
ควบคุมโรคติดเชื้อ ถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญ เป็นงานที่มีความสำคัญมาก ทีมงานบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยง และ ความท้าทาย
จากในตอนที่ผ่านมา แอดมินได้พาทุกคนไปดูการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทุกภาคส่วน ทั้งเบื้องหน้าที่เรามองเห็นกันได้เมื่อเดินเข้าไปในโรงพยาบาล เบื้องหลังที่เราไม่เคยเห็น และรายละเอียดเล็กๆน้อยที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีหน้าที่แบบนี้ด้วย ทุกคนอดทน เสียสละ เพื่อที่จะฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปได้โดยไม่อยากให้มีการสูญเสียในแต่ละวันเพิ่มขึ้น
ในครั้งนี้แอดมินจะพาทุกคนกลับมาที่จุดเริ่มต้น แต่เป็นก่อนหน้าจุดเริ่มต้นเสียหน่อย ก่อนจะมีโรงพยาบาลสนาม ก่อนทุกคนจะรู้จักกับโควิด-19 อย่างถูกต้อง มีด่านแรกที่ต้องทำความรู้จักก่อน หาข้อมูลก่อน และเสี่ยงก่อน แอดมินกำลังพูดถึง งานควบคุมโรคติดเชื้อ (Infectious Control) หรือเรียกสั้นๆว่า IC โดย พว.พัชรี เจนเจริญรัตน์ หัวหน้างานควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะพาเราย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นกัน
“งานของเราคือ เราต้องเห็นเชื้อก่อนคนอื่น”

ถ้าการเห็นเชื้อหมายถึงการทำความรู้จัก หาข้อมูล หาวิธีการติดต่อ อาการ ตลอดจนวิธีรักษาแล้วละก็ ใช่เลย งานควบคุมโรคติดเชื้อคือสิ่งนั้นเลย พวกเขาต้องรับรู้เรื่องเชื้อก่อน เร่งทำการศึกษาเกี่ยวกับมันอย่างรอบด้าน เพื่อกระจายผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาให้คนอื่นต่อไป และวางนโยบายหรือมาตรการรับมือให้ได้เร็วที่สุด
“การเรียนรู้ที่มีเพียงตำรากับสถานการณ์ตรงหน้าที่เป็นคนสอน”
ขึ้นชื่อว่ามันคือโรคใหม่ ทำให้สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นสิ่งที่ต้องหาจากตำรา มาประมวลผลแล้วไปเผชิญหน้ากับมันเท่านั้น การลงพื้นที่ปฏิบัติงานกลายเป็นงานที่ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ พว.พัชรี ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งทางทีมได้วางแผนแล้วว่าจะต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในเส้นทางหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ แต่เมื่อถึงคราวปฏิบัติกลับทำไม่ได้จริง จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน และนี่แหละคืองานควบคุมโรคติดเชื้อ
“พวกเราคือคนที่ต้องเข้าไปก่อน”
ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในไทย งานควบคุมโรคติดเชื้อจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปก่อน โดยที่ยังไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ต้องลงไปเพื่อที่จะได้รู้ว่าคนอื่นๆควรปฏิตัวอย่างไร ต้องวางแผน ลงพื้นที่ไปทดสอบระบบ มาตรการ และนโยบายที่งานควบคุมโรคติดเชื้อเป็นคนออกแบบ เพื่อหาวิธีที่สามารถใช้งานได้จริง แล้วนำผลลัพธ์ออกมาสอนงานคนอื่นๆต่อไป เพื่อให้เข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัยที่สุด

“ผู้รับบริการงานควบคุมโรคติดเชื้อไม่ได้มีแค่คนไข้”
บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะมีผู้รับบริการเป็นคนไข้ ประชาชนที่เข้ามารักษา แต่ด้วยตัวงานของงานควบคุมโรคติดเชื้อ พวกเขาต้องออกนโยบายในการควบคุมโรค ที่จะต้องครอบคลุมไม่ใช่แค่ผู้ป่วย แต่ยังรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พวกเขาต้องมีการจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด หรือแม้แต่การออกนโยบาลจัดการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ในการดำเนินการรักษาโควิด-19 อีกด้วย
“เพราะจำนวนคนไม่ได้เยอะ จึงต้องมีน้อยอย่างมีคุณภาพ”
ทีมของงานควบคุมโรคติดเชื้อไม่ได้มีเยอะ ดังนั้นต้องมีการวางแผนและแบ่งกันดีๆ เพื่อส่งคนไปลงพื้นที่และแบ่งคนเอาไว้รอดูสถานการณ์ คนที่ลงพื้นที่ต้องเอาข้อมูลที่ได้มาเทรนให้กับคนในทีมทุกคนต่อ โดยจะดูว่าใครไหวไม่ไหวตรงไหน ทำอะไรผิดพลาดหรือเปล่า หรือไม่เข้าใจตรงไหน เพื่อสอนงานและให้ความรู้ทุกคนให้เข้าใจตรงกัน เพราะงานตรงนี้จะพลาดไม่ได้
“คุณสมบัติของคนทำงานควบคุมโรคติดเชื้อที่ตำราไม่ได้”
พว.พัชรี เผยว่าสิ่งที่บุคลากรทุกคนควรมีนอกจากความรู้ตามตำราที่ทุกคนได้เรียนผ่านมาแล้ว ก็คือความทันสมัย อาจจะฟังดูแปลกเสียหน่อย แต่คนที่ทำงานควบคุมโรคติดเชื้อต้องเป็นคนที่ทันสมัย ติดตามข่าวสารบ้านเมือง คล่องแคล่ว ว่องไว เพื่อที่จะรับข่าวสารมาให้ได้ไวที่สุด งานตรงนี้เป็นงานที่ต้องรู้เรื่องก่อนคนอื่น เมื่อเกิดเรื่องขึ้นอย่างเช่น วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็น
“งานควบคุมโรคติดเชื้อเป็นอีกหนึ่งงานที่เสียสละเวลาส่วนตัวไป”
จากที่ได้เห็นการทำงานบุคลากรทางการแพทย์จากฝ่ายอื่นๆ จะเห็นเลยว่าทุกฝ่ายแทบจะไม่ได้กลับบ้านหรือพบปะคนในครอบครัวเลยในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ งานควบคุมโรคติดเชื้อก็เช่นกัน พวกเขาต้องเสียสละเวลาส่วนตัว เสียสละความสัมพันธ์กับครอบครัว แล้วทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดให้กับงาน
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในจังหวัดสมุทรสาคร”
พว.พัชรี เล่าว่าในตอนที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดที่สมุทรสาครเป็นการระบาดที่รุนแรงมาก และยากจะนึกภาพออก อีกทั้งทางงานควบคุมโรคติดเชื้อต้องจัดทีมไปช่วยที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีเวลาเตรียมทีม แผน มาตรการ และวางระบบการทำงานเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ทางงานควบคุมโรคติดเชื้อเองก็ยังไม่สามารถไปได้ทั้งทีมอีกด้วยเพราะสถานการณ์ที่อื่นก็ยังไม่สู้ดี ทีมที่ถูกส่งไปต้องไปเก็บตัวอย่างน้ำลาย คัดแยกผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง เก็บข้อมูลของทุกคนกลับมาวินิจฉัย
“บทบาทที่ต้องพร้อมปรับเปลี่ยน”
เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 อยู่ในไทยมาจนถึงระลอก 3 และ 4 การทำงานของงานควบคุมโรคติดเชื้อก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทไปตามสถานการณ์ เพราะในตอนนี้ประเทศไทยของเรามีข้อมูลและแนวทางที่ดีพอแล้ว เพียงแค่ต้องทำให้คนปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ให้ได้ อีกทั้งบทบาทใหม่ของงานควบคุมโรคติดเชื้อก็คือการสอบสวนการติดเชื้อ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงกว่าตัวอื่นอยู่มาก ทำให้มีความจำเป็นจะต้องหยุดเชื้อให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย
“ถามว่ากลัวไหม ตอนแรกกลัวนะ แต่สิ่งที่ทำได้คือสลัดความกลัวทิ้ง มันคืองานที่เราต้องทำ ในเมื่องานของเราคือควบคุมโรคติดเชื้อ ดังนั้นเราก็ต้องทำให้ได้”
บุคลากรหลายคนที่ทำงานควบคุมโรคติดเชื้อก็ต้องมีความกลัวเหมือนกัน เพราะพวกเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเราที่เสียสละตัวเอง เอาเข้าไปเสี่ยงเป็นด่านแรก เป็นคนแรกๆที่ต้องเข้าไปเห็น ไปสัมผัส เพื่อให้ได้มาตรการการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องออกมา มันคือความเสียสละที่พวกเขาเต็มใจที่จะทำเพื่อให้ทุกคนเสี่ยงน้อยที่สุด แม้ตัวพวกเขาเองจะเสี่ยงมากที่สุดก็ตาม
“ตอนแรกเหนื่อยมาก เพราะมีแต่คนถามว่ามันคืออะไร จะทำตัวอย่างไร หลังๆจากที่เหนื่อยก็กลายเป็นภูมิใจแทน ที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของงานตรงนี้”
หนึ่งในทีมงานของงานควบคุมโรคติดต่อเล่าว่าในช่วงแรกที่เกิดการระบาด คนรอบตัวเธอทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักต่างติดต่อมาถามข้อมูลเกี่ยวกับมัน ด้วยความที่เธอทำงานตรงนี้ เธอจำเป็นต้องหาข้อมูลอย่างหนักเพื่อตอบคำถามทุกคนให้ได้ ในตอนแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยและยากลำบากมาก แต่พอผ่านไป ในตอนที่ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เธอกลับรู้สึกภูมิใจมากที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการระบาดของโควิด-19

บทสรุป
ในสถานการณ์ที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่หมดไป ยังมีคนอีกหลายคนที่ต้องเสียสละเวลาส่วนตัว เวลาในการใช้ชีวิตของตัวเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้มันดีขึ้น เพียงเพราะหวังว่าทุกคนในประเทศไทยจะได้ชีวิตแบบเดิมกลับมาอีกครั้ง งานควบคุมโรคติดเชื้อเป็นงานด่านหน้าด่านแรกที่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงก่อน เพื่อแลกกับการเอาข้อมูลและประมวลเป็นผลลัพธ์ออกมาแจกจ่ายทุกคน เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 นี้ได้ สวมแมสก์ก่อนออกไปข้างนอก อย่าเอาตัวเองไปเสี่ยงในสถานที่ที่คนผลุกผล่าน หมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆ ฉีดวัคซีนให้ครบเพื่อเพิ่มภูมิคุ้ม แล้วเราจะฝ่าวิกฤต-19 ไปด้วยกัน
ควบคุมโรคติดเชื้อ ด่านแรก…ของด่านหน้า | โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
….
บทความ แนะนำ :
ทีมเบื้องหลัง ที่สำคัญของด่านหน้า ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical