คนที่เคยไม่เอาไหน ในอดีตก็มีแต่คนมองว่า เป็นเด็กที่ไม่มีทางได้ดิบได้ดีได้ หากเราในอดีตเป็นเด็กคนนี้ เราจะทำอย่างไร? จะยอมให้คนอื่นดูถูกต่อไปโดยไม่ทำอะไรเลยไหม? แล้วปล่อยให้ชีวิตไปตามยถากรรม หรือ เราจะเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ แต่เดี๋ยวก่อนไม่ใช่ลุกขึ้นสู้กับคนที่ดูถูกเรา แต่คำว่าสู้ที่ว่านี้ ก็คือ การลุกขึ้นสู้กับโชคชะตาของเราเอง
เด็กหนุ่มผู้เปลี่ยนวิกฤตในชีวิตของเขาให้กลายเป็นโอกาส จากเด็กหางแถวที่ไม่เคยได้รับการชื่นชมจากใครๆ สู่การสร้างธุรกิจของตนเอง จนสามารถกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก เด็กหนุ่มในวัย 21 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจแบรนด์ผักสลัด “มังกรหยก คุณชายผักสลัด”
จุดเริ่มต้นของ คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก เขาเริ่มต้นจากการปลูกผักแปลงเล็กๆ ข้างบ้าน แล้วไปเดินเร่ขายด้วยตัวเองในตลาดที่จังหวัดอ่างทอง จนกระทั่งวันนี้ ผักสลัดของเขามีขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ ด้วยการเริ่มต้นจากรายได้เพียงแค่พอประทังชีวิตในแต่ละวัน สู่การขายผักเดือนละหลายๆ ตัน มีรายได้นับแสนบาท
การวิเคราะห์ตนเอง
ในวัย 20 ต้นๆ คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก ประสบความสำเร็จด้วยการเป็นเจ้าของกิจการที่ต่อยอดมาจากอาชีพของพ่อและแม่ ในอดีตเขาเองก็เคยผ่านช่วงเวลาของการค้นหาตนเอง เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ และก็เคยผ่านบางเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เขารู้สึกล้มเหลวไม่ต่างกับคนอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน
คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก พูดถึงช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกสิ้นหวังในอดีต บางช่วงบางตอนให้เราฟังว่า “ความเป็นจริงแล้วผมตั้งใจเรียนนะครับ ไม่เคยโดดเรียนเลย แต่ปัญหาคือผมเรียนไม่เข้าใจ พอสอบเกรดผมก็น้อย เล่นกีฬาก็ไม่เก่ง ผมชอบฟุตบอล แต่ก็ได้แค่ดูเพื่อนเล่น เวลาที่โรงเรียนมีจัดกีฬาสี ผมก็เป็นได้แค่เด็กเดินขบวน ผมเคยมีความคิดที่จะไปสอบโรงเรียนเตรียมทหารเพื่อให้ได้เป็นข้าราชการ ผมอ่านหนังสือสอบอยู่สองปี แต่สุดท้ายก็สอบไม่ติด มีคำดูถูกเข้ามาหาผมมากมาย”
หากเป็นคนทั่วๆ ไป เจอแบบนี้ ก็อาจจะถอดใจไปแล้ว
แต่คุณหยก – จุลเทพ ไม่ว่าใครจะมองเขาว่าอย่างไร แต่ด้วยที่เขามี mindset ที่ดี คุณหยก – จุลเทพ ก็ไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความท้อแท้หรือความผิดหวัง หรือ เป็นกังวลต่อคำพูดที่ไม่ดีจากคนรอบๆ ตัว เขากลับมามองหาจุดแข็งที่ตนเองมี และใช้จุดแข็งดังกล่าวมาเป็นต้นทุนในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้ดีขึ้นด้วย
จากในอดีต ที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ หรือ ถูกมองว่าเป็น คนที่เคยไม่เอาไหน ทำให้ย้อนกลับมาตั้งสติ และตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ว่า “หนทางที่เหมาะสมกับตัวเขาคืออะไร?” จนกลับมาตระหนักว่าพื้นฐานของครอบครัวแท้จริงก็คือการเป็นเกษตรกร ครอบครัวทำธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตัวเขาจึงมีความผูกพันกับอาชีพนี้มาตั้งแต่เกิด จึงตัดสินใจเลือกที่จะตั้งต้นเส้นทางของตัวเองด้วยอาชีพนี้
“นี่คืออาชีพที่พ่อผมทำมาก่อน มันเป็นรากเหง้าของผม ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่ผมเชื่อว่าความรู้สำคัญ ผมมีเพียงความรู้ด้านการทำเกษตร ส่วนความรู้ทางด้านธุรกิจกับเงินทุนผมไม่มี แต่บังเอิญว่าความรู้ทางด้านเกษตรที่ผมมีมันเป็นความรู้ที่มากมายมหาศาล เป็นความรู้ที่เงินเป็นร้อยล้านก็ไม่สามารถซื้อได้ ผมจึงเลือกเดินบนเส้นทางของผม”
รู้อะไรไม่สู่ ลงมือทำ “เทคแอคชั่นด้วยผักแปลงแรก”
คุณหยก – จุลเทพ เริ่มต้นทำการเกษตรครั้งแรก ด้วยความช่วยเหลือจากคุณพ่อและใช้ต้นทุนที่ทางบ้านพอมีให้อย่างจำกัด แม้จะมีความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อและมีประสบการณ์ตรงมาบ้าง แต่เขาก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และหาความรู้เพิ่มเติมอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะมาจากการอ่านหนังสือ หรือ การลงมือทดลองทำด้วยตัวเอง และ บันทึกความรู้จากการลงมือทำทุกขั้นตอนเอาไว้อย่างละเอียด
ในที่สุดผลลัพธ์ของผักสลัดแปลงแรกของเขา ก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ พร้อมกับความรู้ที่รวบรวมได้ระหว่างทาง กลายเป็นหนังสือตำราพิชัยยุทธพิชิตผักสลัดอินทรีย์วิถีไทย ที่มีเนื้อหาตั้งแต่สายพันธุ์ผักสลัด การปรุงดิน การเพาะกล้า การปลูก การดูหน้าดิน การดูแลผักสลัด การให้ปุ๋ย เรียกว่าครบจบทุกขั้นตอนในการดูแลผักสลัด และหนังสือเล่มนี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ เกษตรอินทรีย์ดีเด่นจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ.2559 อีกด้วย
คุณหยก – จุลเทพ เล่าให้ฟังว่า “ยุคนั้นผักสลัดเป็นผักที่คนกินเยอะ เป็นที่นิยมและมีราคาสูง ตอนนั้นเขามีพื้นที่ประมาณแค่ชายคาบ้านเท่านั้น ในเมื่อพื้นที่น้อยก็ต้องหาพืชที่อายุสั้น โตเร็ว ดูแลไม่ยาก และขายได้ราคาดี ผักสวนครัวคงไม่ได้แน่นอน เมล่อนก็อายุมากเกินไป เหลือแค่ผักสลัดตัวเดียวที่อายุแค่ 45-50 วันก็เก็บได้แล้ว มันเป็นผักที่ไม่ต้องดูแลมาก ราคาก็ดี เขาก็เลยเลือกปลูกผักสลัดในตอนนั้น”
แต่ก็ ไม่มีความสำเร็จใด ที่ได้มาโดยง่าย และในการแลกกับความรู้กับประสบการณ์ในสนามใหม่ คุณหยก – จุลเทพ ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากที่เขาต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ซึ่งทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นในเวลาต่อมา
คุณหยก – จุลเทพ บอกกับเราว่า “ในตอนนั้นเขาไม่มีความรู้เรื่องการตลาดเลยหรือการหาลูกค้าเลย เขาเอาถุงพลาสติกมาใส่ผักที่ปลูกได้แล้วก็เอาไปเดินขายในตลาดจังหวัดอ่างทอง บางวันขายได้ก็มีเงินกินข้าว บางวันขายไม่ได้ก็ต้องทิ้ง”
ตอนนั้นคุณหยก – จุลเทพ เขาบอกกับเราว่า เขาไม่มีความกล้าอะไรเลย มีแต่ความกลัวต่างหาก กลัวที่พ่อแม่ของเขาจะต้องอดข้าว เขาบอกกับเราว่า แรงผลักดันที่แท้จริงก็คือ เขากลัวหิวมากกว่ากลัวจะโดนคนด่าว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้เป็นคนเข้มแข็งอะไรเท่าไรเลย แต่ความอดทนมันเป็นตัวเลือกเดียวที่เขามีอยู่ในตอนนั้น
เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
จากความตั้งใจจริงในการเดินเส้นทางในสายอาชีพนี้ และด้วยการลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น ในที่สุด คุณหยก – จุลเทพ ก็ได้พัฒนาตนเองจนเริ่มมีลูกค้าประจำ จากแปลงผูกผักที่มีเนื้อที่แค่ชายคาบ้าน ก็ขยับขยายกลายเป็นแปลงผักขนาด 1 ไร่ และ ขยายออกมาเป็นแปลงผักขนาดใหญ่จำนวนหลายไร่ในเวลาต่อมา และ จากการที่ต้องเดินเร่ขายผักในตลาด ก็พัฒนาสู่การรับออร์เดอร์ประจำเดือน เดือนละ 10 ตัน จนสามารถมีรายได้หลักแสนกว่าบาทต่อเดือนได้
เรื่องราวทั้งหมดนี้ อาจจะพอกล่าวได้ว่า ชายหนุ่มคนนี้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต คุณหยก – จุลเทพ สามารถลบคำสบประมาทของคนอื่นได้ จากในอดีตเด็กที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีความสามารถ และถูกมองจากคนรอบๆ ตัวว่าเป็น คนที่เคยไม่เอาไหน สู่การเป็นคนที่สามารถค้นพบตัวเอง และลงมือทำอย่างจริงจังในสิ่งที่ตนเองถนัด และ ยังหมั่นพัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลา จนสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างที่เราเห็นในวันนี้
คุณหยก – จุลเทพ บอกกับเราว่า “จนถึงวันนี้ ผมรู้ว่าผมมีความสามารถพิเศษอยู่อย่างหนึ่งครับ คือ ผมรู้ว่าเวลานี้ผมต้องทำอะไร แค่นั้นเองครับ เมื่อผมรู้ว่าเวลานี้ผมต้องทำอะไร ทำให้ผมมีความกล้ามากขึ้น ทำให้ผมกล้าเข้าไปคุยงานกับลูกค้า เข้าไปนำเสนองาน อย่างตอนที่ผมไปเสนอผักสลัดให้ร้านสเต็ก ผมก็อายนะครับ แต่ผมต้องกล้าเข้าไปบอกว่าผมปลูกผักสลัด ผมทำผักอินทรีย์อยู่ ผมว่าความกล้าแสดงออก เป็นโจทย์สุดท้ายที่ทุกคนต้องก้าวผ่านไปให้ได้”
คุณหยก – จุลเทพ ทิ้งท้ายในฐานะของคนที่เคยผ่านประสบการณ์ในการหาเส้นทางของตัวเองว่า ทุกคนมีแนวทางเป็นของตัวเอง ขอให้หาหนทางนั้นให้เจอ และถ้าใครประสบกับปัญหา ก็ขอให้ตั้งสติ มองหาต้นทุนที่ตนมีและนำสิ่งนั้นมาพัฒนาต่อไป เขาเชื่อว่าทุกคนมีความรู้ที่มาจากต้นทุนของชีวิต เหมือนที่เขามีความรู้จากคุณพ่อและนำมาต่อยอดจนกลายเป็น “มังกรหยก คุณชายผักสลัด” ในวันนี้
เรื่องราวของ คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก ก็คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในเรื่องของการใช้การเรียนรู้ ก้าวข้ามคำดูถูกที่ว่าเป็น คนที่เคยไม่เอาไหน จนสามารถประสบความสำเร็จ สามารถสร้างธุรกิจของตนเองจนเป็นเสาหลักของครอบครัวได้
และอีกเรื่องนึงที่สำคัญก็คือ “อย่ามัวมองหาแต่สิ่งที่ขาด จนลืมสิ่งดีๆ ที่ตนเองมี” ตัวอย่างดีๆ จาก คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้นทุนที่ดีที่สุด คือ มาจากสิ่งที่ครอบครัวมี
นี่คือบทสรุป ของความจริงที่ว่า “เราทุกคนไม่ว่าจะเคยเป็นคนไม่เอาไหน หรือ ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมามากแค่ไหน เราก็สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ด้วยการพึ่งพาความสามารถและความพยายามของตนเอง”
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณสิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล การเรียนรู้ ว่าเราไม่รู้ ด้วยการให้โอกาสตนเองได้ลองทำ