นายจ้างบังคับให้ไปฉีดวัคซีนโควิด19 โดยมีการบังคับพนักงานทุกคน และมีการพูดขู่ว่า “หากใครไม่ยอมฉีด ก็อาจจะถูกเลิกจ้างได้” เรื่องแบบนี้ นายจ้างสามารถไล่พนักงานออกได้ไหม?
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถูกสอบถามเข้ามามากเช่นกัน จากสถานการณ์ในปัจจุบัน จำนวนของผู้ติดเชื้อ ก็มีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ และ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หรือ จะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปรกติในเดือนสองเดือนนี้ได้อย่างแน่นอน เว้นเสียแต่ว่า จำนวนของประชากร (ทั้งคนไทย และ คนต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย) ได้รับการฉีดวัคซีนกันอย่างน้อง 60-70% ขึ้นไป
ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นวงกว้าง ทำให้หลายธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิดนี้ด้วยกันทั้งนั้น เรื่องการฉีดวัคซีน จึงกลายเป็นสิ่งที่ หลายๆ บริษัทต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่าธุรกิจจะได้สามารถเปิดทำการและทำธุรกรรมต่อไปได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่มี บริษัท หรือ องค์กร หลายแห่ง ออกมาขอความร่วมมือกับพนักงานทุกคนในการฉีดวัคซีน เพื่อที่ทุกคนจะได้มีภูมิคุ้มกัน และ บริษัท และ องค์กร ก็จะได้ดำเนินกิจการต่อไปได้
คำถามที่ว่า ถ้าพนักงานไม่ยอมฉีดวัคซีน จะถูกไล่ออกได้ไหม?
ประเด็นนี้ ดูเหมือนว่า นายจ้างต้องการบังคับให้ลูกจ้าง หรือ พนักงานทุกคนฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโควิด 19 หากมองด้วยความเป็นกลาง ก็อาจจะแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้าง แต่หากลูกจ้าง เขาไม่อยากฉีดวัคซีน ต้องถึงกับไล่เขาออกเลยเหรอ? มันเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไปหรือไม่?
“นายจ้างบังคับให้ไปฉีดวัคซีนโควิด19 ถือเป็นการบีบบังคับ โดยไม่มีทางเลือกให้ลูกจ้าง หรือ พนักงาน”
อ้างอิงตามกฏหมาย: ถ้าการบังคับฉีดวัคซีนของนายจ้าง หมายถึง การใช้กำลังบังคับ โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม อันนี้ก็คงทำไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายกำหนดให้นายจ้างทำได้ และ หากทำไปก็ผิดกฎหมายอาญา และเป็นการละเมิดสิทธิลูกจ้างอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายให้เขา
เรื่องของการฉีดวัคซีน ณ ตอนนี้ (ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564) ก็ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนคนไทย รวมถึงคนต่างชาติที่ทำงานในประเทศของเรา ว่าเขาจะเลือกที่จะฉีด หรือ ไม่ฉีดก็ได้ ดังนั้น การที่จายจ้าง หยิบยกเรื่องกฏหมาย มาอ้างว่า พนักงานทุกคนต้องฉีด มิฉะนั้นจะมีความผิด เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“ต้องให้ลูกจ้างมีทางเลือก ในเรื่องของการฉีดวัคซีน”
เพราะบางคนที่เขาไม่ฉีด ก็จะต้องพิจาณาเหตุผลของลูกจ้างคนนั้นๆ ประกอบด้วย เช่น เหตุผลทางด้านสุขภาพ โรคประจำตัว ค่าใช้จ่ายในการฉีด หรือเหตุอื่นๆ ที่ปฏิเสธในการฉีดวัคซีน เป็นต้น
แล้วเหตุผลใดบ้าง ที่ลูกจ้างอาจจะจำเป็นต้องฉีดวัคซีน?
กรณีของมีการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ สถานประกอบการ หรือ สถานที่ใกล้เคียง นายจ้างก็มีเหตุผลอันสมควรที่จะสั่งให้ลูกจ้างในโรงงานหรือบริษัทไปฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกจ้างป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดได้
คำสั่งเหล่านี้ ย่อมชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เหตุผลอันสมควรนี้ ก็อาจจะต้องพิจารณาในหลายๆ ด้าน เช่น มีการระบาดและติดเชื้อในที่ทำงานมาแล้ว ประเภทของกิจการ ตำแหน่งหน้าที่ลักษะงานของลูกจ้างแต่ละคน กับความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือ ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือแพทย์ เป็นต้น
“ถ้าลูกจ้างไม่ไปฉีดวัคซีน ในกรณีนี้ ผลจะเป็นอย่างไร?”
ถ้าคำสั่งที่ให้ลูกจ้างไปฉีดวัคซีน เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมกับลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตาม นายจ้างก็อาจจะปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงาน หรือ อาจจะลงโทษทางวินัย ด้วยการ ออกหนังสือเตือน พักงาน 7 วันไม่จ่ายค่าจ้าง ก็ได้ หรือ อาจจะเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชย หรือเงินอื่นตามสิทธิให้เขาไปก็ทำได้
แต่ก็มีบางบริษัท ขู่ว่า หากไม่ฉีดวัคซีน ก็จะถูกเลิกจ้างโดยจะไม่ได้ค่าชดเชย?
กรณีของการเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ด้วยการนำประเด็นในเรื่องการที่พนักงานบางคน ไม่ไปฉีดวัคซีนโควิด19 ถือว่า ผิด
เพราะ กรณีนี้ พนักงานมีสิทธิ ที่จะเลือกว่าจะฉีด หรือ ไม่ฉีด ก็ได้ โดยหากพนักงานมีการให้เหตุผลอันสมควร เขาย่อมมีสิทธิที่จะเลือกได้ ดังนั้นการเลิกจ้างในกรณีนี้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง
ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 20ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน
ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย หรือ ค่าบอกกล่าล่วงหน้า ก็เข้าข่ายเป็น “การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม”
แต่ถ้าบริษัทจะเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเลย ก็ต้องพิจารณาว่าการกระทำของลูกจ้างไม่ทำตามคำสั่งระเบียบที่ให้ไปฉีดวัคซีน เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีร้ายแรง หรือไม่
อ้างอิง ตาม มาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้นหาใช่คุ้มครองสิทธิ์เฉพาะแต่ลูกจ้างเท่านั้น แต่ยังดูแลไปถึงนายจ้างอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรงจากการกระทำอันจงใจของลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นแกล้งทำงานไม่เสร็จตามกำหนด หรือ การขโมยทรัพย์สินของนายจ้าง หรือแม้แต่การทำร้ายนายจ้าง
- ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง
- จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและ
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้ หากลูกจ้างกระทำผิดตามเหตุที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อนายจ้างเลิกจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง แต่ต้องระบุเหตุแห่งการกระทำความผิดไว้ในหนังสือเลิกจ้างด้วย
ซึ่งในกรณีของการไม่ทำตามคำสั่งระเบียบที่ให้ไปฉีดวัคซีน เป็นการกระทำผิด ตามมาตรา 119 ข้อ 4 ซึ่งนายจ้างมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยได้
บทสรุป
พนักงาน มีสิทธิที่จะเลือกได้ ว่าจะฉีด หรือ ไม่ฉีด ก็ได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า มีคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ไปฉีดวัคซีน พนักงานก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม (ยกเว้นเสียแต่ว่า จะมีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ฉีด)
สำหรับการเลิกจ้าง ถ้าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ไม่เข้าข่ายความผิดในข้อใดเลย อ้างอิงตาม มาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าเข้ากรณีร้ายแรงก็ไม่ต้องจ่าย โดยการเลิกจ้างต้องระบุเหตุให้ลูกจ้างทราบขณะเลิกจ้างด้วยตามม.119 วรรคท้าย ด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้มองด้านบวกของการที่นายจ้างมีการจัดหาวัคซีนมาให้เราด้วย เพราะการได้รับการฉีดวัคซีน ถือเป็นหนทางรอด ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่รวมไปถึงองค์กร และ ประเทศของเราด้วย
การที่เรายิ่งได้รับการฉีดวัคซีน ได้เร็ว และ จำนวนคนที่ได้รับการฉีดเยอะๆ มากเท่าไร ก็จะส่งผลทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง อัตราการเสียชีวิตก็จะน้อยลงตามไปด้วย ความเชื่อมั่นในการลงทุน หรือ การท่องเทียวต่างประเทศก็จะกลับมา จะทำให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศ สามารถกลับมาดำเนินการและขับเคลื่อนต่อไปได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม และ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ลาออก จำเป็นไหมต้องบอกล่วงหน้า หากอยากออก จำเป็นไหม ต้องรอถึง 30 วัน?