
ความลำบากและอุปสรรค เป็นเรื่องที่เราทุกคนล้วนต้องเจอ และไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นทัศนคติของเราเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะในเวลาที่เราต้องมาโคจรพบกับ ความลำบากและอุปสรรค เพราะจะเป็นตัวบอกได้เลยว่า ผลลัพธ์หลังจากนั้นของเราจะลงเอยอย่างไร?
สำหรับแอดมิน เชื่อเสมอว่า “เมื่อมีอุปสรรค์ก็จะมีการเติบโตเสมอ”
ดังเช่นเรื่องราวของ พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล หรือ “ดีเจพี่อ้อย” ที่หลายๆ คนคงคุ้นหู หรือ รู้จัก “ดีเจอ้อย” ในฐานะของ “กูรูความรัก” ในรายการ คลับฟรายเดย์ (Club Friday) วิทยุคลื่นกรีนเวฟ FM 106.5 โดยจัดคู่กับ ดีเจพี่ฉอด – สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ซึ่งเป็นรายการที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเป็นรายการที่เน้นในเรื่องของการให้คำปรึกษาในเรื่องของปัญหาความรัก หรือ ปัญหาเรื่องราวของชีวิตคู่ ในรายการนี้ให้ทั้งแง่คิด วิธีการ และ กำลังใจทั้งคนที่กำลังสบปัญหา หรือ คนที่ได้ฟังเรื่องราว ได้ด้วยเช่นกัน
“เพราะชีวิตไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ทุกคนก็ต้องดิ้นรนมาพอสมควร”
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ก็ต้องผ่านเรื่องราว ความลำบากและอุปสรรค มาไม่น้อยเช่นกัน วันนี้เรามาทำความรู้จักพี่อ้อยกันให้มากขึ้น และรับข้อคิดดีๆจากเรื่องราวของพี่อ้อยกันบ้าง
ชีวิตขับเคลื่อนชีวิตด้วยแรงบันดาลใจ
พี่อ้อย – นภาพร เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย คุณพ่อคุณแม่ประกอบอาชีพค้าขาย ถึงแม้จะไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากมายนัก แต่ครอบครัวไตรวิทย์วารีกุลก็อบอุ่น หล่อหลอมให้พี่อ้อยเข้มแข็งและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
พี่อ้อย เล่าว่าคุณพ่อทำกิจการเล็กๆ กับคุณย่า คุณแม่เป็นแม่ค้าขายของ ทำให้พี่อ้อยและพี่น้องต้องเรียนหนังสือไปพร้อมกับช่วยที่บ้านทำงานไปด้วย ทุกคนเรียนหนังสือเสร็จกลับมาก็ต้องมาเสียบหมูปิ้งขาย ทำให้ได้เรียนรู้ว่าความลำบากก็เป็นครูที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เด็กคนหนึ่งรู้จักการหาความสุขเล็กๆ ที่ไม่มีราคาแพง คือ การฟังเพลงในวิทยุ และนี่เองเป็นแรงบันดาลใจสู่ความฝันในอาชีพดีเจ
“ตอนนั้นมีความใฝ่ฝันเล็กๆ คือ อยากจะไปทำงานในรายการวิทยุ เราเปรียบเทียบว่าคนอื่นเขามีธนู 10 ลูกแต่เรามีแค่ 5 เพราะฉะนั้นเราต้องยิงให้แม่น เมื่อเรามีความฝันแบบนั้น เราจึงต้องขยันเรียนมากๆ อ่านหนังสือเยอะมาก จนสามารถสอบติดที่โรงเรียนศึกษานารีได้ จนกระทั่งไปรู้มาว่าถ้าสอบเทียบได้ เราจะไม่ต้องเรียนในบางชั้น ช่วยแม่ประหยัดเงินได้อีก ก็เลยไปสอบเทียบ พอสอบเทียบได้ก็โชคดีที่สอบติดในคณะที่ตัวเองอยากเรียน และเป็นคณะที่ทำให้เราเป็นดีเจอย่างที่เราอยากเป็นในที่สุด”

ชีวิตต้องฟันฝ่าเพื่อความฝัน
พี่อ้อย – นภาพร ได้รับโอกาสในการเป็นนักจัดรายการวิทยุ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ปี 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อมีสถานีวิทยุมาบอกว่าอยากได้คนทำรายการวิทยุ เป็นรายการเพลงลูกกรุงจัดเวลาเที่ยงถึงเที่ยงครึ่ง พี่อ้อยก็ไปทำ ตอนนั้นยังไม่รู้จักเพลงมากนัก ก็ใช้วิธีไปถามพ่อ ให้พ่อจดชื่อเพลงมาให้ แม้จะอยู่ในช่วงเวลาของการเป็นดีเจฝึกหัด แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่พี่อ้อยมีความสุขมาก
หลังจากเรียนจบ พี่อ้อยได้รับโอกาสอีกครั้งที่บริษัท เอไทม์มีเดีย ของสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา หรือดีเจพี่ฉอด ที่นี่ พี่อ้อยต้องเจอบททดสอบที่ยากยิ่ง แต่นั่นก็เป็นการเรียนรู้ที่เคี่ยวกรำให้แข็งแกร่งและสามารถผลักดันศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
“ความลำบากก็เป็นครูที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เด็กคนหนึ่งรู้จักการหาความสุขเล็กๆ ที่ไม่มีราคาแพงคือการฟังเพลงในวิทยุ”
“สิ่งที่เราต้องทำ คือ เดินทางจากบ้านที่พระประแดงมาที่สุขุมวิท 39 เพื่อทำเดโมให้พี่ฉอดฟังทุกวัน คือ จัดรายการให้พี่ฉอดฟังคนเดียว และพี่ฉอดก็จะมีคอมเม้นท์ยาวๆ ให้ทุกวัน ทำอยู่อย่างนี้เป็นเดือนโดยไม่รู้เลยว่าจะได้จัดรายการเมื่อไหร่ แต่เราไม่รู้สึกท้อใจเพราะถือว่านี่เป็นขั้นตอนการเรียนรู้”
หลังจากนั้นพี่อ้อยก็ได้รับโอกาสให้จัดรายการในช่วงเวลาตี 1 ถึงตี 3 ของทุกวัน ก่อนจะได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้จัดรายการในช่วงเวลาสำคัญของสถานี
ชีวิตสามารถค้นพบสิ่งใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
จนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว วงการวิทยุเมืองไทยต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อนายทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจวิทยุและเปลี่ยนวิธีการจัดรายการวิทยุที่เน้นการเปิดเพลง โดยลดความสำคัญของดีเจลง เกิดเป็นเทรนด์ของรายการวิทยุรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยม แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ บริษัท เอไทม์มีเดีย ยังคงให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟังกับดีเจ และนำเสนอรายการวิทยุที่ไม่เน้นการเปิดเพลง แต่มีสาระหลักอยู่ที่การพูดคุยกันเพียงอย่างเดียว
พี่อ้อย – นภาพร เชื่อว่า “เมื่อมีอุปสรรค์ ก็จะมีการเติบโตเสมอ” และเล่าว่า ตอนนั้นรายการ ”แฉแต่เช้า”ดังมาก พี่ฉอดจึงเห็นว่าควรทำรายการทอล์คโชว์แบบนี้ที่ Green Wave ด้วย ความที่ Green Wave เป็นคลื่นที่ฟังง่าย 80% คือเพลงช้า คนที่โทรเข้ามาส่วนใหญ่มักจะขอเพลงโดยเล่าเรื่องราวของตัวเองด้วย เราก็เลยคิดกันว่า ทำไมไม่เอาจุดเด่นอันนี้มาทำเป็นรายการ จึงเกิดเป็นตอนแรกของ Club Friday ชื่อ “รักเขาเท่าเพลงไหน” จนทุกวันนี้จากรายการในคลื่นวิทยุ Club Friday ได้ต่อยอดออกไปเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ และมีการนำเรื่องราวในรายการไปแต่งเพลงจนได้รับความนิยมหลายต่อหลายเพลง เป็นการค้นพบสิ่งใหม่ในความเปลี่ยนแปลง การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และต่อยอดไปสู่การงานอื่นๆอีก
เรียนรู้ ที่จะรับฟังผู้อื่น ด้วยความเข้าใจ
เมื่อ พี่อ้อย – นภาพร เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้พูดเพียงอย่างเดียวมาเป็นฝ่ายรับฟังเรื่องราวของผู้คนที่หมุนเวียนกันเข้ามาเล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของตนในรายการ ทำให้ได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของแฟนรายการ รวมถึงมีส่วนแนะนำแก้ไขปัญหาชีวิตให้ด้วย วันนี้อีกงานหนึ่งของพี่อ้อย คือ การเป็นวิทยากร
“เมื่อเราได้ฟังเรื่องราวความรักของคนอื่นเยอะ จึงเห็นว่าปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการทำงานหรือปัญหาจากความรัก ล้วนใช้วิธีการรับมือแบบเดียวกัน มันแยกกันไม่ออก เพราะเราเชื่อว่าความรักเป็นพลังอย่างหนึ่ง ถ้าหัวใจของเราพัง ก็จะไม่มีพลังไปทำงาน การรับมือทั้งสองเรื่องนี้มันจึงคล้ายกัน”
พี่อ้อย บอกว่า การจะผ่านพ้นวังวนแห่งความเศร้าจากความรักหรือการทำงาน และทำความเข้าใจชีวิตได้มากขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีการพูดคุยกับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยย้ำว่าการฟังเสียงของตัวเองจะช่วยให้คนเรามีจิตใจมั่นคงมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น และความเข้าใจนี้เองจะนำทางให้ดำเนินชีวิตได้ต่อไป
“ชีวิตคือการเรียนรู้อยู่ทุกวัน เรียนรู้ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา ใช้ตาดู หูฟัง สัมผัสสิ่งนั้น เรายืนยันว่าต่อให้วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตก็อย่าหยุดการเรียนรู้ เพราะทุกอย่างคือครูที่ดีที่สุด มนุษย์ที่มีโอกาสตื่นขึ้นมาทุกวัน แปลว่าวันนี้มีตำราเล่มใหญ่รอเราอยู่ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา” ดีเจพี่อ้อยกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวของ พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ก็คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้กับพวกเรา ในเรื่องของการเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของ ความลำบากและอุปสรรค ที่เราทุกคนต้องเจอในชีวิต ความท้อแท้อาจจะมีเกิดขึ้นได้บ้าง แต่เราก็สามารถนำเรื่องดังกล่าว มาสร้างให้กลายเป็นแรงผลักดัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สร้างโอกาส เพื่อผู้คนรอบตัวได้เสมอ
ปัญหาที่เราเจอในทุกๆ วัน หากเราสามารถแก้ไขได้ เราก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นที่กำลังเจอปัญหาที่เราเคยผ่านมาได้เช่นกัน นี่คือ สิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือผู้คนได้
“ปัญหาไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากเราเรียนรู้ เข้าใจ และ สู้ไปกับมัน”
และอีกเรื่องนึงที่สำคัญ นั่นก็คือ “อุปสรรค ปัญหา หรือ ข้อจำกัดต่างๆ ที่เราต้องเจอ หากเราสามารถผ่านมันไปได้ เราจะยิ่งแข็งแรง และ แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” ตัวอย่างดีๆ จาก พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล แสดงให้เห็นแล้วว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณหยก – จุลเทพ บุณยกรชนก คนที่เคยไม่เอาไหน ก็สามารถเปลี่ยนวิกฤตในชีวิตให้กลายเป็นความสำเร็จได้