ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity เป็นทักษะที่หลายองค์กรกำลังต้องการ เพราะองค์กรทุกวันนี้ต้องการพนักงานที่มี ความคิดใหม่ๆ ด้วยทัศนคติใหม่ๆ เพื่อมาหาวิธีการที่ดีที่สุดในการตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
โจทย์ใหญ่ขององค์กรอีกเรื่องนึงที่สำคัญก็คือ เรื่องคน ทำอย่างไรที่จะทำให้คนในองค์กร ที่มาจากหลากหลาย Generation สามารถทำงานร่วมกันได้? และวิธีการแบบไหนที่จะสามารถส่งเสริมให้พวกเขาสามารถทำงานด้วยกันได้ดี และ มี ความคิดสร้างสรรค์
Generation Gap ช่องว่างระหว่างวัย
แอดมินได้มีโอกาสฟัง Podcast ของ Mahidol Channel ตอน ทลายกำแพงต่างวัยในออฟฟิศ ดำเนินรายการโดย อาจารย์เต้ อ.ดร.ระพี บุญเปลื้อง อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและแขกรับเชิญคือ อาจารย์ป็อป ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามาเรื่องราวและประเด็นที่น่าสนใจหลายแง่มุม และมองเห็นวิธีการที่น่าสนใจที่เราสามารถนำมาใช้ในการเพิ่มความสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างวัยแถมยังได้ในเรื่องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานได้อีกด้วย วันนี้จึงเลยถือโอกาสเอามาสรุปให้พวกเราได้อ่านกัน
“ช่องว่างระหว่างวัย ทำให้เรารู้สึกว่าเราคุยกันคนละภาษา”
เมื่อเราก้าวเข้าทำงานในบริษัทใดก็ตาม ตราบใดที่เราไม่ใช่เจ้าของบริษัท ก็โปรดจำไว้เลยว่าเราเลือกเพื่อนร่วมงานไม่ได้แน่นอนอยู่แล้ว สังคมการทำงานไม่ได้ต่างจากสังคมที่เราเดินสวนกันทุกวันบนท้องถนน ทุกคนล้วนมาจากร้อยพ่อพันแม่ หรือ พนักงานบางคนในที่ทำงานของเราก็อาจจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณพ่อคุณแม่เราด้วย ด้วยช่องร่างระหว่างวัย หรือกำแพงอายุนี้เอง ที่ทำให้เกิดปัญหา ทำให้หลายคนไม่เข้าใจกัน ไม่ฟังความเห็นของกันและกัน ขาดการทำงานเป็นทีม ขาดความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานไป
“คนสังคมล้วนต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน”
ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคมเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สังคมในที่ทำงาน ต่างต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความสุขในการอยู่ร่วมกันถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากเห็นและอยากให้มันเกิดขึ้นในสังคมกันมาตลอด แต่ในทุกสังคมล้วนประกอบไปด้วยความหลากหลาย ทั้งชุดความคิด ชุดประสบการณ์ และพื้นฐานของช่วงอายุในแต่ละวัยก็ต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันเขาก็มีการแบ่งคนในสังคมออกเป็น Generation ดังต่อไปนี้
- Baby Boomer Generation: ปี 1956-1964 ก็จะมีอายุประมาณ 64 ขึ้นไป ช่วงอายุนี้จะเป็นช่วงที่เกษียณออกจากการทำงานแล้ว
- Generation X: ปี 1965-1980 ก็จะมีอายุประมาณ 40-70 ปี ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในตำแหน่ง Senior ในตอนนี้
