ลาเพื่อพาพ่อแม่ไปหาหมอ หรือ ลาเพื่อไปดูใจพ่อแม่เป็นครั้งสุดท้าย ตามหลักการแล้ว เราสามารถใช้ลากิจได้ แต่เรื่องนี้พนักงานหลายคนอาจจะไม่รู้ จึงเป็นเหตุทำให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ และ หาเรื่องเอาผิดได้ หรือ ให้เราออกได้
หลายกรณีที่พนักงานถูกเอาเปรียบจากการรู้เท่าไม่ถึงการ เช่น ขอลางานพาพ่อแม่ไปหาหมอ เดือนละ 1 ครั้ง แล้วนายจ้างให้ออก (รายละเอียด: https://pantip.com/topic/34563396/page2)
หรือ กรณีล่าสุด พี่กบ ของโรงแรมดังแห่งนึง ปฏิเสธไม่ให้ลูกน้องลางาน กลับไปเพื่อดูใจคุณแมที่กำลังจะจากไป เหตุการณ์คร่าวๆ ก็คือ สืบเนื่องจากแม่ของลูกจ้างสาวรายนี้ ป่วยหนักใกล้จะเสียชีวิต เธอจึงขอลาเพื่อไปดูใจแม่ แต่พี่กบไม่อนุญาต สุดท้ายเธอก็จำเป็นต้องลาจริงๆ เพราะแม่ของเธอเสียแล้ว แต่แทนที่ พี่กบ จะเห็นใจ ยอมให้กลับบ้านไปดูแลเรื่องงานศพ แต่เลือกที่จะตอบกลับไปผ่าน Line Chant เชื้อเชิญให้เธอลาออกไปแทน (รายละเอียดเพิ่มเติม: แรงงาน รอวันจันทร์ เชิญ “พี่กบ-ผู้บริหาร” แจงปมไม่ให้ลางาน)
“แล้วฉันผิดอะไร เรื่องแบบนี้ พี่ควรเห็นใจ หรือเข้าใจหรือเปล่า เกินไปไหม?”
ประโยคตัดพ้อที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับ ภาพ Line Chat ที่พนักงานสาวท่านนี้ พูดคุยโต้ตอบกับ พี่กบ HR ถูกแชร์ออกมาโลกออนไลน์ ก็เกิกปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชาวเน็ตมากมายร่วมกันแชร์โพสต์นี้ เกิดรถทัวร์ลงหนักกับโรงแรมดังที่ พี่กบ ทำงานอยู่ ทีวี สื่อออนไลน์ต่างก็เอาเรื่องนี้มาแชร์ วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย และยังไม่พอในด้านกฎหมาย ทั้งทนายดังๆ หลายคน ก็พูดถึงเรื่องนี้ ตัวแทนจากกระทรวงแรงงานก็ได้สั่งการณ์ตรวจสอบเหตุแล้ว
“พี่กบ HR คือ กรณีศึกษาที่สำคัญมาก”
เรื่องของ Empathy หรือ การเห็นอกเห็นใจ มันเป็นพื้นฐานสำคัญที่มนุษย์ที่ดีพึงมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ พี่กบ ทำงานดูแลพนักงาน เป็นธุรกิจด้านโรงแรม หรือ Hospitality คือ ธุรกิจที่ต้องมีใจรัก ใส่ใจในการให้บริการสูงมาก แต่กลับกลายเป็นว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมา ตรงกันข้ามอย่างสิ้นชิง ผลที่ตามมาสร้างความเสียหายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรและโรงแรม
ถึงตรงนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อรายได้ของโรงแรมหรือไม่ เช่น ลูกค้าจะยกเลิกการจองไหม จะมีผลกับการเลือกเข้าพักหรือเปล่า? กรณีแบบนี้ก็สุ่มเสี่ยงถือเป็นการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม แต่ข่าวล่าสุดทางผู้บริหารโรงแรมก็ได้แจ้งมาว่าไม่ต้องลาออก ให้พนักงานสาวคนดังกล่าวไปดูแลจัดการเรื่องงานศพให้เรียบร้อยแล้วค่อยกลับมาทำงาน
ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องชื่อเสียงเสียหายมาก ทั้งตัว พี่กบ หรือ HR และของโรงแรมเอง ถือว่ายับเยิน เพราะสังคมทั้งโลกออนไลน์ และ ออฟไลน์ ต่างออกมาประนามกันทั่วหน้า ทุกคนอยกรู้ว่า พี่กบ HR จะลงเอยอย่างไร?
สำหรับเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร? ก็ต้องรอความชัดเจน แต่เรื่องนี้ทำให้เราต้องหวนกลับมาทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายกันให้มากขึ้น จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ HR หรือ ผู้บริหารที่จ้องเอาเปรียบพนักงานได้
“ลาเพื่อพาพ่อแม่ไปหาหมอ หรือ ลาเพื่อไปดูใจพ่อแม่เป็นครั้งสุดท้าย ถือเป็นกิจธุระอันจำเป็น หรือไม่?”
อ้างอิงจากเพจกฎหมายแรงงาน ระบุว่า หากเป็นกรณีต้องพาพ่อแม่ไปหาหมอ
กรณีนี้ก็น่าจะถือว่าจำเป็นและต้องดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งการลากิจสามารถลาเพื่อไปทำกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัวก็ได้ เช่น การไปรวมงานสมรส หรืองานบวชของบุตร หรืองานศพของบุคคลในครอบครัว หรือจะลาเพื่อไปทำกิจการของตัวเอง เช่น ทำบัตร ทำใบขับขี่ จดทะเบียนสมรส เป็นต้น
หรือ การทำหน้าที่พาพ่อแม่ หรือพาบุตรไปพบแพทย์ พาไปฉีดวัคซีน ย่อมถือเป็นกิจอันจำเป็น เพราะการดูแลผู้เป็นบุพการี หรือบุตร กฎหมายได้กำหนดให้เป็นพันธะทางศีลธรรม (Moral Obligation) ที่ต้องทำ
ดังนั้น หากเป็นกรณี ลาเพื่อไปดูใจพ่อแม่เป็นครั้งสุดท้าย ก็เข้าข่ายถือเป็น กิจธุระอันจำเป็น เช่นกัน
ลูกจ้างทุกคนจึงสามารถใช้ลากิจได้ อ้างอิงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 41 มาตรา 34 กำหนดเอาไว้ว่าลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยจะได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลากิจ
ซึ่งหากลูกจ้างขอใช้สิทธิ นายจ้างหรือหัวหน้างานก็ควรพิจารณาไปตามสิทธิของเขา โดยพิจารณาเหตุของการลากิจว่าเป็น “กิจธุระอันจำเป็น” หรือไม่ ไม่ใช่ให้ทางเลือกด้วยการให้เขาลาออก
หากลูกจ้างใช้สิทธิลากิจหมดไปแล้ว?
ลูกจ้างก็สามารถใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งตามกฎหมายให้สิทธิได้ 6 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้าง หรือ บางบริษัทอาจจะให้มากกว่า ก็ถือว่าเป็นสิทธิที่ลูกจ้างสามารถใช้ได้
และหากลูกจ้างได้ใช้สิทธิการลากิจ และลาพักร้อนหมดไปเรียบร้อยแล้ว?
ลูกจ้างก็สามารถใช้สิทธิลาพักร้อนแบบไม่รับเงินค่าจ้าง (Unpaid leave) ได้ เช่น ลาวันไหน ก็จะไม่ได้รับเงินเดือนในวันนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถทำได้ ถ้าหากลูกจ้างคนนั้นๆ มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องพาพ่อแม่ หรือ ลูกไปหาหมอ หรือ ต้องลาในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจธุระอันจำเป็นได้
บทสรุป
เรื่องของการลาหยุด หรือ ลากิจ ลูกจ้างเขาก็มีสิทธิที่จะใช้ ถึงแม้นายจ้างก็มีสิทธิที่จะไม่อนุมัติ หากมองว่าการขอลาพักทั้งสองแบบนั้น ไม่เป็นเหตุสมควร ก็สามารถทำได้ แต่จากกรณีของ พี่กบอาจจะถือว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งทั้งตัว พี่กบเองและทางต้นสังกัด ก็ต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์และผลกระทบที่จะตามมา
สำหรับลูกจ้าง เราเองก็ต้องรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาไว้บ้าง รู้ว่าเราสามารถเลือกลาในรูปแบบไหนได้บ้าง จะได้ไม่เสียผลประโยชน์ และไม่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างได้
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏหมายแรงงาน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546
บทความแนะนำ:
หัวหน้ารังแกลูกน้อง มีความเสี่ยง อาจเจอความผิดอาญามีโทษทั้งจำและปรับได้
ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง?