ภาษี ทำไมต้องมี ทำไมต้องจ่าย จ่ายแล้วไปไหน? หลายคนอยากรู้ และอยากได้คำตอบ แต่ก็ยังมีอีกหลายคน ที่ยังเข้าใจผิดในเรื่องภาษี อาทิเช่น
ความเชื่อที่ว่า ใครว่ามีแค่คนทำงาน และ ผู้ประกอบการเท่านั้นที่เสียภาษี เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งแท้จริงแล้วคนไทยทุกคน ต่างก็ต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งนั้น
ในฝั่งคนทำงาน บางคนหรือบางกลุ่มที่มีฐานเงินเดือนสูงๆ เข้าใจว่า “พวกเขาโดนเอาเปรียบ เพราะภาษีที่ถูกหักจากเงินเดือนในแต่ละเดือนนั้น เอาไปอุ้ม หรือ ไปช่วยคนที่มีรายได้น้อย”
ส่วนในกลุ่มที่มีรายได้น้อยแต่ก็ต้องเสียภาษี หลายคนไม่พอใจว่า “มาตราการเรื่องการลดหย่อยภาษีที่ออกมา ก็ออกมาเพื่อช่วยเหลือพวกที่มีรายได้เยอะๆ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับพวกเขาเลย”
และ ก็เกิดคำถาม และ ความรู้สึกมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องภาษี ไม่ว่าจะเป็น “แบบนี้คนที่มีรายได้น้อยก็สบายสิ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย” หรือ “คนทำงานหลายคนรู้สึกว่า ไม่ยุติธรรมที่ตนเองต้องเสียภาษีอยู่ฝ่ายเดียว” หรือ “คนทำงานหลายคน ก็ยังมีความเข้าใจว่า พวกเขากำลังแบกรับภาระประเทศไทย” หรือ “คนทำงาน กับ ผู้ประกอบการเท่านั้น ที่แบกรับภาษี และ เป็นคนแบกรับภาระประเทศ” หรือ อื่นๆ
เรื่องของภาษี ภาษี ทำไมต้องมี ทำไมต้องจ่าย อยากจะบอกความจริงว่า คนไทยทุกคน ต้องเสียภาษีกันทั้งนั้น
เด็ก ก็เสียภาษี พระ ก็เสียภาษี คนชรา ถึงแม้ว่าจะเกษียณไปแล้วก็ยังต้องเสียภาษี ทุกเพศ ทุกวัย จะมีรายได้ หรือ ยังไม่มีรายได้ ต่างก็เสียภาษีทั้งสิ้น เพราะภาษีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ทุกคนอยู่แล้ว เช่น
ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กชาย วัย 10 ขวบ พ่อให้เงินไปซื้อขนมปังและน้ำผลไม้ ที่ร้านสะดวกซื้อแห่งนึง ถึงแม้ราคาจะไม่ได้มากมาย แต่หากไปดูในรายละเอียดใบเสร็จ เราจะพบว่า มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (หรือ VAT) รวมอยู่ในราคารวมสินค้าด้วย
หรือ คุณพ่อ ขับรถยนต์ไปส่งลูกชายไปโรงเรียนตอนเช้า ระหว่างทางแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มนำมันแห่งนึง หากเราดูใบเสร็จ จะพบว่า ก็มี มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (หรือ VAT) รวมอยู่ในค่าน้ำมันเราด้วยเช่นกัน แต่ ทุกๆ บาท ที่เราเติมน้ำมัน บริษัทน้ำมันก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เพิ่มเติมอีกด้วย
หรือ คุณพ่อ ทำงานให้กับบริษัทฯ คุณพ่อ ได้เงินเดือน ก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทฯ ได้ผลงาน มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
ดังนั้น ตั้งแต่เราเกิดจนเสียชีวิต เราทุกคนล้วนต้องเจอกับภาษีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือ ทางอ้อม
ภาษี คืออะไร และ ทำไมต้องมีภาษี?
ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากจะกำหนดสิทธิต่างๆ ที่ประชาชนพึงมีไว้แล้ว ยังได้กำหนดหน้าที่ของประชาชน ที่จะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งกฎหมายที่ใช้เป็นข้อกำหนดในการเรียกเก็บภาษี นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายรัษฎากร
เรื่องราวของภาษีในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยใน่น อ้างอิงหลักฐานจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งแสดงหลักฐานว่า มีการจัดเก็บภาษีอากรมาตั้งแต่ก่อนยุคพ่อขุนรามคำแหง โดยภาษีในสมัยนั้นเรียกว่า “จกอบ จำกอบ หรือจังกอบ” เป็นภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บจากผู้นำสัตว์และสิ่งของสินค้าไปเพื่อขายในที่ต่างๆ หรือหมายถึงภาษีที่เก็บจากสัตว์และสิ่งของที่นำเข้ามาจำหน่าย
การเรียกเก็บภาษีจากประชาชน เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญ ในการบริหารและพัฒนาประเทศ ประเทศ ในหลายด้าน เช่น ทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การประชาสงเคราะห์ การป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายในประเทศ สร้างสาธารณูปโภค รวมไปถึงเงินเดือนของราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ทำหน้าที่ให้บริการประชาชน เป็นต้น
“ภาษี คือที่มารายได้ของประเทศ“
คนไทยทุกคนต้องเสียภาษีกันทั้งนั้น เพราะ ภาษี คือ รายได้หลักของประเทศ
ภาษี แบ่งออกเป็น 2 ปรเภท “ภาษีทางตรง” คือผู้เสียภาษีจ่ายเอง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม) และ “ภาษีทางอ้อม” คือเก็บจากบุคคลอื่น แต่ผู้เสียภาษีต้องรับภาระในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ, ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน, ภาษีสินค้าเข้า-ออก ฯลฯ)
ดังนั้นจะบอกว่า เด็ก หรือ คนแก่ ไม่ต้องเสียภาษีคงไม่ได้ เพราะประชาชน คนไทยทุกคน ต่างเสียภาษีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือ ทางอ้อม หรือ ทั้งคู่ เรียกได้ว่า รอบตัวเรา ไม่ว่าจะมีรายได้ หรือ จะใช้จ่ายอะไร ยังไงก็ต้องหนีภาษีไม่พ้น
เรามาดูผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2562 กัน
รายได้เกือบ 80% ของประเทศ มาจากการจัดเก็บภาษี และ ประมาณ 65.65% มาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพกร, 19.13% มาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต, 11.67% มาจากการจัดเก็บรายได้จากหน่วยงานอื่น (จากกรมธนารักษ์ รัฐวิสาหกิจ และ ส่วนงานราชการอื่นๆ) และ 3.55% มาจากการจัดเก็บรายได้จากกรมศุลกากร
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้รายงานรายได้นำส่งของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยพบว่าปี 2562 มีรายได้ทั้งหมด 169,159 ล้านบาท ทั้งนี้ 10 อันดับรัฐวิสาหกิจของไทยที่นำส่งรายได้แผ่นดินสูงที่สุดในปีงบประมาณ 2562
มาดูรายได้หลักของประเทศเรากันอีกรอบ พระเอกของเราตลอดกาล คือ กรมสรรพกร
โดยผลการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ในปี 2562 อันดับแรก 40% มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม, 35% มาจากภาษีเงินได้นิติบุคคล, 17% มาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ที่เหลือ 8% มาจากด้านอื่นๆ (ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และ ภาษีมรดก)
เจ้าภาษีมูลคาเพิ่ม 7% นี่แหละ ที่คนไทยทุกคนต้องเสีย และ เป็นรายได้เข้าประเทศอันดับต้นๆ ที่ทางสรรพกรจัดเก็บในแต่ละปีเลย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ถ้าประชากรในประเทศไทยเรา มีอยู่ราวๆ 66.5 ล้านคน เราคิดว่าจะมีกี่คน หรือ กี่รายที่เป็น “ผู้ประกอบการ” หรือ “เจ้าของธุรกิจ”
จากข้อมูลที่พอหาได้จากกรมสรรพากรประเทศไทยมีผู้ประกอบการเข้ามายื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษีทั้งสิ้น 2,096,297 ราย (ในปีภาษี 2558 ข้อมูลนี้อาจจะใช้เป็น Indicator เพราะจำนวนผู้ประกอบการมีเพิ่มและลดทุกปี โดยเฉพาะช่วงปีสองปีหลัง มีจำนวนผู้ประกอบการที่ปิดกิจการสูง) โดย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 “ประกอบกิจการในรูปของ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” (ยื่นภ.ง.ด.50) มีจำนวน 510,371 ราย คิดเป็นสัดส่วน 24.35%”
กลุ่มที่ 2 “ประกอบกิจการในรูปของ “บุคคลธรรมดา” ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหลือ 60% (ยื่น ภ.ง.ด.90) มีจำนวนสิ้น 1,585,926 ราย คิดเป็นสัดส่วน 75.65% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด”
นั่นหมายความว่า ประเทศไทยเรามี “ผู้ประกอบการ” หรือ “เจ้าของธุรกิจ” อยู่ในระบบภาษีประมาณ 2 ล้านรายนิดๆ แต่สามารถส่งภาษีให้กับประเทศถึง 694,606.74 ล้านบาท
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ประชากรในประเทศไทยเราในปี 2562 มีอยู่ราวๆ 66.5 ล้านคน เป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานราวๆ 40 ล้านคน อยู่นอกระบบภาษี จำนวนราวๆ 28.4 ล้านคน
“ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) จำนวนราวๆ 11.6 ล้านคน แต่มีจำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แค่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนเท่านั้นเอง ที่เหลืออีก เกือบๆ 6 ล้านคน ไม่เสียภาษี เพราะมีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี”
คนที่มีเงินได้สุทธิ มากกว่า 2 ล้านบาท หรือ ที่อยู่ในฐานภาษี 30-35% มีอยู่ราวๆ 8 หมื่นคน เท่านั้นเอง แต่โดยรวมภาษีจากคนทำงานทั้งหมด สามารถส่งภาษีให้กับประเทศถึง 336,227.42 ล้านบาทเลยทีเดียว จะบอกว่าคนทำงานไม่สำคัญไม่ได้
รัฐบาลเขาเอาภาษีที่เก็บมาจากพวกเรา เอาไปทำอะไรบ้าง?
อยากที่เราทราบกันแล้วตั้งแต่ตอนต้น ว่ารายได้ของประเทศของเรามาจากการจัดเก็บภาษี เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและบริหารประเทศ ในด้านต่างๆ อาทิ เช่น ทางด้านเศรษฐกิจ, สุขอนามัย การทำบัตรทอง, การศึกษา, สร้างอาคารหรือห้องเรียนให้กับโรงเรียน, การคมนาคม มีส่วนในการสร้างรถไฟฟ้า ถนน อุโมงค์, การนำไปจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ครู และอื่นๆ
หรือนำไปใช้ในการรักษาความสงบสุขภายในประเทศ รวมไปถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นท่อประปา อาคารของราชการ เสาไฟฟ้า ไฟทาง เป็นต้น
ซึ่งหากว่าประชาชนในประเทศไม่จ่ายภาษี หรือ มีการหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษี รัฐบาลเองก็จะไม่สามารถที่จะหาเงินเพื่อไปพัฒนาประเทศต่อไปได้
เราสามารถหลีกเลี่ยง หรือ หากเราไม่จ่ายภาษี ได้ไหม?
“ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย สำหรับภาษี ทำได้ไหม?”
“ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร” คำว่าบังคับ ก็คือ ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษี (หากมีรายได้สุทธิตามที่กำหนด หรือ มีภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)
“ความผิดในเรื่องภาษี ไม่ว่าจะเป็นเลี่ยงภาษี ไม่จ่ายภาษี หรือ หนีภาษี คือ ความผิดทางอาญา”
หากไม่จ่าย ด้วยมีเจตนาละเลย เพื่อเลี่ยงภาษี ต้องเจอกับโทษหนัก ด้งนี้ มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท จำคุกสูงสุด 1 ปี เสียเบี้ยปรับ คูณ 2 ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย เสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนักตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด จนถึงวันที่จ่ายครบ
หากตัดสินใจหนีภาษี ต้องเจอกับโทษหนัก ด้งนี้ มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 – 200,000 บาท จำคุกสูงสุดตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี เสียเบี้ยปรับ คูณ 2 ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย เสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนักตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด จนถึงวันที่จ่ายครบ
คงเห็นบทลงโทษแล้วว่า ไม่คุ้มเลย หากเลือกที่จะเลี่ยง หรือ หนีภาษี เพราะหากจับได้เมื่อไหร่ อาจจะต้องเจอทั้งจำคุกและค่าปรับ สองเด้งเลยก็ได้ ดังนั้นคำแนะนที่สำคัญก็คือ อย่ามีปัญหาดีกว่า
บทสรุปสำหรับเรื่องนี้
ภาษี ทำไมต้องมี ทำไมต้องจ่าย ตอนนี้เราก็คงได้คำตอบกันแล้ว เพราะ ภาษี คือ รายได้ของประเทศ และ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องเสีย
ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีคำถามบางอย่างในใจบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจต่อรัฐบาลในการนำเงินภาษีไปใช้ หรือ จะเป็นเรื่องของปัญหาการโกงกิน จนทำให้หลายคนไม่อยากจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล แต่นั่นก็เป็นปัญหาที่จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาไปดำเนินการ
เราสามารถติดตามดูการจัดเก็บภาษี หรือ การใช้จ่ายของรัฐบาลได้จากช่องทางนี้ได้เลยครับ https://govspending.data.go.th/
ด้วยเหตุผลดังกล่าว อาจจะทำให้หลายคนไม่อยากจ่ายภาษี ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การไม่จ่ายภาษี ถือเป็นเรื่องที่ผิดตามกฎหมาย
ดังนั้น สำหรับเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจและทำหน้าที่ ที่ถูกต้องในเรื่องของการเสียภาษี และ ต้องเข้าใจในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากสิทธิในการลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราด้วย เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง ธุรกิจของเรา และ เพื่อความถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง
Source:
https://www.dga.or.th/th/content/920/13841/
https://govspending.data.go.th/dashboard/4#/hash/bb
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865140