ชีวิตคือการตั้งคำถาม เพื่อที่เราจะได้กล้าที่จะก้าวเดินทางเพื่อหาคำตอบ คำถามที่ดี ก็จะสามารถนำทางให้เราไปเจอคำตอบที่ดีได้เช่นกัน ดังนั้น คุณภาพของการตั้งคำถามจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ดังเรื่องราวของบุคคลสำคัญของเราในตอนนี้ก็เช่นกัน ที่เขาเชื่อว่า “ชีวิตคือการตั้งคำถาม”
พี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีผลงานที่ได้รับรางวัลในระดับโลกมากมาย หนังโฆษณาที่พี่ต่อทำแต่ละเรื่อง เป็นที่จดจำของผู้ชมจำนวนมาก เพราะในแต่ละเรื่องมีการร้อยเรียงเรื่องราวที่กินใจ พี่ต่อได้สอดแทรกแนวความคิดที่ลึกซึ้งผ่านเข้าไปในเรื่องราวนั้นๆ ทำให้หนังโฆษณาแต่ละเรื่องที่ออกมา ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ชีวิตต้องหัดตั้งคำถาม เพื่อท้าทายความคิด
พี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย เป็นนักตั้งคำถาม เพราะสำหรับเขา คำถามคือหนทางหลักในการหาคำตอบเพื่อการเรียนรู้ของชีวิต เขาตั้งคำถามมากมายมาตั้งแต่ยังเด็ก และคำถามในวัยเด็กที่สำคัญที่มีส่วนกำหนดอนาคตของเขาในเวลาต่อมา คือ คำถามที่เขามีต่อระบบการศึกษา
พี่ต่อ เล่าให้ฟังว่า “ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือ แต่ผมเป็นเด็กที่เรียนช้าเพราะมีคำถามเยอะ เช่น ครูสอนว่าชาวนา 5 คน ขนกองฟางได้ 7 กอง ถ้าชาวนา 10 คน จะขนกองฟางได้กี่กอง สำหรับผมนี่เป็นคำถามที่ไม่สมเหตุสมผลมากๆ เพราะผมไม่รู้ว่าชาวนา 10 คน เขาขี้เกียจขนกองฟางหรือเปล่า คนไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่ปัญหาคือครูพยายามที่จะบอกว่าคนคือคณิตศาสตร์ที่คำนวนได้ แต่สำหรับผมบางเรื่องในโลกมันคำนวนไม่ได้”
ในมุมมองของพี่ต่อ เขาเห็นว่าระบบการศึกษาของไทยนั้น มีรูปแบบที่ตายตัวเกินไปและไม่เห็นความสำคัญของการสร้างความรู้สึกให้นักเรียนเกิดความต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง
“ตอนนี้ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องตั้งคำถามแล้วว่า สิ่งที่เรารู้นั้นทำให้เรามีความสุขขึ้นจริงหรือเปล่า”
เพราะทุกคนเรียนหนังสือกันเยอะขึ้น มาตรฐานการศึกษาก็สูงขึ้น จากเมื่อก่อนที่คนจบกันแค่ชั้น ป.4 แต่ไม่เห็นว่าการที่เรียนกันสูงขึ้นจะทำให้พวกเรามีความสุขขึ้นได้เลย เราได้เกิดความซาบซึ้งในสิ่งที่เราเรียนรู้หรือเปล่า ซึ่งพี่ต่อ คิดว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ความสำคัญกับการตั้งคำถามในสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ คือ ประเด็นที่สำคัญ
พี่ต่อ บอกว่า ถ้าหากเราทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความรู้สึกจริงๆ มันน่าจะดีกว่านี้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกเราโดนผึ้งต่อยแล้วเราบีบมะนาวใส่จุดที่โดนผึ้งต่อยให้ลูก แล้วสอนเขาว่ากรดของน้ำมะนาวมันทำปฏิกิริยาอย่างไรกับพิษของผึ้ง เด็กเขาก็จะเกิดความสนใจและเริ่มไปคิดต่อด้วยตัวเอง เกิดเป็นความคิดต่อยอด เกิดความสงสัย การตั้งคำถาม และหาคำตอบต่อไป
ซึ่งแนวคิดนี้ แตกต่างจากการเรียนรู้ในระบบที่เราสอบด้วยการมีตัวเลือกที่ไม่ได้ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น เราจะได้เรียนรู้มากขึ้น เจอโลกกว้างมากขึ้นจากการทำข้อสอบอัตนัย ครูและโรงเรียน จะต้องทำให้เด็กเกิดความอยากรู้ อยากเรียน เพื่อหาคำตอบ เพื่อให้เขามีความสุขกับสิ่งที่ค้นหา
ครูและเด็ก ส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
“ระบบการศึกษาต้องทำให้ครูอยากมาโรงเรียน”
