
การสร้างงาน กลายเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะหลายๆงาน อาจจะไม่ตอบโจทย์ในด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้เอง จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการสร้างความยั่งยืนเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราในอนาคต
บนความท้าทายและการปรับตัวขององค์กรท่ามกลางวิกฤต COVID-19 การจ้างงานที่ตอบโจทย์ ทั้งคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกหยิบยกมาพูดถึงในวงสนทนาผ่านมุมมองของ 3 ท่านจาก 3 วงการ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs 8 Decent Work and Economic Growth
- ดร.โพธิวัฒน์ เผ่าพงศ์ช่วง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี
- ดร.รัตติยา ภูละออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานแห่งชาติ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- คุณกุลวัลย์ สุพีสุนทร ที่ปรึกษาด้านการบริการจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน PWC
ทั้ง 3 ท่าน จะมาแบ่งปันประสบการณ์และสะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ให้เราได้เข้าใจกันมากขึ้น
วิกฤติ COVID – เศรษฐกิจ – แรงงาน ผลกระทบที่ส่งถึงกัน
ดร.รัตติยา ภูละออ ชี้ให้เราเห็นว่า สถานการณ์ COVID ที่มีผลกระทบต่อทั้งโลก แต่จะมากน้อยขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ สำหรับผลกระทบต่อแรงงานไทย มีให้เห็นในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่แล้ว และ COVID มาเปิดเผยให้เห็นชัดเจนขึ้นและมากขึ้น เช่น แรงงานที่มีความเปราะบางสูง แรงงานที่มีการพึ่งพิงเศรษฐกิจในส่วนอื่นค่อนข้างมาก หรือ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ ไม่มีเงินออม จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ซึ่งส่งผลถึงประสิทธิภาพงานที่ลดลงด้วย
นอกจากนี้ เราจะเห็นการเร่งใช้เทคโนโลยีที่มีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการใช้ดิจิตอล หรือ AI มาทดแทนกลุ่มแรงงานที่ทำงานซ้ำ ๆ หรือการนำเครื่องจักรมาทดแทนคน ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน ตั้งตัวไม่ทัน แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นสร้างโอกาสในงานใหม่ๆ โดยเฉพาะงานด้านดิจิตอล

ดร.โพธิวัฒน์ เผ่าพงศ์ช่วง เสริมอีกว่า โจทย์ที่สำคัญในสถานการณ์ COVID ที่เกิดขึ้นก็คือ
“เราจะลดผลกระทบด้านแรงงานอย่างไร?”
ในภาพรวม มุมมองของธุรกิจตอนนี้มี 2 คำ ที่สำคัญ คือ Survival การอยู่รอด และ Resilience การฟื้นตัว โดยต้องมองไปในอนาคต และ เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อสร้างแรงงานที่จะตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่จะฟื้นตัวกลับมา และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผนงานในปี 2562 – 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 จะใช้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นตัวขับเคลื่อน (Growth Engine) โดยวางแผนสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น S-CURVE มากกว่า 10 กลุ่มอุตสาหกรรม เท่ากับว่า ถ้าสถานการณ์ปกติ ใน 5 ปีนี้ ประเทศจะต้องการแรงงานมากกว่า 400,000 คน โดยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 200,000 คน เป็นแรงงานด้านของอาชีวะที่ตอบสนองกลุ่ม S-CURVE ดังกล่าว แต่ปัจจุบันการลงทุนภาคอุตสาหกรรมก็ชะลอตัว
Demand Driven พัฒนาการศึกษา รองรับเศรษฐกิจเติบโต
ดร.โพธิวัฒน์ ได้เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ในเรื่อง การสร้างงาน ที่มีคุณค่า เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจที่ยั่งยืนว่า IRPC มีนโยบายการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนในเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจและการมีงานทำ
ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้ง วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งใจให้เป็นต้นแบบของ โรงเรียนโรงงาน ผลิตแรงงานในระดับอาชีวะหรือช่างเทคนิคเข้ามาทำงานในโรงงาน ในตำแหน่ง operator ช่างเทคนิค ช่างสำรวจที่ผ่านมาวิทยาลัยฯ ได้สร้างกำลังคนในระดับอาชีวะให้กับตลาดแรงงานมากกว่า 7,000 คน โดยในโรงงาน IRPC เอง มีกำลังคนที่จบจากวิทยาลัยฯ นี้ร่วมทำงานมากกว่า 1,000 คน
ซึ่งหากย้อนไปมองภาพรวมของการพัฒนาการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การจ้างงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลุ่ม ปตท. มองเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยก่อตั้ง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี และให้ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เป็นฐานในการสร้างกำลังคนอาชีวะที่มีคุณภาพ ดังเช่นประเทศแถบยุโรปหรือสิงคโปร์ ที่มียุทธศาสตร์สำคัญคือ Demand Driven ที่ใช้ความต้องการของสถานประกอบการเป็นตัวกำหนดความต้องการในความรู้หรือทักษะที่จำเป็น (Competency Skill) โดยผู้ประกอบการจะทำงานร่วมกับสถานศึกษา เพื่อออกแบบพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการ รวมถึงรูปแบบโรงเรียนโรงงาน (work integrated) หรือที่เมืองไทยเรียกว่า ระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการสร้างคนในสายอาชีวะให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง
วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี โมเดลอาชีวะต้นแบบ
ปัจจุบันวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติในระดับปวช. ปวส. หลักสูตร Mini English Program และหลักสูตร English Program สำหรับนักศึกษาต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมทั้งยังมีโครงการภายใต้ความร่วมมือของบริษัทในกลุ่ม ปตท. กับวิทยาลัย คือ โครงการพัฒนาทักษะด้านช่างเทคนิคขั้นสูงที่เรียกว่า i-PEC ใน 3 สาขา ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเทคนิคพลังงาน กลุ่มเคมีอุตสาหกรรม อีกสาขาหนึ่งเรียกว่า Mechatronics and Robotics & หรือ i-BOT โดยโครงการรูปแบบนี้จะตอบโจทย์ ECC Model ในการสร้างกำลังคน และ การสร้างงาน เป็นรูปแบบที่สถานประกอบการได้ร่วมพัฒนาหลักสูตร ที่เรียกว่า Work Integrated Learning โดยมีวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เป็นต้นแบบ
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมศูนย์ฝึกสอนอาชีพ ให้บริการงานบัญชี โดยนักศึกษาสายพาณิชย์ งานบริการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ โดยกลุ่มช่างเทคนิค เป็นการสร้างโอกาสที่ได้เรียนรู้ ได้งาน และสามารถที่จะประกอบอาชีพที่มีความหลากหลายมากขึ้น และยังมีโครงการที่จะพัฒนาวิทยาลัยให้เป็น Green Collage คือโครงการ iGreen ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ภายในวิทยาลัย และพัฒนาศูนย์เรียนรู้พลังงานทางเลือก เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนที่สนใจมาเรียนรู้ทางด้านพลังงานสะอาดในอนาคต
สร้าง Growth Mindset คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างงานที่ยั่งยืน
คุณกุลวัลย์ สุพีสุนทร ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในวงสนทนาวันนี้ ได้แบ่งปันมุมมองว่า เป็นความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะทำได้ ก็ต่อเมื่อพิจารณาไปที่ประชากรของประเทศนั้น ๆ ว่าทำอย่างไรให้ “คนยั่งยืน” เพื่อให้ประเทศยั่งยืน ใน SDGs 8 เรื่องการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจดูเหมือนเป็นตัวเลขสถิติ แต่ตัวเลขเหล่านี้เกิดจากคนในประเทศที่มีความรู้และทักษะที่จะสามารถทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ทั้งงานวิชาการ หรือการลงมือทำแบบอาชีวะศึกษา ซึ่งทั้งสองอย่างจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมองว่าประเด็นท้าทายในตอนนี้ คือ
“ทำอย่างไรให้คนมีความรู้ เพื่อทำงานได้และค้นหาตัวเองให้เจอด้วย”

เพราะการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเกิดจากความต้องการที่จะทำสิ่งนั้น และอยากพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งในบางงาน เงินเดือนอาจจะไม่จูงใจ จึงต้องมีบางอย่างที่มาจากข้างในของคนทำงานเอง หลังจากที่ให้ความรู้ สอนทักษะแล้ว ต้องจูงใจให้เขาหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร สาเหตุที่อยากทำคืออะไร ถ้าค้นพบสิ่งที่อยากทำ หรืองานที่มีความหมายมีคุณค่า ก็ย่อมอยากที่จะพัฒนาความรู้และทักษะ เพื่อต่อยอดการทำงานให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงเห็นว่าจุดที่สำคัญมากในอนาคตสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่ คือ Growth mindset
Social Innovation บูรณาการทุกภาคส่วน
ดร.รัตติยา ได้เพิ่มเติมมุมมองจากภาควิชาการว่า การส่งเสริมความยั่งยืนเป็นเรื่องของการบูรณาการ ที่ต้องทำงานร่วมกันทุกส่วน โดยถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ยกตัวอย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำ MOU ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ รวมทั้ง ศูนย์ประสานงานและการวิจัยแรงงาน แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิชาการจากหลายคณะ เพราะแรงงานมีความเกี่ยวข้องทั้งเทคโนโลยี สังคม กฎหมาย รวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ เพื่อทำงานร่วมกัน

และมองว่าต่อไป การบูรณาการข้ามศาสตร์ จะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการทำงานให้ได้ประสิทธิผลยั่งยืน ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ซึ่งอาจยากบ้าง แต่ต้องพยายามเชื่อมโยงกันและทำงานในเชิงบูรณาการให้มากขึ้น ดังเช่น โครงการที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในระดับภูมิภาค ด้วยการสร้างการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจเชิงพื้นที่ โดยร่วมมือกับ JICA (Japan International Cooperation Agency) ทำงานในพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทย เป็นการบูรณาการระหว่างทางเทคนิค และแรงงานในพื้นที่ เพื่อกระจายการจ้างงานไปให้ถึงชุมชนในหน่วยย่อย
กระจายโอกาสพัฒนา Future Skill โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดร.โพธิวัฒน์ ระบุว่าการสร้างคนสร้างงานในชุมชน เป็นหนึ่งในความพยายามของ IRPC ด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ IRPC ได้กระจายโอกาสให้กับเยาวชนที่จะได้มาเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ด้วยการให้ทุนการศึกษา โดยในปัจจุบันมีการผลิตนักศึกษาสู่ตลาดแรงงานประมาณ 300 คนต่อปี มีการสนับสนุนทุนการศึกษา 100 ทุน โดยลูกหลานชาวระยองมีสัดส่วนสูงที่เข้ามาศึกษาที่วิทยาลัยฯ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนนักศึกษาจากทุกภูมิภาคของประเทศ ในหลักสูตรวิชาชีพขั้นสูงและอุตสาหกรรม และที่เป็นความภาคภูมิใจคือมีนโยบายสนับสนุนนักศึกษาชายขอบที่ยากจนและอยู่ห่างไกลให้มีโอกาสมาเรียนที่วิทยาลัยฯ ด้วย เพื่อให้เท่าทันกับความรู้และทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเตรียมตัวพัฒนา future skill set เช่น หลักสูตรยานยนต์สมัยใหม่ พลังงานทางเลือกในอนาคต รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานในปัจจุบัน
เช่น การจัดตั้งศูนย์ Training Center ที่จะพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อรองรับการฝึกอบรม up-skill หรือ re-skill เรียกว่าโครงการ Jump Start Academy และ การร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มปตท. บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด (BSA) ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาแรงงานในการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม WE JOB รองรับด้าน demand / supply แรงงานอาชีวะ ร่วมมือกับบริษัท บริษัท จีซี เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง (GCME) ปรับปรุงหลักสูตรติดอาวุธช่างเทคนิค เพื่อให้เท่าทันโลกเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ตลอดจนความร่วมมือกับธุรกิจนอกกลุ่ม ปตท. เช่น บริษัทชไนเดอร์อิเลคทริก (ไทยแลนด์) พัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าต่าง ๆ และมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อร่วมพัฒนากำลังคนอาชีวะรองรับสาขา EV ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมสนับสนุนศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสายอาชีวะที่มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคตด้วย
งานที่มีคุณค่า กับ mindset เรื่องความรู้กับวุฒิการศึกษา
เมื่อการสนทนามาถึงตรงจุดนี้ ทั้ง 3 สามท่านเห็นตรงกันว่า งานของกลุ่มอาชีวะ ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีโอกาสที่ขยายผลต่อยอดได้อีกมาก แต่น่าเสียดาย ที่สังคมไทยยังติดกับดักทางความคิดเรื่องการให้ค่ากับวุฒิการศึกษากับความรู้ทางวิชาการ โดยมองข้ามงานที่มีคุณค่าในมิติอื่น ๆ คุณกุลวัลย์ สะท้อนแนวคิดเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยังมี Mindset เรื่องวุฒิการศึกษาที่ค่อนข้างจำกัด เช่น การให้ความหมายว่า ถ้าไม่จบปริญญาโท คือไม่มีศักยภาพในการทำงานในตำแหน่งสูง หรือถ้าจบปริญญาตรีต้องต่อปริญญาโท หรือค่านิยมการเรียนอาชีวะ ที่มองว่าเป็นคนไม่เก่งไปเรียน แต่ที่จริง ถ้าการเรียนแล้วสามารถทำงานได้เลย ก็ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา เช่น ในประเทศเยอรมัน มีแนวความคิดว่า ถ้าต้องการทำงานในโรงงานสามารถเรียนในสิ่งที่สามารถทำงานได้เลย แต่สังคมไทยยังไม่ได้มองว่าอาชีวะมีความเท่าเทียมกับปริญญา
ดร.โพธิวัฒน์ ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมของกำลังคน สัดส่วนระหว่างนักศึกษาอาชีวะกับระดับปริญญาของประเทศไทยคือ 40:60 ในขณะที่ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน ออสเตรีย หรือสิงคโปร์ ที่พัฒนาด้วยกำลังคนอาชีวะเป็นหลัก สัดส่วนจะกลับข้างกันคือ 60:40 ในประเทศออสเตรียสูงถึง 70:30 ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของประเทศในมุมมองของแรงงานอาชีวะ คือ ต้องทบทวนแผนการเพิ่มปริมาณแรงงาน โดยเฉพาะสาขาช่างอุตสาหกรรมในหลายสาขาที่ขาดแคลน และเติมเต็มเรื่องคุณภาพ โดยอาชีวะคุณภาพ ต้องเป็นหลักสูตรทวิภาคี เรียกว่า Work Integrated Learning หรือโรงเรียนโรงงาน ซึ่งเราสามารถจัดการได้อยู่ประมาณ 20% นอกจากนั้น จะเป็นการฝึกงานในหลักสูตรปกติ ซึ่งเป็นระยะสั้น ยังไม่เข้มข้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดความชำนาญขึ้นมาได้ และขอเชิญชวนผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ถ้ามีโอกาสควรสนับสนุนเด็กอาชีวะให้ได้ฝึกงานอย่างเข้มข้น
ปลดล็อคเชิงนโยบาย ส่งเสริม Life Counseling ให้คนรุ่นใหม่
ดร.โพธิวัฒน์ ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อการผลักดันเรื่องนี้ในอนาคตว่า ในเชิงนโยบาย ภาครัฐจะต้องส่งเสริมสถานประกอบการให้ร่วมมือสร้างคนอาชีวะ คือ ต้องสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการสร้างคน เพราะการดำเนินงานเรื่องนี้มีต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้น ต้องมองในเชิงนโยบาย แต่ปัจจุบันเป็นการสนับสนุนแบบที่เรียกว่า “จิตอาสา” ในเยอรมันเป็น “ภาคบังคับ” คือไม่ทำไม่ได้ ถือเป็นความรับผิดชอบของสถานประกอบการที่ต้องร่วมสร้างคนเพื่อสร้างชาติไปด้วยกัน อีกโจทย์หนึ่ง คือ ค่านิยมของพ่อแม่คนไทย อยากให้ลูกรับราชการ เรียนจบปริญญา ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้ปลดล็อกเรื่องนี้ โดยพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เรียกว่า “หลักสูตรปริญญาตรีปฏิบัติการ” หรือ “เทคโนโลยีบัณฑิต” รองรับผู้จบอาชีวะที่ทำงานแล้ว ให้มีโอกาสเรียนต่อ เพื่อยกระดับความรู้ทักษะในเชิงการบริหารจัดการ และช่วยพัฒนาสายอาชีพในชีวิตการทำงาน ดังนั้น HR น่าจะส่งเสริมให้คนทำงานที่จบอาชีวะ สามารถเรียนต่อระหว่างทำงาน จนได้รับปริญญาได้
ดร.รัตติยา เสริมว่าความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการของตลาดและนักศึกษาที่เป็นฝั่งอุปทาน เพราะว่า ในชีวิตไม่ได้ต้องการแค่ career counseling หรือที่ปรึกษาด้านอาชีพ แต่ต้องการ life counseling ที่ปรึกษาวางแผนชีวิต ถ้าเยาวชนรุ่นใหม่เห็นภาพทั้งชีวิต ที่ไม่ใช่แค่ ณ เวลาที่เรียนจบ อาจวางแผนไปทำงานก่อน แล้วมาเรียนเพิ่มเติมก็ได้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะทุกวันนี้มีทักษะใหม่ๆมาตลอดเวลาให้เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ดังนั้น ต้องมีสองระบบที่สอดคล้องกัน คือการมองภาพกว้าง วางแผนชีวิตทั้งชีวิต และ สถานประกอบการที่เปิดโอกาสให้คนที่ทำงานแล้ว สามารถพัฒนาตัวเองต่อเนื่องได้ โดยสร้างระบบการเรียนรู้ที่สามารถเข้าออกได้โดยอิสระในอนาคต โดยต้นทุนไม่สูง
การปรับตัว การบูรณาการ และการเรียนรู้ คือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับอนาคต
คุณกุลวัลย์ มองอนาคตว่า ตัวอย่างในหนึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้เกิดการปรับตัวขนานใหญ่ เมื่อเกิดการ disruption ทำให้มีการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เชื่อว่าในอนาคตเราจะเห็นการทำงานเฉพาะในสาขาอาชีพเดียวกันลดลง แต่ความร่วมมือกันในหลากหลายอาชีพจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืน เพราะความรู้เรื่องนี้ไม่ได้มาจากวิชาชีพเดียว
มีประเด็นมากมายที่ต้องบูรณาการกัน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม หรือเรื่องแรงงาน ซึ่งจะแตกย่อยได้อีกมาก เพราะฉะนั้นคน ๆเดียวไม่สามารถรู้ทุกอย่างได้ ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ต้องสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น นี่คือเป็นสิ่งที่อนาคตของการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งการมีใจรักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับอนาคต และทิ้งท้ายว่าเรื่องความยั่งยืน ต้องจบที่คำว่า empathy คือการเข้าอกเข้าใจ เอาใจใส่ เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกระทบถึงกัน
และนี่ก็คือ มุมมองและประสบการณ์ของผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน ในเรื่อง การสร้างงาน ที่ตอบโจทย์ทั้งคุณค่าและมูลค่า เพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน
….
รายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change”
ตอน “ร่วมสร้างงานที่มีคุณค่า เพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ติดตามชมรายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change” Facebook
ได้ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ หรือ Facebook Global Compact Network Thailand และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical