
การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12 (SDGs 12 : Responsible Consumption & Production) ถือเป็นประเด็นใกล้ตัวที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเป็นอย่างมาก หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) และ คุณณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด 3 ท่านจาก 3 องค์กรได้แชร์มุมมองและประสบการณ์ที่น่าสนใจในการขับเคลื่อน การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และโดยแต่ละท่านได้ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ยาก ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้
ทำไมเราต้องให้ความสนใจในเรื่อง การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ดร.ไชยยศ เปิดบทสนทนาด้วยการให้สถิติในปี 1950, 1972, 1997 และ ปี 2050 ซึ่งพบว่า เมื่อจำนวนคนเพิ่มขึ้น เมืองใหญ่ขึ้น จะมีการบริโภคและปล่อยมลพิษมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากวิศวกรชาวญี่ปุ่นที่ได้คำนวณว่า ในหนึ่งวินาทีโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เช่น คนเพิ่มขึ้นประมาณ 2.4 คนต่อวินาที บริโภคเนื้อสัตว์ 6.9 ตันต่อวินาที ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ประมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พื้นที่การเพาะปลูกสูญหายไป 2,300 ตารางเมตรต่อวินาที สถิติเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้สามารถผลิตและบริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ โดยต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ ภายใต้โลกที่มีอยู่ใบเดียวเท่าเดิม
หม่อมหลวงดิศปนัดดา เสริมด้วยข้อมูลของ Earth Overshoot Day ที่สมมุติว่าโลกเรามีทรัพยากรที่สามารถใช้ได้หนึ่งร้อยหน่วยใน 1 ปี ครั้งสุดท้ายที่เราใช้ได้พอดีในหนึ่งปี คือ ปี 1970 แต่ในปี 2020 เราใช้หมดในเดือนสิงหาคม แปลว่า อีก 4 เดือนที่เหลือ เรายืมทรัพยากรของลูกหลานในอนาคตมาใช้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณคร่าวๆ ว่าในปี 2080 จะเริ่มเห็นผลที่ค่อนข้างรุนแรง เราจึงต้องตระหนักว่าจะสามารถแก้ปัญหาในวันนี้ให้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องของ การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ที่ต้องไม่ทิ้งภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง
วิกฤตโควิด-19 กำลังทดสอบระบบการผลิตและการบริโภคของเรา
ดร.ไชยยศ ชวนให้เราคิดต่อว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกำลังทดสอบระบบการผลิตและการบริโภคของไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเทศในโลกที่เป็น food surplus country สิ่งนี้เป็นจุดแข็งที่เราต้องใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่ากับมูลค่าให้มากขึ้น เป็นเหตุที่หลายฝ่ายหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) แต่จะทำอย่างไรให้วิกฤตโควิดเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะสังคมบ้านเรากำลังเข้าสู่ aging society ซึ่งจะมีผลต่อการผลิตและการบริโภคในอนาคตด้วย

หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคการผลิต เพราะคนที่ประกอบอาชีพกสิกรรมและเกษตรกรรมเป็น aging society ทั้งสิ้น เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่จะเกิดตามมา ก็คือ ประสิทธิภาพ (productivity) จะลดลง และมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร (food sustainability) ของโลก
Talk less, Do more ด้วยการจัดการและเทคโนโลยี
เมื่อเป็นเช่นนี้ “การบริหารจัดการและเทคโนโลยี” จึงสำคัญ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ย้ำว่าทุกฝ่ายต้องลงมือทำมากขึ้น โดยสองเรื่องนี้ต้องเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ใช้พื้นที่น้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น และจะต้องลดต้นทุนหรือลดของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนที่อยู่ในส่วนบนของชั้นปิระมิด จะต้องรับผิดชอบต่อการผลิตและการบริโภคให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
คุณณัฐกานต์ แชร์มุมมองว่า วันนี้เรามีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยชวนให้มองเรื่อง waste เป็นหลัก เพราะ waste มาก ย่อมหมายถึง consume มาก โดยยกข้อมูลว่า หมูสามตัว จะมีหมูที่ถูกทิ้ง โดยไม่ได้กิน 1 ตัว หรือ ผักกาด 3 หัว จะถูกทิ้งไป 1 หัว ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งของโลกที่ไม่มีกิน นั่นแสดงให้เห็นถึง ความไม่สมดุล วิธีคิดของโอ๊คลิน ก็คือ จัดการกับหมู 1 ตัว หรือ ผักกาด 1 หัวที่ถูกทิ้ง ด้วยวิธีง่ายๆ สำหรับชุมชนเมือง คือใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดการขนถ่ายขยะ ทำให้หมูหรือผักกาดที่ถูกทิ้งไป กลายเป็นปุ๋ยที่ใส่สนามหญ้า ที่ช่วยสร้างออกซิเจนใหม่ให้เมือง นอกจากนี้ ยังทำให้วงจรนี้เป็น circular economy ด้วยการจัดให้มีระบบรับปุ๋ยไปสู่พื้นที่สีเขียว เกษตรกร หรือชุมชนที่ต้องการปุ๋ยโดยตรง
แม่ฟ้าหลวง เดินหน้าสู่องค์กรยั่งยืน
การบรรลุเป้าหมายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันของทุกภาคส่วน หม่อมหลวง ดิศปนัดดา เล่าว่า ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เริ่มมองเรื่องนี้มา 5-6 ปีแล้ว โดยเห็นว่าเกิดของเสียในกระบวนการผลิตค่อนข้างมากจึงมองหาวิธีที่จะทำให้ธุรกิจสร้าง footprint หรือสร้างผลกระทบทางลบให้น้อยลง ด้วยการลดใช้ทรัพยากร และใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ลดการใช้แก๊ส LPG ในกระบวนการการผลิต แล้วเปลี่ยนมาใช้เปลือกแมคคาเดเนีย ที่มีความหนาแน่นมากและมีน้ำมันอยู่ในตัว หรือนำเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิตสินค้าหัตถกรรม มาแปรรูปเป็นสินค้าชิ้นเล็กนอกจากนื้ ยังได้เลือกสรรผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเข้ามาใน production line มากขึ้น

เช่น พรมอนุรักษ์ทะเลที่ทำมาจากเส้นใยพลาสติก หรือผ้าที่ทอจากถุงพลาสติก จนปัจจุบัน 39% ของผลิตภัณฑ์แม่ฟ้าหลวงเป็น circular economy พร้อมทั้งยังตั้งเป้าหมายเรื่อง zero waste to land field ด้วยการแยกขยะถึง 39 ชนิด ทำให้ดอยตุงไม่มีขยะฝังกลบเลย ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และกำลังขยายผลเรื่องนี้มาที่สำนักงานกรุงเทพฯ รวมทั้งจะขึ้นทะเบียนเรื่อง carbon credit เพื่อทำให้เป็นองค์กร carbon neutral ในอนาคตด้วย พร้อมย้ำว่า ถ้าเแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นมูลนิธิเล็กๆ ยังสามารถทำเรื่องนี้ได้ บริษัทใหญ่ๆ ต้องทำได้แน่นอน
ความร่วมมือของเครือข่ายเพื่อผลิตและบริโภคยั่งยืน
ดร.ไชยยศ ให้ข้อมูลว่า การผลิตและการบริโภคยั่งยืนเป็นสาระสำคัญใน Roadmap SDGs ยุคใหม่ของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ (ปี 2560 – 2580) ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องทำให้เป็นไปในทางเดียวกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่าย SCP (Sustainable Consumption and Production) เพื่อรวบรวม แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ โดยในปีที่แล้วเน้นเรื่อง Food ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีเครือข่ายนี้มี 11 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งภาคการผลิต ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว การค้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มหาวิทยาลัย สมาคมต่างๆ และภาคประชาชน
ภาคธุรกิจ ขับเคลื่อนได้จากเรื่องใกล้ตัว
ในส่วนของภาคธุรกิจ คุณณัฐกานต์ แชร์ประสบการณ์ว่า เริ่มได้จากเรื่องใกล้ตัว ตัวอย่างสำนักงานเล็กๆ มีพนักงานไม่เกินร้อยคน จะมีขยะประมาณ 5-10 กิโลกรัม ถ้าอยากจัดการให้เป็น zero waste คงไม่ง่ายที่จะขุดหลุมทำปุ๋ยหมัก แต่ได้นำเทคโนโลยีของโอ๊คลินมาตอบโจทย์ และเมื่อเริ่มจากหนึ่งแห่งก็สามารถขยายผลไปที่อื่นได้

เช่น SCG มีขยะเศษอาหาร ประมาณครึ่งตันต่อวัน ได้ปุ๋ยไปใช้ในพื้นที่สีเขียวของบางซื่อ นอกจากลดต้นทุนค่าปุ๋ยและยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ด้วยหรือที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ True Digital Park บริษัทกับข้าวไทบ้าน ตลาดบริษัทดีดีมาร์เช่ ที่มีปุ๋ยส่วนเกินกว่าจำเป็นต้องใช้ ก็ได้ขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนวัดท่ามะนาว สุพรรณบุรี ซึ่งมีงบประมาณอาหารกลางวันสำหรับเด็กค่อนข้างน้อย โดยได้ใช้ปุ๋ยนี้ช่วยสร้างอาหารกลางวันได้มากขึ้น และยังได้ทำโรงเรือนแปลงผักออร์แกนิค เพื่อลดการใช้ยาฆ่าแมลงและเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วย โมเดลนี้ช่วยถ่ายความเกินจากเมือง ไปสู่ความพอดีให้กับชุมชน ซึ่งโอ๊คลินตั้งเป้าหมายจะขยายไปอีก 10 พื้นที่ในปีนี้

ปรับอย่างยั่งยืน เปลี่ยน Business Model
เมื่อถามถึงการทำให้บรรลุเป้าหมายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หม่อมหลวงดิศปนัดดา ให้มุมมองว่าในอนาคตเป็นไปไม่ได้ ที่ธุรกิจจะไม่ปรับตัว โดยจะต้องเปลี่ยน Business Model และปรับเรื่อง Supply Chain โดยให้ผู้ผลิตระดับฐานรากเข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้เกิดเป็น Inclusive Economy รวมทั้งจัดการเรื่อง regional sourcing หรือการรับซื้อจากภูมิภาคเพื่อลดปัญหาเรื่องขนส่ง และสุดท้ายผู้บริโภคควรมีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น ลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงที่มาและคุณภาพของสินค้าที่ต้องการอย่างจริงจัง ซึ่งต่อไปจะเป็นสิ่งที่หาคำตอบได้ง่ายมาก เพราะมีเทคโนโลยีบล็อกเชนในการติดตามผลผลิตทางการเกษตร และใครก็ตามที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ ก็จะสามารถพลิกกระบวนการผลิตของประเทศหรือของโลกให้ไปได้ไกลกว่าเก่า
ดร.ไชยยศ กล่าวเสริมว่าการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนมีทั้ง Demand site และ Supply site ตาม Roadmap ของประเทศ 20 ปี มีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งขับเคลื่อนจากภาครัฐและขยายไปยังภาคเอกชน โดยส่งเสริมการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันด้าน supply side ก็ต้องทำให้ตอบโจทย์ ซึ่งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องใช้การพิจารณาวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (life cycle thinking) ว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และลดก่อนที่จะเป็นผลกระทบ
บทสรุป
คุณณัฐกานต์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนว่า วันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าสภาพสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลงในรุ่นเรา ยังไม่ต้องคิดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ต้องแก้ไขตั้งแต่วันนี้ที่รุ่นของเรา พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่า โอ๊คลินจะทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถกำจัดขยะไปแล้วได้มากกว่า 3,000 พันตัน โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตมากขึ้นอีกในอนาคต
เช่นเดียวกับ หม่อมหลวง ดิศปนัดดา ที่ชวนให้พวกเราหันกลับมาดูวิถีชีวิตตัวเอง แล้วลด carbon footprint ของตัวเองลงให้ได้ และต้องไม่สร้าง waste ด้วยการกินให้พอดี พร้อมทั้งต้องเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราซื้อมีที่มาที่ไปอย่างไร ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง movement ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวม
ปิดท้าย ดร.ไชยยศ สรุปว่า หัวใจของการบริโภคที่ยั่งยืน คือ การบริโภคที่ไม่เบียดเบียนใคร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ รักโลกก็ไม่ควรเบียดเบียนโลก เราจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข
….
รายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change”
ตอน “การบริโภคที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?”
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ติดตามชมรายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change” Facebook
ได้ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ หรือ Facebook Global Compact Network Thailand และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical