หากพูดถึง ประสบการณ์ที่เลวร้าย ไม่ว่าใครก็ต้องเคยเจอ หรือเคยผ่านมา และ ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากจะจดจำ หรือ ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับเราอีก แต่ทำไมสิ่งที่เรากลัว สิ่งที่เคยทำให้เราพลาด หรือ เสียใจ ต้องหวนกลับมาทำให้เราช้ำใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
“สาเหตุที่เราต้องเจอกับความผิดหวังซ้ำๆ ก็เพราะ เราไม่ได้เรียนรู้ และไม่ได้ทำอะไรที่ต่างออกไป จากสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นเอง”
โจน จันใด ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยผ่านบทเรียนแห่งความผิดหวังมาไม่น้อยเช่นกัน เขาบอกกับเราว่า เราทุกคนก็สามารถเป็นครูให้กับตัวเองได้ เพราะประสบการณ์ที่เราผ่านมา เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องเหล่านี้ได้
สำหรับ โจน จันใด เขาเลือกใช้ประสบการณ์ตรง จากความเจ็บปวดของตัวเอง จากการโดนผู้คนดูถูกเหยียดหยามอย่างร้ายกาจเป็นฐานในการเรียนรู้ เขาเลือกที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกนั้นอย่างอดทน ซึมซับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น และไตร่ตรองสะท้อนความคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนกระทั่งเขาได้ค้นพบว่าความเจ็บปวดเหล่านั้นมันไม่มีอยู่จริง
จนทำให้เขาสามารถปรับปรุงตัวเองให้กลายเป็นคนใหม่ มีความสุขและสนุกกับการใช้ชีวิตด้วยมุมมองที่เปิดกว้างมากกว่าเดิมมากมาย ทำให้เขาเข้าใจคน เข้าใจโลก และ สามารถใช้ชีวิตอยู่กับโลกใบนี้ และ ยังสามารถนำเสนอแนวทางในการเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้งดงามและน่าอยู่ขึ้น
“ประสบการณ์ที่เลวร้าย ก็ถือเป็นครูอีกคนนึง ที่ให้บทเรียนที่ยากที่สุดให้แก่เรา”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โจน จันใด ให้ความสำคัญและเชื่อมั่นกับวิถีการพึ่งพาตนเอง เขาได้ก่อตั้ง สวนพันพรรณ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตน ที่นี่จึงมีกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้การมีชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง อาทิเช่น การเรียนรู้วิธีการสร้างบ้านดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย การรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านที่นับวันจะสาบสูญไปเรื่อยๆ และการเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
ที่ สวนพันพรรณ แห่งนี้ โจน จันใด ใช้เป็นที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง รวมถึงถ่ายทอดเรื่องราว และความคิดของเขา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม ที่ปรารถนาและต้องการมีชีวิตที่ดีด้วยการล้าเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยสองมือของตนเอง
แต่กว่าที่ โจน จันใด จะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ เขาเองก็ต้องผ่าน ประสบการณ์ที่เลวร้าย และเรื่องราวที่แย่ๆ มาก็ไม่น้อยเช่นกัน เรามาติดตามเรื่องราวของเขากัน ว่าเขาผ่านเรื่องเหล่านี้มาได้อย่างไร
เมื่อชีวิตต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่
โจน จันใด เขาเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ชีวิตของชาวบ้านที่นั่นไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อน พวกเขามีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ด้วยการทำการเกษตร และหาวัตถุดิบจากในป่าในห้วย มาทำอาหารเพื่อดำรงชีพในแต่ละวัน
โจน บอกกับเราว่า ด้วยการเติบโตในวัยเด็กกับวิถีชีวิตแบบนั้นทำให้เขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาต่อตนเอง จนกระทั่งต่อมาเมื่อสิ่งที่เรียกว่าความเจริญได้คืบคลานเข้ามาในหมู่บ้าน ความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย ก็เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนให้เปลี่ยนไป
“พอมีโทรทัศน์เครื่องแรกเข้ามาในหมู่บ้านคำว่าจนก็เข้ามา การแก้ปัญหาความจนก็ต้องมีเงิน หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงเริ่มเห็นว่าชาวบ้านทำงานมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ คนข้างบ้านผมเป็นคนแรกที่ตื่นตั้งแต่ตี 4 ไปถึงป่าก็เช้าพอดี แล้วก็เริ่มถางป่าเพื่อปลูกปอ พอปลูกปอได้ 2-3 ปีเขาก็ได้เงินมาซื้อรถมอเตอร์ไซค์และโทรทัศน์ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้สังคมและชุมชนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เพราะใครๆ ก็อยากจะมีโทรทัศน์ ใครๆ ก็อยากจะมีมอเตอร์ไซค์ คนเริ่มทำงานหนักมากขึ้น แข่งขันกันหาเงิน จากนั้นเป็นต้นมาชีวิตที่เคยสนุกสนาน เคยมีความภาคภูมิใจก็หายไป”
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ บีบบังคับให้หนุ่มสาวจำนวนมาก ต้องละทิ้งบ้านเกิดของตัวเองเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ โจน เองก็เช่นกัน ความรับผิดชอบในชีวิตและครอบครัวทำให้เขาต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านไปหางานทำในกรุงเทพมหานคร ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนอันแตกต่างจากบ้านเกิดของเขาเป็นอย่างมาก
และ ที่นั่น โจน ต้องมาพบกับการโดนดูถูกเหยียดหยาม และการแบ่งแยกชนชั้น เช่น คนชนชั้นแรงงานอย่างเขาและเพื่อนๆ อีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเปรียบเสมือนสิ่งแปลกปลอมในเมืองหลวง ทำให้ในความรู้สึกของเขา พบว่านี่คือความโหดร้ายจนเกินพรรณนา ความรู้สึกด้อยค่าค่อยๆ กัดกินหัวใจของชายชาวอีสานทีละน้อย และนี่ก็เป็นความท้าทายในรูปแบบที่เขาไม่เคยเผชิญมาก่อนในชีวิต
ก้าวที่สำคัญกับการลุกขึ้นเผชิญหน้า
ด้วยเพราะความเจ็บปวด จากการที่โดนดูถูกเหยียดหยาม ผลักดันให้ โจน จันใด ตัดสินใจเก็บความเจ็บปวดนั้นเอาไว้ในใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกที่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นคงในรูปแบบใหม่ สิ่งที่เขาเลือกทำ ก็คือ การเผชิญหน้ากับสังคมที่ทำร้ายเขาอย่างตรงไปตรงมา
“เราจะไม่หนีจากมัน เราจะเผชิญกับความอายให้ถึงที่สุด”
“ผมก็เลยใส่เสื้อขาดๆ ใส่รองเท้าแตะข้างละสี ใส่หมวกชาวนาขาดๆ เดินขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ พอผมขึ้นไปคนก็จะถอยออก แล้วมองผมด้วยหางตาทั้งหมดเลย ผมก็รู้สึกว่าทำไมคนจึงกลัวผม ทั้งๆ ที่ผมไม่มีอะไรเลย แสดงว่าคนอื่นมีความกลัวมากกว่าผม แค่เขาซ่อนเร้นความกลัวได้ดีกว่าผมเท่านั้นเอง เขามีเสื้อผ้า หน้าตา ทรัพย์สิน มากกว่าผม แต่เขาก็กลัวผมที่ไม่ได้มีอะไรเลย ผมก็เลยรู้สึกว่ามันก็น่าแปลกนะ ทั้งๆ ที่คนอื่นกลัวมากกว่าผม แต่ทำไมผมรู้สึกแย่กว่าคนอื่น”
นี่คือสิ่งที่ โจน ได้เห็น และ เมื่อเขาตัดสินใจเผชิญอย่างตรงไปตรงมา โจน บอกว่าสิ่งที่เขาได้รับมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขายังคงรู้สึกอายต่อสายตาของคนที่ดูถูกเขา แต่ครั้งนี้เขาไม่หลบอีกต่อไป เพื่อเรียนรู้ความรู้สึกนั้น ไปจนถึงที่สุดว่าท้ายสุดแล้วมันจะส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร?
“ในขณะนั้นผมก็สังเกตดูความอายที่เกิดขึ้นกับผม ผมรู้สึกว่าอายมาก หน้าชา ขนลุก อารมณ์บอกผมว่าต้องหนี ต้องหยุดทำอะไรบ้าๆ แบบนี้ ไม่มีใครว่าเราเป็นคนปกตินะ เขาว่าเราบ้า แต่ผมก็ไม่หนี ผมอยากจะอยู่ต่อไป อยากจะรู้ว่าถ้ามันอายไปให้ถึงที่สุดมันจะตายไหม พอคิดอย่างนี้ได้ผมก็เผชิญกับมันไป ในที่สุดพออารมณ์มันพุ่งขึ้น จนแทบจะทนไม่ไหว มันทำให้เราเข้าใจคำว่า อายจนอยากจะมุดดินหนี พอเผชิญกับมันจริงๆ เลยเข้าใจว่าอายจนไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหนมันเป็นอย่างไร?”
จนกระทั่งเมื่อเขาต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นไปถึงจุดหนึ่ง เขาก็ได้ค้นพบกับความรู้สึกใหม่ที่ได้เปลี่ยนให้เขาเป็นคนละคน และไม่กลับไปเป็นคนเดิมอีกต่อไป
“แต่พอความอายมันขึ้นสูงสุดแล้วมันก็ลง พอมันลงแล้วผมก็รู้สึกว่ามันก็ธรรมดานี่ คนอื่นเขามองเราด้วยสายตาที่เหยียดหยามก็เป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ได้เป็นเรื่องของผมเลย พอคิดได้แบบนี้แล้วมันก็ดี สักพักความอายก็มาอีก แล้วก็ลงอีก ขึ้นลงอยู่อย่างนี้จนทำให้ผมเห็นอารมณ์ของตัวเองว่าจริงๆ แล้วความอายและความกลัวที่เรามีอยู่นั้นไม่ได้มีอะไรเลย มันเป็นแค่สิ่งที่อารมณ์เราสร้างมาเฉยๆ พอผมไม่หนีมัน ผมก็บอกตัวเองว่าเดี๋ยวสักพักมันก็ลง พอทำอย่างนี้บ่อยๆ เราก็เลยไม่ได้สนใจมันเลย”
และนี่ก็คือ กระบวนการเรียนรู้ ครั้งสำคัญในชีวิตของ โจน จันใด
ไตร่ตรองสะท้อนความคิด
จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้ โจน จันใด ได้เห็นถึงความสำคัญของการลุกขึ้นเผชิญกับความรู้สึกของตนเอง เขานำความรู้สึกจากประสบการณ์ตรงที่ได้รับกลับมาไตร่ตรอง กับตนเองจนตกผลึก เกิดเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงการรับรู้โลกของเขาไปตลอดกาล
“หลังจากนั้นผมก็ใช้การเผชิญหน้าเป็นอาวุธที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกกลัว ไม่ชอบ เกลียด ผมก็อยู่กับมันทั้งหมด ถ้ากลัวหมายความว่าเราไม่เข้าใจ ถ้าเกลียดหมายความว่าเราไม่เข้าใจ ถ้าเราชอบก็หมายความว่าเราไม่เข้าใจมันเหมือนกัน เพราะถ้าเราเข้าใจเราก็จะเห็นทั้งสองด้าน มีทั้งดีและไม่ดี เห็นมันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่หลงใหลคลั่งไคล้แบบลืมหูลืมตาไม่ได้ ไม่ใช่กลัวหรือเกลียดจนไม่อยากจะเห็นมันอีกเลย ถ้ารู้สึกอย่างนั้นหมายความว่าเรายังไม่เห็น ยังไม่เข้าใจความรู้สึก”
โจน จันใด บอกกับเราว่า ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เพราะถ้าเข้าใจแล้วมันจะทำให้เราผ่อนคลาย รู้สึกเป็นปกติ ไม่ผลักไส ไม่หลงใหลอะไร และก็ไม่กลัว ความเข้าใจทำให้ความกลัวหายไปหรือลดลง นั่นจึงทำให้เขามีความคิดที่ต่างจากคนอื่นตรงที่ว่า เขาไม่ได้แสวงหาอะไรเลยในชีวิตนี้ ไม่ได้หาเงิน ไม่ได้หาชื่อเสียง ไม่ได้หาทรัพย์สินอะไรเลย แต่เขาหาความเข้าใจ เพราะความเข้าใจทำให้เขารู้สึกเป็นอิสระ เบา สบาย และโล่งมาก
ต่อยอดการเรียนรู้
โจน จันใด เล่าให้เราวฟังว่า “คนทั่วไปจะมองว่าการทำงานมากกว่าคนอื่นเป็นการเสียเปรียบ แต่จริงๆ แล้วในมุมของเขามันทำให้เราได้เปรียบ เพราะเราได้ทักษะมากขึ้น ตอนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เขาก็จะทำงานมากกว่าคนอื่น แต่คนอื่นกลับบอกว่าเขาโง่”
แต่ โจน ก็รู้สึกว่าจะคิดอย่างงั้นก็ได้ ไม่เป็นไร แต่เขารู้สึกว่าผมต้องฝึกตัวเอง ตอนที่เขาไปทำงานในร้านอาหาร เจ้านายร้ายมาก ด่าทอ โยนข้าวของใส่เขาตลอด โจน ก็จะยิ้มให้เขา ทั้งๆ ที่เขาด่า แต่ก็ยังยิ้มให้ เพื่อฝึกฝนจิตใจของตนเอง การฝึกฝนกายและใจตลอดเวลาทำให้ โจน มีความเข้าใจในความหมายของการมีชีวิตอยู่
“เราเองมีหน้าที่จัดการกับตัวของเรา ไม่ใช่หน้าที่คนอื่น”
ประสบการณ์ตลอดชีวิตเหล่านี้ ทำให้เขามีมุมมองที่ชัดเจนในเรื่องการเรียนรู้ว่า การลงมือปฏิบัติและการสะท้อนคิดในประสบการณ์ ที่ได้รับคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาตัวตน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
“เงินทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ สูญเสียโอกาสที่จะทำความเข้าใจ เพราะทุกครั้งที่ใช้เงินคือการสูญเสียโอกาสที่จะเข้าใจในสิ่งนั้นๆ”
โจน ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า “อย่างถ้าผมอยากกินอาหารแล้วผมไปซื้ออาหาร ผมก็สูญเสียโอกาสที่จะฝึกทักษะในการทำอาหาร ผมจะสูญเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ว่าอะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ ฉะนั้นถ้าผมใช้เงินซื้อทุกอย่างทุกครั้ง ศักยภาพของผมก็จะลดลงไปเรื่อยๆ แล้วผมก็จะอ่อนแอมากขึ้นบนโลกที่โหดร้ายใบนี้”
ดังนั้น การที่เราใช้เงินให้น้อยลง ใช้เท่าที่จำเป็น จะทำให้ศักยภาพของเราเพิ่มขึ้น ศักยภาพในการพึ่งตนเอง จะทำให้เรามั่นคงและปลอดภัยมากกว่าคนที่ไม่มีศักยภาพจะช่วยเหลือตัวเองโดยเฉพาะในยามวิกฤติ
บทสรุป
“เพราะชีวิตที่ดี ไม่ได้มีกันง่ายๆ แต่ละคนก็ต้องผ่านอะไรยากๆ กันมาทั้งนั้น”
เรื่องราวของ โจน จันใด ชี้ให้เห็นแล้วว่า กระบวนการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่ผ่านมาของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์ที่เลวร้าย มากน้อยแค่ไหน หรือ อย่างไร เราก็ยังสามารถนำมาใช้ ในการเปลี่ยนแปลงมุมมอง วิธีคิด และพฤติกรรมของเราเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้เช่นกัน
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ โจน จันใด
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน เราก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เราชอบได้