
ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม หรือ management fee เป็นจุดที่หลายคนมองข้าม แต่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการซื้อกองทุนรวม ไม่ว่าผลตอบแทนจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะพาพวกเราไปเข้าใจกันมากขึ้นว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร?
“ซื้อกองทุนรวมแล้ว ทำไมได้ไม่ครบตามยอดที่ลงทุน?”
ช่วงปลายปีที่แล้ว มนุษย์เงินเดือนหลายคน ต่างก็เร่งซื้อกองทุน LTF และ RMF เพื่อผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี บางคนก็อาจจะมีบ้างที่ลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ เพื่อเป็นการอออมและการลงทุนสำหรับแผนเกษียณในอนาคต
แต่ก็มีหลายคน เกิดความสงสัย หลังจากที่ซื้อหน่วยลงทุนไปแล้ว 10,000 บาท ปรากฏว่า ทำไมเงินที่ลงในหน่วยลงทุนเหลือแค่ 9,900 บาท ทำไมเงินที่เราตั้งใจลงทุนไปหายไป 100 บาท เขาหักเงินเราทำไม?
100 บาทที่หายไป ก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เราจะต้องจ่ายให้กับบริษัทจัดการกองทุนครับ
“ทำไมต้องมีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนรวม?”
ก็มันมีค่าใช้จ่ายหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการกองทุนรวม อาทิ การบริหารจัดการเงินลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ การเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน การจัดทำบัญชีและงบการเงินต่างๆ การเปิดเผยข้อมูลการลงทุน การจัดทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งการบริการอื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการลงทุนที่ง่ายและสะดวกขึ้น เป็นต้น
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าผู้ลงทุนอย่างเราจะต้องเจอกับ ค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนรวมอะไรบ้าง? หากเราลงทุนในกองทุนรวม (สักกองนึง) และถือกองทุนนี้เป็นระยะเวลาหนึ่ง
ค่าธรรมเนียมการบริการกองทุนรวมมี 2 ประเภท คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง และ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บโดยหักจากทรัพย์สินของกองทุนรวม
1. “ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง” เป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนทำธุรกรรม ซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยน โอนหน่วยลงทุน
ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end-fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) จะเรียกเก็บจากผู้ซื้อหน่วยลงทุน โดยจะบวกเข้าไปในมูลค่าหน่วยลงทุนที่ซื้อ
ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (Back-end-fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อหน่วยถูกเรียกเก็บเมื่อขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ บลจ. โดยจะหักออกจากเงินที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน
ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตัวนึงระบุว่ามีค่าธรรมเนียมแรกเข้าเมื่อซื้อ คือ 1% หากเราลงทุนไป 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ก็คือ 100 บาท เราจะเหลือ 9,900 บาท สำหรับการเอาไปลงทุนในกองทุนรวม หากกองทุนตัวเดียวกันนี้
เมื่อระยะเวลาผ่านไปกองทุนรวมที่เราถืออยู่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บาท แล้วหากเราต้องการขายหน่วยลงทุนนี้เพื่อทำกำไรก็จะมีค่าธรรมเนียมเมื่อขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ บลจ. คือ 1% เราก็จะได้รับเงิน 14,850 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจจะมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการโอนหน่วยลงทุนให้กับบุคคลอื่นหรือค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหนึ่งต้องการเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนรวมอีกกองหนึ่ง ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. เดียวกัน หรือ ค่าปรับกรณีขายคืนหน่วยลงทุนก่อนระยะเวลาถือครองที่กำหนดในโครงการ (Exit fee) เป็นต้น
2.“ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บโดยหักจากทรัพย์สินของกองทุนรวม”
เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการบริหารจัดการกองทุนรวม แม้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้เรียกเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง แต่จะเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องแบกรับด้วย
ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) เปรียบเสมือนเป็นค่าตอบแทนในการใช้ความรู้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนรวมที่จะบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนตามที่ตั้งเป้าไว้ ดังนั้น หากเป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนซับซ้อน ค่าธรรมเนียมนี้จะสูงกว่ากองทุนอื่นๆ ได้
ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ในผู้ลงทุน เช่น สอบทานการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ NAV ของกองทุน
นอกจากนี้ ยังอาจมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีก เช่น ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (registrar fee) ที่เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของกองทุนให้มั่นใจว่า มีอยู่ครบถ้วน ปลอดภัย ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ ค่าธรรมเนียมนี้จะคิดเป็นรายวัน ในรูปแบบค่าใช้จ่ายรวม (TER: Total Expense Ratio) โดยหักออกจาก NAV ก่อนมากำหนดเป็นมูลค่า NAV รายวันที่เราซื้อขายกัน ทำให้คนซื้อหน่วยลงทุนจะไม่ค่อยรู้สึกถึงค่าธรรมเนียมที่แฝงอยู่
“ทำไมเราต้องสนใจเรื่อง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริหารกองทุนรวม?”
เพราะถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากตัวนึงเช่นกัน เพราะค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริหารกองทุนรวม คือต้นทุนของการลงทุนของเรา เสมือนเป็นตัวหักออกจากผลตอบแทนทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เราต้องการลดลงด้วย
ดังนั้นผลตอบแทนที่เราคาดหวังก็ต้องคำนึงถึงเรื่องค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายของบริหารกองทุนรวมด้วยเช่นกัน
“ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริหารกองทุนรวม หาดูได้จากที่ไหน?”
รายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริหารกองทุนรวม สามารถดูได้ที่ Fund Fact Sheet หรือหนังสือชี้ชวน เพราะทุกกองทุนรวม จะต้องเปิดเผยรายละเอียดตัวนี้ให้กับผู้ลงทุนอยู่แล้ว โดย Fund
Fact Sheet จะแสดงกราฟค่าใช้จ่ายรวม (TER: Total Expense Ratio) และค่าธรรมเนียมแต่ละประเภท ซึ่งจะเห็นได้ว่า กองทุนนี้ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่คืออะไร และที่น่าสนใจคือค่าธรรมเนียมแต่ละตัว จะมีการกำหนดเพดานสูงสุดไว้ และจะแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันกองทุนเรียกเก็บในระดับใด
ในเรื่อง ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม ซึ่งหากผู้บริหารกองทุนคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมถึงแม้อาจจะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริหารกองทุนอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง สำหรับผู้ลงทุนมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ที่ไม่มีเวลาลงทุนด้วยตัวเอง
เพราะการลงทุนที่ดีจำเป็นต้องมีเวลาในการศึกษาข้อมูลและติดตามการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่กองทุนรวมเขามีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ มีความรู้ คอยติดตามและดูแลเงินที่นำไปลงทุนให้เราอย่างสม่ำเสมอ
ถึงกระนั้นก็ตาม ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งควรศึกษาข้อมูลให้ดีเลือกลงทุนให้ตรงกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้นะครับ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การเงินและการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Fund Fact Sheet ข้อมูลสำคัญ เปรียบเสมือน ลายแทง กองทุนรวม
การลงทุนในหุ้นกู้ เราจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง?