ชีวิตที่ยั่งยืน คืออะไร? “ยั่งยืน” คำยอดฮิตขององค์กรยุคนี้ เมื่อนำมาใช้กับชีวิตของคนทำงานมนุษย์เงินเดือนแล้ว “ชีวิตที่ยั่งยืน” มีอยู่จริงหรือไม่? และชวนคุยต่อถึงเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอ แต่กลับหาที่พูดคุยกันได้ยาก หรือไม่ก็กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร หาคำตอบได้กับแขกรับเชิญทั้งสองท่าน คุณธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมผู้บำเพ็ญประโยน์แห่งประเทศไทย และคุณวรรณา จารุสมบูรณ์ จาก Peaceful death
อยู่ดีอย่างไร เพื่อไปดี
ในบทความนี้อยากจะมาชวนคุยเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเราทุกคน แต่กลับพูดคุยกันได้ยากหรือกลายเป็นเรื่องต้องห้ามเสียอย่างนั้นใช่แล้วค่ะ เรากำลังชวนคุยกันเรื่อง “ความตาย” ไม่ใช่เพื่อจะหมดอาลัยตายอยาก แต่เพื่อเพิ่ม “พลังชีวิต” ให้แก่กันในวันที่เหนื่อยล้าเพราะบ่อยครั้งที่พบว่า หากชวนคุยด้วยความเข้าใจ ทุกครั้งที่คุยกันเรื่องนี้ จะเพิ่ม “พลัง” ให้ทุกชีวิตในวงสนทนาเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าลมหายใจที่ยังมีอยู่ในวันนี้ มีค่าแค่ไหนและแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งล้อมวงคุยกัน ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มพลังเช่นนั้นให้กับทุกคนที่ได้อ่าน
เพราะ ชีวิตที่ยั่งยืน ไม่มีอยู่จริง จึงต้องทำวันนี้ให้ดี
เมื่อพูดถึง วันที่ต้องตายจากไป อาจดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ต้องเกิดขึ้นกับคนทุกคน เพราะคำว่า”ยั่งยืน” ซึ่งวันนี้เป็นคำยอดฮิตขององค์กร อาจใช้ไม่ได้กับ “ชีวิต” ของคนเรา คุณปุ๋ย หรือคุณธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมผู้บำเพ็ญประโยน์แห่งประเทศไทย ได้ช่วยขยายความให้ว่า หากจะมาดูกันในแง่ของชีวิต ก็จะพบว่า “ความยั่งยืนไม่มีอยู่จริง” เพราะจริงๆ เท่าที่ทำกันได้ ก็เป็นเพียงแค่การทำให้ ”ยาว” ออกไป หรือยืดเวลาออกไป ที่มีส่วนทำให้จิตใจดีขึ้นด้วย หรือง่ายๆ ก็คือ ยืดเวลาความสุขให้ยาวออกไปกว่าเดิม เพราะอะไรหรือ ก็เพราะชีวิตคือความไม่แน่นนอน ดังนั้น เมื่อยังไม่ตายก็ควรจะได้มีโอกาสเตรียมตัวก่อนตาย และดูแลให้ชีวิตทุกวันเป็นชีวิตที่ดี
อยู่อย่างดีวันนี้ มีโอกาสไปดีในวันหน้า
ก่อนที่เราจะเจ็บป่วย หรือถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกคนควรได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือวางแผนการใช้ชีวิตให้เป็นชีวิตที่ดีในทุกวัน เพราะการมีชีวิตที่ดี ก็ทำให้เราได้มีโอกาสได้ตายดีด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งในคำอธิบายของคุณสุ้ย หรือ คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ จาก Peaceful death หรือชุมชนกรุณาเพื่อการตายดี ที่ทำงานรณรงค์ให้ คนในสังคมตระหนักถึงชีวิตและความตาย เพราะเห็นว่าคงจะดีไม่น้อย ถ้าทุกคนได้เตรียมตัววางแผน หรือทำอะไรบางอย่างก่อนการพรากจากจะมาถึง เพื่อให้ไม่ต้องติดค้างอะไร กับใคร และเมื่อจะต้องตาย ก็จะจากไปด้วยดี
หนึ่งในนั้น ก็คือ การกลับมาดูแล และกรุณากับชีวิตในปัจจุบันของเรา และตระหนักรู้ว่าก่อนจะถึงวาระนั้น เวลาที่เหลือวันนี้มีค่ามาก และถ้าจะจากกัน ก็จากกันไปด้วยความสบายใจ การเตรียมตัวก่อนตาย ยังจะทำให้เราเห็นคุณค่าและมอบความกรุณาแก่คนใกล้ตัว ครอบครัว คนที่เรารัก และสิ่งต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม
มองให้เห็น “ดี” ในตัวเรา จุดเริ่มของการเพิ่มพลังชีวิต
เมื่อเริ่มต้นคิดที่จะดูแลชีวิตให้ดี ก็ให้เริ่มที่การดูแลพื้นฐานทางกายให้แข็งแรงก่อน ควบคู่ไปกับดูแลจิตใจให้ดีขึ้นมีความสุขขึ้น เรื่องแรกๆ ที่ทำได้เลย นั่นก็คือ ยอมรับในตัวตนของตนเองก่อน ทำอย่างไรที่จะทำให้ภูมิใจในตนเองแม้จะมีทุนมาน้อย แม้จะไม่มีหรือไม่ดีเท่าคนอื่น ก็ให้รู้ว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ หากว่าเราเห็น”ดี” ในตัวเอง ก็เป็นการสร้าง “ศรัทธา” ให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ จากนั้นก็ให้พยายามจับคู่ “ศรัทธา” กับ “ปัญญา” เพื่อเป็นการสร้างสมดุล
อีกคู่ที่สำคัญ คือ “ความเพียร” และ “สมาธิ” ให้ฝึกเรื่องสมาธิ เพื่อนำสมาธิมาใช้กับหน้างาน ให้เกิดความจดจ่อ และควรรู้ว่าถ้าจะให้ประสบความสำเร็จหรือให้ได้ผลที่ดีกว่า ก็ต้องมีความเพียรเข้ามาประกอบ และสุดท้าย คือตัวกลางที่ยึดโยงทั้งหมดเข้าด้วยกันนั่นคือ “สติ ทั้งหมดนี้ คือ พละ 5 อันเป็นพลังจากภายในตัวเราเอง เกิดขึ้นกับเราได้เอง ถือเป็นศักยภาพของแต่ละบุคคลที่ฝึกกันได้ และนี่แหละคือพลังชีวิตของเรา
ลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ ตั้งแต่วันนี้
ความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิต เริ่มต้นได้ด้วย การทบทวนชีวิตของตนเอง ว่ามีเป้าหมายปลายทางอะไร และเราอยู่ตรงไหนของเส้นทางแล้ว และหากว่ามีอะไรมากระทบระหว่างทาง จะทำอย่างไร เช่น หากต้องเจ็บป่วยขึ้นมาวันนี้ เราพร้อมแค่ไหน การทบทวนนี้จะทำให้รู้ว่า ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้เสมอไป ไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิต ยิ่งกว่านั้น บางคนอาจพบข้อจำกัดที่คาดไม่ถึง เมื่อต้องเจ็บป่วยร้ายแรง
ถัดมา ก็คือ การโฟกัสในสิ่งที่ควรทำในชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้ โดยอาจตั้งโจทย์ว่าถ้าต้องเสียชีวิตในเวลาไม่นานนี้ จะเลือกใช้เวลากับอะไร หลายคนได้คำตอบว่าอยากอยู่กับคนในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา แม้ให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่เคยได้ใช้เวลาด้วยกันเท่าที่ควร และเมื่อไม่มีใครรู้ว่า วันที่ต้องจากไปจะมาถึงเมื่อไหร่ การอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ควรทำในวันนี้เลย
วางแผนวันจากไป ให้เหมือนวันเดินทางไกล
หากจะชวนคิดไปข้างหน้ากว่านี้ ให้เปรียบเหมือนว่าเราจะไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเราต้องวางแผนมาก แต่เมื่อเราต้องยอมรับกับความตาย อาจไม่เคยวางแผนล่วงหน้าเลย เช่น หากเราเจ็บป่วยร้ายแรง เราอยากให้คนใกล้ชิดดูแลอย่างไร หรือเราได้เตรียมหรือจัดการอะไรไว้ล่วงหน้าแก่ผู้อื่นบ้างหรือไม่ หรือหากถึงวันนั้นจริงๆ เราจะให้ทีมสุขภาพดูแลอย่างไร? จะยื้อชีวิตหรือไม่? หรือแม้กระทั่งงานศพของเราจะจัดแบบไหน
ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะชีวิตไม่แน่นอน การเตรียมตัวในระดับ worst case scenario ในวันนี้ จะช่วยให้เราวางแผนยาวออกไป จนถึงวันสุดท้ายได้ อย่างน้อยที่สุด ก็ทำใจได้ง่ายขึ้นและรับมือได้ดีขึ้น เมื่อวันนั้นมาถึง ทั้งคนอยู่และคนไป
ชีวิตกับงานและความสุข เป็นเรื่องเดียวกัน
คุณธัยพร และคุณวรรณา แลกเปลี่ยนว่า ทุกวันนี้คำว่า work life balance เอาท์ไปแล้ว เพราะผู้คนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นว่า หากจะหาความสุขก็ไม่ควรต้องแยกออกไปหานอกที่ทำงาน หรือนอกเหนือไปจากการงาน จึงเป็นที่มาของคำที่ใหม่กว่า คือ work life integration ที่หมายถึง ชีวิตกับงานและความสุข เป็นเรื่องเดียวกัน
โดยเฉพาะ ช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้เราต่างรู้ความต้องการของตนเองมากขึ้น บางคนได้ค้นพบว่าอยู่บ้านก็ทำงานได้ บางคนมองหางานที่หลากหลายขึ้น เพื่อรายได้ที่มากขึ้น และทำให้มีความสุขยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีหลายคนที่อยู่ในช่วง sandwich generation ที่ต้องบาลานซ์ระหว่างการงานกับการดูแลครอบครัว ถ้าองค์กรสร้างโอกาสให้คนทำงานได้พูดคุยกันในเรื่องชีวิตจิตใจ ได้แชร์ความทุกข์ แชร์ความเห็นอกเห็นใจต่อกัน และอาจช่วยให้ทักษะหรือเครื่องมือไว้ดูแลพ่อแม่หรือผู้คนในชีวิตของเขาด้วย ก็จะทำให้ที่ทำงานเป็น Happy workplace เป็นที่ที่คนได้ดูแลกัน และทำให้ชีวิตกับการงาน และความสุข เป็นเรื่องเดียวกันได้ โดยไม่ต้องไปหาจากที่อื่น
รับรู้ปัจจุบัน เพื่อดูแลตัวเองและคนอื่น
วันนี้ เรายังมีลมหายใจ ยังได้อยู่กับคนที่รัก แม้จะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการบ้าง ไม่ต้องการบ้าง แต่ก็ยังเรียกว่า ได้มีชีวิตอยู่ หากว่าทะเลาะหรือขัดแย้งกับใคร ให้ลองคิดดูว่า ถ้าว่าต้องจากกันในวันพรุ่งนี้ จะรู้สึกอย่างไร เราอาจถือสากันน้อยลง และให้อภัยกันได้ง่ายขึ้น
ในเมื่อไม่มีใครรู้อนาคต จึงมี “ปัจจุบัน” เท่านั้น ที่เป็นช่วงเวลาดียวที่เราเลือกได้ การรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้บอกตัวเองบ่อยๆว่าเราควรรักและให้เกียรติตัวเอง ดูแลกายดูแลใจตัวเอง เพราะการดูแลตนเองให้อยู่ดีก็เท่ากับเป็นการดูแลคนอื่นด้วย และที่สำคัญ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัว “ไป” อย่างดี ในวันที่เราต้องเดินทางไกล
#ความสุขกำลังเติบโต #สสส #LifeTalk #HappyGrowth #ถอดรหัสความสุขคนทำงาน
สามารถเสามารถเลือกรับชมรายการ ในรูปแบบของ YouTube ได้ที่: LIFE TALK HAPPY GROWTH : อยู่ยั่งยืน อยู่ดี ไปดี PEACEFUL DEATH
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
บทความแนะนำ:
Self-empathy in action – ความสุขเริ่มต้นที่การรักตัวเอง