การเปลี่ยนแปลงความคิด แม้กระทั่งของเราเอง หรือ เราต้องการจะเปลี่ยนความคิดของคนอื่นที่อยู่ตรงหน้าเรา ต้องใช้กระบวนการอะไรบ้าง? ในบทความนี้เราจะพูดถึงเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงความคิด ซึ่งได้นำเนื้อหามาจาก What does it take to change a mind? บรรยายโดย Lucinda Beaman จากงาน TEDxSydney
เมื่อการโต้แย้งเริ่มต้นขึ้น อาจจะถูกเปิดด้วยข้อมูลจากฝ่ายที่หนึ่ง และตามด้วยข้อมูลของฝ่ายที่สองซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่หนึ่งอยู่แล้ว มิเช่นนั้นคงเรียกว่าการโต้แย้งไม่ได้ หลังจากนั้นต่างฝ่ายต่างงัดหลักฐาน ข้อมูล หรือข้อพิสูจน์ต่างๆ ที่ตนเองมีขึ้นมา ท้ายที่สุดแล้วใครกันแน่ ฝ่ายใดกันแน่ ที่จะเป็นคนที่ต้องเปลี่ยนแปลงความคิด? และเพราะเหตุใดที่พวกเขาถึงยอมเปลี่ยนความคิดเหล่านั้น?
Lucinda Beaman เล่าว่า อาชีพของเธอเป็นบรรณาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความจริงของบทสนทนาหรือสื่อต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ถึงกันในประเทศออสเตรเลีย เธอได้ทำงานร่วมกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีความชำนาญในการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานว่าเป็นของจริงหรือเรื่องหลอกลวง
“การแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องเป็นการวางรากฐานของสังคมที่มีสุขภาพดี”
ในสังคมแห่งการเผยแพร่เรื่องราวปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแบบต่อหน้าหรือออนไลน์ในโลกอินเทอร์เน็ต (ซึ่งดูเหมือนจะหนักไปทางออนไลน์) เป็นเรื่องง่ายที่จะหลอกลวง และเป็นเรื่องยากที่จะค้นให้พบว่าเรื่องที่เราได้อ่านนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ งานของ Lucinda คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยองค์กรต่างๆ เปิดเผยเรื่องราวเท็จและข้อมูลอันเป็นภัยอันตรายเพื่อเผยข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งปลอดภัยต่อคนในสังคมที่รอเสพข้อมูลอยู่
“การปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับในครั้งแรก โดยปฏิเสธข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ถูกส่งมาในครั้งที่ 2”
งานที่ Lucinda ทำเป็นเหมือนการหักมุมหนังในตอนท้ายหลายต่อหลายเคส ยกตัวอย่างเช่น เคสของการเผยแพร่รูปเด็กผู้หญิงผิวขาวคนหนึ่งที่ใบหน้าเต็มไปด้วยเลือด ใบหน้าฉีกขาดอย่างน่าสงสาร และมีชายผิวสีชาวแอฟริกาอยู่ในรูปที่ด้วยเช่นกัน ท่ามกลางความตึงเครียดในเรื่องเชื้อชาติ คนจำนวนมากส่งต่อรูปและเขียนข้อความในเชิงเดียวกันคือ “นี่คือสิ่งที่คนป่าทำกับเด็กผิวขาวในแอฟริกาใต้ มันแกะสลักรูปยิ้มบนหน้าของเธอ” และแน่นอนว่าไม่ลืมที่จะติดแฮชแท็ก “#หยุดการฆาตกรรมในฟาร์มและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
“ยุคนี้เป็นยุคที่คนเราก่อโศกนาฏกรรมทางออนไลน์ โดยมีอาวุธเป็นข้อความ”
เด็กผู้หญิงคนนั้นปลอดภัยดี เธอไม่ได้ตายจากการฆาตกรรม เพราะความจริงคือบาดแผลบนใบหน้าของเธอเกิดจากสุนัขที่ครอบครัวของเธอเลี้ยงไว้ มันโจมตีเธอ แต่จะมีใครกี่คนที่ได้รับข้อมูลนี้ เปลี่ยนความเข้าใจแรกที่เคยปักใจเชื่อ ขอโทษชายคนนั้น หรือมีใครเคยคิดไหมว่าสิ่งเหล่านี้มันกระทบต่อชายผู้บริสุทธิ์อย่างไรบ้าง
“งานของฉันจบลง และงานของคุณเริ่มขึ้น”
Lucinda เล่าว่างานของเธอคือ การไล่ล่าหาความจริงจากสิ่งที่ถูกเผยแพร่ไว้ เมื่อเธอเปิดเผยความจริงให้แล้วงานของเธอก็จบลง ที่เหลือเป็นเรื่องของผู้รับข้อมูล คุณจะรับความจริงเข้าไปใหม่ไหม หรือจะติดอยู่กับข้อมูลแรกที่ได้รับ ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่มักจะเป็นประเด็นทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก มันจะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปกคลุมเราอยู่รอบๆ และมีผลต่อการตัดสินใจของเราโดยไม่รู้ตัว เราจะจัดมันเป็นประสบการณ์และใช้สิ่งเหล่านี้ในการตัดสินใจครั้งต่อไป ข้อมูลที่รับเข้าไปในแต่ละอย่าง แต่ละอันจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของแต่ละคน
“การรับข้อมูลของเราอยู่ภายใต้อคติการยืนยันและการให้เหตุผลด้วยแรงจูงใจ”
ภาพลวงตา สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้รับข้อมูลที่รับแค่เพียงข้อมูลแรก หรือข้อมูลที่ตัวเองพึงพอใจจะรับเท่านั้น ข้อมูลใหม่เป็นสิ่งที่สมองประมวลผลยาก ดังนั้นข้อมูลเก่าๆที่คุ้นเคย เมื่อถูกย้ำเตือนบ่อยเข้าจะเกิดเป็นความเชื่อแบบปักใจได้ หรือการรับข้อมูลในรูปแบบมีแรงจูงใจจะรับ เช่นการรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ต้องการ ก็จะปักใจเชื่อโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ถ้าเป็นข้อมูลเดียวกัน แต่มาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ต้องการก็จะหาเหตุผลมาขัดแย้งและไม่ยอมรับมันทันที
“ทุกคนโหยหาการได้รับความเชื่อถือและความเคารพ”
มนุษย์ทุกคนต้องการจะเป็นคนที่มีคนมาให้ความเชื่อถือและความเคารพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะได้จากคนที่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น อ่อนน้อมถ่อมตน และมีความกล้าหาญ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทักษะทั้งหมดนี้ ทักษะเหล่านี้จะทำให้คุณเป็นคนที่รู้จักเชื่อถือและเคารพคนอื่น แต่เมื่อคุณอยากมีคนมาเชื่อถือและเคารพ คุณก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าได้มอบสิ่งที่ตัวเองต้องการให้คนอื่นบ้างแล้วหรือยัง?
“เชื่อสิ่งที่ผิดแล้วมีพวก ดีกว่าถูกต้องอย่างโดดเดี่ยว”
ข้อมูลเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนความเชื่อในหัวของเรา มันจะถูกนำไปประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง บางคนเลือกที่จะโยนข้อมูลที่ถูกต้องทิ้งไปทั้งที่รู้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นคือความจริงที่ถูกต้อง เพียงเพราะกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวว่าถ้าเลือกเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องจะถูกขับไล่ออกจากกลุ่มของตัวเองที่เชื่ออีกแบบหนึ่ง ซึ่งคนประเภทนี้ก็มีอยู่เยอะเสียด้วย
“เคยถามตัวเองไหมว่า สิ่งที่ต้องการจากการโต้แย้งคืออะไร?”
การโต้แย้งเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือระหว่างทางกลับบ้าน แต่เคยถามตัวเองไหมว่าเราโต้แย้งกันเพื่ออะไร จุดหมายปลายทางคือต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเจ็บปวดหรือเปล่า บางคนอาจจะต้องการเปลี่ยนใจฝ่ายตรงข้ามให้มาคิดเหมือนกัน ต้องการเพียงแค่การพยักหน้าเล็กน้อยแล้วบอกว่า “คุณน่ะถูกแล้ว” ใช่หรือเปล่า ถ้านี่คือสิ่งที่คุณต้องการ แล้วครั้งสุดท้ายที่คุณเป็นฝ่ายเปลี่ยนความคิดตัวเองคือเมื่อไรกัน?
“ผลงานที่หายไปของศิลปะแห่งความขัดแย้ง”
ความขัดแย้งไม่ได้มีแค่ผลเสียเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาคนเราก็โต้แย้งกันมาตลอด เกิดกระบวนการทางปัญหาในการหาหนทางปกป้องเหตุผลของตัวเอง จนไปถึงการพัฒนาความคิดเหล่านั้นจนมันเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ มากมายที่ได้ระหว่างที่โต้แย้ง แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เหลือทิ้งไว้จากการโต้แย้งก็คือความขุ่นเคืองใจและความสัมพันธ์ที่ไม่อาจต่อให้ติดได้อีกของทั้งสองฝ่าย
“ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อโต้แย้ง”
หากการโต้แย้งของคุณเริ่มด้วยความไม่เข้าใจ วิธีการผ่านพ้นไปโดยไม่มีใครต้องเจ็บปวดคือโยนอคติทั้งหมดทิ้งไป เลิกสนใจว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ รับฟังอีกฝ่ายให้เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเชื่อแบบนั้น และอธิบายความเชื่อของเราอย่างใจเย็น ผลลัพธ์ไม่จำเป็นต้องมีใครถูกหรือผิด หรือใครต้องเปลี่ยนความเชื่อเสมอไป เพราะเราอาจจะได้ความเชื่อใหม่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ได้
“การโต้แย้งไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง หากรู้วิธีจัดการ”
มนุษย์เป็นสิ่งที่มีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา การโต้แย้งเป็นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนความอยากรู้อยากเห็นระหว่างทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ทำให้การโต้แย้งได้ผลคือเราต้องอยากรู้อยากเห็นอย่างมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น สิ่งนี้จะทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆกว้างขึ้น เปิดใจขึ้น และทำความเข้าใจในความเชื่อของคนอื่นได้มากขึ้น และเมื่อคุณเป็นฝ่ายได้อธิบาย พยายามให้มากในการส่งข้อมูล หาจุดที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้อย่างน้อย 1 จุด ไม่ว่าจุดจุดนั้นมันจะเล็กแค่ไหนก็ตาม
บทสรุป
คนเราต้องเผชิญหน้ากับการโต้แย้งที่มักจะบังคับให้เราต้องเลือกระหว่างการเปลี่ยนความคิดตัวเองกับการพิสูจน์ว่าความคิดตัวเองดีที่สุดแล้ว เกือบทุกคนมักจะเลือกที่จะพิสูจน์ว่าความคิดตัวเองดีกว่าความคิดของคนอื่นอยู่แล้ว
เพราะด้วยความที่เชื่อมั่นใจตัวเองทำให้คิดว่าข้อมูลที่ตัวเองมีคือสิ่งที่ถูก แต่ผลลัพธ์ที่แท้จริงของการโต้แย้งไม่ใช่การมองหาว่าใครถูกหรือผิด แต่เป็นการหาข้อมูลพิสูจน์หลักฐานของกันและกันอย่างมีสติ มีความฉลาดทางอารมณ์ และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความกล้าที่ปรับหรือเปลี่ยนความคิดตัวเอง
สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงความคิด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนความคิดของคุณเอง หรือการเปลี่ยนความคิดของคนอื่นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนมุ่งแต่จะเอาชนะกันและกัน
“การโต้แย้งที่แท้จริง คือ การพูดถึงข้อเท็จจริงที่แสนเย็นชา ด้วยความเห็นอกเห็นใจที่แสนอบอุ่น”
Reference: What does it take to change a mind? | Lucinda Beaman | TEDxSydney