บทบาทของผู้นำยุคใหม่ ต้องดูแลและใส่ใจคนทำงาน คนทำงานในปัจจุบันล้วนมีปัญหาที่รอให้แก้ไขโดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ ภายใต้การปรับตัวสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดร. จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร รองผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณเพ็ญนภา เสน่ห์ลักษณา regional sale manager บริษัท เวอร์เวียร์ ประเทศไทย จำกัด จะมาชวนคุยเรื่องของ บทบาทของผู้นำยุคใหม่ ที่ต้องเร่งเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลจิตใจของคนทำงาน
เริ่มที่ความรู้สึกของเรา สู่การฟังความรู้สึกของเขา
เพราะยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จนบางครั้งคนทำงานก็ปรับตัวไม่ทัน ผู้นำจะมีบทบาทอย่างไรเพื่อช่วยให้พนักงานของตนตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ คุณเพ็ญนภา เสน่ห์ลักษณา regional sale manager บริษัท เวอร์เวียร์ ประเทศไทย จำกัด มองเห็นว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปรับเงื่อนไขภายในองค์กรมากมาย ทั้งการบริหาร ระบบการทำงงาน รวมทั้งปัจจัยจากภายนอก เช่น ความต้องการของลูกค้า ระเบียบนโยบายจากรัฐบาล ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบไปถึงเรื่องของส่วนตัวของพนักงาน ตั้งแต่การเดินทาง ลักษณะการทำงาน หรือการใช้เทคโนโลยีที่มีบทบาทมากขึ้น หากคนทำงานจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาหรือภาระ ต้องเริ่มต้นด้วยการถามถึงความรู้สึกของตัวเราเองก่อนว่ารู้สึกอย่างไร ถ้าพบว่าอึดอัด คับข้องใจ ให้ค่อยๆ ดูความรู้สึกเหล่านั้นก่อน มองให้ เห็นเป็นปกติก่อน เพื่อเพิ่มความเข้าใจในตัวเองและต่อเนื่องไปถึงความเข้าใจผู้อื่น คือ ให้รู้จักหยุดฟังความรู้สึกตัวเอง และใช้ “การฟัง” ของเราดูแลจิตใจของคนรอบข้างด้วย
สื่อสาร เพื่อทอนอารมณ์ลง
ดร. จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร รองผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้วิธีการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ช่วงแรกๆ บางคนช็อคกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บางคนรู้สึกว่าทุกอย่างช่างท่วมท้นจนไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องของการจัดการจิตใจ จะยิ่งจัดการทุกอย่างได้ยาก นำไปสู่ความวิตกกังวล หรือเสี่ยงซึมเศร้า ซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สะท้อนว่าผู้คนไม่สามารถจัดการจิตใจหรืออารมณ์ของตน
ในปัจจุบันเราใช้เวลากับการทำงานในสัดส่วนที่มากขึ้น จึงควรต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลจิตใจกันให้มากขึ้นด้วย หากมีความขุ่นมัวเกิดขึ้นในจิตใจ ควรยอมรับให้เป็น ซึ่งสถานการณ์ความขุ่นมัว มักมาจากการเกรงว่าตนเองจะทำงานได้ไม่ดี จึงต้องมีเครื่องมือช่วยสังเกตจิตใจ เริ่มดูแลความคับข้องใจของตน มองเรื่องที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นปกติ การดูแลสิ่งเหล่านี้ให้ได้จริง ต้องเริ่มที่การหาพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลตนเอง แล้วสื่อสารออกมาให้เป็น เพื่อทอนอารมณ์ออกจากเรื่องราวที่ถูกขยายจนกลายเป็นปัญหา
ผู้นำเริ่มก่อน และเรียนรู้ไปด้วยกัน
หากบรรยากาศในที่ทำงานเป็นเหมือนโอเอซิส มีพื้นที่ปลอดภัยที่คุยกันได้ สนับสนุน และรับฟังกัน คนทำงานจะดีขึ้นจากสถานการณ์ที่รุมเร้า แน่นอนว่า ผู้นำองค์กร ควรต้องเป็นผู้เริ่มก่อน เริ่มจากการดูแลตนเอง เมื่อเข้มแข็งพอก็จะดูแลคนอื่นได้โดยอัตโนมัติ ดร. จิรัฐกาล แนะว่าอาจใช้เครื่องมือที่ชวน check in ชวนพูดคุยถึงความรู้สึก ชีวิตจิตใจ เช่น ชวนมองท้องฟ้าว่าเป็นสีอะไรตามความรู้สึก ซึ่งโดยอัตโนมัติเขาจะได้เล่าและเราจะได้ฟัง หลายคนพบว่าปัญหาของตนเองเล็กกว่าคนอื่นๆ จากการฟัง และเอาเวลาไปช่วยคนอื่นได้
ผู้นำต้องมีทักษะในการดูแลดูแลจิตใจของตนเองด้วย เมื่อพนักงานอยู่กับไม่ความมั่นคง เขาต้องการให้คนรับฟัง เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ไม่ใช่มองเป็นเครื่องผลิตงาน ผู้นำจึงต้องมีพื้นที่ในใจที่ว่างและกว้างมากพอ ที่จะเปิดโอกาสให้คนทำงานได้ใช้ศักยภาพ สร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนมีคุณค่า ร่วมมือกัน เป็นเจ้าของงานเหมือนกัน
เรื่องที่ว่ามานี้เหมือนง่าย แต่อธิบายได้ยาก ต้องลองทำไปเลย โดยผู้นำเริ่มทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ฝึกตนเองให้พนักงานเห็นว่าแม้ผู้นำเองก็อยู่ระหว่างเส้นทางของการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ก็ทำได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็ให้พนักงานเห็นว่าเรากำลังพยายามฝึกฝนอยู่ ก็จะสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ทีมงานจะดูแลจิตใจและพัฒนาตนเองจากภายในไปด้วยกัน
เราทุกคนเป็นผู้นำได้ ฝึกตนเองให้นิ่งและช้าลง
แนวทางที่ ดร. จิรัฐกาล แนะนำ เรียกว่า “จิตตปัญญา” เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติในตัวเรา ซึ่งจะทำให้เข้าใจคนอื่นด้วยเป็นการเรียนรู้ภายในอย่างใคร่ครวญ ทำให้ยอมรับความเป็นตัวเราโดยทั้งหมดและเห็นศักยภาพของตนเอง
How to จะเริ่มต้นอย่างไร แบบที่ทำเองได้ด้วยตนเอง ดร. จิรัฐกาล และคุณเพ็ญนภา เสนอว่าให้หาเวลามาอยู่กับตนเองบ้าง มาอยู่นิ่งๆ ช้าๆ เช่น ตอนอาบน้ำ ฝึกรู้สึกถึงความเย็น ความอุ่นของสายน้ำ เมื่อรับประทานอาหาร ก็ให้รู้รสชาติของอาหาร ไม่ใช่กินแบบไม่รู้รสชาติ เพื่อรีบไปทำอย่างอื่น หรือตอนขับรถก็ให้อยู่กับการขับรถ ไม่ใช่เห็นแต่ปลายทาง อยากไปให้เร็ว หงุดหงิดไฟแดง หงุดหงิดรถติดไปหมด
ลองฝึกพาตนเองมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำหรืออยู่กับปัจจุบัน การพาตนเองกลับมาได้เรื่อย ๆ จะช่วยทำให้เราสามารถเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างในใจ ค่อยๆรู้จักมัน เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป เหมือนที่เราเห็นก้อนเมฆ เดี๋ยวก็ครึ้ม เดี๋ยวก็โปร่งเบา
ทำอย่างที่ไม่ต้องรีบเร่งสวนกระแสชีวิตที่ต้องการให้เราหมุนเร็วมาก เพื่อการงานในอนาคต จนเราแทบจะทำอะไรช้าๆ ไม่เป็น พยายามโฟกัสสิ่งนั้นเท่านั้น ด้วยใจที่ว่างๆ เบาๆ จะทำให้เรารู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น เราก็จะปล่อย toxic น้อยลง ก็จะช่วยคนอื่นได้มากขึ้น เราต้องทำเป็นก่อน กิจกรรมเหล่านี้ไม่ต้องใช้ความคิดมาก แต่เราไม่ทันตนเอง คิดโน่นนี่ตลอดเวลา ลองพาตนเองกลับมาในปัจจุบัน ดึงชีวิตให้ช้าลง และเอ็นจอยกับปัจจุบันขณะมากขึ้น
#ความสุขกำลังเติบโต #สสส #LifeTalk #HappyGrowth #ถอดรหัสความสุขคนทำงาน
สามารถเสามารถเลือกรับชมรายการ ในรูปแบบของ YouTube ได้ที่: LIFE TALK HAPPY GROWTH : หัวหน้างานยุคใหม่ ดูแลใจคนทำงาน
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
บทความแนะนำ:
หมด passion – เราควรทำอย่างไร ก็คนมันหมด Passion ไปแล้ว