ความทุกข์ของเรา หรือ ความผิดหวังของเรา มีมูลค่าเท่าไร? เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่เคยคิด หรือ ไม่เคยตีราคา หรือ มูลค่าของสองเรื่องนี้มาก่อนอย่างแน่นอน
ในสังคมทำงานปัญหามีมากมายก็จริง แต่หากแบ่งออกเป็นหมวดหมู่แล้วก็ไม่พ้น 3 เรื่อง คือ เรื่องเจ้านายหรือหัวหน้า เรื่องเพื่อนร่วมงาน และ เรื่องของตัวเอง ตัวอย่างเช่น
- หนูกำลังมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ผิดใจกันในเรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทำให้พวกเขาเกลียดหนู พูดจากระแนะกระแหนหนูบ่อยครั้ง ตอนนี้หนูอึดอัดมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับมาเป็นอาทิตย์แล้ว ทำให้ไม่อยากไปทำงานเลย เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับพวกเขา หนูควรทำอย่างไรดี?
- ผมเครียดมากเลยครับ หัวหน้าไม่พอใจผม ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร นี่ก็เดือนกว่าๆ แล้ว ที่ผมถูกให้ทำแต่งานเอกสาร หัวหน้าไม่ให้งานโครงการใหม่ๆ กับผมเลย แถมเอาโครงการที่ผมทำอยู่ไปให้เพื่อนผมทำอีก เป้นแบบนี้ ผมคงไปไม่รอดกับที่นี่แล้วใช่ไหมครับ?
- หนูมาเริ่มงานที่ใหม่ได้ สองอาทิตย์แล้ว แต่รู้สึกกดดันมากเลยค่ะ ความกดดันมาจากเพื่อนร่วมงานที่นี่ พวกเขาไม่มีความเป้นมิตรเลย ถามคำตอบคำ และปล่อยให้หนูทำงานผิดๆ ถูกๆ หนูกลัวว่าเจ้านายจะมองว่าหนูเป็นคนไม่มีความสามารถ แล้วก็กลัวว่าจะไม่ผ่านทดลองงาน หนูควรหางานใหม่ดีไหมคะ?
- ผมลาออกมาจากที่เก่า และมาเร่ิมงานที่ใหม่ได้เกือบหนึ่งเดือนแล้วครับ แต่ผมรู้สึกว่าตัดสินใจผิดมากเลยที่ลาออกมา ที่ใหม่ที่คิดว่าดี มันไม่ได้ดีอย่างที่คิดเลย ผมก็เลยคิดอยากกลับไปทำงานที่เก่า แต่ใจนึงก็กลัวว่าเจ้านายเก่าเขาจะไม่รับ อีกใจนึงก็กลัวว่าถ้าได้กลับไป เพื่อนร่วมงานที่เดิมจะคิดอย่างไร? เพราะที่ผมลาออก ก็เพราะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ในช่วงสัปดาห์นี้ ผมสับสนไปหมด ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดี ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ?
- หนู เบื่องานมากค่ะ เบื่อบรรยากาศการทำงานที่นี่ เบื่อมาหลายปีแล้ว ใจจริงก็อยากเปลี่ยนงาน แต่ก็มีความกลัว เพราะอายุเริ่มเยอะแล้ว ถ้าได้งานใหม่ ก็กลัวว่าจะปรับตัวไม่ได้ ถ้าไปไม่รอด ก็กลัวตกงาน เดี๋ยวจะหางานใหม่ยากเข้าไปอีก เป็นแบบนี้ หนูควรทำอย่างไรดีคะ?
นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมทำงาน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงเคยเกิดความรู้สึกแบบนี้มาก่อนอย่างแน่นอน
ผลที่ตามมาของปัญหาเหล่านี้ คืออะไร?
เมื่อมีปัญหา หรือ เกิดปัญหาขึ้น สิ่งที่ตามมา นั้นก็คือ อารมณ์ ความรู้สึก เช่น กลัว วิตกกังวล เครียด หรือ คิดมาก แต่สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ก็คือ การคิดหาทางแก้ปัญหา หรือ ถ้าให้ดี แก้ปัญหาเหล่านี้ไปเลย
ผลที่ตามมาอีกก็คือ เกิดอาการคิดมากสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มสะสมความวิตกกังวล ความกลัว และ ความเครียดเพิ่มขึ้นไปให้กับตัวเองมากเรื่อยๆ จากนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน และ เป็นปี หรือ บางคนอาจจะยาวนานกว่านั้น
“ใครที่อ่อนแอ และหวั่นไหวง่าย ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้ให้กับอารมณ์ของตนเองไป”
มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ที่เราจะมีความรู้สึกนำหน้าเหตุผล ด้วยเป็นเพราะเราถูกอารมณ์ และ ความอ่อนไหวของตัวเราเองครอบงำ ทำให้เราไม่สามารถมองหาทางออก หรือ ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย พอเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจอะไรไม่ได้ เลยทำให้เกิดความทุกข์ ทุกข์เพราะอึดอัดกับสิ่งที่เลือกไม่ได้นั่นเอง
“เพราะเวลาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง การตัดสินใจของเราต่างหากที่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาจริงๆ”
หรือ ในบางเคส เกิดอาการคิดวกวน ตัดสินใจด้วยตนเองไม่ได้ ต้องคอยขอคำแนะนำคนอื่นๆ พอคนอื่นแนะนำมา กลับไม่ถูกใจอีก ก็กลับมาคิดมากต่อไปอีก จนไม่ตัดสินใจอะไร และ หวังว่า เวลาจะช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย ปรากฎว่าปัญหากลับลุกลามใหญ่โตมากกว่าเดิมเสียอีก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ที่เกิดจากการที่เราไม่รีบตัดสินใจ หรือ ไม่รีบหาทางแก้ปัญหา
ความทุกข์ของเรา หรือ ความผิดหวังของเรา อันที่จริงมันมีมูลค่าของมัน
เพราะทุกปัญหา หรือ สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ มันมีมูลค่าของมัน มูลค่าของปัญหาและความทุกข์ในเชิงตัวเงินก็สามารถวัดได้ อาทิเช่น
ถ้าเราทำการจดบันทึกเวลาที่เราคิดมาก หรือ มีความทุกข์ ไม่ว่าจะกับเรื่องอะไรก็ตามในที่ทำงาน หรือ ในการดำเนินชีวิต เชื่อว่า รวมๆ แล้ว น่าจะไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันแน่
ยกตัวอย่าง เช่น ดูได้จากเวลาที่เราเอาเรื่องที่ทำงานมาบ่น มาเล่าให้เพื่อนฟัง หรือ เวลาที่เราทุกข์ เสียใจน้อยใจ ไม่เป็นอันทำงาน รวมๆ แล้ว เป็นชั่วโมงแน่นอน เผลอๆ อาจจะเกินด้วย เพราะเก็บเอามาคิดต่ออีกในช่วงหลังเลิกงาน
ถ้าในแต่ละวัน เราเก็บเรื่องในที่ทำงานมาคิดมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหัวหน้า หรือ เรื่องเพื่อนร่วมงาน วันละชั่วโมง เดือนนึงก็ 30 ชั่วโมง
สมมุติว่า เราเงินเดือน 30,000 บาท มูลค่าของเวลาที่เสียไปกับความคิดมาก คือ 5,625 บาท (คิดจากทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์) หรือ เสียเวลาไปเปล่าๆ 30 ชั่วโมงต่อเดือน
30 ขั่วโมง เอาเวลาเหล่านี้ไปทำสิ่งดีๆ ได้อีกเยอะ เอาไปนอนพักผ่อนก็ยังได้ หรือ ถ้าเอาไปหารายได้เสริม ก็คงได้เงินไม่น้อย ดีกว่ามาป่วยการนั่งคิดมากในเรื่องความทุกข์ในที่ทำงาน
แล้วถ้าเราเก็บเรื่องในที่ทำงานมาคิดมากเป็นปี มันจะเท่าไร?
มูลค่าของปัญหาและความทุกข์ในเชิงสุขภาพ หากใช้ตัวอย่างเดิม เครียดทุกวัน คิดมากทุกวัน วันละชั่วโมง ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร?
เก็บปัญหา เก็บความทุกข์ เอาไว้กับตัวนานๆ มันก็เหมือนระเบิดเวลา ทำให้ สุขภาพจิตย่ำแย่ ก็จะพาสุขภาพร่างการแย่ไปด้วย
“งานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย (หนักหน่อย ได้พักก็หาย) แต่ความเครียดสะสมจากเรื่องงานนี่แหละทำให้คนตายได้ง่าย”
ทำให้มีโอกาสปุ๊บปั๊บรับโชคเป็นโรคร้ายเช่น มะเร็ง ได้ง่าย (ความเครียด คือ อาหารหลักของมะเร็งซะด้วย) แถม ค่ารักษาพยาบาลต้องโดนอีกเท่าไหร่ บางคนหมดตัวกันง่ายๆ เลย เพราะเครียด ป่วย เป็นโรคร้าย
หรือ บางคนอาจจะแย่กว่านั้น อาจจะเกิดการทำร้ายตัวเอง หรือ ฆ่าตัวตายได้ แถมอาจจะทิ้งภาระเอาไว้ให้คนข้างหลังอีก แล้วเราจะซ้ำเติมสมองและจิตใจของเราด้วยความเครียด ด้วยความทุกข์ไปเพื่ออะไร?
ดังนั้น การเครียดไป ทุกข์ไป บ่นไป ก็ไม่เกิดผลดี และ ก็ไม่มีทางออก
“มีปัญหา ก็แก้ปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหา”
ปัญหาเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดขึ้นได้เสมอในการทำงาน ถ้าหากเราสามารถลดทิฐิ เข้าไปคุยกันดีๆ ขอโทษ ขออภัย ปัญหาก็จะจบ หรือ ลดน้อยลงไป ดีกว่ามาหมางใจกัน เพียงเพราะเรื่องเล็กน้อย
เรื่องการไม่เขาใจเพื่อนร่วมงาน หรือ เจ้านาย แทนที่จะเก็บความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้ ก็ลองเปิดใจ พูดคุยกันดีๆ ด้วยเหตุผล เขาจะว่าอย่างไร ก็จะได้รู้กัน ดีกว่าเก็บปัญหา เก็บความทุกข์คาเอาไว้
บางคนบอกว่า เราอยากจบปัญหา แต่อีกฝ่ายไม่จบ แต่แบบนี้ ก็ยังดีกว่า อย่างน้อยเราเองก็ผ่านได้แล้ว และไม่ต้องนำปัญหาเหล่านั้นมาเก็บไปคิดมากต่อไป ปล่อยให้อีกฝ่ายเขาคิดต่อไปแทน
ในเรื่องความกลัว การเปลี่ยนแปลง ถือเป็นเรื่องธรรมดา อะไรที่เรากลัวมากๆ ก็ต้องหาวิธีการเตรียมรับมือเอาไว้ เช่น หากกลัวตกงาน ก็ต้องพัฒนาตนเอง หรือ หารายได้เสริมเตรียมเอาไว้
ส่วนเรื่องอะไร หรือ ปัญหาอะไรที่ยังไม่เกิด เราก็อย่าเพิ่งตีโพย ตีพายไปก่อน ก็เพราะมันอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากเราไปคิดไปก่อนว่ามันจะเกิด มันก็จะกลายเป็นความทุกข์กับเรื่องที่ยังไม่เกิด หรือ เรียกอีกอย่างว่าทุกข์ล่วงหน้าไปนั่นเอง
สำหรับเรื่องปัญหา ความทุกข์ใจ เป็นเรื่องที่เราทุกคนก็ต้องเจอกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะบริหารจัดการมันอย่างไร จะจำกัดไม่ให้มันลุกลาม และเกาะกินใจเราได้อย่างไร
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ว่าจะปล่อยให้มันลาม หรือ จะปล่อยให้มันผ่านไปได้ไวแค่ไหน
ถึงตรงนี้ อยากจะถามพวกเราอีกครั้งว่า แล้วปัญหาและความทุกข์ของเราตอนนี้ มีมูลค่าเท่าไร? และคุ้มไหม ที่จะเก็บมันเอาไว้?
บทความอื่นๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
การใช้อารมณ์นำ ทุกๆ การตัดสินใจ อาจทำให้ชีวิตต้องติดหล่ม
Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์ ที่คนอยากประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี