เรื่องของการ มาสาย หักเงินได้หรือไม่? หรือ มาสายบ่อยๆ จะโดนเลิกจ้างหรือเปล่า สองประเด็นนี้ อาจจะต้องมาทำความเข้าใจในแง่ของกฎหมายแรงงานกันก่อนว่า เรื่องนี้ผิดถึงขนาดที่ต้องถูกหักเงินได้หรือไม่ และ หากผิดซ้ำซาก นายจ้างสามารถเลิกจ้างเราได้เลยหรือเปล่า
กรณีของพนักงานมาทำงานสาย มีหลายกรณี ที่บริษัทเอาเปรียบด้วยการตั้งกฎกติกาที่ทำให้พนักงานเสียผลประโยชน์ หรือ ต้องถูกให้ออก เกิดขึ้นมากมาย อาทิเช่น
“มาสาย ไม่กี่นาที แต่ถือว่ามาสายครึ่งชั่วโมง”
ที่บริษัทแห่งหนึ่ง มีการกำหนดเอาไว้ว่า พนักงานมาสายได้ไม่เกิน 5 นาที หากเกิน 5 นาที แต่ไม่เกิน 30 นาที จะถือว่าเป็นการสาย 30 นาที หรือ ครึ่งชั่วโมง และก็จะเอายอดทุกๆ การมาสายแต่ละครั้ง (ถึงแม้ว่าจะมาสายแค่ไม่กี่นาที) เอามาใช้ในการคิดหักเงินเดือน
“มิเตอร์เก็บเงินทุกนาที ที่มาทำงานสาย”
หรือ ตัวอย่างของอีกบริษัทนึง ซึ่งมีการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือลดการมาสายของพนักงาน โดยมีการกำหนดบทลงโทษพนักงานที่มาสายเอาไว้ ดังนี้ พนักงานที่มาตอกบัตรสาย จะถูกหักเงินเดือนนาทีละ 10 บาท หรือ ในหนึ่งเดือน หากพนักงานคนเดิมมาสายเกิน 5 ครั้ง (ถึงแม้ว่าต่อครั้ง ไม่กี่นาที) ก็จะถูกหักเงินเดือนเหมารวมขั้นต่ำ 1,500 บาท
“มาสาย ต้องทำโอที ทดแทน”
บริษัท มีการกำหนดเอาไว้ว่า หากพนักงานมาสาย ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม จะต้องมาทำงานล่วงเวลา (OT: Over Time) ชดเชยเวลาที่มาสาย
“มาสาย แค่ครั้งสองครั้ง ก็โดนไล่ออกเลย”
บริษัท มีการกำหนดเอาไว้ว่า หากพนักงานมาสาย ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม บริษัทสามารถให้ออกได้เลย โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
หรือ กรณีที่พนักงานมาสาย 3 ครั้ง ให้ถือว่าเท่ากับ โดนหักเงินเดือน 1 วัน เป็นต้น
ทุกกรณีที่กล่าวมานั้น ไม่ถูกต้อง และ บริษัท จริงๆ แล้ว ก็ไม่สามารถดำเนินการลงโทษพนักงานแบบนั้นได้ เพราะขัดต่อข้อกฎหมาย สิ่งที่ถูกต้องก็คือ
นายจ้างไม่สามารถหักเงินค่าจ้างของลูกจ้าง ด้วยเหตุผลว่ามาสายไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายแรงงาน
อ้างอิง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ได้ระบุเอาไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด”
แต่บางทีลูกจ้างบางคน ก็มาสายเป็นประจำจริงๆ อาจจะด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือ ด้วยปัญหาจากพฤติกรรมของตนเอง หากเป็นแบบนี้ ทางนายจ้าง หรือ บริษัท ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้ได้ คือ หากเป็นการมาสายครั้งแรก ก็ทำการตักเตือนด้วยวาจา หากมีการมาสายเกิดขึ้นซ้ำอีก ก็ทำการตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษร และ หากผิดซ้ำซากในเรื่องเดิม นั่นก็คือ เรื่องมาสาย นายจ้างสามารถยกเลิกการว่าจ้าง โดยทางนายจ้างไม่ต้องเสียเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง
“แต่ก็ไม่ใช่ว่า มาสายบ่อยๆ แล้วจะรอด”
ข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าพิจารณาตาม มาตรา 119(4) แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ จะพบว่า ถ้าลูกจ้างทำผิดระเบียบข้อบังคับฯ ในเรื่องไม่ร้ายแรง เมื่อนายจ้างได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว (มีข้อความในลักษณะเป็นคำเตือนที่ชอบ) และ ภายใน 1 ปี ลูกจ้างคนเดิม มากระทำความผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันกับที่นายจ้างได้เคยเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้ เพราะลูกจ้างทำผิดซ้ำได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นั่นหมายความว่า นายจ้าง หากได้ออกหนังสือเตือน 1 ครั้งแล้ว ลูกจ้างมาทำผิดอีกภายใน 1 ปี นายจ้างก็จะสามารถเลิกจ้างได้
ดังนั้นกรณีที่พนักงานมาสาย และได้รับการตักเตือนด้วยวาจาในครั้งแรก และ ได้รับการตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษรในครั้งที่สอง และ หากพนักงานคนเดิมมาสายอีกในครั้งที่สามภายในปีเดียวกัน บริษัทก็สามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้เลย
นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างทำโอทีชดเชย แทนการมาสายได้ เพราะผิดกฎหมายแรงงาน
อ้างอิง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความสมัครใจจากลูกจ้างก่อน”
นายจ้างจะไม่มีสิทธิ์บังคับให้ลูกจ้างทำโอที โดยไม่แจ้งลูกจ้างก่อน และการที่ทำโอทีในแต่ละครั้งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม หรือ ค่าล่วงเวลาตามที่กฏหมายแรงงานกำหนด ดังนั้น นายจ้างควรหันไปใช้มาตรการเรื่องการตักเตือนจะดีกว่า
เรื่องของการมาสาย ไม่สามารถนำมาชดเชยด้วยการมาทำโอทีเพิ่ม หรือ ชดเชยในรูปแบบของการหักเงินเดือน หรือ หักค่าจ้าง เพราะการทำแบบนี้ ผิดกฎหมาย หากฝ่าฝืน นายจ้างอาจ โดนโทษสูงสุดคือ จำคุก 6 เดือน หรือ ปรับ 1 แสนบาท
สำหรับกรณีที่นายจ้าง สามารถหักค่าจ้างของลูกจ้างได้ ตามกฎหมาย อ้างอิง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็มีได้ดังต่อไปนี้
- หักเพื่อ นำไปชำระภาษีเงินได้ ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมาย
- หักเพื่อ ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
- หักเพื่อ ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว
- หักเพื่อ เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
- หักเพื่อ เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม อันนี้ เป็นการหักเพื่อชำระกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การมาสาย ไม่ใช่เป็นผลดีกับตัวเราเองอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม การมาสายก็ถือเป็นการผิดระเบียบในการทำงาน ถึงแม้ว่าตามกฏหมาย นายจ้างจะไม่สามารถหักเงินลูกจ้างได้ แต่ก็อาจจะหันไปใช้วิธีการลงโทษในด้านอื่นๆ เช่น นำไปใช้ในการประเมินผลงานประจำปีในการขึ้นเงินเดือน หรือ ใบนัส หรือ การเลื่อนตำแหน่งในองค์กร เป็นต้น
หรือ อีกทางเลือกนึงที่นายจ้างสามารถเลือกใช้ได้ สำหรับกรณีที่พนักงานมาสาย นั่นก็คือ การ No work No pay หมายถึง หากไม่ทำงาน ก็จะไม่จ่ายค่าจ้าง
ซึ่งวิธีการนี้ ก็ถือเป็นสิทธิ์ของนายจ้างที่จะทำได้ เพราะวิธีนี้ที่สามารถนำมาใช้ได้ ก็เพราะว่าสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างลูกจ้างก็มีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง ตามที่ตกลงไว้เช่นเดียวกัน
เมื่อใดก็ตาม ที่ลูกจ้างทำงานไม่ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามระยะเวลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานได้ ด้วยการคำนวณสะสมระยะเวลาที่ลูกจ้างมาทำงานสายในแต่ละเดือนว่าในเดือนนั้นๆ ลูกจ้างมาสายกี่นาที หรือกี่ชั่วโมง เพื่อมาใช้ในการคำนวณเวลาที่หายไปของลูกจ้างต่ออัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมง เพื่อจ่ายค่าจ้างตามความเป็นจริง
บทสรุป
ถึงตรงนี้แล้วคงรู้แล้วว่า มาสาย หักเงินได้หรือไม่? และ หากมาสาย มีสิทธิ์โดนเลิกจ้างได้หรือไม่?
เรื่องของ กฎหมายแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่อยากโดนเอาเปรียบ หรือ ไม่อยากทำผิดโดยไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เราต้องศึกษาถึงเงื่อนไข และข้อกำหนดให้ละเอียดถี่ถ้วน มิฉะนั้น เราอาจจะต้องกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และ อาจทำผิดกฏหมายได้
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง?
ถูกเลิกจ้าง และ ให้ออกจากงานแบบกระทันหัน ต้องทำอย่างไรดี?
โดนเลิกจ้าง แต่ได้รับเงินค่าชดเชย ถือเป็นรายได้ไหม หรือ ต้องเสียภาษีอย่างไร?