งานเภสัชกรรม เป็นอีกหนึ่งงานที่สำคัญ เพราะในแต่ละวันต้องให้บริการคนไข้เฉลี่ยนับหมื่นรายต่อเดือน กับคลังยาจำนวนนับพันชนิด กับเภสัชกรจำนวนแค่หลักสิบคน และ ทุกคนทำงานรับผิดชอบและดูแลงานด้านยา ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน รวมทั้งการส่งยาทางไปรษณีย์ ในช่วงที่เกิดวิกฤต โควิด-19 ของ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นั้น กลับมีความแม่นยำ ถูกต้องสูงมาก วันนี้เราจะมาพากันไปติดตามชมงานเบื้องหลัง ของ งานเภสัชกรรม กันว่าพวกเขาทำงานกันแบบไหน ทำไมถึงสามารถดูแลบริหารจัดการยา ให้กับคนไข้ได้เป็นอย่างดี
จากตอนที่แล้วแอดมินได้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งศูนย์ที่เรียกได้ว่าทุกวินาทีมีค่ามากจริงๆ การทำงานที่ต้องจดจ่อและติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้ามีอะไรผิดพลาดหรือสายเกินไปหมายความว่าเราอาจจะสูญเสียคนไข้ไปได้เลย ศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์และหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (ซีซียู) ศูนย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจตั้งแต่การรักษาตลอดจนการติดตามผลพักฟื้นและส่งคนไข้กลับสู่ครอบครัวที่อบอุ่นอีกครั้ง
วันนี้มาถึงคิวของ “หมอยา” ชื่อแขนงหมอที่เราเรียกกันบ่อยๆ เพราะพวกเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องของยากันอย่างลึกซึ้ง แถมการทำงานของเขาก็ถูกล้อมรอบไปด้วยยานับพันชนิด พูดได้ว่าเจอยามากกว่าเจอคนไข้เสียอีก วันนี้แอดจะพาทุกคนไปรู้จักกับ งานเภสัชกรรม โดย ภญ.ณัฐฐินันท์ ขลิบเงิน กับ ภญ.ภาวิณี ลิขิตวรกุล เภสัชกรผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ ภก.วุฒิชัย กะวีกุล เภสัชกรผู้ป่วยใน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“คอนเฟิร์ม ตรวจสอบ จ่ายยา”
ทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับยาคือการทำงานของเภสัชกรทั้งหมด เริ่มต้นที่หลังจากแพทย์ตรวจรักษาคนไข้เสร็จเรียบร้อย แพทย์จะออกใบสั่งยา ซึ่งหน้าที่ของเภสัชกรคือการอ่านรายละเอียดและยืนยันใบสั่งยาของแพทย์ หลังจากนั้นจะถูกส่งไปตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ในเรื่องของจำนวนยาหรือชนิดของยาที่จ่ายให้คนไข้มีโอกาสกินแล้วตีกันหรือไม่ ถ้ามีต้องทำการโทรปรึกษาหารือกับแพทย์ก่อนที่จะทำการจ่ายยาออกไปให้คนไข้
Telepharmacy
- นอกจากหน้าที่หลักๆในการคอนเฟิร์มใบสั่งยา ตรวจสอบรายการยา และจ่ายยาแล้ว เภสัชกรยังมี Telepharmacy อีกด้วย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เภสัชกรผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารระยะไกล ครอบคลุมตั้งแต่ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยา ติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียง จะใช้กับคนไข้ 3 กรณี ดังนี้
- คนไข้ที่ต้องใช้ยามากกว่า 10 ตัว คือต้องกินยาจำนวนครั้งละมากๆ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสับสนและมีโอกาสที่จะใช้ยาผิดได้สูง
- คนไข้ที่ต้องใช้ยาที่อาจจะตีกันได้ควบคู่กัน ต้องมีการติดตามอาการผิดปกติอื่นๆเพื่อความปลอดภัย
- คนไข้ที่ต้องใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่เรียกกันว่ายาละลายลิ่มเลือด ใช้เพื่อช่วยลดการแข็งตัวของเลือด เป็นยาที่ต้องได้รับการติดตามพิเศษ เภสัชต้องมีการติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
ความแตกต่างของงานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกกับผู้ป่วยใน
สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเลยคือการสต็อกยา ยาของผู้ป่วยนอกกับผู้ป่วยในจะแตกต่างกัน ระบบการแจกจ่ายยาก็จะต่างกัน ซึ่งจะมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในงานเภสัชกรรมด้วย อย่างตอนนี้มีทั้งหมด 2 เครื่อง คือ เรามีเครื่องจัดยาที่เป็นยาความเสี่ยงสูง และเครื่องจัดยาเม็ดอัตโนมัติ การนำเอาหุ่นยนต์เข้ามา มันช่วยในเรื่องของความรวดเร็วในการจัดสรรยา ความปลอดภัย มีความแม่นยำในชนิดยามากยิ่งขึ้น และสะดวกใช้ง่าย
การปรับตัวเมื่อโควิด-19 เข้ามา
งานเภสัชกรรมมีมาตรการในการจ่ายยาทั้งหมด 3 โครงการด้วยกันในช่วงโควิด-19 ได้แก่ ทางไปรษณีย์ รถแท็กซี่ และ Drive-Thru ซึ่งทางโรงพยาบาลจะเน้นการให้บริการทางไปรษณีย์มากเพราะคนไข้ส่วนใหญ่สะดวกในการใช้บริการทางนี้มากที่สุด
“รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เพื่อให้แน่ใจว่ายาที่จ่ายไปปลอดภัย”
นอกจากนี้ยังมีการทำงานแบบ Social Distancing ในการจัดการยา มีการเพิ่มขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด มั่นใจได้ว่ายาที่จ่ายไปปลอดภัยจากโควิด-19 แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น เดิมทีก่อนมีโควิด-19 แม่บ้านจะเข้ามารับยาหรือโลจิสติกส์จะเข้ามาค้นยาด้านใน แต่ปัจจุบันคือให้รออยู่ข้างนอกหมดแล้วเภสัชจะทำหน้าที่ในการจัดเอายาไปให้ข้างนอกแทน
“เพราะหวังหวังที่ให้คนไข้อาการดีขึ้นจากยาที่ได้รับ”
หลายคนมีคำถามว่าทำไมช่วงที่รอรับยาถึงนาน สำหรับเภสัชกรแล้วการจ่ายยาให้แก่คนไข้เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องรอบคอบมากที่สุด ถ้าผิดเพียงนิดเดียวหรือแม้แต่ตัวอักษรเดียวของชื่อยาที่ผิดพลาดไป ผลลัพธ์ที่ตามมามันอาจจะรุนแรงถึงชีวิตคนไข้ที่ได้รับยาผิดไปได้ เภสัชทุกคนหวังที่ให้คนไข้อาการดีขึ้น หายจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่ได้รับอยู่ และสามารถควบคุมโรคที่เป็นอยู่ได้
“งานเภสัชกรที่นอกเหนือจากการจ่ายยา”
นอกจากการจ่ายยาปกติแล้ว เภสัชกรยังคิดถึงการที่คนไข้ต้องใช้ยาอย่างถูกต้องและมีความเข้าใจในการใช้ยาเพื่อจะได้หาย บางครั้งเวลาจึงถูกใช้ไปกับการให้คำแนะนำในการใช้ยา หรือคำแนะนำอื่นๆด้วยความหวังดี ถึงแม้มันจะทำให้กระบวนการช้าลง แต่ทั้งหมดเป็นเพราะเภสัชกรใส่ใจว่าอยากให้คนไข้หายและใช้ยาได้อย่างปลอดภัยจริงๆ
“เราทำไปเพราะเป็นห่วงคนไข้จริงๆ”
บางครั้งเกิดปัญหาที่ยาบางตัวอาจจะมาช้าหรือมีในเรื่องของยาตีกัน ทำให้คนไข้อาจจะต้องรอนานกว่าปกติ เพราะเกิดจากการที่เภสัชต้องโทรไปปรึกษาหารือกับคุณหมอในเรื่องของยาตัวนั้นๆ ว่าเหมาะกับคนไข้หรือไม่ คนไข้ทานได้หรือเปล่า หรือสามารถแทนด้วยยาตัวอื่นได้ไหม ถึงจะนานไปบ้าง แต่อยากให้รู้ว่าเภสัชกรทำไปทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยในการได้รับยาของคนไข้
“การสื่อสารเป็นความท้าทาย”
มีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสื่อสารของเภสัชกรในขั้นตอนจ่ายยา ที่ต้องให้ความรู้ในการรับประทานยาร่วมด้วย บางคนอาจจะมองเข้ามาแล้วเข้าใจว่าเภสัชกรดุ เสียงดัง แต่ต้องเข้าใจว่าสถานที่จ่ายยาตรงนั้นข้างนอกมันเสียงดังอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นบางทีเภสัชกรก็ต้องพูดให้ดังขึ้นเพื่อให้คนไข้ได้ยิน ยิ่งถ้าคนไข้เป็นผู้สูงอายุ เภสัชกรไม่ได้มีเจตนาจะดุ แต่แค่ต้องพูดเพื่อให้คนไข้ได้ยิน และสื่อสารกันอย่างครบถ้วนเท่านั้นเอง
“ต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”
งานเภสัชกรรมต้องมีการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงระบบตลอดเวลา คำติชม คำแนะนำต่างๆที่ได้รับจากคนไข้และผู้เข้าใช้บริการทุกคน จะถูกนำมาคิด วางแผน และพัฒนาไปเรื่อยๆเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไข้ทุกคน ที่สำคัญคือด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยทำให้มียาใหม่เยอะมาก เภสัชกรต้องอัพเดทตลอดเพื่อตอบคำถามคนไข้หรือเลือกยาให้เหมาะกับคนไข้
บทสรุป
งานเภสัชกรเป็นงานที่คนไข้และผู้เข้าใจบริการในโรงพยาบาลทุกคนมองเห็นการทำงานของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้วงานของพวกเขาไม่ได้มีแค่การจัดยาให้คนไข้อย่างที่เราเห็นเท่านั้น เบื้องหลังเวลาที่เภสัชกรใช้ไป ที่เราเคยสงสัยว่าทำไมแค่หยิบยาแค่นี้ถึงนานนัก มันเต็มไปด้วยความตั้งใจและความห่วงใยที่เราอาจจะไม่เคยได้รับรู้
การทำงานของเภสัชกรเต็มไปด้วยความหวังและความห่วงใยที่มีต่อคนไข้ หวังให้คนไข้ได้รับยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสมกับคนไข้ที่สุด การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในการรับประทานยาเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยที่เภสัชกรมอบให้แก่คนไข้ทุกคน เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปที่คุณนั่งรอรับยา เราลองมาคิดถึงความห่วงใยที่เขาทำอยู่เบื้องหลังโดยที่เราไม่ได้เห็นกันเถอะ
“เภสัชกรทุกคนใส่ใจ ถึงแม้การให้บริการของเราอาจจะช้าหน่อยก็อยากให้เข้าใจ เพราะเราอยากให้คนไข้หายและได้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัยจริงๆ ”
งานเภสัชกรรม ความแม่นยำที่มาจากความใส่ใจ | โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
บทความ แนะนำ :
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของคนไทย
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical