
การลงทุนในหุ้นกู้ เราจำเป็นจะต้องมีความรู้เสียก่อน อยู่ดีๆ จะมองแค่ผลตอบแทนอย่างเดียวแล้วจะรีบร้อนลงทุนก็คงไม่ได้ มันมีสิ่งที่เราต้องเข้าใจมากกว่านั้น
ใครเป็นใครกันบ้าง ในหุ้นกู้?
หลายคนสับสน มักคิดว่าผู้ขายหุ้นกู้ คือ ผู้ออกหุ้นกู้นั้น เช่น ธนาคารนี้ขายหุ้นกู้ ธนาคารคือลูกหนี้เรา คือคนดูแลเวลาเกิดอะไรขึ้น หรือ ไม่มีความเสี่ยงเพราะมีธนาคารคอยสนับสนุน นั่นคือ เรื่องที่เข้าใจผิดเต็มๆ
ทุกอย่างจะกระจ่าง หากเข้าใจข้อมูลในหนังสือชี้ชวน
ในหนังสือชี้ชวน การลงทุนในหุ้นกู้ เราจะเจอกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
- ผู้จัดการการจัดจำหน่าย“ (Underwriter) เป็นคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการเรื่องการขายหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุน (ซึ่งในทางปฏิบัติมักเป็นรายเดียวกับ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ในการออกหุ้นกู้ด้วย) หน้าที่หลักๆ ของพวกเขา คือทำยังไงก็ได้ ให้หุ้นกู้มีคนซื้อไปให้หมด
- นายทะเบียนหุ้นกู้” (Registrar) มีหน้าที่ คือ ดูแลฐานข้อมูลทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ ตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้ไปจนถึงวันที่ครบกำหนดการไถ่ถอน งานทะเบียนเหล่านี้ จะครอบคลุมไปถึง การแจ้งและจัดทำทะเบียนผู้รับสิทธิประโยชน์ การปิดสมุดทะเบียนเพื่อผลประโยชน์ทางด้านเงินปันผล บริการโอนเปลี่ยนมือ ผู้ถือหุ้นกู้ หรือเปลี่ยนแปลงชื่อที่อยู่ เป็นต้น
- ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” (Bondholder Representative) ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กำหนดให้หุ้นกู้ ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป ทุกประเภทจะต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งจะทำหน้าที่ คือเป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นกู้ทุกคนในการดำเนินการใดๆ กับผู้ออกหุ้นกู้ หน้าที่ก็เช่น จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายเอากับผู้ออกหุ้นกู้ ดูแลหลักประกันของหุ้นกู้ในกรณีหุ้นกู้มีประกัน เป็นต้น
หุ้นกู้ที่เขาเสนอขายมีกี่แบบ?
- หุ้นกู้มีทั้งแบบธรรมดาและแบบซับซ้อน
- มีทั้งด้อยสิทธิ และไม่ด้อยสิทธิ
- มีประกัน และไม่มีประกัน ซึ่งลำดับการชำระหนี้ก็จะแตกต่างกันไป
หุ้นกู้ ประเภท ด้อยสิทธิ คืออะไร เสี่ยงไหม?
ในหนังสือชี้ชวนบางทีก็เจอคำนี้เช่นกัน แล้วหุ้นกู้ด้อยสิทธิ มันคืออะไร?
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) เป็น หุ้นกู้ ที่มีการจ่ายดอกเบี้ย และ มีอายุเหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่สิทธิในการเรียกร้อง (Priority claim) เมื่อผู้ออกหุ้นกู้เกิดล้มละลายขึ้นมา
คนที่ถือหุ้นกู้ประเภทนี้ จะมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ ในอันดับที่ด้อยกว่า เจ้าหนี้สามัญราย อื่นๆในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก หุ้นกู้แต่จะมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย
เอาง่าย ก็คือถ้าคนออกหุ้นกู้ล้มละลาย ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงิน และต้องเฉลี่ยเงินให้กับเจ้าหนี้ทุกราย ถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เราก็จะได้รับการชำระหนี้ภายหลังเจ้าหนี้อื่นๆที่มีสิทธิเรียกร้องสูงกว่านั่นเอง
หุ้นกู้ ประเภท “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” คืออะไร เสี่ยงไหม?
หุ้นกู้ด้อยสิทธิแล้วยังไม่พอ ยังมีต่อท้ายอีกว่า “ที่มีลักษณะคล้ายทุน” แถมมีบริษัทชื่อดัง นำเจ้าหุ้นกู้ชื่อยาวนี้ออกเสนอขายแก่นักลงทุน แถมเป็นที่สนใจเสียด้วย เพราะมีผลตอบแทนที่ดึงดูดใจ
แต่อย่าพึ่งผลีผลามลงทุนไปซะก่อน มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ perpetual subordinated bond มันคืออะไร?
ซึ่งโดยหลักการก็คล้ายกับ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ที่อธิบายข้างต้น แต่ส่วนที่สอง “มีลักษณะคล้ายทุน” ก็คือ สิทธิในการไถ่ถอนของหุ้นกู้ตัวนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทยกเลิกกิจการ ไป หรือเป็นการถือแบบไม่มีกำหนด ลักษณะแบบนี้ จึงคล้ายกับการถือหุ้นไปเรื่อย ๆ จึงเป็นไปได้ที่ผู้ลงทุน จะไม่ได้รับคืนเงินต้นระหว่างที่ถือหุ้นกู้นั้น
นอกจากนี้แม้ว่า หุ้นกู้ประเภทนี้จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่อาจมีเงื่อนไข คือไม่จ่ายดอกเบี้ย หรือบางทีก็ยกยอดไปงวดอื่นก็ได้ และมักกำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว นั่นคืออัตราดอกเบี้ยจะไม่คงที่ตลอดไป
ด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนและไม่ค่อยแน่นอนตายตัว บริษัทที่ออก “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” จึงมักกำหนดอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ในอัตราที่สูงเพื่อจูงใจผู้ลงทุน ซึ่งนักลงทุนอย่างเราต้องดูให้ดี
จำเป็นต้องดูเรื่องเรตติ้งหรือความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ด้วย ประกอบก่อนตัดสินใจในลงทุนนะครับ
หุ้นกู้ “มีประกัน” หรือ “ไม่มีประกัน” คืออะไร ต่างกันอย่างไร? และ เสี่ยงไหม?
ถ้าเราจะซื้อหุ้นกู้ คนออกหุ้นกู้ เขากำลังจะเป็นลูกหนี้เรา เราก็ต้องดูให้ละเอียดด้วยว่า เคราะห์หามยามร้าย หากเขาไม่สามารถจ่าย หรือ ชำระหนี้ให้เราได้ เราจะเอาอะไรเป็นหลักประกันดี?
ในหนังสือชี้ชวน หากมีการระบุว่า “มีประกัน” หมายความว่า หุ้นกู้ตัวนี้มีการให้หลักประกันแก่เรา เช่น มีการจำนองที่ดินให้เรา ซึ่งในกรณีนี้ เราก็จะกลายเป็น “เจ้าหนี้มีประกัน” ถ้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ดันมีปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้เราได้ เราก็จะมีสิทธิในหลักประกันเหล่านี้ด้วยตามที่มีหลักประกัน ทำให้นำมาบังคับชำระหนี้เราก่อนเจ้าหนี้คนอื่นๆได้ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงบ้าง แต่ยังมีหลักประกัน
ในทางกลับกัน หุ้นกู้ที่ระบุว่า “ไม่มีประกัน” คือ เราเป็นเจ้าหนี้ “ไม่มีประกัน” และ เราจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในลำดับเดียวกัน และตามสัดส่วนกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันรายอื่นๆ ซึ่งถ้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีเจ้าหนี้มีประกันรายอื่นๆ อยู่ด้วย โดยหลักการแล้ว เราจะไม่มีสิทธิในหลักประกันชิ้นนั้นๆ เลย
เว้นแต่หากมีการบังคับขายหลักประกันชิ้นนั้นๆ แล้วไปแล้ว และมีเงินเหลือ (คือเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นคนมีสิทธิเหนือหลักประกันนั้นๆ ได้รับชำระหนี้จากหลักประกันชิ้นนั้นๆ ครบถ้วนหมดแล้ว) เราจึงจะมีสิทธิเข้าไปแชร์ในเงินที่เหลือจากหลักประกันชิ้นนั้นๆ ได้ ซึ่งแบบไม่มีหลักประกันก็มีความเสี่ยงมาก หากผู้ออกหุ้นกู้เจ๊งไปซะก่อน
สรุปลำดับการชำระหนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้เลิกกิจการ หรือล้มละลาย
หุ้นกู้มีประกัน > หุ้นกู้ไม่มีประกัน > หุ้นกู้ด้อยสิทธิ > หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
หุ้นกู้ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนที่มักให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก
ซึ่งถ้าเราสนใจลงทุนในหุ้นกู้ ต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด อย่าหลวมตัวคิดไปว่า หุ้นกู้นี้มาจากบริษัทชื่อดัง หรือ หุ้นกู้นี้ ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้ว ไม่ได้เป็นการรับรองว่า หุ้นกู้นี้ไม่มีโอกาสเป็นหนี้เสีย
อยากซื้อขาย “หุ้นกู้” ต้องรู้อะไรบ้าง?
โดยปกติแล้ว การลงทุนในหุ้นกู้ เรามักจะมีโอกาสได้เห็นข่าวคราวการออกหุ้นกู้ ออกมาเรื่อยๆ ตามสื่อหนังสือพิมพิ์ หรือ ตามสื่อช่องทางต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินและการธนาคาร หรือ แม้กระทั่ง ตู้ ATM ใบปิดประกาศตามธนาคารต่างๆ ที่เราใช้บริการอยู่ เป็นต้น
ขั้นตอนถัดไปก็คือ การติดต่อขอจองกับทางผู้จัดจำหน่าย ในกรณีนี้คือ การจองและซื้อได้ที่ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายของหุ้นกู้ตัวนั้นได้เลย ดูว่าจองที่ธนาคารไหน หรือ บริษัทหลักทรัพย์ไหน ได้จากหนังสือชี้ชวน หรือ จากประกาศขายที่เขาลงเอาไว้ได้เลย ให้ติดต่อที่สาขาของธนาคาร หรือที่ทำการของสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายได้เลย
ข้อสำคัญ หากหุ้นกู้ตัวนั้นดูน่าสนใจมาก เราก็ควรรีบไปติดต่อหาข้อมูลตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนถึงวันเปิดจองซื้อ เพราะหุ้นกู้เจ๋งๆ บางตัว เมื่อเปิดวันจองซื้อวันแรก ก็อาจจะขายหมดเกลี้ยงเลยก็เป็นได้
เราต้องแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ว่าเราจะจองซื้อเท่าไหร่ ถ้าหากมีโควตาเพียงพอ ซึ่งแต่ละสาขาธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายอาจมีโควตาไม่เท่ากัน ทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็จะ จองตามจำนวนที่เราจองซื้อในชื่อเราให้เลยในวันนั้น เช่น ขอจองซื้อ 200,000 บาท (หุ้นกู้แต่ละตัวมีจำนวนเงินขั้นต่ำในการจองซื้อที่ต่างกัน)
เมื่อถึงวันจองให้เรากลับไปที่สาขาของธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้นๆ เพื่อกรอก และเซ็น “ใบจองซื้อ” พร้อมกับนำเงินสด หรือเช็คจำนวน 200,000 บาทมาชำระค่าหุ้นกู้ตามจำนวนที่เราจองนั้น หลังจากนั้น
ก็ให้เรารอประมาณ 1-2 เดือน เราจะได้ใบหุ้นกู้ (ในกรณีขอเป็นใบหุ้นกู้) หรือเอกสารยืนยันจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ว่าหุ้นกู้เราได้ฝากเข้าไปที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว
การลงทุนในหุ้นกู้ ต้องมีค่าใช้จ่าย และมีภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง?
สำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ของเราในแบบประชาชนทั่วไป หรือ บุคคลธรรมดา การลงทุนซื้อหุ้นกู้ เราจะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ต้องเสียอีก ไม่ว่าในตอนซื้อ ระหว่างอายุหุ้นกุ้ หรือตอนหุ้นกู้ครบกำหนด แต่มีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี ก็คือ เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ใน 2 กรณี ดังต่อไปนี้
- ภาษีบนตัวดอกเบี้ยที่เราได้รับจากหุ้นกู้ (Interest Income) จะต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของจำนวนดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวด และ ภาษีของส่วนต่าง (Capital Gain) ที่เราได้กำไรจากการขายหุ้นกู้ จะต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของจำนวนกำไรส่วนต่างที่เราได้รับเช่นกัน
- ภาษีจากส่วนลด ในกรณีของหุ้นกู้ที่ออกเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ กับราคาจำหน่ายหุ้นกู้กับราคาจำหน่ายหุ้นกู้ (Discount) ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีโดยจะหักจากนักลงทุนที่ซื้อเป็นบุคคลแรก 15%
โดยเราสามารถเลือกชำระภาษี ทั้งสามตัวนี้ได้ด้วย การเลือกที่จะให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเลย แล้วไม่นำมารวมคำนวณภาษีปลายปี หรือ เลือกที่จะไม่ให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่เลือกที่จะนำมารวมคำนวณเสียภาษีปลายปีเอง อาเป็นว่าสะดวกแบบไหน ก็เลือกตามที่ชอบได้เลย แต่อย่าลืมเสียภาษีก็แล้วกัน
ลงทุนในหุ้นกู้ไปแล้ว เกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงิน จะขายก่อนหมดอายุของหุ้นกู้ได้ไหม?
โดยปกติแล้ว นักลงทุนทั่วไปในบ้านเรา ที่ซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชน มักจะเป็นพวกลงทุนระยะยาวมาก คือ ถือยาวจนจบสัญญาไปเลย และไม่ค่อยมีการขายก่อนหมดสัญญา หรือ ขายเอากำไรระหว่างทาง
ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่า ราคาหุ้นกู้บ้านเรา ไม่ค่อยหวือหวา และ สภาพคล่องก็มีไม่เยอะ การจะเก็งกำไรส่วนต่างก็เป็นเรื่องยาก
เกิดอาการถือต่อไปไม่ไหว เราสามารถ ขายระหว่างทางได้หรือไม่?
เราก็สามารถนำหุ้นกู้พวกนี้มาขายได้ โดยทำได้ 2 วิธีหลักๆ คือ
- สถานะทางการเงินบริษัทที่ออกหุ้นกู้เป็นอย่างไร เขาการบริหารจัดการเป็นอย่างไร ผู้บริหารเเจรจาต่อรองซื้อขายเป็นรายๆ ไป กับคนที่สนใจ หรือ ฝากธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ตัวนั้นๆ (เช่น เป็นนายทะเบียน หรือผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้) เพื่อให้เขาช่วยหาคนซื้อให้ ซึ่งถ้ามีการตกลงซื้อขายกันได้ ก็แค่เซ็นโอนกันด้านหลังของใบหุ้นกู้ได้เลย วิธีนี้จะเรียกกันรวมๆ ว่า Over-the-Counter (OTC)
- นอกจากนี้ควรต้องดูด้วยว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ออกหุ้นกู้ ทำอยู่นั้นมีความเสี่ยง หรือ มีความอีกวิธีนึงก็คือการขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange หรือ BEX) ซึ่งเป็นตลาดรอง แต่ต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น วิธีนี้เราจะทำได้ ก็ต่อเมื่อ เราต้องกรอกใน “ใบจองซื้อหุ้นกู้” ตั้งแต่แรกเลยว่า เราขอฝากหุ้นกู้นี้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ผ่าน Broker ของเรา เพื่อให้นำเข้าตลาดไปซื้อขายได้ต่อไปได้
ดังนั้น ก่อนลงทุน เราก็ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี ซึ่งก็สามารถไปหาอ่านต่อได้ในหนังสือชี้ชวน หรือแวะเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต.> www.sec.or.th ครับ
อยากลงทุนในหุ้นกู้ แต่ถ้ายังไม่รู้จริง อย่าเพิ่งลงทุน

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ หุ้นกู้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
หุ้นกู้ ไม่ใช่การกู้เงินมาลงทุน แล้ว หุ้นกู้ จริงๆ แล้วคืออะไร เหมาะกับใคร?