รักในสิ่งที่ทำ กับ ทำในสิ่งที่รัก หากเราต้องมาเจอกับคำถามนี้ จะเลือกอย่างไหนดี? เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ คงจะตอบว่า อยากได้ “ทำในสิ่งที่รัก” เพราะมีคนมักพูดว่า การได้ทำในสิ่งที่รัก จะมีความสุข และ เพราะมีคนบอกว่า มันคือ passion หรือ ความหลงใหล หรือ ทำแล้วเรามีความอิ่มเอม มีความปิติ หรือ อาจจะมีอีกหลากหลายเหตุผล
“แต่เอาเข้าจริง เราสามารถเลือกได้จริงหรือเปล่า หากเราเลือกที่จะทำแต่สิ่งที่รัก ด้วยเงื่อนไขว่า ต้องรักสิ่งนั้นจริงๆ ถึงจะทำได้ มันมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?”
อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องกลับมาดู บนพื้นฐานของความเป็นจริง ที่ว่าสิ่งที่เราบอกว่า เรารัก เราชอบที่จะทำมัน มีให้ผลลัพธ์กับเราในด้านไหนบ้าง? เช่น มันให้ความสุขกับเราได้ เพียงแค่ระยะสั้นหรือเปล่า?
และต้องลองถามตัวเองดู ถ้าวันนี้ของปีหน้า เรื่องนี้ยังจะใช่สิ่งที่เรารัก และเรายังคงจะรักที่จะทำมันอยู่ไหม? มันสร้างรายได้ หรือ สร้างอนาคตที่ดีให้เราได้หรือเปล่า?
เรื่องบางเรื่อง อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ เงื่อนไขของการดำรงชีวิตได้ในตอนนี้ เราก็ควรพัก หรือ ชะลอเอาไว้ทำในตอนที่พร้อมกว่านี้ ก็ยังไม่สาย บางคนบอกว่า นี่คือ passion ของพวกเขา ถ้ามันใช่ก็ดี แต่ถ้ามันไม่ใช่หละ ผลที่ตามมา จะเป็นอย่างไร?
บางคนถึงกับทิ้งงานประจำ ทิ้งโอกาสในหน้าที่การงาน เพื่อไปตามหา passion (ตามคำชักชวนของกูรูทั้งหลาย) 1 ปีผ่านไป ก็ยังหาไม่เจอ ใช้เงินเก็บจนหมด ในที่สุดก็ต้องกลับมาทำงานประจำเช่นเดิม ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่รู้เลยว่าไอ้ passion ที่ว่านั้นคืออะไร
บางคนทำงานประจำสายการเงิน แต่มีความสามารถพิเศษ ในการวาดรูปการ์ตูน มีกูรูแนะนำว่าควรไปเอาดีด้านนี้ไปเลย เพราะนี่คือ passion ของน้องเขา บิ้วจนน้องเขาลาออก กะว่าจะไปเอาดีในการวาดรูปขาย เพราะตอนทำงานประจำ มีรายได้เสริมจากการวาดรูปนิดหน่อย กะว่าถ้าออกแล้วจะไปทำเต็มตัว และคาดว่าจะปัง ผลปรากฏว่าพัง ล้มไม่เป็นท่า
น้องเขาไม่เข้าใจการเป็น freelance และ ก็ไม่รู้ว่าจะหาลูกค้าจากที่ไหน หลังจากลาออกมาแต่ละเดือน ก็ได้งานไม่กี่ชิ้น เงินที่ได้ ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ในที่สุด ก็ต้องกลับมาทำงานประจำเช่นเดิม นี่เป็นแค่ตัวอย่างจริง ของคนในยุคนี้ ที่ใช้คำว่า passion เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ หรือ ใช้เป็นเหตุผลในการคิดเข้าข้างตนเอง
“Passion อาจจะเป็นเพียงแค่ข้ออ้าง ในการเลือกก็ได้”
เราอาจจะต้องแยกให้ออก passion หรือ ตอนนี้มันคือ สิ่งที่เราอยากลอง บางอย่างยังไม่เคยทำ หรือ ไม่เคยลองด้วยซ้ำ แต่ดันบอกว่าเป็น passion ก็อย่าเพิ่งใจร้อน ให้ไปลองทำดูก่อน ลองไปลองชิมลางดูก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ ก็ยังไม่สาย บางคนพอโดนคนรอบข้าง (หวังดี หรือเปล่าไม่รู้) บิ้วซะจนเสียผู้เสียคน ตัดสินใจผิดชีวิตก็เลยไปไม่รอด ดังนั้นสำหรับ passion คำคำนี้ มันเลยกลายเป็นดาบสองคม ไปซะแล้ว
“งานประจำคือที่ฝึกวิทยายุทธ งานเกษตรคือที่พักผ่อนหย่อนใจ”
Passion อาจจะเป็นแค่งานอดิเรก ที่ทำในยามว่าง ก็ได้ ตัวอย่างเช่น น้องท่านนึง ทำงานประจำ แต่ก็ทำงานเสริม ในยามว่างควบคู่กันไป น้องเขามีสวนเกษตรอยู่ที่บ้าน วันทำงานธรรมดาเป็นวิศวกร วันหยุดก็ไปเป็นเกษตรกร เขาทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว ได้รายได้สองทาง และก็ไม่เห็นเขาต้องลาออกจากงานประจำเลย จนถึงตอนนี้ รายได้จากการทำเกษตรก็แซงหน้างานประจำไปหลายแล้ว แต่เขาก็ยังทำงานทั้งสองควบคู่กันไป น้องท่านนี้ เคยบอกผมว่า งานประจำคือที่ฝึกวิทยายุทธ งานเกษตรคือที่พักผ่อนหย่อนใจ
“Passion อาจจะเป็นเพียงภาพลวงตา ทำให้เรามองไม่เห็นศักยภาพของเราที่แท้จริง”
มีอีกตัวอย่างนึง เช่น ในอดีตน้องคนนี้เกลียดการเป็น Sale เอามากๆ เขาทำงานในสายปฎิบัติการ ที่ต้องทะเลาะกับพวก Sale เป็นประจำ จนวันหนึ่ง มีการปรับโครงสร้างองค์กร น้องเขาถูกย้ายให้มาเป็น Sale เขาไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่ทำ ก็ต้องโดนให้ออก จากจุดเริ่มต้นที่เกลียดอาชีพนี้เข้าไส้ (เกลียดเพื่อนร่วมงานที่เป็น Sale เลยพาลเกลียดอาชีพ Sale ไปด้วย) ทำไปสักพัก ทำไปเรื่อยๆ ปีนึงผ่านไป น้องคนนี้ก็ติด Top Sale ของบริษัท และต่อจากนั้นอีกไม่กี่ปี เขาก็ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย และตอนนี้ เขาได้ออกมาเปิดบริษัทของตนเอง นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขาย มีรายได้ปีละหลายสิบล้านบาท เริ่มต้นจากเกลียด ไม่ชอบงานที่ทำ แต่พอทำไป กลับกลายเป็นรักงานที่ทำซะงั้น แถมบิงโก ได้ดีจากงานนี้เสียด้วย
“งานที่ไม่ใช่ หรือ งานที่ไม่ชอบ หรือ งานที่ดูแล้วยาก มันล้วนซ่อนประสบการณ์และโอกาสดีๆ เอาไว้ทั้งนั้น”
สูตรตายตัว หรือ สมการแห่งความสำเร็จ คงจะไม่มี แต่จากประสบการณ์ทั้งส่วนตัว และทั้งที่เห็นจากคนรอบตัวที่เราประสบความสำเร็จ โดยมากพวกเขาเริ่มจาก สิ่งที่เขาไม่ได้ชอบ สิ่งที่เขาไม่สามารถเลือกได้ทั้งสิ้น แทนที่จะเกลียด แทนที่จะปฏิเสธ พวกเขากลับกลั้นใจและลองทำดูก่อน เพื่อดูว่าถ้าทำไปแล้วพวกเขาจะสามารถพัฒนาต่อยอดกับสิ่งนี้หรืองานนี้ไปได้หรือไม่
ซึ่งโดยมากพบว่า ไปได้ ไปได้ดิบได้ดีกันซะเป็นส่วนมากด้วย อันที่จริง งานที่ไม่ชอบ งานที่ดูแล้วยาก มันล้วนซ่อนประสบการณ์และโอกาสเอาไว้ทั้งนั้น แต่คนส่วนใหญ่ มักเลือกที่จะเลี่ยงงานเหล่านี้ โดยเอาคำว่า มันไม่ใช่งานที่รัก หรือ นันไม่ใช่ passion มาอ้าง ผลที่ตามมา งานเหล่านี้ เลยตกไปอยู่ในมือคนที่มองเห็นโอกาส พวกเขาเลยสามารถก้าวข้ามคนทั่วไป และประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
“รักในสิ่งที่ทำ กับ ทำในสิ่งที่รัก ไม่ว่าจะเริ่มต้นกับด้านไหน เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้”
ถึงตรงนี้ อยากให้พวกเราลองพิจารณาดูในอีกแง่มุมใหม่ และ มองด้วยมุมมองที่เป็นกลางสำหรับคนที่ยังไม่เจองานที่รัก หรือ งานที่ชอบ ถ้าเราปลี่ยนความคิดซะใหม่ ว่าเราจะรักในสิ่งที่เราทำเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นงานที่ชอบ หรือ ไม่ชอบก็ตาม
การที่เรามีมุมมองแบบนี้ มันจะเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ และ แสดงถึงการหลุดพ้นจากการเลือกที่จะทำ ผลที่ตามมาคือ เส้นทางของอาชีพและโอกาสของเราจะเปิดกว้างมากมายมหาศาล คนที่ทำได้แบบนี้ การหางาน หรือ จะไปทำธุรกิจเองก็ไม่ยาก ลุยได้สบายหายห่วง
สำหรับคนที่เจองานที่รักหรืองานที่ชอบแล้ว ก็ถือว่าโชคดี แต่ก็อย่าทำงานนั้นเพียงแค่พอผ่าน หรือ ทำให้ได้แค่ตามมาตรฐาน แต่จงทำงานนั้นให้สุดฝีมือ เอาให้ดีสุดๆ เรียกได้ว่า เราเป็นจอมยุทธอันดับต้นๆ ในยุทธจักรไปเลย ไหนๆ เราก็เริ่มต้นด้วยการเจองานที่รักแล้ว ก็ควรจะต้องทุ่มเท และเอาดีให้สุดๆ ผลที่ตามมา เราก็อาจจะกลายเป็นตัว Top ในสายงานนั้นๆ ได้สบายเลย ชอบด้วย เก่งด้วย ดังด้วย แถมได้เงินดีด้วย เพราะเราได้อยู่เบอร์ต้นๆ ของวงการ
บทสรุป
เพราะชีวิต อาจจะไม่ได้มี option มากมายสำหรับเรา แต่เราสามารถเริ่มต้นด้วยการรักในสิ่งที่ทำก่อนได้ แล้วสิ่งนั้นมันจะนำพาเราไปเจองานที่เรารักเอง
รักในสิ่งที่ทำ มันต่างจาก ทำในสิ่งที่รัก เยอะ แอดมินคิดว่า เรื่องนี้มันอยู่ที่เรา ว่าเรามองสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ด้วยมุมมองแบบไหน การที่เรารักในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ชอบ หรือ ไม่ชอบ มันเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ
แต่ในอีกมุมนึง ทำในสิ่งที่รัก มันก็เป็นอีกแบบ คนที่เจอสิ่งที่ชอบและได้ทำในสิ่งที่ใช่ ถ้าเขาสามารถต่อยอดต่อไปได้ ก็ถือว่ายอดเยี่ยมไปเลย แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รักในตอนนี้ อาจจะไม่ใช่ในวันหน้าได้ และ บางครั้งมันก็ยาก ที่จะค้นพบเจอว่า สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รักคืออะไร?
สรุปว่า หนทางที่เรียบง่าย ก็คือ เริ่มต้นด้วยรักในสิ่งที่ทำ แล้วมันจะพาเราไปเจอทำในสิ่งที่รัก นั่นเอง
บทความ แนะนำ :
เป้าหมายในชีวิต จำเป็นต้องมีไหม? แล้วความฝันกับเป้าหมายใช่เรื่องเดียวกันหรือเปล่า?