ลาป่วยบ่อย หัวหน้าเขา ก็เอาเรื่องนี้ไปเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างเรา เขาทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ และถือเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่?
คนทำงานอย่างเรา ทำงานหนัก ก็ย่อมมีวันเจ็บป่วย ไม่สบายกันได้ แต่ก็มีบางบริษัท ถึงกับเอาเรื่องจำนวนวันลาป่วย ของพนักงานมาเป็นตัววัดผล ประเมินผล หรือ เอามาเป็นเกณฑ์ในการเลิกจ้างกันเลยทีเดียว แบบนี้บริษัท ทำเกินไปไหม?
สมมุติว่า ถ้าหากบริษัทมีพนักงานคนนึง ลาป่วยบ่อย ปีนึงราวๆ 30 วันล่ะ นั่นหมายความว่า พนักงานคนนี้ ในปีนั้น มาทำงานแค่ 230 วัน (ถ้าทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก็คือ 260 วันต่อปี)
และพนักงานคนเดียวกันนี้ ลาป่วยบ่อย แบบนี้ทุกปี บริษัท หรือ หัวหน้า จะทำอย่างไร?
จะให้พนักงานคนนี้ทำงานต่อไปไหม?
สำหรับเรื่องของ การลาป่วย
ถือเป็นเรื่องที่พนักงานทุกคน มีสิทธิ์ ที่จะลาป่วยได้ ถ้าหากเจ็บป่วยจริง แต่จะต้องทำให้ถูกต้องการกฎหมายด้วย
ป่วยจริง แล้วมีการ ลาป่วยบ่อย ไม่มีใครว่า ถ้างานไม่เสียหาย
แต่หลายๆ กรณี พบว่า พนักงานป่วยปลอม หรือ ป่วยการเมือง เช่น บอกหัวหน้าว่าลาป่วย แต่ดันไปเดินห้าง แถมถ่ายรูปมาลง Facebook ให้เพื่อนๆ ที่ทำงานเห็นอีก การทำแบบนี้ ไม่เป็นผลดีกับตัวเองเลย ถ้าบริษัท หรือ หัวหน้ารู้เข้า อาจจะโดนเลิกจ้างได้
ในบางกรณี พนักงานป่วยจริงๆ เป็นโรคที่เรื้อรัง จำเป็นต้องลาไปหาหมอ หรือ ลาป่วยบ่อยๆ บริษัท หรือ หัวหน้า สบโอกาส กดดัน พนักงงานคนดังกล่าว และ หาเหตุเลิกจ้าง เพราะอาการป่วยบ่อย แบบนี้ก็ถือว่า ไม่ยุติธรรม ได้
ดังนั้น เรามาดูกันว่า กรณีของการลาป่วย ที่ถูกต้อง ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?
สิทธิวันลาป่วยที่ลูกจ้าง หรือ คนทำงาน ทุกคนควรรู้
ตามกฎหมายแรงงาน ในรอบการทำงาน 1 ปี โดยอ้างอิงปีงบประมาณของบริษัท เช่น ตามปีปฏิทิน เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม หรือ หากเป็นองค์กรของรัฐ หรือ เอกชนบางแห่ง ปีงบประมาณอาจจะเริ่มเดือนตุลาคม ถึงเดือนกันยายนปีถัดไป เป็นต้น
อ้างอิงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ถ้าภายในการทำงาน 1 ปี หากเราสุขภาพไม่ดี และมีอาการเจ็บป่วยจริง ก็สามารถใช้สิทธิ์ ลางานได้ตามความเป็นจริงได้ โดยตลอดระยะเวลาที่เราป่วย เราจะต้องได้รับค่าจ้าง (หรือเงินเดือน) ตลอดระยะเวลาที่ลาป่วย แต่ทั้งนี้ภายในหนึ่งปีต้องไม่เกินกว่า 30 วัน
แต่ถ้าหากเราป่วยติดต่อเกินกว่า 30 วัน ในส่วนวันที่เกินจาก 30 วัน เราจะไม่ได้รับค่าจ้าง (หรือเงินเดือน) และ หากเราไม่สบาย และลาป่วยติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างมีสิทธิ์ขอดูใบรับรองแพทย์ ได้ด้วย เราก็ต้องแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลของทางราชการ
ประเด็นเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับเรื่องการลาป่วย
พนักงานสามารถลาป่วย เกิน หรือ มากกว่า 30 วัน ได้หรือไม่?
- ทำได้ พนักงานสามารถลาป่วยเกินกว่า 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ได้ แต่นายจ้าง หรือ บริษัท จะจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแค่ 30 วัน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การที่เราลาป่วยมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการทํางาน ซึ่งนายจ้างหรือบริษัท เขาก็อาจจะใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลในการเลิกจ้างเราได้ ซึ่งการเลิกจ้างแบบนี้ จะต้องเป็นการเลิกจ้างที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
ถ้าเราลาป่วยเกิน 3 วันไปแล้ว ไม่มีใบรับรองแพทย์ จะเป็นอย่างไร?
- ถือว่าเป็นการทำผิดระเบียบการลาป่วย เพราะพนักงานไม่มีใบรับรองแพทย์ ซึ่งอาจจะต้องโดนตักเตือนในเรื่องของการทำผิดระเบียบ และดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างนายจ้าง หรือ บริษัท กับตัวพนักงาน ซึ่งอาจจะมีผลต่อการประเมินผลงานประจำปีได้เช่นกัน แต่ถ้าหากสืบทราบว่าไม่ได้เป็นการป่วยจริง ก็จะกลายเป็นเข้าข่ายการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งอาจจะโดนเลิกจ้างได้
ถ้าเราลาป่วยไม่เกิน 3 วัน จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ มายืนยันไหม?
- ไม่จำเป็น เพราะไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย แต่ถ้าหากนายจ้าง หรือ บริษัทเรียกร้องขอใบรับรองแพทย์จากพนักงาน การกระทำแบบนี้ ถือว่ากำลังทำผิดกฏหมายแรงงานมาตรา 32 ซึ่งเป็นกฏหมายที่อยู่เหนือกฏระเบียบบริษัท
ถ้าเป็นการลาป่วยไม่จริง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร?
- ป่วยการเมือง หรือ ป่วยปลอม ถือว่า พนักงานละทิ้งหน้าที่ และอาจจะเข้าข่ายเจตนาทุจริตต่อนายจ้างหรือบริษัทได้ ซึ่งในกรณีนี้ นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ หากนายจ้าง หรือ บริษัท พิสูจน์ได้ว่าพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้ว่าป่วยไม่จริง
ถ้าหากเป็นพนักงานรายวัน มีสิทธิ์ลาป่วยไหม?
- ทำได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว พนักงานรายวัน ก็มีสิทธิเท่ากับพนักงานทั่วไปนส่วนของการลาหยุดและลาป่วย อ้างอิงกฎหมายแรงงาน มาตรา 32 คุ้มครองแรงงาน 41 ซึ่งข้อกำหนดและกติกาก็เหมือนเดิม ก็คือ พนักงานต้องป่วยจริง และ ต้องลาไม่เกิน 30 ครั้งต่อหนึ่งปี
หากไม่สบายและมีการลาป่วยคร่อมวันหยุด หรือ ติดวันหยุด ทำได้หรือไม่?
- การลาป่วยคร่อมวันหยุด หรือ ติดวันหยุด เช่น ลาป่วยวันจันทร์ ก็จะได้หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และ จันทร์ เสียวันลาวันเดียว แต่ได้หยุดยาว 3 วัน เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ ถือว่าพนักงานใช้วันลาไปวันเดียว กรณีของการลาคร่อม หรือ ติดวันหยุด นายจ้าง หรือ บริษัท ไม่สามารถออกกฎบังคับ ไม่ให้พนักงานลาป่วยได้ เพราะจะเป็นการขัดกับกฎหมาย ในส่วนสิทธิ์ของพนักงาน หากไม่สบายจริงๆ หรือ ป่วยจริงๆ ก็สามารถลาวันไหนก็ได้ แต่ก็ไม่ควรลาป่วย จนต้องเกิดผลกระทบต่อการทำงานก็แล้วกัน
บทสรุป
ดังนั้นหากใครปฏิบัติตาม กฎหมายข้างต้น และถูกนายจ้าง กลั่นแกล้งเพราะมองว่าเป็นคนขี้โรค หรือเห็นว่าลางานบ่อยไม่คุ้มค่าจ้าง และไล่ออกจากงาน ถือเป็นการ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างสามารถ เรียกค่าเสียหายและเงินชดเชย เลิกจ้างได้
ดังนั้น ในเรื่องของการลาป่วย ถ้าเราไม่ผิดตามเงื่อนไข เราย่อมสามารถลาป่วยได้ เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ อย่าถึงกับต้องล้มป่วยแล้วต้องมาทำงาน เพราะถ้าเราเสียชีวิตไป มันไม่คุ้มเอาซะเลย
ถ้าเราไม่ผิดตามเงื่อนไขของการลาป่วย (ทำถูกต้องทุกขั้นตอน) แต่บริษัท ก็เอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุในการเลิกจ้างเรา เราก็สามารถสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทได้ ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สุดท้าย เราก็อย่าลืมไปว่า เราเองก็เป็นคนนะไม่ใช่เครื่องจักร ป่วยกันได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม www.moj.go.th
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ลาออก จำเป็นไหมต้องบอกล่วงหน้า หากอยากออก จำเป็นไหม ต้องรอถึง 30 วัน?