ลาออกเพราะเจ้านาย กลายเป็นเหตุผลอันดับหนึ่ง ที่ทำให้คนทำงานหลายคนจำใจต้องเปลี่ยนงาน ถึงแม้ว่าเนื้องานจะดี เพื่อนร่วมงานก็ดี แต่ถ้าหากหัวหน้าไม่ดี ก็ตัดสินใจอยู่ต่อไปไม่ได้
ดังตัวอย่างจากเรื่องจริงและสถานการณ์จริง ที่มาจากเรื่องเล่าของแฟนเพจท่านนึง
ในที่ทำงานแห่งหนึ่ง เหตุการณ์เกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์
เจ้านายกำลังชี้หน้า ต่อว่าลูกน้องคนนึง ด้วยอารมณ์ที่ฉุนเฉียว
“เธอมันชุ่ยจริงๆ ทำงานลวกๆ ทำงานง่ายๆ แค่นี้ ก็ผิดอีกแล้ว”
“ทำงานมาก็หลายปีแล้ว ทำได้แค่นี้เองรึ?”
“ตกลงที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ไม่เข้าใจรึไง ไม่เข้าใจ ทำไมไม่มาถาม?”
“ฉันคิดว่า ถ้าเธอยังทำได้แค่นี้ ถึงเวลาที่เธอควรจะพิจารณาตนเองบ้างได้แล้วนะ ว่าควรจะทำงานที่นี่ต่อไปไหม?”
ทำไม เจ้านายถึงไม่เคยพอใจกับงานที่เราทำสักที?
แอม บ่นพึมพำกับตนเอง หลังจากที่เพิ่งโดนเจ้านายจัดหนักมาหมาดๆ
“ดูเหมือนว่า เจ้านายจะไม่ชอบเราเอามากๆ”
“ทำอะไรก็ผิดไปหมด ทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจ”
“ทำอะไรส่งไป ก็คอยแต่จะหาข้อผิดพลาดมาตำหนิเรา มาว่าเราอยู่เรื่อย”
และ “ก็ชอบตำหนิเราต่อหน้าคนอื่นบ่อยๆ ทำให้เราหมดความมั่นใจ”
อย่างเรื่องการประชุมครั้งล่าสุด “ก็ตำหนิเราต่อหน้าหน่วยงานอื่น หาว่าเราเตรียมข้อมูลมาไม่ครบ หาว่าเราทำสไลด์ไม่ดี หาว่าเราให้ข้อมูลไม่ชัดเจน”
“นับวันยิ่งรู้สึกแย่มาก เครียดมาก และไม่มีความสุขเลย กับการทำงานกับเจ้านายนิสัยแบบนี้”
“เจ้านาย เขามีอคติกับเรามากแบบนี้ ถึงเราจะตั้งใจทำงานไป หรือ ทำดีกับเขายังไง ก็ไม่มีประโยชน์”
แอม พูดกับตัวเองต่ออีกว่า “จริงๆ ฉันเองก็เก่ง และมีความสามารถ ทำงานมาก็หลายที่ ก็มีแต่คนชื่นชม”
“แต่ทำไมเจ้านายจ้องจะเล่นงานแต่ฉัน เพื่อนร่วมงานก็ไม่เคยคิดจะช่วย มีแต่คิดที่จะซ้ำเติม”
“ฉันผิดตรงไหน งานที่ทำก็ออกมาไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้น จะมากล่าวหากันแบบนั้นได้อย่างไร”
“แล้วเรื่องอะไร ฉันจะต้องไปยอมทนอยู่กับเจ้านายแย่ๆ เจ้านายที่มีอคติแบบนี้”
“พอกันที กับเจ้านายเฮงซวย พอกันทีกับเพื่อนร่วมงานห่วยๆ”
สามปีกับที่นี่ มันคงต้องถึงวันที่จะต้องตัดสินใจ…..
หนึ่งอาทิตย์ถัดมา แอมจึงตัดสินใจที่ยื่นใบลาออกทันที
โดยหลังจากที่เธอส่งจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการ แอมก็ประกาศกร้าวในแผนกว่า “เชิญพวกเธอทำงานที่นี่ต่อไปได้เลย งานที่ไม่มีอนาคต กับเจ้านายที่ไม่ให้อนาคต และ กับบริษัทไร้อนาคต”
แอมกล่าวอย่างสะใจว่า “ตอนนี้ ฉันมีงานใหม่ กับบริษัทใหม่ที่เจ๋งกว่าใหญ่กว่า รอคนเก่งอย่างฉันไปทำงานด้วย”
สี่เดือนผ่านไป กับบริษัทใหม่
แอม เดินออกจากห้องเจ้านาย ด้วยสีหน้าและอารมณ์ที่หงุดหงิด
“เจ้านายงี่เง่ามาก นี่มันกี่ครั้งแล้ว งานแค่นี้ต้องมาคอยจิก คอยตามด้วย น่ารำคาญ”
“คอยแต่จะจ้องจับผิดเรา นี่ไม่ไว้ใจกันเลยใช่ไหม ตามเช็คกันทุกเรื่อง ทุกงานเลย”
“จู้จี้มาก แถมขี้บ่นอีก ไม่ทนมันแล้ว อยู่ไปก็ไม่ Happy”
“มีบริษัทใหญ่ๆ อีกถมไป ที่ต้องการเรา ขืนอยู่ที่นี่ต่อไป เสียเวลากับคนแย่ๆ แบบนี้ไปปล่าวๆ”
และแล้ว แอม ก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัทล่าสุด หลังจากที่เพิ่งทำงานไปได้ สี่เดือนกว่าๆ
พวกเราคิดว่า ชีวิตของแอม ต่อจะเป็นอย่างไรต่อไป?
หางานใหม่? เพราะ ลาออกเพราะเจ้านาย
แอม อาจจะโชคดี หางานใหม่ ได้ไม่ยาก ด้วยเพราะอายุเพิ่งจะ 30 ต้นๆ บวกกับผ่านงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงมาหลายบริษัท
แต่โอกาสที่จะต้องเจอกับเจ้านายแย่ๆ แบบเดิม มีไหม?
มันก็มี มันก็เป็นไปได้ แต่ก่อนที่จะโทษแต่คนอื่น แอมเองก็ควรจะต้องหวนกลับมาดูตัวเองด้วย
เพราะทุกๆ ปัญหา ที่เกิดกับตัวแอม มีผลมาจากบางสิ่งบางอย่าง หรือ หลายสิ่งหลายอย่างที่แอมได้ก่อเอาไว้ หรือ ทำลงไปด้วย เช่นกัน
อยู่ดีๆ คงไม่มีเจ้านายคนไหน อยากจะมาหาเรื่องหรือจ้องจับผิดลูกน้องที่เก่งจริง มีความสามารถจริง และทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมหรอก
มันต้องมีอะไรบางอย่าง เช่น ความผิดพลาด ความบกพร่อง หรือ อื่นๆ ที่ทำให้เจ้านายมองเห็นแล้วว่า ไม่ควรปล่อยให้งานของแอมผ่านไปได้ง่ายๆ หรือ ไม่ควรปล่อยให้แอมทำงานโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้
ลาออกดีไหม? ลาออกเพราะเจ้านาย คือ การแก้ปัญหานี้ หรือ เปล่า?
สำหรับการลาออก เพื่อไปหางานใหม่ มันอาจจะทำได้สำหรับบางคน
แต่หลายๆ คนอาจจะทำไม่ได้ เพราะทางเลือกของพวกเขาอาจจะไม่ได้มีมากมาย หรือ พวกเขาก็มีข้อจำกัดมากมายเช่นกัน ที่ทำให้ไม่สามารถหางานใหม่ได้ หรือ เปลี่ยนงานได้ เช่น ข้อจำกัดเรื่องอายุ ข้อจำกัดเรื่องประสบการณ์ ตำแหน่ง ฐานเงินเดือน สวัสดิการ หรือ ในประเด็นเรื่องอื่นๆ
การจบปัญหา ด้วยการลาออก จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป
เพราะถึงแม้จะลาออกไปแล้ว มันก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า ในที่ทำงานใหม่ เราจะไม่เจอกับปัญหานี้อีก
ก็เหมือนกับแอม ที่ตัดสินใจลาออกไป ไม่ทันไร ก็ต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ อีก
จุดเริ่มต้นของปัญหานี้ (ตัวอย่างของแอม) เกิดขึ้นมากจาก แอมกำลังหลอกตัวเอง (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Self-Deception)
อาการหลอกตัวเอง ก็คือ การที่เราพยายาม ปฏิเสธว่าตัวเราเองมีปัญหา ด้วยการมองสิ่งรอบๆ ตัวบิดเบือนไปหมด และ พยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างตนเอง หรือ อะไรก็ตามมาเป็นปัญหาแทน หรือ ไปกล่าวโทษสิ่งอื่นแทน
ซึ่งในกรณี ลาออกเพราะเจ้านาย นี้ แอมกำลังโทษเจ้านายว่าเป็นตัวปัญหา
“Mindset ของเราทำให้เรามีปัญหา”
เราคิดถึงแต่ตัวเราเองมากเกินไป จนมองคนอื่นไม่สำคัญ และที่แย่กว่านั้น คือ มองคนอื่น (หรือทุกคน) เป็นศัตรู
ผลที่ตามมาก็คือ เราก็ทรยศตัวเราเอง (Self Betrayal) ด้วยการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง
เราทรยศตัวเองอย่างไร?
ยกตัวอย่างกรณีของแอม เจ้านายตำหนิเรื่องผลงานออกมาไม่ดี แทนที่แอมจะลองเปิดใจยอมรับ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือการปรับปรุง
แอมกับทำตรงกันข้ามคือ หาเหตุผลอื่นๆ มาเข้าข้างตนเอง เพื่อปกปิดความบกพร่องของตนเอง เช่นโยนความผิดที่เจ้านายมองว่าแอมไม่ดี ไปให้ตัวเจ้าเองและเพื่อนร่วมงานแทน เป็นต้น
ด้วยเพราะแอม มี Mindset ที่เป็นแบบนี้ ในหนังสือ Outward Mindset : Seeing Beyond Ourselves บอกเอาไว้ว่า คนที่มีทัศนคติแบบแอม คือ คนที่เป็น Inward Mindset กล่าวคือ คิดเข้าข้างตัวเองอย่างหนัก และ ด้วยการที่เป็นคนแบบนี้ จึงไม่มีความสุข และต้องวนเวียนพบเจอกับปัญหาเดิมๆ
ถ้าจะหลุดพ้นวงจร Inward Mindset ให้ได้ก็ต้อง ทำตรงกันข้าม คือ คิดแบบ Outward Mindset นั่นก็คือ “หยุดเข้าข้างตนเอง และ อย่าไปคิดที่จะเปลี่ยนคนตรงหน้า ให้เปลี่ยนที่ตัวเราเอง”
Outward Mindset ทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไป เพราะเป็นการมองผู้อื่นในแบบที่ พวกเขาก็มีคุณค่าและก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเรา เช่น การที่เจ้านายตำหนิเรา ก็เพราะเขาอยากให้ผลงานที่เราทำออกมาดี (ขอให้มองที่เจตนาด้วย ไม่ใช่มองแค่การกระทำอย่างเดียว)
แต่วิธีการสื่อสารของเขาอาจจะไม่ค่อยถูกใจเราสักเท่าไร แต่เจตนาของเขามันคือหวังดี ถ้าเรามองแบบ Inward Mindset ทุกอย่างมันก็จะดูแย่ไปหมด ไม่ใช่แค่กับเจ้านาย หรือ กับ เพื่อนร่วมงาน คนที่แย่ที่สุด ก็คือ ตัวเราเองด้วย
คนเราจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าหากเราไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ หรือ ไม่สามารถทำให้คนอื่นทำงานร่วมกับเราได้
Outward Mindset จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับคนในยุคนี้ ยุคที่คนส่วนใหญ่กำลังขาดความสุขในการดำเนินชีวิต และในการทำงาน
เราสามารถมี Work Life Balance ได้ไม่อยากเลย ด้วยการ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการมี Outward Mindset
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Outward Mindset สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Inward Mindset ของพนักงาน ที่ทำให้บริษัทอาจจะต้องปิดกิจการ
Source:
https://arbingerinstitute.com/Landing/TheOutwardMindset.html