การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน เพราะเราก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เราชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นจากประสบการณ์ การลงมือทำ หรือ จากอื่นๆ
ดังเรื่องราวของบุคคลสำคัญของเราในตอนนี้ก็เช่นกัน ที่เขาเชื่อว่า “การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน”
ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน นักแสดง ผู้กำกับการแสดง และยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน โรงเรียนทางเลือกที่ใช้ศิลปะการแสดงมาเป็นกระบวนการในการสร้างการเรียนรู้ควบคู่กับการเรียนรู้ทางวิชาการ
ครูเล็ก เล่าให้ฟังว่า การเรียนรู้ของเธอส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และการละครก็เป็นศาสตร์ที่สำคัญที่ทำให้ครูเล็กรู้จักการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกและบุคคลอื่น ทำให้เรื่องของการเรียนรู้ จึงมีแต่ความตื่นเต้น เพราะเราเรียนรู้จากสิ่งที่เราชอบนั่นเอง
โลกของการเรียนรู้นอกห้องเรียน
ครูเล็ก บอกกับเราว่า ในช่วงวัยเด็ก “การเรียนรู้ของครูเล็กแทบไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเลย และ ก็จำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าตอนอยู่ในห้องเรียนเรียนอะไรมาบ้าง” ประเด็นนี้เหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านมากี่ยุค ก็ยังมีหลายๆ คนก็ไม่ชอบเรียนรู้ในห้องเรียนก็มีเยอะเหมือนกัน
“เราสามารถเรียนรู้ได้เยอะ จากชีวิตและจากการทำงานจริงๆ”
ครูเล็ก ในอดีตเป็นเด็กปฎิบัติ เก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์จากการเรียนในโรงเรียนชั้นนำในประเทศ รวมถึงเคยเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และ ประกอบกับว่าครูเล็ก เป็นคนที่มีความสนใจที่ชัดเจนมาตั้งแต่เด็ก จึงเลือกเน้นเรียนรู้ตามความสนใจของเธอมาโดยตลอด
“คนเราน่ะไม่ได้โง่หรอกนะ เพียงแต่บางคนเขาไม่ชอบทำอะไรเขาก็ไม่ทำ”
ในบางช่วงบางตอนของชีวิตครูเล็ก กล่าวถึงวิธีการเรียนรู้ของเธอสมัยเป็นนักเรียนว่า กิจกรรมหรืองานบางอย่างที่ ครูเล็กไม่ชอบ เช่น ครูสั่งการบ้านให้เขียนเรื่องบ้านของฉัน ครูเล็กเลือกส่งกระดาษเปล่าเพราะหัวข้อมันไม่น่าเขียนทำให้ ต้องสอบตกวิชาเรียงความ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราโง่ในเรื่องนั้น เราเพียงแต่รู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจก็เท่านั้นเอง
หลังจากที่ ครูเล็ก ได้ปลี่ยนบทบาทมาเป็นครู ครูเล็ก เชื่อว่า “เด็กว่าทุกคนไม่ได้โง่ เพียงแต่เด็กต้องค้นให้เจอว่าตนเองชอบอะไร? ถ้าค้นไม่เจอเดี๋ยวครูจะช่วย ซึ่งจริงๆ ก็ต้องช่วยกันเพราะผู้ใหญ่จะมองเห็นแววของเด็กจากการพูดคุย โดยจะสะท้อนออกมาจากคำคำเดียวว่าเขาอยากทำอะไร ดังนั้น หน้าที่ของครูคือกระตุ้นให้เขาคิดให้รอบด้านครบถ้วน” นีคือส่ิงที่ครูที่ดีควรทำและควรช่วยเหลือเด็ก
เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
การเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติของครูเล็ก เกือบทั้งหมด มาจากความสนใจในด้านศิลปะ ครูเล็ก เล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนราชินี กิจกรรมที่เธอชื่นชอบที่สุดคือการเล่นละคร รำละคร ร้องเพลงไทยเดิม เล่นดนตรีไทย และเมื่อเดินทางไปเรียนชั้นไฮสคูลที่ประเทศอังกฤษ ความสนใจเหล่านี้ของเธอก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
ครูเล็ก บอกกับเราว่า รู้จักวรรณคดีจากการเล่นละคร ที่โรงเรียนราชินี เราจะได้เล่นละคร รำละคร ร้องเพลงไทยเดิม เล่นดนตรีไทย และ พอไปเรียนต่อไฮสคูลที่อังกฤษ เขาจะมีหลักสูตรที่ใช้ศิลปศาสตร์ในการทำให้เด็กสนใจที่จะไปโรงเรียน เป็นการเรียนโดยใช้วัฒนธรรม วรรณคดี ภาษามานำ เราได้รู้จักวรรณกรรมต่างๆ ของอังกฤษผ่านการเล่นละคร เพราะในโรงเรียนมีการเล่นละครทั้งปี นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การร่วมงานกับผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันอีกด้วย
ครูเล็ก เล่าว่า ทุกคนในโรงเรียนจะได้ร่วมมือทำงาน เป็นฝ่ายฉาก ฝ่ายชุด ฝ่ายกำกับการแสดง ตามที่ตัวเองถนัด แต่ที่นั่นเขาจะมีกฎอยู่อย่างหนึ่งคือจะทำอะไรก็ทำแต่ไม่ต้องลงทุนเยอะ เช่น ทำฉากก็ให้ใช้เก้าอี้หรือโต๊ะในห้องเรียนมาทำ โดยห้ามตัดห้ามทำลายใช้เสร็จแล้วต้องกลับไปอยู่ในสภาพเดิม ไม่ทำให้เสียของ มันฝึกนิสัยการทำงานให้เรารู้จักประหยัด นักเรียนจะมองรอบตัวว่าเพื่อนคนไหนทำอะไรได้บ้าง ที่อังกฤษเขาจะสอนให้เด็กคิดสร้างสรรค์และลงมือทำเองจากสิ่งที่มีอยู่ จนทุกวันนี้ดิฉันก็ยังติดมา เวลาทำงานก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่”
ระบบการเรียนรู้ ที่ถูกปลูกฝังมาจากครอบครัว
ครูเล็ก บอกว่า ครูคนสำคัญของเธอคือคุณแม่ – คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้เธอได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ตั้งแต่เด็กจนโต ครูเล็กบอกว่าคุณแม่ของเธอเป็นนักธุรกิจที่ชอบร้องเพลงและชอบอ่านหนังสือ
แม่บอกว่าการที่ได้อ่านหนังสือถวายทำให้แม่รอบรู้แล้วก็มีสติปัญญาที่กว้าง ดิฉันก็นำตรงนั้นมาใช้ด้วย เดิมดิฉันเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ดิฉันจะอ่านดังๆ แล้วก็ใส่ลีลาเข้าไปให้เป็นละคร เพราะแม่บอกว่าการอ่านหนังสือทำให้ฉลาดและการที่แม่ฉลาดก็ทำให้แม่ใจกว้าง คนฉลาดจะใจกว้างเพราะรอบรู้เยอะ แต่คนใจแคบคือคนที่กลัว ถ้าเรามีความรู้เราจะไม่กลัว” ครูเล็กพูดถึงคนที่เป็นแรงบันดาลใจของเธอ
ครูเล็ก บอกกับเราว่า “ด้วยความที่คุณแม่เป็นคนใจกว้าง มันก็เลยทำให้เป็นกำลังใจแล้วดิฉันก็เรียนทุกอย่างที่อยากเรียน ท่านก็บอกทำให้เก่งรู้ให้จริง ซึ่งดิฉันก็จะได้เอเสมอ แต่ถ้าเรียนหนังสือจะสอบได้กลางๆ ดิฉันก็เลยมองว่าการเรียนถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่เราชอบ เราอยากไปโรงเรียน เราอยากฟัง อยากซ้อม อยากไปทำ เราก็จะทำได้ดีเพราะเราจะไม่ยอมแพ้”
การเรียนรู้การเข้าสังคมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ครูเล็กได้จากคุณแม่ เพราะด้วยความที่คุณหญิงสุภัทราเป็นนักธุรกิจ การออกงานสังคมจึงเป็นคล้ายกับงานอีกอย่างหนึ่ง แต่ก่อนเราก็ไม่ค่อยเข้าใจพอเราโตถึงได้รู้ได้เข้าใจว่าบางทีเราก็ไม่ชอบไปนักหรอกแต่ก็ต้องไป” ครูเล็กพูดถึงการออกงานสังคม
“เพราะการเจอคนจะทำให้เรากว้างขวางขึ้น คุณแม่ท่านก็จะสอนเรื่องมารยาททางสังคมและวิธีพูดจาต่างๆ ตอนดิฉันไปเรียนที่อเมริกาที่โรงเรียนเขาก็สอนมารยาทการออกสังคม การจับแก้วไวน์ การคุย การรับประทานออเดิร์ฟ การจัดโต๊ะอาหาร มารยาทเหล่านี้ที่เราได้เรียนได้ฝึกมาและได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการออกสังคมมันมีประโยชน์มหาศาล”
ครูเล็ก เล่ารายละเอียดการฝึกฝน และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกมารยาททางสังคมเอาไว้อย่างน่าสนใจ และพบว่าสิ่งเหล่านี้มีผลลัพธ์มากกว่าการออกงาน หากแต่ส่งผลให้นำไปปรับใช้ในชีวิตได้ด้วย อาทิเช่น
เรื่องมารยาท คนเขามักจะตัดสินเราว่าเราแต่งตัวยังไง เราเดินยังไง เรามีความภูมิใจในตัวเองแค่ไหน เราพูดจาทักทายหรือจับมือในวัฒนธรรมต่างๆ ได้ดีหรือเปล่า เพราะการจับมือทักทายมันต้องบีบเล็กๆ เบาๆ ให้เขารู้ว่านี่คือจากหัวใจฉัน สิ่งเหล่านี้มันต้องซ้อมค่ะ บางคนที่แค่ยื่นมือมาให้จับจะดูเป็นคนที่เยือกเย็นมาก บางคนก็บีบจนเจ็บ การจับมือทักทายที่ถูกต้องมาจากใจและสบตาด้วย เป็นต้น
ครูเล็ก บอกกับเราว่า “การเรียนรู้จะทำให้จิตใจเราดีขึ้น เวลาเราทำอะไรก็จะนุ่มนวลขึ้น พอเราตะโกนด่าคนเราก็จะได้ยินเสียงตัวเอง เพราะเราถูกฝึกมาแล้วให้ฟัง พอเราได้ยินเสียงตัวเองที่มันไม่เพราะเราก็จะหยุด ถึงได้บอกว่าคนจะดีได้ต้องมีความรู้ เราไปบอกว่าเป็นเด็กดีนะๆ ลูกนั่งดีๆ สิ หรือพูดเพราะๆ นะ มันไม่ได้ คุณต้องให้เทคนิคเขาว่าพูดเพราะคือพูดยังไง ฝึกเสียง ฝึกการเคลื่อนไหว จากนั้นเด็กเขาก็จะไปเรียนรู้เอง” ครูเล็กให้เทคนิคการเรียนรู้ด้วยการตระหนักรู้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ เรียนรู้จากการดูรายละเอียด ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเช่นกัน การเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดทั้งหมดของครูเล็ก เหตุเกิดจากการที่ครูเล็ก ได้มีโอกาสไปวิปัสสนาที่จังหวัดเชียงใหม่ตามคำชวนของเพื่อน ทำให้ครูเล็กพบว่า “การนั่งสมาธิวิปัสสนาครั้งนั้นทำให้เริ่มเรียนรู้การอยู่นิ่งๆ อยู่กับตัวเอง เริ่มเห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”
ครูเล็ก บอกว่า การได้นั่งสมาธิเป็นการทำความสะอาดจิตที่มัวหมอง ให้สะอาดแจ่มใสขึ้นเพื่อเตรีมพร้อมสำหรับการเรียนรุ้สิ่งใหม่ๆ
“ที่ผ่านมามีหลายอย่างที่เราได้เรียนรู้แต่เรามองไม่เห็นสิ่งนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งจิตเราว่างและเราถูกฝึกให้เห็นรายละเอียดผ่านการนั่งสมาธิ การนั่งสมาธิเป็นการทำความสะอาดจิตที่มัวหมอง คิดนั่นคิดนี่ คิดเล็กน้อยออกไป จากนั้นจึง Re-Learn คือเราลบของเก่าออกให้หมดแล้วเรียนรู้ใหม่ พอเราเรียนรู้ใหม่หมดเราจะได้ของจริง แต่สิ่งสำคัญก็คือเราต้องมีครูที่ดี”
ทำให้ “จากคนที่อะไรก็ไม่สำคัญนอกจากงานของตัวเองก็กลายเป็นว่าทุกคนในโลกนี้สำคัญหมด และเราจะทำทุกอย่างที่ศักยภาพสติปัญญาเราทำได้ นั่นทำให้หลังจากนั้นการงานก็เริ่มดีขึ้น และก็เป็นจุดที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น”
บทสรุป
“การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน เท่านั้น เราสามารถเรียนรู้จากแหล่งอื่นๆ ได้ และ ที่สำคัญ ระบบการเรียนรู้ที่ดี จำเป็นต้องปลูกฝังและสร้างกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ครอบครัวและครู คือ บทบาทที่สำคัญมากสำหรับเรื่องนี้”
เรื่องราวของ ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน ชี้ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครโง่ เพียงแต่เขาอาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องที่เราสนใจ หรือ คนในสังคมสนใจก็เป็นได้ และ เรื่องของการเรียนรู้ รูปแบบของการเรียนรู้ ของแต่ละคนอาจจะมีวิธีการที่ไม่เหมือนกันก็ได้
เอาเป็นว่า เราเองก็ต้องกลับมาค้นหาคำตอบให้กับตัวเองกันอีกครั้ง ว่าเราชอบการเรียนรู้แบบไหน เรื่องอะไร และ สามารถเรียนรู้ในเรื่องเหล่านั้นแล้วเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิต หรือ การทำงานเราได้อย่างไร? บางที เราอาจจะเจอทางที่ใช่ในแบบของเราเองก็เป็นได้
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
พี่นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล การคิดบวก คือหัวใจสำคัญสำหรับทุกๆ ภารกิจของชีวิต และทุกๆ ปัญหาคือโอกาส
ครูไอซ์ – ดำเกิง มุ่งธัญญา Mindset ที่ดี สามารถช่วยให้เรา ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตได้
พี่ต่อ – ธนญชัย ศรศรีวิชัย ชีวิตคือการตั้งคำถาม เพื่อให้เรากล้าที่จะท้าทายตนเอง ให้กล้าออกจากจุดเดิมๆ