
การทำงานและการเดินทาง ให้ประสบการณ์ และให้ความรู้กับเราได้อย่างมากมาย หลายๆ ครั้งก็ได้เรียนรู้ส่ิงใหม่ๆ จากผู้คนใหม่ๆ ในแบบที่คาดไม่ถึงได้เสมอ
คุณอ้อย-มนทิรา จูฑะพุทธิ บรรณาธิการ นักเขียน และนักเดินทาง นี่ คือสามสิ่งที่เธอใช้นิยามตัวเอง จากความฝันสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์ โดยมีรางวัลพูลิตเซอร์เป็นแรงบันดาลใจ เธอเข้าสู่วงการสิ่งพิมพ์ด้วยการทำงานนิตยสารเป็นงานแรก และประสบความสำเร็จในอาชีพ ด้วยการเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารผู้หญิงชื่อดังของประเทศ
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในการทำงานในวงการหนังสือ คุณอ้อยได้เรียนรู้ประสบการณ์และแนวคิดในการดำเนินชีวิตมากมาย นอกจากจะได้ออกเดินทางเพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างการเดินทางมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนหนังสือแล้ว และยังใช้การเดินทางเป็นอีกหนึ่งหนทางในการเรียนรู้ ที่ทำให้ค้นพบวิธีคิดใหม่ๆ จากการเดินทางไปเยือนที่ต่างๆ ทั่วโลก

เรียนรู้จากการทำงาน
คุณอ้อย – มนทิรา เป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนในชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆ เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
การที่เรารู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จะทำให้เรามีความชัดเจน และจะทำให้เส้นทางชีวิตของ เราตัดตรง ไม่สะเปะสะปะ ดิฉันจึงเป็นคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือค้นหาตัวเองเลย เพราะรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี
ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานนับจากจบมหาวิทยาลัย เธอไม่เคยเลือกงานโดยมีเงินเป็นที่ตั้ง แต่เลือกงานที่คิดว่าทำแล้วมีความสุข
“ดิฉันไม่เคยเลือกเงินเป็นเป้าหมาย ดิฉันเลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข เพราะเวลาที่เรามีปัญหาในการทำงาน การที่เรารักในงานที่ทำ จะทำให้เรามีความอดทน เหมือนมีก๊อกสอง ดิฉันจึงบอกน้องๆ คนทำงานรุ่นใหม่เสมอว่า อย่าเลือกงานเพราะเงิน แต่ให้เลือกงานที่เรารักและมีความชอบ มันจะทำให้เราอยู่กับงานได้นานโดยไม่เบื่อ” อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ บอกเคล็ดลับ
การทำงานนิตยสารเปิดโอกาสให้ได้สัมภาษณ์ผู้คนที่น่าสนใจ สิ่งนี้ทำให้ได้เรียนรู้การเป็นนักฟังที่ดี และได้รับประโยชน์จากการฟังเรื่องราวชีวิตของผู้คนเหล่านั้น
“การทำหนังสือสมัยนั้น ทำให้เรามีความรู้รอบด้าน เพราะเราต้องทำหน้าที่หลายอย่าง แต่หน้าที่ที่ดิฉันชอบที่สุดคือการสัมภาษณ์ รู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่พิเศษที่ทำให้เราได้พบเจอคนหลากหลาย ตั้งแต่คนในระดับสูงสุดของสังคม จนถึงคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เราได้ฟังสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เป็นประสบการณ์ของเขา ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตทางอ้อม โดยที่เราไม่ต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเองในบางเรื่อง ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ดิฉันรักการสัมภาษณ์ และคิดว่าตัวเองทำได้ดีด้วย”
คุณอ้อย – มนทิรา บอกอีกว่าสิ่งที่ได้รับจากการทำงานนิตยสาร คือ แรงกระตุ้นที่จะพาตัวเองเดินไปข้างหน้าเสมอ ทั้ง ในแง่ของความรู้และประสบการณ์ ซึ่งมีส่วนในการทำให้เธอพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปเรื่อยๆ
“การทำหนังสือเป็นอาชีพที่พิเศษ เพราะเราจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เราจะไม่ล้าหลัง เราจะตามหลังคนอ่านไม่ได้ เราต้องนำคนอ่านไปสักก้าวหรือสองก้าว มันทำให้เรามีความรู้รอบตัวมากขึ้น ประสบการณ์เหล่านี้มันหล่อหลอมกระบวนการคิดและวิถีชีวิตของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้”
เรียนรู้จากการเดินทาง
หลายคนเคยพูดเอาไว้ว่า การทำงานและการเดินทาง ก็เป็นประสบการณ์ที่แลกมาด้วยเงินไม่ได้
การทำงานนิตยสารเปิดประสบการณ์ชีวิตให้กับ คุณอ้อย – มนทิรา อีกหลายอย่าง ในฐานะบรรณาธิการบริหารนิตยสารผู้หญิงชื่อดัง ทำให้เธอได้รับเชิญให้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกของนักเดินทางให้กับเธอด้วย และมันก็ได้ส่งผลต่อการมองโลกในอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการดำเนินชีวิตในเวลาต่อมา
“ครั้งหนึ่งดิฉันได้รับเชิญไปอังกฤษ เพื่อไปล่องเรือ ควีน อลิซาเบธ ซึ่งเป็นเรือหรูระดับโลก วันหนึ่งดิฉันเห็นผู้โดยสารคนหนึ่ง เป็นชายแก่ เขากำลังจะตักซุปเข้าปาก แต่มือเขาสั่นมาก คงเพราะด้วยความอายุมากแล้ว ซุปก็เลยหก เลอะตัว ลูกเขาต้องเข้ามาช่วย ลูกสาวเขามองมาที่ดิฉันแล้วยิ้มให้ แล้วบอกว่า พ่อเขาเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อมาล่องเรือควีน อลิซาเบธ ดิฉันได้ฟังประโยคนั้นแล้วก็ตั้งใจกับตัวเองเลยว่าเราจะไม่เดินทางตอนที่ร่างกายเราไม่ไหวแล้ว เราจะออกไปเรียนรู้โลกกว้างตอนที่เรายังมีกำลัง”
นับตั้งแต่นั้นมาเธอก็ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เพราะเชื่อว่า การเดินทางคือหนทางการเรียนรู้ที่ดีเธอบอกกับเราว่าแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการทำงานของเธอมักเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง
แม้การใช้ชีวิตแบบ “กินหรูอยู่สบาย” จะเป็นความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ แต่นักเดินทางอย่าง คุณอ้อย – มนทิรา กลับรู้สึกแตกต่างออกไป เธอตั้งคำถามกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบนั้น และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิธีการ เดินทางของตัวเอง
“ตอนนั้นดิฉันทำงานนิตยสารหัวนอก เรื่องที่เลือกนำเสนอส่วนใหญ่ก็จะเป็นเนื้อหาที่เป็นระดับไฮเอนด์เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยเนื้องานที่ต้องไปพบเจอกับความหรูหราสุขสบาย ก็ทำให้เราได้ลองใช้ชีวิตแบบนั้นด้วย พอกินหรูอยู่สบายมากๆ เข้าก็จะมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าทำไมเราสบายจังเลย สบายจนกระทั่งเรารู้สึกว่าอยากลำบากบ้าง”
เธอบอกถึงอีกจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้เธอพบกับการเดินทางรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการเปิดใจไปเดินเทรคกิ้งที่หิมาลัยเป็นเวลา 9 วันในขณะที่เธอมีอายุ 50+
เธอบอกว่าประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้เธอได้เรียนรู้กับการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เพราะขณะที่เดิน และเผชิญกับความเหนื่อยล้า ใจหนึ่งก็จะคอยให้กำลังใจตนเองให้เพลิดเพลินไปกับความงดงามที่อยู่ตรงหน้า ขณะที่อีกใจ หนึ่งก็อยากจะยอมแพ้ และต่อว่าตัวเองที่ต้องมาลำบาก
“ตอนที่เราเหนื่อยมากๆ จะเหมือนมีปีศาจเกาะอยู่ที่ไหล่เรา 2 ตัว ตัวหนึ่งก็จะเยาะเย้ยเราว่า…สมน้ำหน้า อยู่ดีไม่ว่าดี มาเดินให้เหนื่อยทำไม ส่วนอีกตัวก็จะคอยให้กำลังใจ…ไม่เดินไม่รู้นะ สิ่งที่เราได้เรียนรู้ ก็คือเราจะจัดการกับความรู้สึกของเราเองยังไง การเดินทางครั้งนี้เป็นทริปที่ยากลำบากที่สุดสำหรับดิฉัน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นทริปที่สนุกและมีความสุขที่สุด เพราะมันทำให้เรารู้ว่าหิมาลัยยิ่งใหญ่และสวยงามเพียงใด และมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมทางสำคัญเพียงใด” และในที่สุด เธอก็ได้นำประสบการณ์จากการเดินเทรกกิ้งครั้งนั้น มาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “หิมาลัย ใช้ใจเดิน”
“ดิฉันเป็นคนชอบเรียนรู้ การเรียนรู้มีหลายแบบ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางเป็นหนึ่งในนั้น เวลาที่ดิฉันคิดอะไรไม่ออกดิฉันจะออกเดินทาง เวลาที่รู้สึกเศร้าหรือมีความทุกข์ ดิฉันก็จะเปลี่ยนโหมดตัวเองด้วยการออกเดินทาง”
ดังนั้น อย่าให้ทุกๆ การทำงาน หรือ การเดินทางเป็นประสบการณ์ที่สูญเปล่า เปิดใจให้โอกาสกับตนเองให้ได้เรียนรู้บ้าง
เรื่องราวของ คุณอ้อย-มนทิรา จูฑะพุทธิ ก็คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในเรื่องของการเรียนรู้จาก การทำงานและการเดินทาง รวมไปถึงการนำประสบการณ์จากการทำงานและการเดินทาง มาต่อยอดเพื่อโอกาส และ ความสำเร็จในอนาคตได้
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ คุณอ้อย-มนทิรา จูฑะพุทธิ
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)