พี่ต่อ บอกว่า เพราะครูผู้เป็นต้นทางของความรู้ แต่ทุกวันนี้ครูเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เช่น กลัวว่าถ้าสอนรูปแบบใหม่ๆ แล้วจะถูกด่า กลัวที่ต้องพูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน แต่ถ้าเราเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้ครูใช้ ครูก็จะตื่นตัวมากขึ้น เมื่อครูตื่นตัวมากขึ้น นักเรียนก็จะตื่นตัวมากขึ้นเช่นกัน
“โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้”
ครูต้องปฏิวัติวิธีการสอนด้วยการทำให้นักเรียนตั้งคำถาม ต้องส่งเสริมให้เด็กถาม คำถามของเด็กจะกลับมากระตุ้นให้ครูต้องหาคำตอบเพื่อกลับไปตอบคำถามให้ได้ จึงจะทำให้การเรียนการสอนก็จะเป็นเรื่องสนุกสำหรับทุกคน
เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ คนที่เป็นครูต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตนเอง ครูต้องเป็นผู้เรียนรู้ไปด้วย ครูต้องยอมรับในความโง่เขลาของตนเอง และสอนให้เด็กยอมรับในความโง่เหล่านั้นด้วย นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษา
และ ครู ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ครูไม่จำเป็นต้องรู้ไปทุกเรื่อง ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่า การไม่รู้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา และ สามารถเรียนรู้ได้ เพราะ ชีวิตคือการตั้งคำถาม ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จะกลัวผิด หรือ อายที่จะแลดูโง่เขลา ถาม หรือ หาข้อมูลเพื่อคำตอบที่ต้องการได้
“จะหวังพึ่งแต่ครูคนเดียวไม่ได้ พ่อแม่ต่างหากที่เป็นครูที่ดีที่สุดของเด็ก”
พี่ต่อ บอกว่า พ่อแม่คือครูคนแรกของลูกและเป็นครูที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องกระตุ้นตัวเองเสมอว่าต้องหาความรู้มากขึ้น พ่อแม่ต้องปรับปรุงหลักสูตรของตัวเองตลอดเวลาตามพัฒนาการของลูก
ถ้าทำได้แบบนั้นเราจะไม่ต้องพึ่งระบบการศึกษาเลย ขณะที่พ่อแม่ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะจะมีอะไรที่ทำให้เราฉลาดขึ้นได้มากเท่ากับการเลี้ยงลูก เราต้องกลับไปหาธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ แสดงให้เด็กเขาเห็น ให้เด็กเขาเรียนรู้จากการกระทำของเรา
ชีวิตของเราไม่ได้มีเวลามากมายในการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่อง เราจำเป็นต้องเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
พี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย เล่าให้ฟังว่า เขาจะเน้นการเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้งานในชีวิตจริงได้ เพราะเขาบอกว่าความรู้หลายอย่าง แม้จะรู้เยอะรู้มาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น
“การรู้อะไรที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นน่ะ รู้ไปเถอะ แต่บางเรื่องรู้เยอะแล้วชีวิตเป็นทุกข์ ก็ไม่ต้องไปรู้หรอก รู้อะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นก็พอ”
พี่ต่อ บอกว่า การศึกษาเรียนรู้ เราจึงต้องมีกระบวนการตั้งคำถามในสิ่งที่เรารู้ด้วยว่าเชื่อถือได้หรือไม่? และถ้าหากมีคนมาโต้แย้งในสิ่งที่เรารู้ ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปเราควรทำอย่างไร? เราควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรารู้ไหม? ซึ่งทั้งหมดนี้ มันแตกต่างจากคแนวความรู้เดิมๆ ซึ่งเขาเห็นว่ามีประโยชน์ เพราะสามารถช่วยให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ ต่อยอดต่อไปได้
ความรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำ
“คุณบอกว่าคุณเป็นผู้รู้เก่งเรื่องป่าไม้มาก แต่คุณไม่เคยปลูกต้นไม้เลยสักต้นแล้วผมจะไปฟังคุณได้ยังไง เพราะฉะนั้น Show me your work. อะไรคืองานที่คุณทำ เอามาให้ดูหน่อย”
พี่ต่อ บอกว่า การเรียนรู้ของตนเองขึ้นจากการลงมือทำจริง เมื่ออยากเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นไม้เขาก็ออกแดดปลูกต้นไม้ด้วยตัวเอง ผลจากการลงมือทำเหล่านั้น ทำให้ได้สัมผัสกับความปิติเกิดประสบการณ์เฉพาะตัวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงภายในให้ตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการทำงาน ที่เขาเปิดใจรับฟังการสะท้อนคิดของคนอื่นที่มีต่อตัวตนของเขามากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งขึ้นมากกว่าเดิม
“เมื่อก่อนคนที่ทำงานด้วย เขามักจะพูดกันว่าผมเป็นคนที่ด่วนตัดสิน ไม่ฟังคนอื่น” ก็ผมเป็นคนใจร้อน แต่พอมีคนเขามาบอก ผมก็พยายามใจเย็นลง จากที่เมื่อก่อนมีวิธีการสอนให้น้องๆ ทำงานดีๆ ด้วยการดุและขู่เขา จนเขาลือกันว่าผมเป็นผู้กำกับที่ดุมาก แต่เดี๋ยวนี้ผมเปลี่ยนมาลองใช้วิธีการให้กำลังใจและการหาข้อดีของเขา แต่การขู่ก็ยังมีอยู่บ้าง ถ้าจำเป็น มันต้องผสมผสานกัน ผู้กำกับโฆษณาชื่อดังกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของเขาที่ชัดเจนที่สุด
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา พี่ต่อ-ธนญชัย ให้ความสำคัญกับการลงมือทำเพื่อหาความรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองรวมถึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมที่ใหญ่ขึ้นด้วย หลายปีมานี้ เขาลงมือทำภารกิจทั้งหมดนี้พร้อมกันในครั้งเดียวด้วยการลงมือปลูกป่า
พี่ต่อ บอกว่า “ป่านี่มันเป็นได้หลายอย่าง เป็นทั้งโรงพยาบาล เป็นสวนสนุก เป็นโรงเรียน เราต้องมีฐานที่มั่นของเราเหมือนในยุทธศาสตร์ทางการทหารที่ต้องมีฐานที่มั่น ผมคิดเรื่องนี้แบบจริงจังคิดแบบเข้มข้นมากๆ จนได้ข้อสรุปว่าผมมีภารกิจในการทำหนังโฆษณาให้ดี ให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นมากที่สุด แล้วจึงเอาเงินที่ได้จากการทำหนังโฆษณามาปลูกป่า นี่คือภารกิจเดียวในชีวิตผม ผมจะไม่วอกแวก มีโฟกัสที่ชัดเจน เป็นภารกิจที่ผมทำแล้วมีความสุขมาก” นักตั้งคำถามตอบถึงสิ่งที่เขาได้คำตอบชัดเจนแล้วในชีวิต
บทสรุป
“การรู้อะไรที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นน่ะ รู้ไปเถอะ แต่บางเรื่องรู้เยอะแล้วชีวิตเป็นทุกข์ ก็ไม่ต้องไปรู้มันหรอก”
เรื่องราวของ พี่ต่อ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ เพราะทุกย่างก้าวของชีวิต การลงมือทำ พร้อมๆ กับการเรียนรู้ และ ชีวิตคือการตั้งคำถาม ทั้งหมดก็คือ วิธีการที่ทำให้เราได้ความรู้อย่างแท้จริง
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ พี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล หรือ “ดีเจพี่อ้อย” ความลำบากและอุปสรรค ก็เป็นครูที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อเราผ่านมันไปได้ เราก็จะมีการเติบโตต่อไปได้
พี่นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล การคิดบวก คือหัวใจสำคัญสำหรับทุกๆ ภารกิจของชีวิต และทุกๆ ปัญหาคือโอกาส
ครูไอซ์ – ดำเกิง มุ่งธัญญา Mindset ที่ดี สามารถช่วยให้เรา ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตได้