ภาวะขาดเลือด ในวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะทุกคนต่างให้ความสนใจไปที่วัคซีน การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต่อสู้กับมันอย่างขยันขันแข็ง หรือการให้ความสนใจในการเอาตัวรอดจากการแพร่ระบาดของโรคในแต่ละวัน จนทำให้เราอาจจะลืมคิดถึงสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต่อคนไข้ทุกคนเช่นกัน ไม่ใช่วัคซีน ไม่ใช่หน้ากากอนามัยหรือชุด PPE แต่เป็นเรื่องของเลือด
เรื่องของเลือดในสถานการณ์เช่นนี้ น่าเป็นห่วงไม่แพ้เรื่องการระบาดของโควิด-19 เลย ทนพ.พัศวัฒน์ ศุภดำรงเกียรติ นักเทคนิคการแพทย์ งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้มาให้ความรู้ และเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเลือดในตอนนี้ เพราะเรากำลังเผชิญกับ “ภาวะขาดเลือด”
“เลือดเป็นเหมือนอากาศ ซึ่งเราขาดไม่ได้”
เลือดมีความสำคัญต่อมนุษย์ทุกคนมาก เป็นเหมือนอากาศที่เมื่อเราขาดอากาศเราก็จะตายในที่สุด เลือดก็เช่นกัน เลือดจะเป็นตัวช่วยในการขนอากาศไปยังส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำงานได้ปกติ แต่เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้มีเลือดนำพาอากาศมาให้ อวัยวะจะเข้าสู่โหมดอันตรายทันที โดยเฉพาะสมองของเรา
“ผู้ป่วย 1 คน ต้องการเลือด 100-150 ยูนิตต่อวัน”
บางคนสงสัยว่า ทำไมถึงมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาบริจาคเลือดอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่แต่ละรอบก็มีคนบริจาคไปมากมายแล้ว แต่ทำไมยังไม่พออีก ความจริงก็คือผู้ป่วยแต่ละคนต้องการเลือด 100-150 ยูนิตต่อวัน ซึ่งหากลองเฉลี่ยดูแล้ว หากอยากให้มีเลือดเพียงพอ ก็ต้องมีผู้มาบริจาคเลือดวันละประมาณ 100 คน ถึงจะพอดีกับปริมาณการใช้ต่อวัน
“เมื่อก่อนเรายังขอสภากาชาดได้ แต่ตอนนี้สภากาชาดก็ขาดแคลนเหมือนกัน”
โดยปกติแล้วแต่ละโรงพยาบาลจะมีการรับบริจาคเลือดของโรงพยาบาลนั้นๆ แต่เมื่อเกิดการขาดแคลนเลือด เลือดมีไม่เพียงพอ หรือต้องการใช้เลือดอย่างเร่งด่วน จะสามารถติดต่อขอไปที่สภากาชาดได้ แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว เพราะสภากาชาดเองก็เข้าสู่ภาวะขาดเลือดเช่นกัน
“คนไม่มาบริจาคเลือดเพราะกลัวโควิด-19”
หลายคนยังเลือกที่จะพึ่งพาฟู้ดเดลิเวอรี่ในการสั่งข้าว สั่งน้ำ หรือซื้อของกินอยู่เลย เพราะฉะนั้นจะให้เสี่ยงออกจากบ้านมาที่โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งรับตรวจรักษาโควิด-19 ก็จะดูเป็นอะไรที่เสี่ยงเกินไป คนส่วนใหญ่จึงไม่กล้าออกมาบริจาคเลือดกัน ทางโรงพยาบาล และทางสภากาชาดไทย จึงเข้าสู่ภาวะขาดเลือด
“ไม่ใช่แค่คนไม่มาบริจาค โรงพยาบาลก็ออกไปหาเลือดไม่ได้เช่นกัน”
โดยปกติแล้วสภากาชาด หรือโรงพยาบาลจะมีการลงพื้นที่ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานต่างๆเพื่อขอรับบริจาคเลือดได้ ทำให้มีเลือดเพิ่มเข้าไปที่โรงพยาบาลและสภากาชาด แต่ด้วยเพราะโควิด-19 ที่ทำให้อะไรที่เคยทำ ไม่สามารถทำได้อย่างที่เคย โรงพยาบาลและสภากาดชาดเลยสามารถทำได้แค่เพียงประชาสัมพันธ์และรอคนมาบริจาคเท่านั้นเอง
บริจาคเลือดในสถานณ์การโควิด-19 ปลอดภัยกว่าที่คิด
หลายคนคิดว่าการไปบริจาคเลือด ยังไงก็เสี่ยงติดโควิด-19 แน่นอน เพราะโรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมเชื้อ แต่เปล่าเลย สำหรับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีการแบ่งโซนให้บริจาคเลือดซึ่งไกลจากผู้เข้ารับการรักษา ตรวจ หรือฉีดวัคซีนโควิด-19
ที่สำคัญยังมีการวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่างระหว่างนั่งรอ อุปกรณ์ใดที่ใช้ร่วมกันในการบริจาคเลือดจะมีการนำไปฉายแสงฆ่าเชื้อทุกชิ้น ที่นั่ง โต๊ะ เก้าอี้ มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลอด ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าถ้าหากมาบริจาคเลือดที่นี่ จะไม่ได้โรคแถมกลับไปอย่างแน่นอน
“การบริจาคเลือด ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ”
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ หรือ อาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ การบริจาคเลือดไม่ใช่การให้ฝ่ายเดียว เพราะจริงๆแล้วการที่เราบริจาคเลือด จะทำให้ร่างกายเราสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ขึ้นมาทดแทน ความแข็งแรงของเม็ดเลือดแดงก็จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งธาตุเหล็กในตัวยังมีการปรับสมดุลอีกด้วย เพราะฉะนั้นการบริจาคเลือดจึงได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเลย
“ความจริง คือ อัตราการบริจาคเลือดกับการใช้เลือดสอดคล้องกันอยู่แล้ว”
คนไทยส่วนใหญ่จะมีเลือดกรุ๊ป O กับ B ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยที่มีความต้องการเลือดส่วนใหญ่ก็ต้องการ O กับ B เช่นกัน ดังนั้นการมาบริจาคเลือด ไม่ว่าจะกรุ๊ปอะไรจะมีความสอดคล้องระหว่างการบริจาคและผู้รับบริจาคเสมอ
“การบริจาค 1 ครั้ง สามารถช่วยผู้ป่วยได้ถึง 3 คน”
การบริจาคเลือดทั่วไป เรียกว่าการบริจาค Whole blood เป็นการบริจาคเลือดครบส่วน 450 มิลลิลิตร ประมาณ 10% ของร่างกาย โดยจะสามารถแยกเม็ดเลือดแดง น้ำเหลือง และเกล็ดเลือดออกได้ แล้วแบ่งให้ผู้ป่วยแต่ละคนที่ต้องการ จึงมีคนกล่าวว่าการบริจาคเลือดเพียง 1 ครั้ง สามารถช่วยผู้ป่วยได้ถึง 3 คน โดยการบริจาคแบบ Whole blood สามารถบริจาคได้ทุกๆ 3 เดือน
นอกจากนี้ยังมีการบริจาคที่เรียกว่าการบริจาคเกล็ดเลือด ซึ่งมีความต้องการพอๆกับการบริจาคเลือดแบบ Whole blood และการบริจาคเกล็ดเลือด สามารถบริจาคได้ทุกๆ 1 เดือน โดยคุณหมอเผยว่าจากสถิติคนที่มาบริจาคบ่อยที่สุด มีคนเคยมาบริจาคถึง 100 ครั้งเลย
การบริจาคเลือดต้องมีการเตรียมตัวที่ดี
ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เราก็จะเดินไปบริจาคเลือดได้เลย เพราะก่อนเข้าบริจาคเลือด เราควรจะรับประทานอาหารมาให้เรียบร้อย นอนก่อนเที่ยงคืน เพราะถ้าหากเรานอนหลังตีสองเป็นต้นไปจะมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งของฮอร์โมน ที่จะส่งผลให้เราอาจเกิดอาการหน้ามืด หรือเป็นลมระหว่างการบริจาคเลือดได้ ที่สำคัญคือก่อนบริจาคห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
“โรคทางสภาพจิตใจ แม้ไม่ส่งผลถึงเลือด แต่บริจาคไม่ได้”
อย่างที่เรารู้กันว่าผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดไม่สามารถบริจาคเลือดได้ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ก็คือ คนที่มีโรคทางจิตใจ ต้องเข้าพบแพทย์ในด้านจิตเวชจะไม่สามารถบริจาคเลือดได้ เพราะการบริจาคเลือดต้องใช้สติ สามารถควบคุมสติตัวเองถึงจะบริจาคได้ เช่นเดียวกับโรคภูมิแพ้ เบาหวาน ความดัน สามารถบริจาคเลือดได้ แค่ควบคุมสติตัวเองให้ได้ก็พอ
“ฉีดวัคซีนก็มาบริจาคเลือดได้”
หลายคนสงสัยกันมากว่าหลังจากฉีดวัคซีนสามารถบริจาคเลือดได้ไหม ทนพ.พัศวัฒน์อธิบายว่าผู้ฉีดวัคซีนหากไม่มีอาการข้างเคียงอะไร สามารถบริจาคเลือดได้หลังจากผ่านการรับวัคซีนมา 7 วัน แต่หากรับวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียง ต้องรอ 7-14 วันหลังจากได้รับวัคซีน ถึงจะสามารถบริจาคเลือดได้
“ภาวะขาดเลือด เป็นสิ่งที่สังคมต้องตระหนัก ไม่ใช่แค่รับรู้”
เลือดเป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายของเราดำรงอยู่ได้ และรักษาสมดุลร่างกายของเราเอาไว้ ในเมื่อมันสำคัญขนาดนี้อยากให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าผู้ป่วยมากมายยังรอความช่วยเหลืออยู่ และการบริจาคเลือดทุกๆ 3 เดือนหรือการบริจาคเกล็ดเลือดทุกเดือน ก็ไม่ได้มีประโยชน์แค่ต่อผู้รับเท่านั้น ผู้ให้อย่างพวกคุณทุกคนก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน
บทสรุป
หากใครคิดอยากบริจาคเลือดแต่กลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยากให้รู้ว่าทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เขามีมาตรการป้องกันที่ดี และปลอดภัยต่อผู้บริจาคทุกคนแน่นอน อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นของเลือด แล้วออกมาบริจาคเลือดกันเถอะ
หากใครสนใจบริจาคเลือดสามารถบริจาคได้ที่ ชั้น 2 อาคารพลังใจ (บริเวณหน้าโรงอาหารศูนย์สุขศาสตร์ 1) เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 08:30 น.– 15:30 น. ไม่มีปิดพักเที่ยง หรือติดต่อสอบถามเข้าไปได้ที่เพจ Facebook ชื่อ รับบริจาคโลหิต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เลย
“เลือดกำลังขาดแคลนอย่างหนัก ร่วมบริจาคโลหิตแล้วฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน”
ติดตามรับชมเรื่องราว เบื้องหลังวิกฤติและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด ได้กับรายการ Unmask Story เรื่องเล่าหลังแมสก์ของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ภาวะขาดเลือด|โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
….
บทความ แนะนำ :
ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ – พบเพื่อจากไปอย่างมีความสุข
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical