นิสัยที่ไม่ดี หรือ ภาษาอังกฤษ Bad habit ของตัวเรา ก็เกิดจาก ผลพวงที่มาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีของเรา ที่เกิดจากการกระทำซ้ำๆ มาตั้งแต่ในอดีต จนกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีของเราในปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง นิสัยที่ไม่ดี เช่น กัดเล็บ กัดนิ้ว ม้วนผม กรอกตาไปมา แคะขี้มูก หลังงอ เป็นต้นพวกเราหลายคน ก็คงเจอกับคนนิสัยแบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นจากตัวเราเอง หรือจากคนรอบข้าง แต่พฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้ อาจจะดูเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบ อาการติดสุรา ติดบุหรี่ ติดการพนัน ติดยาเสพติด หรือ ยึดติดกับการมองโลกแง่ร้าย
นิสัยไม่ดีเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ตัวเราเองก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ทำไม เราถึงเลิกทำไม่ได้?
Bad Habit แปลว่า นิสัยไม่ดี หรือ พฤติกรรมแย่ๆที่เกิดขึ้นจากจิตใจ เมื่อใดก็ตาม ที่เราทำพฤติกรรมแย่ๆเหล่านี้บ่อยขึ้น จากทุกวัน (วันละหลายๆ รอบ) เป็นทุกสัปดาห์ (สัปดาห์ละหลายๆ ครั้ง)จนกระทั่งกลายเป็นทุกเดือน เราจะเกิดอาการเสพติดพฤติกรรมและการกระทำเหล่านี้ จนมันฝังลงไปกลายเป็น Bad habit หรือ นิสัยที่ไม่ดีของเราไปในที่สุด
ผลกระทบของเรื่องนิสัยไม่ดี
บางคนอาจจะมองว่า เรื่องการมีนิสัยไม่ดี ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่า ผลลัพธ์ของการมีนิสัยที่ไม่ดี ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมติดบุหรี่ หรือ สุรา
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เผยให้เห็นถึงอัตราการตายที่มีสาเหตุเกิดจากบุหรี่สูงถึง 5 ล้านคนต่อปี สุราเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก มากถึง 3.3 ล้านคนต่อปี เอาแค่ในบ้านเรา คนไทยเสียชีวิตจากสุราปีละกว่า 5 หมื่นคน
หรือ พฤติกรรมการเล่นมือถือ ระหว่างขับรถ จากผลวิจัยของ Cambridge Mobile Telematics (CMT) ซึ่งได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนนในสหรัฐฯ พบว่า มากกว่า 52% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด ล้วนมีสาเหตุมาจากผู้ขับขี่เสียสมาธิเพราะมัวแต่เล่นโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างผลลัพธ์ของการที่เรามีนิสัยไม่ดี หรือ Bad habit นั่นเอง
ทำไมการที่เราจะตั้งใจทำอะไรสักอย่าง โดยไม่มีอะไรแทรก จึงเป็นเรื่องที่ยาก?
เราลองนึกย้อนกลับไปสมัยที่เรายังเรียนอยู่ที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ทำไมระหว่างที่เราเรียน เราต้องเล่นโทรศัพท์ คุยกับเพื่อน มีการวางแผนนัดเพื่อนไปเตะบอลหลังเลิกเรียน หรือคิดว่าเลิกเรียนแล้วจะกินอะไรที่หน้าโรงเรียนดี ทั้งๆ ที่เราเองก็รู้ว่า หน้าที่ของเราในตอนนี้ คือตั้งใจเรียนและฟังครูสอนไปจนจบ
หรือ แม้กระทั่งในตอนที่เราทำงาน ระหว่างประชุม เราก็ยังแอบใช้มือถือ คุยกับเพื่อนทาง Line หรือ ค้นหาอาหารอร่อยๆ ที่จะต้องกินเป็นมื้อกลางวัน หรือ อาจจะกำลังดูเขารีวิวสินค้า ซึ่ง เราเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า พฤติกรรมแบบนี้ ไม่ควรทำ แต่ก็ยังอดไม่ได้ ที่จะทำ
และแน่นอน ในขณะที่เรากำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราก็อาจจะทำเรื่องอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยอยู่ก็ได้ ด้วยพฤติกรรมแบบนี้ คือ จุดเริ่มต้นของการสร้างและสะสม นิสัยที่ไม่ดี ของตัวเรา
เรื่องของ เค้กช็อกโกแลต
พวกเราเคยได้ยินเรื่องราวที่เกี่ยวกับเค้กช็อกโกแลตไหม?
Dr. Judson Brewer รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวช และการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แพทยศาสตร์ ซึ่งเขาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ศูนย์ฝึกสติ ใน TEDMED นี้เขาพูดถึง เรื่อง “วิทยาศาสตร์แห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง” และ การใช้สติเพื่อควบคุม Bad habit
Dr. Juddson Brewer เขาเล่าว่า ในตอนที่เราเห็นเค้กช็อกโกแลต จะมีเสียงเล็กๆดังขึ้นในหัวของเราว่า “อาหาร!” “กินมัน!” “เราต้องอยู่รอด” และ ความโชคดีก็คือ เค้กช็อกโกแลตเป็นอาหารที่มีน้ำตาล ดังนั้นเมื่อเรากินมันเข้าไป มันจะทำให้เรารู้สึกดีเมื่อได้ลิ้มรส และนี่คือสิ่งที่สมองจะจดจำเอาไว้ว่า
“เห็นเค้กช็อกโกแลต กินเค้กช็อกโกแลต รู้สึกดี ให้ทำอีกครั้ง”
แต่ความฉลาดของสมองมนุษย์ มันสามารถไปได้ไกลกว่านั้น หลังจากที่เรารู้สึกดี จากการกินเค้กช็อกโกแลต สมองก็ได้ประมวลผล และได้ผลลัพธ์ออกมาว่า
งั้นทุกครั้งที่เรารู้สึกแย่ “เราก็กินเค้กช็อกโกแลตสิ จะได้รู้สึกดี”
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ สมองไม่ได้จดจำแค่เค้กช็อกโกแลต
ถ้าสมองสร้างพฤติกรรมจนกลายเป็นนิสัยให้กับเรา เอาแค่เรื่องเค้กช็อกโกแลตก็คงจะดี แต่ในทางกลับกัน ย้อนกลับไปในตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย ในขณะที่เรากำลังนั่งเรียนสักวิชานึง เรามองออกไปนอกหน้าต่าง แล้วเห็นกลุ่มเด็กผู้ชายยืนสูบบุหรี่กัน ในสมองของเราดันมีเสียงตะโกนอยู่ในโสตประสาทว่า “เท่จัง”
หลังจากนั้นก็จะเกิดเป็นกระบวนการเหมือนกันกับกรณีของเค้กช็อกโกแลต ทำให้เรารู้สึกว่า “เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องเท่ การสูบบุหรี่เพื่อเท่ และต้องทำอีกครั้ง” เราเรียนรู้กระบวนการเหล่านี้จากการทำเพื่อให้ดูเท่ จนกลายเป็นนิสัย ซึ่งหลังจากนั้น ต่อให้เรื่องนี้มันจะไม่เท่แล้ว เราก็ยังคงทำอยู่ดี
และในความเป็นจริง สมองของเราไม่ได้จดจำ แค่ในเรื่องของเค้กช็อกโกแลต หรือ กับบุหรี่นิสัยที่ดี และไม่ดีของเรานั้น ล้วนเกิดจากการ “การชักจูง พฤติกรรมของเรา และการทำซ้ำ” จนในที่สุดก็กลายเป็นนิสัย
อยากให้เราลองนึกถึงนิสัยที่เกิดจากการชักจูง ไม่ว่าจะจากการพบเห็น พบปะ หรือพูดคุย กับเพื่อน หรือ ใครก้ตาม แล้วเราก็ทำ ทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยไปโดยไม่รู้ตัว เช่น อาจจะเป็นในเรื่องการนัดปาร์ตี้ สังสรรค์ดื่มอย่างหนักในวันศุกร์เพราะวันเสาร์ไม่ต้องไปทำงาน หรือ อาจจะเป็นการซื้อของอย่างบ้าคลั่งในวันเงินเดือนออก หรือ อาจจะเป็นการม้วนผม หรือ กัดเล็บในเวลาที่เราประหม่า ที่ต้องนำเสนองานสักงานให้หัวหน้าดู เป็นต้น
ไม่ได้บอกให้เลิก แต่บอกให้อยากรู้อยากเห็น
Dr. Juddson Brewer ได้ทำการศึกษาว่าการฝึกอบรมเชิงสติปัญญาสามารถช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้หรือไม่? เขาพบว่าการบอกให้เลิกสูบบุหรี่ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับการบอกให้สนใจแค่ลมหายใจเข้าและออกของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่ามันล้มเหลวและเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล
อย่างน้อยทุกคน ที่คิดอยากจะเลิกสูบบุหรี่ ก็ต้องเคยล้มเหลวจากการพยายามไม่สูบเลยมากกว่า 6 ครั้ง ดังนั้นเขาจึงไม่แนะนำให้เลิก แต่แนะนำให้สูบ “สูบเลย เอาเลย” นั่นคือคำพูดที่เขาพูดกับผู้เข้าร่วมโครงการของเขาเสมอ และเขาไม่ได้ใช้ท่าทางในเชิงประชดประชัน แต่เขาแนะนำให้ทุกคนสูบ แล้วจงอยากรู้อยากเห็น คิดว่าเป็นอย่างไรเมื่อได้สูบ รู้สึกอย่างไร ลิ้มรสอะไร ได้อะไรกลับมาขณะที่สูบ
“การสูบบุหรี่อย่างมีสติ บุหรี่กลิ่นเหมือนเนยแข็งเหม็นๆและรสชาติเหมือนสารเคมี แหวะ”
หนึ่งในผู้สูบบุหรี่ที่เข้าร่วมโครงการ พูดหลังจากเธอได้ลองสูบบุหรี่อย่างมีสติ และลองอยากรู้อยากเห็นขณะที่สูบ หลังจากเธอได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับบุหรี่ แรงชักจูงของเธอจึงเริ่มลดน้อยลง เธอค้นพบแรงชักจูงใหม่ที่ว่า “บุหรี่รสชาติเหมือนอึ” เมื่อเธออยากรู้อยากเห็นบ่อยขึ้น เธอเริ่มคิดแบบนี้บ่อยขึ้นขณะที่สูบ ความอยากสูบ ก็จะเริ่มหายไป จนกระทั่งวันหนึ่งเธอหมดความสนใจในตัวมันในที่สุด
“บุหรี่รสชาติเหมือนอึ ไม่อยากสูบ ทำซ้ำ กระบวนการใหม่ ก็จะถูกสร้างขึ้นมาแทนที่”
แต่ก็น่าเสียดาย ที่สมองส่วนนี้ออฟไลน์ตอนเราเครียด Prefrontal cortex เป็นสมองส่วนที่อายุน้อยที่สุด จะใช้ความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการของเราในการควบคุมพฤติกรรมต่างๆ แต่สิ่งที่แย่ที่สุด ก็คือความเครียด ซึ่งจะทำให้สมองส่วนนี้ออฟไลน์ หรือหยุดทำงานทันที แล้วเราก็จะกลับเข้าสู่กระบวนการของนิสัยเดิม ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะตวาดใส่บุตรหลาน คู่สมรส หรือหนีออกไปสูบบุหรี่เงียบๆคนเดียวในตอนที่เราเครียดและเหน็ดเหนื่อย แม้เราเองก็รู้ว่ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย แต่เราก็ยังคงยืนยันที่จะทำพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป
เราสามารถเปลี่ยนนิสัยไม่ดีเหล่านี้ได้ ด้วยการอยากรู้อยากเห็น
การอยากรู้อยากเห็น ในขณะที่เรากำลังทำ นิสัยไม่ดี หรือ Bad habit เป็นเพียงการเพ่งความสนใจและหลอกให้สมองได้ขบคิดถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ตัวเราจะได้จากการกระทำพฤติกรรมเหล่านั้น
เมื่อเรานึกอยากรู้และสงสัยทุกวัน เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เรายังหยุดทำไม่ได้ เราจะค้นพบว่าเราไม่ได้หาทางที่จะหยุดทำ และเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาทางกำจัดความอยากทำเหล่านั้น แต่เราจะเกิดความพอใจที่จะอยากไปทำอย่างอื่นแทน โดยมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นตัวสนับสนุนความคิดตรงนี้
Dr. Juddson Brewer เขาบอกว่า เมื่อเราอยากรู้อยากเห็นจนแรงชักจูงเดิมเริ่มลดน้อยลงไป เราจะเริ่มมีความสนใจในการหาสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนในพฤติกรรมเดิม เราจะกระหายใคร่รู้ผลลัพธ์ใหม่ๆ จากพฤติกรรมใหม่ๆ
เช่น หากเราสูบบุหรี่วันละซอง ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือฟันเราจะเหลือง และมีอาการไอแห้งๆ อยู่บ่อยๆ หลังจากนั้น เราก็มีความอยากรู้และสนใจในผลลัพธ์ที่เราได้ จึงเริ่มต้นการทดลองด้วยการสูบบุหรี่แค่วันละครึ่งซอง และเห็นว่า ผลลัพธ์ที่ได้มันเกิดความแตกต่าง
เรื่องของความอยากรู้ จะยิ่งสนับสนุนให้เกิดการทดลอง ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ไปเรื่อยๆ การทดลองครั้งต่อไป อาจจะทำให้เราค้นพบว่าการขว้างซองบุหรี่ทิ้ง แล้วไปหาชาเขียวร้อนๆ ดื่มสักแก้ว คงจะดีกว่าผลลัพธ์แบบเดิมๆที่ผ่านมาก็ได้
“ให้ความอยากรู้อยากเห็น เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดีของตัวเรา และ สร้างพฤติกรรมใหม่ที่ดีกว่ามาทดแทน”
บทสรุป
ขึ้นชื่อว่า นิสัยไม่ดี หรือ Bad habit ก็คงไม่ได้ส่งผลดีกับตัวเราอย่างแน่นอน ไม่สำคัญว่า Bad habit ของเราจะเป็นนิสัยประเภทไหน แต่สำคัญที่ว่าเราได้เรียนรู้ อยากรู้อยากเห็นในขณะที่เราได้ทำมันหรือเปล่า?
หากเราได้รู้ซึ้งถึงผลเสียของพฤติกรรมดังกล่าว เราก็จะเข้าใจถึงผลกระทบในเชิงลบที่เกิดกับเรา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเครียด สุขภาพ ความรัก หรือ เรื่องของการทำงาน สิ่งเหล่านี้ จะก่อเกิดคำถามที่สำคัญกับตัวเราเอง นั่นก็คือ เรายังจะคงยอมทำ นิสัยไม่ดี หรือ Bad habit ต่อไปอีกไหม? และ เราพร้อมที่จะก้าวออกมาจากนิสัยเหล่านี้ได้หรือยัง?
“วันนี้ เรารู้ตัวบ้างไหม? ว่าเราได้ทำนิสัยไม่ดี อะไรออกไปบ้าง?”
ขอขอบคุณข้อมูลและเรื่องราวจาก: TEDMED – A simple way to break a bad habit