เพราะหุ้นกู้ไม่เหมือนการฝากเงินในธนาคาร และหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยง เราจึงควรต้องมาทำความเข้าใจในเรื่อง ข้อควรระวังในการลงทุนในหุ้นกู้ กันเสียก่อน
เรื่องของความเข้าใจผิด
เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดกันเยอะ ว่าหุ้นกู้ที่ออกมาขายโดยธนาคาร (ซึ่งเป็นแค่ตัวกลาง หรือ ตัวแทนในการจำหน่ายหุ้นกู้) เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคาร เพราะก็ได้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ และ สูงกว่าการฝากประจำ
หรือ บางรายแย่ไปกว่านั้น เพราะไม่เข้าใจ แถมไม่ศึกษาหาข้อมูล เอาแต่มองเรื่องผลตอบแทนสูงๆ ที่ตนเองอยากได้ ไม่ได้พิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหากเลือกลงทุนในหุ้นกู้ และ ถ้าหุ้นกู้ที่ลงทุนไป เกิดไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยขึ้นมา งานเข้าเลยล่ะทีนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เราต้องรู้ในเรื่องของ ข้อควรระวังในการลงทุนในหุ้นกู้
หุ้นกู้ เบี้ยวจ่ายดอกเบี้ยได้ด้วยเหรอ?
มีแน่นอน เพราะในโลกของการลงทุน ไม่มีการลงทุนอะไร ที่ไม่มีความเสี่ยงเมื่อหุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวไม่จ่ายเช่นกัน
ซื้อหุ้นกู้จะถูกเบี้ยวได้กรณีไหน?
ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน “บริษัทที่ออกหุ้นกู้ คือ บริษัทที่จะกลายเป็นลูกหนี้เรา” และ “เราคือเจ้าหนี้เขา”
ถ้าผู้ออกหุ้นกู้ที่ทำธุรกิจล้มเหลวไม่เป็นไปอย่างที่คาดขึ้นมา หาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับเจ้าหนี้อย่างเรา และไม่มีเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ ทำให้เงินของเราที่ลงทุนไปอาจกลายเป็น “ศูนย์” ได้
ไม่สิ มันต้องไม่สูญ ถ้าเราจะทวงเงินให้ได้ ก็ต้องให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ช่วย และ ก็จะทำได้โดยต้องให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ช่วย แล้วก็ต้องแลกมาด้วยการเสียเวลาในการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี ให้ผู้ออกหุ้นกู้ ต้องขายทรัพย์สินมาชำระเงินให้เรา แต่มีโอกาสสูงมากที่คดีจะยืดยาว และถึงจะขายทรัพย์สินออกมาแล้ว เราก็มีโอกาสที่จะได้เงินคืนมาไม่เต็มจำนวน
ในอดีต ก็มีบริษัทเอกชน ที่ออกหุ้นกู้ และเกิดการผิดชำระตามสัญญาเช่นกัน ทำให้คนที่ลงทุนเดือดร้อนกันหลายราย และ จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้เงินคืนเลย หวังว่าวันนึง พวกเราคงจะไม่โชคร้ายไปลงทุนในหุ้นกู้บริษัทที่ทำธุรกิจแล้วไปไม่รอด เพราะโชคร้าย ไปลงทุนในหุ้นกู้กับบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ
แล้วเราจะเลือกลงทุนในหุ้นกู้อย่างไร?
“หุ้นกู้ก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด ยังมีหุ้นกู้เรตติ้งดี ๆ ที่น่าลงทุน ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งถ้าอยากลงทุนในหุ้นกู้จริงๆ ต้องเริ่มต้นอย่างไร?”
เมื่อเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อต่างๆ ที่ประกาศเสนอขายหุ้นกู้ เราสามารถหาข้อมูลจากสื่อนั้นๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การอ่านจากหนังสือชี้ชวน โดยสามารถไล่ดูข้อมูลที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ผลตอบแทน – เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนคงต้องดูเป็นอันดับแรก ๆ แต่ต้องพึงตระหนักไว้ว่า ยิ่งให้ผลตอบแทนสูง ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เท่าที่เห็นในตลาด ก็จะมีการเสนออัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 3-7% โดยประมาณ หลักๆ ก็จะมีการเสนอแบบกำหนดให้เป็นอัตราดอกเบี้ยตายตัวตลอดอายุของหุ้นกู้ หรือ อีกแบบก็จะเป็นการให้เป็นขั้นบันได ประมาณว่า ยิ่งถือนาน ยิ่งได้ดอกเบี้ยสูงขึ้น
2. ระยะเวลาในการลงทุน – อายุของหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาถือครองนานๆ จะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาสั้นๆ เช่น ระยะเวลาก็มีตั้งแต่ 3, 5, 7, 10 ปี ขึ้นไป เช่น มีหุ้นกู้ประเภทหนึ่งเป็นหุ้นกู้ประเภทที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (perpetual bond) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายการถือหุ้นเลย คือถือกันไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด
อาจจะต้องรอจนกว่าผู้ออกจะเลิกกิจการจึงจะไถ่ถอนได้ ข้อควรระวังในการลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้คือ ต้องดูวัตถุประสงค์ของความจำเป็นในการใช้เงินของเราด้วย อย่าพลาดไปลงในหุ้นกู้ยาวๆ แต่ต้องการใช้เงินระยะสั้นก็แล้วกัน
3. ระยะเวลาในการได้ดอกเบี้ยและเงินต้นจะได้คืนเมื่อไหร่? – ต้องดูว่าหุ้นกู้ตัวที่เขาเสนอมานี้ มีการจ่ายดอกเบี้ยให้เราอย่างไร เช่น อาจจะเป็นทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือนเป็นต้น สำหรับเรื่องเงินต้น หุ้นกู้ จะจ่ายคืนเงินต้นในวันสุดท้ายของอายุหุ้นกู้นั้นๆ เสมอ เช่น ถ้าสมมุติ หุ้นกู้อายุ 5 ปี ก็จะจ่ายคืนเงินต้นคืนเมื่อครบ 5 ปี เป็นต้น แต่ในบางกรณี หุ้นกู้บางตัว อาจจะกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า “มีเงื่อนไขไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ (Early Redemption)”
ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ออกหุ้นกู้ เขามีสิทธิที่จะขอซื้อคืนหุ้นกู้ที่ออกนั้นคืนได้ทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดชำระ และเราก็จะได้ดอกเบี้ยคำนวณนับจนถึงวันที่ผู้ออกใช้สิทธิไถ่ถอน ซึ่งเราจะไม่ได้ดอกเบี้ยในอนาคตข้างหน้า
ผู้ออกมักใช้สิทธิในช่วงที่ดอกเบี้ยลง ไถ่ถอนเพื่อออกหุ้นกู้ตัวใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่า เราก็จะเสียโอกาสในการได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยท้องตลาด แบบนี้ก็จะเกิดความเสี่ยงที่เรียกว่า ความเสี่ยงจากการถูกไถ่ถอนก่อนกำหนด (call risk) ซึ่งเห็นบ่อยๆใน perpetual bond นี่แหละ
4. อย่าเข้าใจผิดว่า ผู้ขายหุ้นกู้ คือ ผู้ออกหุ้นกู้ (เป็นเจ้าหนี้เรา)!! – หุ้นกู้ที่เราจะซื้อที่ธนาคารใด ๆ อาจไม่ใช่หุ้นกู้ที่ธนาคารนั้นเป็นผู้ออก ฉะนั้นต้องดูความเสี่ยงที่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นหลัก ไม่ใช่ผู้ขายหุ้นกู้นั้น เรื่องของความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลในเรื่องของความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและชำระเงินต้นคืนให้กับเรา ดังนั้นเราก็ต้องหาข้อมูลและศึกษาให้ละเอียดด้วยว่า
สถานะทางการเงินบริษัทที่ออกหุ้นกู้เป็นอย่างไร เขาการบริหารจัดการเป็นอย่างไร ผู้บริหารเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ มีศักยภาพหรือความสามารถเพียงใด มีประวัติการบริหารงาน และ บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ควรต้องดูด้วยว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ออกหุ้นกู้ ทำอยู่นั้นมีความเสี่ยง หรือ มีความผันผวนแค่ไหน สภาพเศรษฐกิจ หรือการเมืองมีผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ไหม แนวโน้มธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร และ มีการแข่งขันสูงมากแค่ไหน เป็นต้น
5. อันดับความน่าเชื่อถือ – การออกหุ้นกู้ จะต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางด้านเครดิต (Credit Rating) ซึ่งเป็นตัวที่จะช่วยบอกเราได้ว่า หุ้นกู้ตัวนี้ มีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้เราได้แค่ไหน? เช่น
- กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง มีความเสี่ยงและผลตอบแทนต่ำ จะเรียกว่า Investment Grade Bonds คือ BBB ขึ้นไป (BBB, A, AA, และ AAA)
- กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง จะเรียกว่า High-Yield Bonds เช่น D, C, B, และ BB
- กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง จะเรียกว่า High-Yield Bonds เช่น D, C, B, และ BB
- กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หรือ Investment Grade มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่า แต่ผลตอบแทนก็ต่ำกว่าเช่นกัน ตามหลัก “high-risk high return”
อย่างไรก็ตาม credit rating เปลี่ยนได้นะครับ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีปัจจัยอื่นมากระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ย่อมจะทำให้ credit rating เปลี่ยนไปได้เช่นกัน
เรื่องของ Credit rating สามารถเปลี่ยนได้นะครับ ถ้ามีปัจจัยที่มากระทบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องติดตามหุ้นกู้ที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และต้องดูด้วยนะครับว่า credit rating เป็นของผู้ออก หรือของตราสารนั้นๆ
ข้อมูลเหล่านี้ ก็เป็นแค่เบื้องต้นในเรื่องของ ข้อควรระวังในการลงทุนในหุ้นกู้ ที่เราสามารถใช้ในการพิจารณาหุ้นกู้ที่เขานำเสนอมาได้แล้ว
ดังนั้นก่อนลงทุน เราก็ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี ซึ่งก็สามารถไปหาอ่านต่อได้ในหนังสือชี้ชวน หรือตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ที่เอาหุ้นกู้มาขายให้เรา สามารถซักถามได้เลยนะครับ เพราะเขารู้จักหุ้นกู้นั้นดีกว่าเราแน่นอน หรือแวะเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต.> www.sec.or.th ครับ
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ หุ้นกู้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
หุ้นกู้ ไม่ใช่การกู้เงินมาลงทุน แล้ว หุ้นกู้ จริงๆ แล้วคืออะไร เหมาะกับใคร?
การลงทุนในหุ้นกู้ เราจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง?