
ฟื้นฟูระบบนิเวศ กลายเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นที่สำคัญ ที่เราจะมองข้ามเหมือนในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ เรื่องนี้เองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการสร้างความยั่งยืนเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราในอนาคต
เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่มีความหมายสำหรับคนทำงานสิ่งแวดล้อม นอกจากวันที่ 5 มิถุนายน จะเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกแล้ว และวันที่ 8 มิถุนายน ก็เป็นวันมหาสุมทรโลกด้วย ซึ่งวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ เน้นเรื่องการ ฟื้นฟูระบบนิเวศ (Ecosystem Restoration) แอดมินมีโอกาสดีได้พูดคุยกับผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมถึง 3 ท่าน
- คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
- รศ.ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คุณร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เพจ Environman
ทั้ง 3 ท่านทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG 15 Life on land ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นเด่นในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ อ่านแล้วรับรองว่าคุณจะไม่ตกเทรนด์สำคัญของโลกอย่างแน่นอน
รักษา ECOSYTEM ดูแล BIODIVERSITY
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเรื่องของ ”ระบบนิเวศ“กันก่อน ดร.นาฎสุดา อธิบายว่า ระบบนิเวศ (Ecosystem) ประกอบด้วย สิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์เกื้อกูลกัน ง่ายที่สุดให้นึกถึง อากาศสะอาด ป่าเขียว ทะเล น้ำตก และสิ่งมีชีวิต คือมนุษย์เราและสัตว์ต่างๆ จะเห็นว่า มนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศเท่านั้น
ที่สำคัญคือ เราต้องพึ่งพาระบบนิเวศ หรือธรรมชาติที่ทำงานกันเป็นระบบ เช่น ระบบนิเวศบนบก และอื่นๆ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ ก็คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้ดีที่สุด
คุณสมเจตนา เสริมว่า ปัจจุบันภาคเอกชนให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง และการที่องค์กรด้านความยั่งยืนในระดับโลกอย่าง UN ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยอยู่ระหว่างพัฒนากรอบการทำงานที่เรียกว่า Post 2020 Global Biodiversity framework ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนที่รู้จักกันดีอย่าง Dow Jones Sustainability Index ยังได้หยิบยกประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์ประเมินความยั่งยืนขององค์กร ทั้งองค์กรธุรกิจเกษตร อาหาร ค้าปลีก และอีก 16 อุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่แสดงว่าเรื่องนี้กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น
คุณสมเจตนา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า World Economic Forum เคยศึกษาและประเมินว่า GDP ของโลกประมาณ 44 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มาจากธุรกิจที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ หากมีการสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ แต่ในมุมบวก ถ้าสามารถดูแลใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสที่ภาคธุรกิจทั่วโลกจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างงานได้อีกมากกว่า 400 ล้านตำแหน่งงานในอีกสิบปีข้างหน้า
เมื่อคนรุ่นใหม่ มองความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อม
คุณร่มธรรม แห่ง Environman สตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการสื่อสารออนไลน์ มองว่าความท้าทายในเรื่องนี้ คือ การใช้ทรัพยากรของเราเองที่เหมือนกำลังฆ่าตัวตายช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ ซึ่งถือเป็นการลดพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ลดการผลิตออกซิเจน และตัดแหล่งต้นน้ำสะอาด หรือการล่าสัตว์ ที่ทำให้สัตว์บางชนิดที่มีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศเริ่มหายไป รวมทั้งการสร้างมลพิษ ของเสีย ขยะ และสารพิษ

สุดท้ายกลายเป็นปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น ทำให้สภาพอากาศร้อนและแล้งจัดสุดขั้วมากขึ้น จนบางคนบอกว่าตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ว่าด้วยเรื่องปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้เราออกจากระบบที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล และหันมาช่วยกันปกป้องมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดให้อยู่รอดได้
บูรณาการการปกป้องธรรมชาติ เข้ากับกระบวนการธุรกิจ
เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน ภาคเอกชนที่เดินหน้าก่อนย่อมถือเป็นผู้นำ คุณสมเจตนา เผยว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุทธศาสตร์ความยั่งยืนเครือฯ
ที่ผ่านมาและจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญใน 10 ปีข้างหน้า แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการทำงานเรื่องนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับรู้ เพราะเครือฯ ทำงานจากภายในองค์กรไปสู่ภายนอก เริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้บริหาร โดยมีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี เป็นผู้นำหลักและถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปสู่พนักงานในองค์กร ที่สำคัญ คือ ได้บูรณาการการปกป้องดูแลธรรมชาติ เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายว่า วัตถุดิบหลักทางการเกษตรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% ว่าไม่ได้มาจากแหล่งที่ทำลายทรัพยากรทั้งบนบกและทางทะเล โดยได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้ตรวจสอบได้ (Traceability) และติดตามวัดผลทุกปี รวมทั้งวางแผนว่าแต่ละปีต้องมีความก้าวหน้าอย่างไร ซึ่งเครือฯ ประสบความสำเร็จในเป้าหมายนี้แล้ว
“สบขุ่นโมเดล” พลิกฟื้นผืนป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับเกษตกร
คุณสมเจตนา ยังได้แชร์ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่า ภาคเอกชนที่มีศักยภาพจะส่งเสริมและสร้างแรงกระเพื่อม (impact) ในเรื่องนี้ได้มาก และยังสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งการ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ดูแลรักษาระบบนิเวศ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และ ปัญหาความยากจนไปพร้อมกัน
ยกตัวอย่าง โครงการสบขุ่นโมเดล อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แก้ไขปัญหาพื้นที่ภูเขาหัวโล้น ด้วยการให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมาปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง พร้อมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจท้องถิ่นแบบผสมผสาน แทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดย น้อมนำแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นพื้นฐานของการสร้างป่าสร้างรายได้ และยังเชื่อมโยงไปสู่เรื่องการพัฒนาระบบน้ำด้วย โดยเครือฯ สนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางจำหน่าย จนปัจจุบันชาวบ้านมีโรงงานแปรรูปเมล็ดกาแฟในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งโครงการนี้มีการวัดผลลัพธ์ทุกปี ทั้งในเรื่องรายได้ จำนวนต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น และความสามารถของป่าในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้โครงการสบขุ่นโมเดล เป็นโมเดลที่เครือ
เจริญโภคภัณฑ์จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
องค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องก้าวให้ทันโลกเปลี่ยน
ในส่วนของภาควิชาการ ดร.นาฎสุดา ชี้ว่าสถาบันการศึกษา พยายามติดตามเรื่องความร่วมมือต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งก่อนหน้านี้มี Millennium Goals ซึ่งได้รวมเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติไว้ด้วย แต่ตอนนี้อาจจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ ที่เรียกว่า บริการทางนิเวศ (ecological service) ที่ชวนให้มองว่าเราได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการบริการของระบบนิเวศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อสถาบันการศึกษามีหน้าที่ให้ความรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงได้พยายามนำงานวิชาการที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แทรกเสริมเข้าไปในหลักสูตรต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี และเน้นย้ำให้เกิดการนำไปปฏิบัติในพื้นที่ ชุมชน และอุทยานต่างๆ รวมทั้งนำความคิดเห็นจากหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่มาบูรณาการร่วมกับภาคทฤษฎีด้วย สถาบันการศึกษายังมีบทบาทในการจัดฝึกอบรมระยะสั้น หรือให้ความรู้กับองค์การบริหารส่วนตำบลในเครือข่าย หรือร่วมมือกับโครงการ CSR ขององค์กรเอกชน โดยมองว่า การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
และถ้าพูดถึงระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องมองเป็นพื้นที่ ดังนั้น ถ้ามีฐานข้อมูล One Map ที่เป็น Big Data เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้ข้อมูลเดียวกัน น่าจะสามารถให้บรรลุ goal ได้ถูกต้องเหมือนกันซึ่งขณะนี้มองว่าสถานการณ์ของ SDG 15 ในบ้านเราในส่วนของภาครัฐ ยังไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีหลายหน่วยงานที่ทำงานเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้
เร่งสื่อสารคนรุ่นใหม่ ยกธรรมชาติมาไว้ใน social media
คนรุ่นใหม่อย่าง คุณร่มธรรม มองว่าในยุคที่มี social media เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เป็นโอกาสที่จะสื่อสารกับผู้คนได้กว้างขวาง แต่ด้วย Platform บังคับให้ต้องเร็ว ง่าย กระชับ environman จึงพยายามสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เข้าใจง่าย เพื่อทำให้คนเห็นว่าปัญหาคืออะไร และมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือพฤติกรรมการบริโภคหรือการใช้ชีวิตของเรา สำคัญอย่างไร?
เช่น การให้ข้อมูลเพื่อลดการสร้างขยะ การแยกขยะ รวมถึงการบริจาคของเหลือใช้ที่บ้าน เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งเป็นการหมุนเวียนทรัพยากร รวมทั้งขับเคลื่อนในทางปฎิบัติ คือ การผลักดันในช่องทาง change.org ให้นกชนหิน ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์ป่าสงวน การออกไปเก็บขยะตามแหล่งสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ให้ตกค้างและเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ การจัดงาน Friday for Future รณรงค์เรื่องของโลกร้อน โดยมีภาคส่วนต่างๆมาคุยกันถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา ที่แต่ละภาคส่วนทำอยู่แล้ว และมาแสวงหาร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยเห็นแนวโน้มที่ดีว่า คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เพียงแต่อาจจะยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งวิสัยทัศน์ Living in Harmony with Nature ภายในปี 2050
เมื่อพูดคุยถึงทิศทางในอนาคตของการดูแลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ คุณสมเจตนา เล่าว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มองว่าเรื่องนี้สัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ด้วย คือ เรื่อง climate resilience หรือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเป้าหมาย คือ Net Zero หรือ การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030

โดยเชื่อมโยงไปถึงเรื่อง Circular Economy ซึ่งมีเป้าหมายอีก 3 ตัวย่อย คือ Zero food waste ลดการสูญเสียผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร ตั้งแต่ต้นทางถึงผู้บริโภค ให้เป็นศูนย์ Zero waste to landfill ทำให้ขยะอาหารที่จะไปหลุมฝังกลบเป็นศูนย์ และ Sustainable Packaging ทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้การถนอมอาหารสามารถ reused recycle composable หรือเป็น bio-degradable
นอกจากนี้ ยังมีอีกเป้าหมายที่เชื่อมโยงกัน คือ ลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ ให้ได้ 20% จากปีฐาน 2020 ในอีก 10 ปีข้างหน้า และมีโครงการที่ส่งเสริมการเข้าถึงน้ำของชุมชนที่ทำร่วมกับการโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ ด้วย โดยเรื่องทั้งหมดนี้จะขยายผลไปตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สำคัญคือภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์จะเน้นการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบของหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนด้วยกัน ภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เพราะการมีเพื่อนที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกัน จะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้
ทำทันที ได้ผลทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
คุณร่มธรรม สะท้อนว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้สำคัญ คือ การใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลในอดีตที่ผ่านมา ไม่ใช่คำตอบของการอยู่รอดต่อไปในอนาคต มีงานวิจัยคาดการณ์ไปในอนาคตที่เลวร้ายกว่านี้มาก ถ้าไม่มีการแก้ไขในปัจจุบัน ดังนั้น เราควรที่จะคำนึงถึงทุกๆการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคหรือการผลิต และตั้งข้อสงสัยในแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ว่ามีส่วนทำลายธรรมชาติหรือไม่ ก่อขยะหรือไม่ หรือนำไปหมุนเวียนได้หรือไม่ การตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราใช้ทุกอย่างในชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนสามารถทำได้ทันที และในอนาคต ส่วนตัวอยากจะทำให้เกิด action มากกว่านี้ โดยจะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆมากขึ้น เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงจัง
ดร.นาฎสุดา กล่าวว่าหากจะทำงานเรื่องนี้ที่ต้นเหตุ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยง สัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าบางสิ่งบางอย่างสูญเสียไปจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ปัจจุบันเทคโนโลยีรวดเร็ว จำนวนประชากรมากขึ้นทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง เราต้องเข้ามาร่วมมือกันจัดการ โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินงานอยู่ และทิ้งท้ายว่าเราจะพัฒนาโดยไม่หันมามองเรื่องระบบนิเวศ เป็นไปไม่ได้ เพราะระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นคลังมหาสมบัติที่ให้ประโยชน์กับโลกใบนี้
….
รายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change”
ตอน “ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบนบกที่ยั่งยืน”
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ติดตามชมรายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change” Facebook
ได้ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ หรือ Facebook Global Compact Network Thailand และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical