อนหลังไม่เกิน 5 ปีปฏิทินให้แก่กรมสรรพากร (นับย้อนหลังตั้งแต่ปีก่อนปีที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุน)
- ผู้ลงทุนจะต้องชำระภาษีคืนให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไขการลงทุน และหากชำระล่าช้า ผู้ลงทุนจะต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของยอดภาษีที่ต้องชำระคืนด้วย
บทสรุปสำหรับ กองทุน RMF ปี 2563 ปรับปรุงใหม่
การปรับเพดานการลงทุนเป็น 30% ของเงินได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนทำงานสามารถออมในกองทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การยกเลิกเพดานการซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำ ถือเป็นการช่วยผู้มีรายได้น้อยสามารถลงทุนในกองทุน RMF นี้ได้ ไม่ว่ากองทุนไหนจะออกมาก็ตาม ทุกๆ การลงทุนก็ยังมีความเสี่ยง แต่ระดับความเสี่ยงก็อาจแตกต่างไปตามประเภทและลักษณะกองทุน ผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงก็มากด้วย เป็นตามแนวคิดที่ว่า high risk high return
ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ดี ดูตัวเราว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน วัตถุประสงค์การลงทุนเราเป็นยังไง แล้วดูนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง เงื่อนไข และ สิทธิประโยชน์ต่างๆของกองทุนนั้นๆว่าตอบโจทย์เรารึเปล่านะครับ เพื่อประโยชน์สูงสุด ของตัวเราเอง
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การเงินและการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
กองทุน LTF ยกเลิกแล้ว ถ้าเรามี LTF ที่ครบกำหนดแล้ว เราควรทำอย่างไรดี?