
ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน กลายเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นที่สำคัญ ที่เราจะมองข้ามเหมือนในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการสร้างความยั่งยืนเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราในอนาคต
ถ้าถามว่า”ชีวิตในฝัน”เป็นอย่างไร? การมีความเป็นอยู่ที่ดี ในชุมชนหรือเมืองที่น่าอยู่ คงจะเป็นคำตอบที่ได้ในลำดับต้นๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติเช่นกัน นั่นก็คือ SDG 11 – Sustainable Cities & Community
แอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 กูรู ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นั่นก็คือ
- คุณอุทัยวรรณ อนุชิตานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารความเป็นเลิศและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
- ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
- คุณจุฤทธิ์ กังวานภูมิ Urban Designer และผู้จัดการโครงการกลุ่มปั้นเมือง
โดยทั้งสามท่านจะมาอัพเดทสถานการณ์ของเรื่องนี้ พร้อมกับค้นหาคำตอบไปด้วยกันว่า ชีวิตดีในเมืองและ ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน ภาพแห่งความฝันหรือสามารถเป็นไปได้จริง
4 คุณภาพ เมืองในฝัน: ครอบคลุม-ปลอดภัย-มีภูมิคุ้มกัน-ยั่งยืน
เราต้องมาเริ่มต้นพูดคุยกันถึงความหมายของเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นเสียก่อน ซึ่ง ดร.พิสุทธิ์ ให้ความกระจ่างว่า SDG 11 ตามความหมายของสหประชาชาตินั้น มี 3 keywords สำคัญ ได้แก่
- เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ที่เหมาะสมและยั่งยืน
- นวัตกรรม การบริหารจัดการ เพื่อต่อยอดจากรากฐานของเมืองหรือชุมชนให้มีความยั่งยืน
- คุณลักษณะของเมืองที่ยั่งยืนใน 4 มิติ คือ ครอบคลุม-ปลอดภัย-มีภูมิคุ้มกัน-ยั่งยืน
โดย ดร.พิสุทธิ์ ได้ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ปัจจุบันในแต่ละมิติว่า ถ้ามองเรื่องความครอบคลุม สังคมไทยยังมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก เรามีคอนโด ตึกระฟ้า แต่ก็ยังมีคนไร้บ้านหรือคนที่อยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งสถานการณ์โควิด ได้สะท้อนให้เห็นปัญหานี้ชัดเจน เมื่อการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) ไม่อาจทำได้ในชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้เห็นว่า เรื่องการตั้งถิ่นฐาน ความเป็นเมืองของบ้านเรา ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ

ส่วนเรื่องความปลอดภัย เมืองใหญ่ในประเทศไทยได้พัฒนาสิ่งนี้ได้ดีขึ้น เห็นได้จากการที่เรามี Road Safety, Building Code แต่ก็ยังมีคำถามในเรื่องภัยพิบัติ ว่าเรามีแผนการจัดการหรือจะรับมือได้มากน้อยเพียงใด ในมิติ ภูมิคุ้มกัน จะพบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเตรียมการ เพราะสถิติของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบจาก climate change ตอกย้ำว่า เราอาจจะมีภูมิต้านทานที่ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ สุดท้ายเรื่องความยั่งยืนที่มองใน 3 ด้าน คือ People Profit Planet เมื่อคนเมืองยังต้องผจญกับฝุ่น PM2.5 ก็ถือว่าได้ว่า ยังไม่ยั่งยืน
ร่วมฝันถึง ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน ด้วย Imagining Better Futures for All กับเซ็นทรัลพัฒนา
เมื่อพูดถึงเรื่องของความยั่งยืน คุณอุทัยวรรณ ผู้บริหารเซ็นทรัลพัฒนา ผู้นำด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกและมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่อยู่คู่สังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี สะท้อนให้เราเห็นว่า ทุกวันนี้ “ความยั่งยืน” เป็นเทรนด์ที่ทุกธุรกิจหันมาสนใจ เพราะเมื่อทำเรื่องการพัฒนา ต้องควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบ ทั้งในเชิงสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยีและความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น โดยความสำเร็จของเซ็นทรัลพัฒนาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วงแรกเซ็นทรัลพัฒนา ได้ยึดถือเรื่องบรรษัทภิบาลเป็นหลัก และพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ DJSI (ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เรานำหลักการความยั่งยืนผนวกเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ ด้วยการมุ่งมั่นสร้าง “Center of Life” หรือ “ศูนย์กลางการใช้ชีวิต” ที่ดีที่สุดในทุกจังหวัดที่มีศูนย์ฯ ตั้งอยู่
โดยทางเซ็นทรัลพัฒนา จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ช่วยพัฒนาและยกระดับศักยภาพ ความเจริญ และความสะดวกเพื่อประโยชน์ของชุมชนโดยรอบ ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรที่ชัดเจนภายใต้คอนเซ็ปต์ “Imagining Better Futures for All: มุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับ SDGs 11 ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับประเทศ และส่งผลไปถึงระดับโลกด้วย
เดินหน้าสานต่อภารกิจด้านการ ‘พัฒนา’ ที่ยั่งยืนเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
คุณอุทัยวรรณ เล่าให้เราฟังต่อว่า เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็มีความสำคัญไม่น้อยกับการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เซ็นทรัลพัฒนา จึงได้ริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Journey to Zero คือ ความพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้พลังงานทดแทน โดยตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อลดการใช้พลังงานจากไฟฟ้าในศูนย์การค้าในทุกศูนย์การค้า
ซึ่งตอนนี้มีความคืบหน้าไปมากกว่าครึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำรีไซเคิล ด้วยการนำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้บริเวณศูนย์ฯ และการจัดการขยะเพื่อส่งเสริม Circular Economy และ Upcycling เชิญชวนผู้ประกอบการในศูนย์การค้าและลูกค้ามาร่วมกันแยกขยะขวด PET และกล่องพลาสติกเพื่อนำไปแปรรูป และกำลังผลักดันเรื่องการสื่อสารกับชุมชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการแยกขยะ
ดร.พิสุทธิ์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ว่า ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้มีการขับเคลื่อน SDG 11 ในมิติสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยมี 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการ Sensor for All ที่บริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่การพัฒนาระบบรับส่งข้อมูล มี big data, data analytic, การคาดการณ์ที่ใช้ AI Prediction Model และนำข้อมูลมาพัฒนาเว็บบอร์ดและแอพพลิเคชั่น “Sensor for All” ต่อยอดเรื่องการศึกษา โดยโครงการนี้ใช้แนวคิด Collaboration & Co-creation ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน
ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ GISDA AIS TRUE CAT และ MICROSOFT อีกโครงการ คือ การผลักดันให้การเคหะแห่งชาติส่งเสริมเรื่อง SSC (Smart and Sustainable Community) โดยมีตัวชี้วัดให้เป็น Sustainable Community ซึ่งจะพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นและตัวชี้วัด 2 แกน ทั้งจากเจ้าหน้าที่การเคหะฯ ที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่และจากชุมชนที่อยู่ในพื้นที่จริง เช่น เคหะชุมชนบางโฉลง ที่มีการจัดการพื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ การใช้น้ำ การใช้พลังงาน
Engagement & Collaboration & Co-creation พัฒนาเมืองและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
แนวการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน และเน้นการมีส่วนร่วม สอดคล้องกับ คุณจุฤทธิ์ สถาปนิกจากกลุ่มปั้นเมืองที่หยิบยกประเด็นนี้ให้เห็นชัดเจนขึ้นจากความสนใจส่วนตัวและประสบการณ์การทำงานเรื่องการฟื้นฟูย่านเก่า โดยบอกว่าการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ต้องไม่ลืมชุมชนและวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยควรส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจร่วมกันเพื่อกำหนด
ทิศทางการพัฒนา เพราะเชื่อว่าการมีส่วนร่วม (Engage) โดยเฉพาะการมีฉันทามติด้วยกัน จะเป็นกุญแจหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน เพราะจะทำให้ชุมชนเข้าใจเรื่องที่ตนเกี่ยวข้อง สามารถแสดงความเห็น (Voice) และเชื่อมต่อกับภาคการปกครองท้องถิ่นหรือในระดับนโยบายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
คุณจุฤทธิ์ ยังได้แชร์ประสบการณ์การทำงานกับชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ อย่างต่อเนื่องประมาณ 9-10 ปี ซึ่งพบว่าคนทยอยย้ายออกจากย่านเก่า ที่กำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับอาคาร ระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม หรือคนรุ่นใหม่ที่อยากมีชีวิตที่มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นก็ย้ายไปนอกเมือง ส่งผลให้ความเป็นญาติในชุมชนลดลง ความเป็นเจ้าของก็ลดลง ในขณะที่ แหล่งงานยังอยู่ที่เดิม คนทำงานจึงต้องเดินทางกลับเข้าเมืองเหมือนเดิมและต้องเจอความเจ็บปวดในการเดินทาง ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ ความเป็นย่านที่กำลังเสื่อมถอย กับคนรุ่นใหม่ที่มีภาระและใช้เมืองในรูปแบบที่หลากหลาย
ย่านเก่า-เมืองใหม่ ความท้าทายของการอยู่ร่วมกัน
คุณจุฤทธิ์ ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า เขตสัมพันธวงศ์ เป็นเขตเล็กมากอยู่ติดริมแม่น้ำ เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เป็นย่านที่โตตลอดเวลา มีการใช้งานอย่างคุ้มค่า ทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยผู้คนและการจับจอง แต่กลับมีพื้นที่สีเขียวน้อยสุดในกรุงเทพ คือประมาณ 3% และประมาณ 31% ของคนที่อยู่ในย่านนี้เป็นผู้สูงอายุ

ความท้าทายใหม่ที่พบ คือ โครงสร้างเมืองเปลี่ยนไปด้วยระบบการขนส่งแบบรางที่เข้ามาในพื้นที่ ทำให้เชื่อมต่อกับเมืองได้ดีขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชนยังไม่ตื่นตัว เรื่องเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ของชุมชนในอนาคต ในปีแรกๆ ที่กลุ่มปั้นเมืองเข้าไปฟังชุมชน ให้ได้ข้อมูลมากที่สุด พบว่ามี 5 เรื่องที่คนในชุมชนสนใจและสามารถใช้เป็นประเด็นสร้างการมีส่วนร่วมได้ คือ เรื่องวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ทุกคนให้คุณค่าและพร้อมที่จะหันหน้าคุยกัน เช่น อาคารเก่าที่ถูกด้อยค่า จากการขาด know-how ทุน หรือแผนการจัดการ เรื่องทางกายภาพ หรือพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันในชุมชน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น การเรียกประชุมชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คนในพื้นมีความแข็งแรงขึ้นในการวิเคราะห์พื้นที่และสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
และสุดท้าย เรื่องความมั่นคงของการมีที่อยู่อาศัย เพราะส่วนใหญ่ คนในพื้นที่ไม่มีสัญชาติไทยและเป็นพื้นที่เช่า ถ้าเจ้าของที่ไม่ให้เช่า อาจหมายถึงการสูญสิ้นของชุมชน แม้ว่าจะเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยก็ส่งผลกระทบต่อการหายไปของ know-how การสืบทอดทางวัฒนธรรม หรือทักษะต่างๆ รวมทั้งแรงงานที่หายไป ซึ่งหมายถึง ต้นทุนแรงงานในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจจะแพงขึ้น คุณจุฤทธิ์ ชวนคิดต่อด้วยคำถามว่า ในกรณีนี้จะทำอย่างไรให้ย่านเก่ากับเมืองใหม่ สามารถปรับตัวอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ให้น้ำหนักเฉพาะมิติเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว เพียงอย่างเดียว
ก้าวสู่อนาคตร่วมกัน สานพลังสร้างชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน
การแลกเปลี่ยนพูดคุยที่มีทั้งความหวังและความท้าทายดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย เราทั้งหมดพูดคุยกันถึงทิศทางในอนาคตและความเป็นไปได้ที่จะสานพลังสร้างเมืองไปด้วยกัน ดร.พิสุทธิ์ ย้ำความสำคัญว่า SDG ข้อ 11 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายว่าใน 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ
- แผนผังภูมินิเวศ คือ การพัฒนาตอบโจทย์ 4 มิติคุณภาพของเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงมาเป็นประเด็นที่
- มิติความสัมพันธ์ หรือ LEECD คือ L = Land used คือ จะใช้พื้นที่อย่างไรให้มีความเหมาะสม E = Ecology คือ การมีพื้นที่สีเขียว หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ E= Environment ขยะ น้ำเสีย มลพิษต่างๆ C= Culture คือ วัฒนธรรม เพราะเราไม่สามารถพัฒนาเมืองหรือชุมชนโดยไม่มีรากฐานวัฒนธรรม D= Disease โรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ ซึ่งตอบโจทย์สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น
คุณจุฤทธิ์ ให้มุมมองเรื่องชุมชนว่า ย่านในต่างจังหวัดจะเกิดขึ้นง่ายเพราะความสัมพันธ์ใกล้ชิดของคนในชุมชน ในขณะที่พื้นที่เมือง ความสนใจเรื่องชุมชนจะลดลง เพราะไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตน แต่ถ้าพิจารณาแล้ว ในที่สุดจะเห็นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง เช่น เรื่องความสะอาด เรื่องขยะ ก็ส่งผลต่อสุขภาพ การเล่าเรื่องประวัติชุมชน ก็ทำให้รู้จักชุมชนมากขึ้น หรือการปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น ก็เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัย และเชื่อว่าทุกคนมีเรื่องราวในใจอยู่ แต่รอให้คนมาเปิดประเด็น แล้วแสดงความคิดเห็น สิ่งที่เริ่มต้นได้ในการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน จึงเริ่มจากการชวนให้เห็นประเด็นเล็กๆใกล้ตัว แล้วขยับไปเรื่องใหญ่ โดยใช้เสียงของคนในชุมชนมาตั้งเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วจึงเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่างๆ
คุณอุทัยวรรณ แสดงความเห็นส่งท้ายว่า เซ็นทรัลพัฒนา พร้อมจับมือทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระดับมหภาค โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เริ่มจากตัวเราและพันธมิตร สู่การสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร พัฒนาให้ควบคู่ไปกับความทันสมัย (Modernization) ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ Local Essence ดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ด้วย
….
รายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change”
ตอน “สานพลังสร้างเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน”
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ติดตามชมรายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change” Facebook
ได้ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ หรือ Facebook Global Compact Network Thailand และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical