งบการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Statement) คืออะไร? สำคัญอย่างไร? มีประโยชน์ด้านใดบ้าง โดยเฉพาะสำหรับคนทำงาน หรือ คนทั่วไป?
พอพูดเรื่องงบการเงิน หรือ เรื่องการทำบัญชี หลายคนก็เริ่มไม่อยากสนใจแล้ว เพราะเข้าใจว่ามันยากเกินไป หรือ อาจจะไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร มองไม่เห็นประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดอีกด้วย ที่ว่าต้องเป็นเจ้าของกิจการเท่านั้น ถึงจะต้องทำเรื่องงบการเงิน เพราะมีเรื่องภาษี เรื่องค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวเลย คนทั่วไปก็ควรจะต้องทำ เพราะถ้าเรามองว่าเรื่องเงินทองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราก็ควรจะต้องรู้ว่าสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร? ปลอดภัย หรือ เสี่ยงมากไหม?
สิ่งที่จะบอกเราได้ แบบชัดเจนนั่นคือ งบการเงินส่วนบุคคล
งบการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Statement) เปรียบเสมือนการทำเอกซเรย์ สุขภาพทางการเงินของเรานั่นเอง งบการเงินส่วนบุคคล จะบอกข้อมูลทางการเงินของเรา อาทิเช่น สินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ ค่าใช้จ่าย หรือรายการที่เกี่ยวข้องกับเงิน ซึ่งงบการเงินส่วนบุคคลเป็น เครื่องมือสำคัญในการวางแผนทางการเงิน เพราะจะช่วยให้เรา ทราบสถานะทางการเงินที่แท้จริงของตนเอง ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์การเงินในปัจจุบัน และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งยังช่วยให้การตัดสินใจทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
งบการเงินส่วนบุคคล เราต้องจ้างนักบัญชีทำไหม?
ไม่จำเป็นเลย เราสามารถทำเองได้ เรื่องงบการเงินส่วนบุคคล ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ทุกคนที่ไม่มีพื้นความรู้เรื่องการเงิน หรือ ไม่ได้ต้องจบด้านบัญชีและการเงิน ก็สามารถเรียนรู้และทำได้
แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องควรทำทันที เพราะเราจะได้ รู้ถึงฐานะการเงิน ของเรา ณ วันนี้ ว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้าง? มีหนี้สินมากขนาดไหน? จะมีเงินพอใช้ไปได้อีกกี่เดือน หรือ กี่ปี เป็นต้น ดีกว่าไปรู้เมื่อตอนที่มีหนีสินมากมายแล้วไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ หรือ มารู้อีกทีตอนใกล้เกษียณแล้วมีเงินไม่พอใช้ในยามแก่
งบการเงินส่วนบุคคล หลักๆ จะมี อยู่ 3 ตัว คือ
- งบดุลส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet)
- งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement)
- งบประมาณเงินสด (Cash Budget)
งบดุลส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet)
งบดุลส่วนบุคคล คือ รายงานที่แสดงสถานะความมั่งคั่งทางการเงินของบุคคล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง งบดุลส่วนบุคคลทำให้เราทราบว่าเรามี สินทรัพย์ (Assets) อะไรบ้าง มีมูลค่าเท่าใด มี หนี้สิน (Liabilities) จำนวนเท่าใด และสรุปแล้วเรามี ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) มากน้อยเพียงใด

งบดุลส่วนบุคคล เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการวางแผนการเงิน เพราะช่วยให้เราประเมินความมั่งคั่งทางการเงินในปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนทางการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสมตามโจทย์ที่เราต้องการได้ง่ายยิ่งขึ้น
“งบดุลส่วนบุคคล : สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ”
สินทรัพย์ (Assets) คือ รายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งมีมากมายหลายประเภท แตกต่างกันตามลักษณะและประโยชน์ของการใช้สอย โดยสินทรัพย์ต่าง ๆ จะแบ่งเป็น
- สินทรัพย์สภาพคล่อง (เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนระยะสั้น เป็นต้น)
- สินทรัพย์ส่วนตัว (เช่น บ้าน รถ เครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือ อื่นๆ) และ
- สินทรัพย์เพื่อการลงทุน (เช่น กองทุนรวม พันธบัตร หุ้น ทองคำ อสังหาฯ ที่ดิน อื่นๆ เป็นต้น)

การบันทึกราคาของสินทรัพย์ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวน เช่น ที่ดิน รถยนต์ ให้ดูตามราคาตลาดในปีที่เราทำการทำงบดุลส่วนบุคคล เช่น รถยนต์ซื้อด้วยเงินสดมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ราคา 850,000 บาท มูลค่าของรถยนต์คันนี้ในตอนนี้ ก็ต้องอ้างอิงราคาซื้อขายในตอนนี้ เช่น ในตลาดทำการซื้อขายกันอยู่ที่ 350,000 บาทเป็นต้น เราก็นำมูลค่านี้ไปใส่ในฝั่งของสินทรัพย์เป็นมูลค่าของรถยนต์ของเรา
หรือ กรณีที่ดินที่เคยซื้อลงทุนเอาไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ราคา 250,000 บาท มูลค่าการซื้อขายหรือ ราคาประเมินปีนี้ คือ 600,000 บาท เราก็ต้อง update มูลค่าของที่ดินผืนนี้ในรายการสินทรัพย์ของเราด้วย
หนี้สิน (Liabilities) คือ รายการทางการเงินที่เราได้ไปกู้ยืมคนอื่นเขามา และมีพันธะสัญญาที่ต้องชำระคืนในอนาคต หนี้สิน อาจจะเป็นหนี้สินส่วนตัวหรือหนี้สินของครอบครัวก็ได้ โดยแบ่งเป็น
- หนี้สินระยะสั้น (Current Liabilities: หนี้สินหมุนเวียน ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือ การผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ ทั้งแบบมีดอกเบี้ยและแบบ 0%) และ
- หนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities : หนี้สินระยะเวลาผ่อนมากกว่า 1 ปี เช่น หนี้จากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น)

จากตัวอย่างข้างต้น เราจะต้องรวมหนี้ผ่อนบ้านและผ่อนรถเป็นหนี้ระยะสั้นด้วย พิจารณาสัก 3 เดือนก็ได้ เหตุที่ต้องพิจารณาเพราะเป็นหนี้ประจำที่จะต้องจ่ายในกรอบ 2-3 เดือน หากจำเป็นต้องวางแผนเงินฉุกเฉิน เราก็ต้องรวมเงินผ่อนกลุ่มนี้เอาไว้ด้วย
ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) คือ สินทรัพย์ส่วนที่เหลืออยู่ของเรา หลังจากได้หักหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด ของเราออกไปแล้ว ซึ่งส่วนที่เหลือนี้เองจะเป็นทรัพย์สินที่เรามีอย่างแท้จริง และเป็นสิ่งแสดงถึงความมั่งคั่งของเราด้วย
“สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ”

สำหรับ เรื่องบ้านหรือคอนโด ให้เราราคาประเมินล่าสุด เช่นซื้อคอนโด มาสักพักแล้ว ตอนนี้ราคาประเมินคือ 5 ล้านบาท (นำไปใส่ในฝั่ง สินทรัพย์ส่วนตัว) เราผ่อนไปแล้วเหลือยอดหนี้ ณ วันนี้ อยู่ที่ 3 ล้านบาท (นำไปใส่ในฝั่ง หนี้สินระยะยาว) หากคิดเฉพาะคอนโดหลังนี้ สินทรัพย์ส่วนที่เหลืออยู่ของเรา คือ 5 – 3 = 2 ล้านบาท นั่นเอง
“แต่ปัญหาที่คนทำงานส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่ก็คือ การขาดสภาพคล่องทางการเงิน”
หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ “สินทรัพย์ สภาพคล่อง” ของเรา “หนี้สินระยะสั้น” มีน้อยกว่าหนี้สินระยะสั้น แสดงว่าเรากำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินไปแล้ว และมีโอกาสสูงมากที่จะต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้หนี้ระยะสั้น เหมือยกับที่หลายๆ คนทำ ก็คือ ใช้บัตรกดเงินสดมาจ่ายหนี้บัตรเครดิต ทำให้ยิ่งใช้หนี้ ยิ่งเป็นหนี้หนักขึ้นวนลูปไป กลายเป็นเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้มหาศาล

ทางแก้ หากเป็นหนี้หนักแล้ว ก็สามารถทำได้ด้วยการแปลง “หนี้สินระยะสั้น” ให้เป็น “หนี้สินระยะยาว” ด้วยการขอสินเชื่อระยะยาวที่มีภาระทางดอกเบี้ยถูกกว่ามาจ่ายหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยแพงกว่า
เขาถึงแนะนำให้คนทำงานมี เงินสำรองฉุกเฉิน เอาไว้บ้าง เช่น ขั้นต่ำ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำของแต่ละเดือน เผื่อเอาไว้ว่าเกิดสถานการณ์ที่เราต้องใช้ฉุกเฉิน เช่นตกงานกระทันหัน หรือ ไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว อย่างน้องการมีเงินสำรองเอาไว้ในส่วนนี้ก็ช่วยใช้หนี้ที่เรามีในช่วงที่เรามีปัญหาได้
เอาเป็นว่าหากพวกเราลองกรอกแบบง่ายๆ สำหรับ งบดุลส่วนบุคคล เราก็จะรู้ได้ทันทีว่าสถานการณ์ตอนนี้ของเรามีความเสี่ยงทางการเงิน หรือ ปลอดภัย มากน้อยแค่ไหน
งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement)
งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล คือ รายงานสรุปรายได้และค่าใช้จ่ายของบุคคล ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ผ่านมา เช่น 1 สัปดาห์ 1 เดือน หรือ 1 ปี
งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจะ สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา อย่างอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐาน ที่สำคัญมากใน การปรับปรุงพฤติกรรมทางการเงิน และการวางแผนการใช้จ่าย สำหรับอนาคต

ด้วยนิสัยและพฤติกรรมการใช้เงินของเรานี่แหละ จะเป็นตัวบ่งบอกเลยว่าอนาคตทางการเงินของเราจะรอด หรือ จะร่วง เรามาทำความเข้าใจกับ งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
“รายได้ – รายจ่าย = เงินเกิน หรือ รายได้ที่เหลือ”

แสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่อง Cash Flow หรือ กระแสเงินสด เพราะจากงบรายรับรายจ่ายในรอบ 1 ปี ของคนคนนี้ มีสัดส่วนของ ค่าใช้จ่ายคงที่ และ ค่าใช้จ่ายผันแปร สูงมากถึง 83.6% ของรายได้ และ ยังค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน สูงอีกด้วยถึง 25.8% เรื่องออมและการลงทุนยิ่งสูงยิ่งดี แต่หากทำให้มีปัญหาในเรื่อง Cash Flow ก็ต้องมาพิจารณาว่า จะปรับลดตรงไหนได้บ้าง หากไปบริหารจัดการพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยแล้วช่วยให้ลด ค่าใช้จ่ายคงที่ และ ค่าใช้จ่ายผันแปร ลงม่ให้อยู่ไม่เกิน 70% ได้ก็จะดีและทำให้มีเงินเหลือ เพิ่มเติมอีกด้วย นี่ก็เ้ป็นอีกตัวอย่างให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องของการแก้ปัญหา Cash flow
เขาแนะนำว่า อย่างน้อยเราควรมีสัดส่วนการออมออมและลงทุนขั้นต่ำ 10 % ของรายได้
เราจะไปถึงได้ก็ต้องมาลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วน ค่าใช้จ่ายคงที่ และ ค่าใช้จ่ายผันแปร
งบประมาณเงินสด (Cash Budget)
งบประมาณเงินสด เป็น แผนประมาณการเงินสดรับและเงินสดจ่ายที่จัดทำขึ้นล่วงหน้า โดยแสดงรายการเงินสดทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน งบประมาณเงินสดเป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่ช่วยให้เราสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมล่วงหน้า หากมีเงินสดเหลือ จะได้วางแผนการออมและการลงทุนเพิ่มเติม หากเงินสดไม่พอ จะได้เตรียมตัดลดค่าใช้จ่ายหรือหาทางแก้ไขปัญหา
“งบประมาณเงินสดส่วนบุคคล : เงินสดที่คาดว่าจะได้รับ – เงินสดที่จะต้องจ่าย = เงินเกิน/เงินขาด”

การทำงบประมาณเงินสด จะทำให้เราเห็นว่าเมื่อจบปีงบประมาณสถานการณ์เงินสดในมือเราจะเป็นอย่างไร ดังตัวอย่างรูปที่ 8 ต้นปี มีเงินเก็บอยู่ 30,000 บาท หากวางแผนประมาณการค่าใช้จ่ายแบบตามตารางนี้ (รายรับเป็นเงินเดือน บวกโบนัส) พบว่าตอนสิ้นปี เขาจะเหลือเงินสดเหลือแค่ 2 พันบาทเท่านั้นเอง สาเหตุก็เกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายนั่นเอง
แต่เขายังโชดดี เพราะนี่คือแผน เมื่อแผนออกมาไม่ดี เขาก็ยังมีโอกาสปรับพฤติกรรม หรือ นิสัยในการใช้จ่ายได้ แต่อีกด้านนึง หากเขาไม่มีแผน ไม่ทำแผน หรือ ไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ทางการเงิน ณ ปัจจุบันของเขาเป็นอย่างไร? คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะประสบความสำเร็จทั้งเรื่องงานและเรื่องเงินอย่างแน่นอน
บทสรุปสำหรับเรื่องนี้
“คนที่เข้าใจเรื่องการเงินเป็นอย่างดี บวกกับมีวินัยการเงินที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะทำอาชีพใด ก็ประสบความสำเร็จได้”
เพราะงบการเงินส่วนบุคคล ช่วยให้เรา วางแผนการเงิน ของตนเอง และ ครอบครัวได้อย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้จ่าย อย่างถูกต้อง ทุกแง่ทุกมุมของชีวิต และยังเป็นพื้นฐานทางการเงินที่ดีในอนาคตสำหรับคนที่สนใจจะก้าวไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน
Source:
https://www.set.or.th/set/financialplanning/glossary.do?contentId=2
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การบริหารการเงินส่วนบุคคล สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
การบริหารการเงินส่วนบุคคล เป็นทักษะที่สำคัญมาก แต่โรงเรียนกลับไม่ได้สอน