- Generation Y: ปี 1980-1995 ก็จะมีอายุอยู่ในช่วง 27–42 ปี เป็นช่วงอายุที่มีจำนวนเยอะที่สุดในสังคมตอนนี้ พวกเขาเป็นคนจำพวกที่ตั้งคำถาม ลังเล สงสัย และวิตกกังวลกันตลอดเวลา
- Generation Z: ปี 1996-2011 ก็จะมีอายุอยู่ในช่วง 8–24 ปี จะมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กลงจากการพัฒนาที่มากขึ้น
ซึ่งจริงๆ แล้วการแบ่งช่วงอายุของพวกเขามาพร้อมกับวัฒนธรรมในการสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น Gen Y มาพร้อมกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ความทันสมัย ส่วน Gen Z จะมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ Baby Boomer และ Generation X จะมีความคล้ายกัน พวกเขามาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ดีดหรือทีวี เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างนี้เองมีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติของคนในแต่ละ Generation
“ความสามารถในการรอคอยของคนในยุค Analog”
เรื่องช่วงอายุและวัฒนธรรมทางเทคโนโลยีถือว่ามีส่วนเกี่ยวกับความอดทนรอ บางคนให้ความเห็นว่าคนในยุค Analog อย่าง Baby Boomer และ Generation X จะมีความสามารถในการรอคอยได้นานกว่า Generation Y และ Generation Z ที่เกิดมาก็ได้พบกับเทคโนโลยีในยุค Digital อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นพร้อมเทคโนโลยี จะตามมาด้วยอาการใจร้อน มีคาดหวังสูง และต้องทำให้เสร็จในเวลานั้นเลยมาด้วย และบางครั้งอาจจะทำให้พวกเขาขาดการสื่อสารที่อ่อนโยนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเป็นคนช่วงอายุไหนก็ตาม พวกเราก็จะมีความต้องการ 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้
- ความรัก
- ความสัมพันธ์
- ความสงบ
3 สิ่งนี้ คือสิ่งที่อยู่ภายในใจของเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร? อายุเท่าไร? หากมีการสื่อสารกัน โดยคำนึงถึง 3 สิ่งนี้อยู่เสมอ มันจะทำให้การสื่อสารสำเร็จ เป็นภาษาเดียวกัน
“ความอาวุโส หรือ มีอายุมากกว่า ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ได้เป็นหัวหน้า”
เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ความอาวุโสหรือเรื่องของอายุ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้อีกต่อไป ในยุคนี้ เราอาจเคยเห็นสถานการณ์ที่พนักงานคนหนึ่งทำงานในตำแหน่งนี้มายาวนาน 15 ปี แต่ไม่สามารถขึ้นเป็นหัวหน้าได้ ในขณะที่อีกคนเข้ามาทำงานได้เพียงแค่ 3 ปี เขากลับได้ขึ้นเป็นหัวหน้าเลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การจัดการกับความคิดของเรา แต่เราต้องทำอย่างไร?
ถ้าเป็นคนที่อยู่ใน Gen X โดยธรรมชาติแล้ว ไม่ต้องจัดการอะไรเลย เพราะว่าคน Gen X เป็นคนลักษณะที่ทำงานคนเดียวได้ และก็ไม่ได้อยากที่จะเป็นหัวหน้าใคร พวกเขาจะภูมิใจมากในการทำงานหนักโดยที่ไม่ต้องเป็นหัวหน้า ข้อเสียของพวกเขาก็คือ บ้างาน ต้องการทำงานมาก แต่ยังโชคดีที่พวกเขายังคงต้องการเวลาส่วนตัวเช่นกัน โหยหาความสมดุลของชีวิต ทำงานด้วย พักผ่อนด้วย และมีสุขภาพที่ดีด้วย
ถ้าเป็นคน Gen Z ในเมื่อคน Gen X ไม่ต้องการเป็นหัวหน้า ความต้องการจะเป็นหัวหน้า หรือผู้นำจึงตกเป็นของ Gen Z โดยอัตโนมัติ ทุกคนอาจจะงงว่าทำถึงข้าม Gen Y มาเลย ซึ่งนั่นก็เพราะ Gen Y เป็นช่วงอายุที่ลังเล วิตกกังวล และมีความสงสัยอยู่เต็มเปี่ยม พวกเขาคิดว่าจะเป็นหัวหน้าไปทำไมกัน แค่นี้ก็งานยุ่งแล้ว Gen Z จึงกลายเป็นคนที่คอยดูคนอื่นๆ และพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีกว่าเพื่อขึ้นมาเป็นผู้นำแทน
“เมื่อคน Gen Z เป็นหัวหน้า แต่มีลูกน้องที่อายุมากกว่า”
เป็นเรื่องโชคดีที่คนในช่วง Gen Z สามารถปรับตัวได้รวดเร็วมากในการทำงาน แต่สิ่งที่พวกเขายังขาดก็คือ Soft Skill ในเรื่องของการพูด การสื่อสาร พวกเขายังไม่รู้วิธีการพูดอย่างไร? ต่อรองอย่างไร? เจรจาอย่างไร? เป็นเรื่องที่ยากลำบากและจะได้เปรียบมากหากว่าเราเป็น Gen Z ที่สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างถูกวิธี เพราะในยุคสมัยนี้คน Gen Z เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดการทำงาน
“สำหรับคน Gen Y พวกเขาจึงต้องการหัวหน้า เพื่อมาตอบคำถามให้แก่พวกเขา”
คน Gen Y จะเป็นช่วงอายุที่ชอบการมีหัวหน้าที่คอยควบคุมและคอยแนะนำสิ่งต่างๆ ให้ เพราะพวกเขาเองมักสงสัยและมีคำถามอยู่เสมอ พวกเขาจึงต้องการคนมาช่วยให้คำตอบแก่คำถามเหล่านั้น ต้องการเสาหลัก ใครสักคนที่กลายเป็นหัวหน้าแทนเขา ส่วนพวกเขาจะทำตามหรือไม่ ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้พวกเขายังต้องการให้หัวหน้าที่สามารถเป็นโค้ชได้ด้วย เพราะพวกเขาต้องการที่พึ่งพาทางด้านจิตใจ
“สำหรับคน Gen Z เขามีความเชื่อว่าจะเลือกเป็นหัวหน้า แค่เรื่องที่ถนัด”
ในส่วนของ Gen Z จะเป็นช่วงอายุที่รักความยุติธรรม พวกเขาเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งก็หมายความว่าจะไม่มีโค้ช ไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้อง ทุกคนจะสามารถขึ้นเป็นหัวหน้าได้เฉพาะเรื่องที่ถนัดเท่านั้น สนใจคนที่สร้างแรงบันดาลใจ มีประสบการณ์ชีวิต เขาจะขวนขวายหากลุ่มคนที่เป็น Baby Boomer เพราะเขาต้องการรับฟังและศึกษาประสบการณ์จาก Baby Boomer
การแบ่งกลุ่ม Generation มีไว้แค่ให้รู้ว่าเราอยู่ในกลุ่มช่วงอายุไหน?
การแบ่งแยกกันตาม Generation เป็นเหมือนการแบ่งแยกว่าแต่ละคนเป็นคนกลุ่มไหน? ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมทำแบบนั้นแล้ว เพราะคนเราแต่ละช่วงวัยมีการพัฒนาไปข้างหน้า และมีการผสมผสานกันไปในทางที่ดี เราจึงเปลี่ยนจาก Generation เป็น Self แทน ดังนี้ Social สังคม, Emotion อารมณ์ และ Learning การเรียนรู้ และ Flow ตัวนี้เป็นจิตวิทยาเชิงบวก เวลาที่เราอยู่กับทุกคนได้โดยเกิดความสมดุล คิดบวก อารมณ์ดีไปกับคนในทุกวัย ทำให้เกิดการสื่อสารกันในทางบวก เห็นอกเห็นใจกัน
“อารมณ์ลบ ไม่ใช่สิ่งที่บังคับเป็นลบได้”
การกำจัดอารมณ์ลบทิ้งเราควรปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ บางคนอาจจะหงุดหงิดมาจากที่บ้าน เมื่อมายังที่ทำงาน ให้รู้สึกว่าเป็นบ้านอีกแห่งหนึ่ง เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นสถานที่ที่มีแต่คนที่เราสามารถไว้ใจได้ ถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเราหาได้จากคนรอบตัวเรา สะสมประสบการณ์ชีวิต ความรู้สึกบวกที่ได้จากการทำงานกับคนรอบข้าง
“ถ้าเรารู้จักตัวเองมากขึ้น เราก็จะสามารถดึงสิ่งดีๆ จากตัวเองไปให้คนอื่นได้ด้วย”
80% ของ Self-Esteem เราจะได้มาจากความคิดของตัวเองเรา วิธีการสร้าง Self-Esteem ให้แก่ตัวเองที่ง่ายและน่าสนใจมาก ก็คือให้ลองเขียนข้อดีหรือจุดแข็งของตัวเองออกมาให้ได้ 10 ข้อ เพื่อให้เรารู้ว่ามันถูกต้องไหม? ทำบ่อยๆ ได้ไหม? ยิ่งถ้าเป็นข้อดีที่เราทำบ่อยเราจะเขียนเร็วขึ้น ไม่ว่าเราจะเขียนได้กี่ข้อก็ตาม อย่าลืมขอบคุณตัวเองที่เราทำได้ขนาดนี้ ให้บอกตัวเองว่าเราเก่งมากแล้ว
กิจกรรมในสังคม คือกาวที่เชื่อมคนให้เกิดความสัมพันธ์
ในแต่ละวันเราต้องพบเจอคนมากมายที่มีแตกต่างกันไปอย่างเฉพาะตัว กิจกรรมเป็นหนึ่งในวิธี ที่ทำให้คนทุกคนรวมตัวเข้าด้วยกันได้ สามารถช่วยให้คนเข้าใจกัน มีส่วนในการเพิ่มความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในสังคมนั้นได้อีกด้วย ซึ่งทาง ดร.ป๊อบ เขาได้แนะนำกิจกรรมที่เหมาะจะใช้สร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ที่ชื่อว่า MAGIC
- Music อย่างน้อยอาจจะเป็นดนตรีเปิดที่ทำงาน หรือการร้องเพลงร่วมกัน
- Art ถ่ายภาพ ศิลปะ เต้น งานอดิเรกต่างๆ
- Game เล่นเกมกีฬา ควรจะทำบ่อยๆที่ไม่ได้จัดกีฬาสีปีละครั้ง เล่นหมากฮอส หมากรุก เป็นต้น
- Idea เป็นการแสดงความคิดอย่างอิสระ พื้นที่อิสระและปลอดภัย
- Craft กิจกรรมหัตถกรรม เช่น กิจกรรมรับขวัญน้องใหม่ ที่ต้องมีการจัดเตรียมการจัดดอกไม้ จัดโต๊ะ การจัดงานตามประเพณี เมื่อมีหัตถกรรมจิตใจของเราจะถูกถักทอให้ละเอียดอ่อนมากขึ้น
โดยกิจกรรมบำบัดทั้ง 5 ตัวนี้ ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนช่วยในการสร้างและเพิ่มระดับความสัมพันธ์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ระหว่างคนกับคนเท่านั้น แต่เป็นคนกับงานด้วย แถมยังได้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มาด้วยเช่นกัน
บทสรุป
“ความหลากหลายไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ต้องรับมือให้ได้อย่างถูกวิธี”
ในเรื่องของ 3 ความ อย่าง ความรัก ความสัมพันธ์ และความสงบ กิจกรรม MAGIC ที่ประกอบไปด้วยดนตรี ศิลปะ เกม แสดงความคิดอย่างอิสระ และกิจกรรมหัตถกรรม เรื่องของการที่ใช้คำว่า SELF ที่ประกอบด้วยสังคม อารมณ์ การเรียนรู้ และการใช้จิตวิทยาเชิงบวกแทนที่จะแบ่งแยกกันเป็น Generation ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์มากในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ เมื่อเราต้องทำงานร่วมกับใครให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
ขอบคุณ ข้อมูลจาก [PODCAST] Well-Being | EP.4 – ทลายกำแพงต่างวัยในออฟฟิศ | Mahidol Channel