
ความรู้ เป็นเรื่องที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องแสวงหา เพื่อนำไปสู่เส้นทางของความก้าวหน้า และความสำเร็จในการดำเนินชีวิต
เรื่องราวในเรื่องของการเรียนรู้ และการได้มาซึ่งความรู้ของ คุณอุ๋ย – นที เอกวิจิตร ก็เช่นกัน มีมุมมองเรื่องการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากเช่นกัน
ความสงสัย คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เพื่อการส่งต่อ
คุณอุ๋ย – นที เอกวิจิตร ภาพที่เราจดจำได้ ก็คือ บทบาทเป็นแร็ปเปอร์สมาชิกวงบุดดาเบลส (Buddha Bless) หลายคนคุ้นเคยกับเขาในแง่มุมของผู้สนใจศึกษาธรรมะด้วย หากมองอย่างผิวเผินอาจรู้สึกว่าตัวตนทั้งสองด้านของเขามีความขัดแย้งกัน
แต่หากในความเป็นจริงแล้ว คุณอุ๋ย ผสมผสานสถานะทั้งสองด้านนี้ได้เป็นอย่างดี และได้ใช้งานความรู้ความสามารถที่เขามี ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ในฐานะคนคนหนึ่ง คุณอุ๋ย มีธรรมะเป็นเข็มทิศ ในการนำทางชีวิต และในฐานะศิลปิน เขาได้ทำให้แฟนเพลงของเขาเข้าใจในกฎเกณฑ์ของชีวิตผ่านคำพูด และสอดแทรกผ่านบทเพลงสนุกสนานเพลงของเขา
จากประสบการณ์ตรงที่ได้เรียนรู้ธรรมะจากการสงสัยและตั้งคำถาม คุณอุ๋ย ลงมือพิสูจน์จนถ่องแท้ และตั้งใจที่จะใช้โอกาสที่มีกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้เกิดความสงสัยและค้นหาความหมายและคำตอบของความศรัทธาเช่นเดียวกับที่เขาได้เคยลงมือทำมาก่อน
การลงมือปฏิบัติ ถือเป็นการบวนการเพื่อทำความเข้าใจ
จากความสงสัยที่มีอยู่ในใจ เมื่อได้โอกาสพิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง คุณอุ๋ย พบว่าเขาได้เห็นความแตกต่างระหว่างการหาคำตอบด้วยการอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจทฤษฎีกับการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำอย่างชัดเจน
คุณอุ๋ย – เล่าให้ฟังว่า “ผมเป็นคนที่มีความสงสัยเรื่องนี้มากๆ แต่ที่ผ่านมาผมหาคำตอบจากการอ่านหนังสือแล้วก็ถกเถียงกับคนอื่น ซึ่งผมว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ใช้พลังงานเยอะแต่ได้ผลน้อย จนกระทั่งพอได้ลงมือปฏิบัติ ได้เริ่มสำรวจทั้งร่างกายและจิตใจจากการปฏิบัติจริง ทำให้ผมเข้าใจคำตอบที่ผมสงสัยมากกว่าตอนที่นั่งถกเถียงกันเยอะมาก เพราะแต่ก่อนเราเข้าใจด้วยความคิด แต่หลังจากปฏิบัติเราเข้าใจจากประสบการณ์ตรงด้วย
เรารู้วิธีที่จะสังเกตความรู้สึกในใจ ได้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ได้สังเกตสิ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วทำให้เกิดปฏิกิริยากับกายและใจเราที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน พอเรามีวิธีการเรียนรู้ที่จะสังเกตสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราได้พบคำตอบที่เราสงสัยได้มากเลยครับ” อุ๋ยเล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนรู้ของเขา และเสริมว่าในชีวิตของเขา เขาเรียนรู้จากความสงสัยและความทุกข์ และถ้าคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลแล้วความสงสัยก็คือความทุกข์แบบหนึ่ง ดังนั้น ตลอดมาเขาจึงหาทางดับทุกข์ในชีวิตด้วยการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ
“ความรู้ มันอยู่รอบตัวเรา เราเรียนรู้ได้ตลอดทุกวัน”
“การเรียนรู้สำหรับผมมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนหรือนั่งคุยกับใครสักคน เวลาที่เราอยู่คนเดียวเงียบๆ ก็เรียนรู้ได้ และการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเวลาที่เรามีความทุกข์ครับ มันอยู่ที่เราจะปล่อยความทุกข์นั้นไปเปล่าๆ หรือว่าคุณจะใช้มันเป็นบทเรียนในการเรียนรู้ชีวิตตัวเอง ทำความเข้าใจความรู้สึกเพื่อไปเผชิญกับประสบการณ์หรือความทุกข์ครั้งหน้า
ยิ่งให้ ยิ่งได้ ความรู้ที่มี ต้องส่งต่อเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์
นอกจากการเรียนรู้ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อตนเองแล้ว มากไปกว่านั้นหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนายังทำให้ คุณอุ๋ย มีความสุขจากการแสวงหาคุณค่าของชีวิต และเขาได้ใช้ธรรมะเป็นเครื่องกำหนดคุณค่าในบทบาทการเป็นศิลปินให้ความบันเทิงกับผู้คนผ่านเสียงเพลงโดยหวังว่าผู้รับสารของเขาจะได้รับรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองเช่นเดียวกัน
คุณอุ๋ย – เล่าว่า “ผมคิดว่าศิลปะทุกชนิดสามารถสอนธรรมได้ เพราะผมก็เคยได้กำลังใจดีๆ และได้ข้อคิดดีๆ จากการฟังเพลงและการดูหนัง ผมจึงคิดว่าถ้าเราเอาข้อคิดดีๆ ใส่เข้าไปในผลงานของเราได้มันก็คงจะเป็นเรื่องที่ดี” เขาเล่าถึงการที่เขาได้พยายามถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ของเขาลงไปในเนื้อเพลงที่เขาเขียน
คุณอุ๋ย เล่าว่าครั้งหนึ่งเขาได้รับการเชิญไปร่วมพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับธรรมะในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมได้รู้จักเขาในอีกมุมมองหนึ่งมากขึ้นนอกจากการเป็นแร็ปเปอร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าของสัญลักษณ์สีเหลืองของวงแร็ปสามสีบอกว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เริ่มมีกลุ่มคนใหม่ๆ มาทักทายเขามากขึ้น มีงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะงานสัมภาษณ์พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ
“งานลักษณะนี้เป็นงานที่ผมยินดีที่จะทำมากๆ เพราะมันทำให้ชีวิตมีความหมาย โดยเฉพาะการไปพูดให้น้องๆ ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยฟังเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ซึ่งการได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกมีคุณค่ามาก มันเปลี่ยนชีวิตผมไปพอสมควร ทำให้ผมตระหนักว่าผมทำอะไรได้มากกว่าการร้องเพลงสร้างความบันเทิง ทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือการหาความสุขต่างๆ มาปรนเปรอตัวเอง”
คุณอุ๋ย เล่าว่ามีน้องๆ ระดับชั้นมัธยมและนักศึกษาหลายคนมาปรึกษาเขาว่าไม่อยากนับถือศาสนาอะไรเลย สิ่งที่อุ๋ยในฐานะคนที่เคยผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาก่อนทำก็คือการพูดคุยให้น้องๆ เหล่านี้รู้จักกฎเกณฑ์และธรรมชาติของชีวิตเพื่อทำให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งอุ๋ยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนรู้ตัวเองให้ถ่องแท้ก่อนที่จะเลือกเชื่ออะไรหรือไม่?
“ส่วนใหญ่เขาจะมาถามว่าถ้าเขาไม่มีศาสนาจะบาปไหม? ทำไมคนชอบมองว่าคนที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลยเป็นคนไม่ดี ผมจึงบอกเขาว่าดีแล้วที่น้องยังไม่เลือกเชื่ออะไร เพราะถ้าน้องยังไม่ได้ศึกษาให้ดีก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองเป็นคนศาสนาอะไร ที่จะเป็นแค่การแปะป้ายบอกคนอื่นเฉยๆ สิ่งที่สำคัญกว่าการแปะป้ายบอกว่าเราศาสนาอะไรมันอยู่ที่เราประพฤติตัวยังไงมากกว่า ถึงคุณจะบอกว่าคุณนับถือศาสนานั้นๆ แต่การกระทำของคุณตรงข้ามกันเลยก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี กลับกันคนที่บอกว่าตัวเองไม่มีศาสนาแต่ไม่เห็นแก่ตัว ทำอะไรนึกถึงใจเขาใจเรา คนแบบนั้นยังจะทุกข์น้อยกว่า สร้างความเดือดร้อนให้สังคมได้น้อยกว่า เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงว่าเราไม่มีศาสนาคนจะมองเรายังไง สิ่งที่ควรทำคือศึกษาให้ถ่องแท้ว่าแต่ละศาสนาเป็นยังไง แล้วก็มาชั่งน้ำหนักด้วยวิจารณญาณเราเอง คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตอนอายุ 15 กับตอนอายุ 30 ความคิดคนยังตรงกันข้ามกันได้ ผมว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรามีศาสนาไหมแต่อยู่ที่เราทำตัวยังไงมากกว่า” อุ๋ยบอกว่าคำแนะนำของเขาทำให้หลายครั้งเด็กๆ ที่เขาได้มีโอกาสพูดคุยด้วยเกิดความผ่อนคลายมากขึ้น
คุณอุ๋ย เล่าว่า “คนรุ่นใหม่เขาเป็นวัยที่ต้องการเหตุผลในการทำอะไรบางอย่าง ดังนั้นคุณยิ่งต้องตั้งสมมติฐานและทดลองเพื่อหาคำตอบ เพราะถ้าคุณบอกว่าคุณไม่เชื่อเลยตั้งแต่แรก คุณก็เป็นคนงมงายคนหนึ่งเพราะคุณยังไม่ได้ทดลองและยังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย คุณไปบอกว่าคุณไม่เชื่อแล้วมันก็ไม่ต่างกับคนที่เชื่อโดยที่ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ งมงายทั้งคู่”
การเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากมุมเล็กๆ
การทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ภายในของ คุณอุ๋ย
“หลายคนอาจเข้าใจว่านี่ต้องเป็นเรื่องธรรมะหรือเรื่องศาสนา แต่ผมไม่คิดว่าอย่างนั้นนะครับ เพราะนี่เป็นเรื่องธรรมชาติ คนเราไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร พุทธ คริสต์ อิสลาม เราก็ทุกข์เรื่องเดียวกันทั้งนั้น คือรัก โลภ โกรธ หลง ผมคิดว่าการทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ของชีวิตให้ถ่องแท้มันจะทำให้เราทุกข์น้อยลง ผมอยากส่งต่อแนวคิดนี้ไปในงานของผมครับ” อุ๋ยกล่าวถึงหน้าที่ที่เขาอยากทำให้กับสังคม และเขาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาถ่ายทอดจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในบุคคลที่มีความพร้อม
“สิ่งที่เราสนใจผมว่าแม้ในช่วงแรกมันจะดูเข้าใจยากแต่ถ้าเราสนใจจริงๆ เราก็มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ แต่ถ้าเราไม่สนใจสิ่งเหล่านั้นแม้ว่าจะง่ายแค่ไหนก็จะเป็นแค่เรื่องที่น่าเบื่อ เพราะฉะนั้นต้องรอให้มีวันใดวันหนึ่งที่คุณสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา บางครั้งอาจเป็นวันที่เกิดความทุกข์ในชีวิตหรือไม่ใช่ก็ได้”
อุ๋ยบอกว่าเขาไม่ได้คาดหวังว่าสิ่งที่เขาพยายามลงมือทำจะต้องเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ หากแต่ถ้ามันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ใครคนหนึ่งในทางที่ดีขึ้นได้เขาก็ถือว่าตนเองได้ประสบความสำเร็จในความพยายามนั้นแล้ว
“มีน้องบางคนมาบอกกับผมว่าเขาฟังผมแล้วลองไปปฏิบัติธรรมทำให้เขามีสติขึ้นมา หรือบางคนบอกว่าฟังเพลงผมแล้วทำให้เขารู้สึกดีขึ้น ผมคิดว่าเราไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงสังคมที่มันใหญ่โตหรอก แค่ได้ทำให้คนคนเดียวสามารถเปลี่ยนความคิดไปในทางที่ดีได้มันก็เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับผมแล้ว แค่นี้ผมก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานต่อแล้วครับ”
“แต่ถ้าคนเหล่านี้เขาส่งต่อความคิดดีๆ ไปให้กับคนอื่นได้ต่อไปในอนาคตมันก็คงจะเป็นเรื่องดีมากๆ เลยนะครับ” จากอุ๋ย – นที เอกวิจิตร กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากเห็น
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ อุ๋ย – นที เอกวิจิตร
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณปาน – ธนพร แวกประยูร ในวันที่เราประสบความสำเร็จ มีเงิน มีชื่อเสียง แต่กลับไม่ได้เจอกับความสุข