
วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจ เพราะได้นำเสนอมุมมองและวิธีการ ที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการปัญหาเรื่องคนโดยเฉพาะเลย
“เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี เจ้านายไม่ยุติธรรม ลูกน้องทำงานไม่ได้เรื่อง พ่อแม่ชอบเจ้ากี้เจ้าการ ลูกไม่ได้ดั่งใจ ลูกค้าเรื่องมาก”
ปัญหาเหล่านี้ เราก็คงเคยผ่านมาและเจอกันมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทำลายความรู้สึก ความสัมพันธ์และ ที่แย่ไปกว่านั้น อาจจะทำให้หน้าที่การงานของเราย่ำแย่ลง หรือ เสียหายได้
“ในหนังสือเล่มนี้ ได้บอกเอาไว้ว่า ต้นตอของปัญหาทั้งหมดมาจาก “กล่อง” เล็ก ๆ เพียงใบเดียว”

ทัศนคติของเรากว้างไกลแค่ไหน?
หลายคนคิดว่ามุมมองที่เราคิด หรือทัศนคติที่เรามีนั้น กว้างไกล และอาจจะคิดว่าตนเองสามารถมองเห็นถึงจิตใจคนอื่นดี เข้าใจคนอื่นได้ดี แต่ใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าดี หรือ ส่ิงที่เราคิดว่าเราเข้าใจนั้น
แท้จริงแล้ว เราอาจจะไม่ได้เข้าใจคนอื่นเลย เพราะอาจจะเป็นเพราะมุมมองที่แคบของเราเอง ซึ่งอยู่แค่ในกล่องใบที่ใหญ่กว่าตัวเราเล็กน้อย ซึ่งพอที่จะให้เราอยู่ในนั้นได้ต่างหาก และอาจจะเลวร้ายไปกว่านั้นถ้านานไปเราไม่ได้ออกมา แต่กลับดึงคนอื่นๆเข้าไปอยู่ภายในกล่องกับเราด้วย
กล่อง ที่ว่านี่ก็คือ เปรียบเสมือนทัศนคติ กรอบความคิด ประสบการณ์ของเราเอง ซึ่งหลายๆ ครั้งความคิดที่เรามีต่อคนอื่น หรือการตัดสินคนอื่น ก็ไปยึดโยงอาศัยกล่องที่ว่านี่แหละ
ดังนั้น หากเราคิด เราเข้าใจ หรือ มุมมองที่เรามีต่อคนอื่น โดยเอาแต่อยู่ในกล่องของตนเอง ก็จะทำให้เรายึดติดกับความคิดของตนเอง ปฏิเสธว่าตัวเราเองมีปัญหาและ หันไปโทษคนอื่นแทนได้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตัวเรานั้นอยู่ในกล่องหรือนอกกล่อง?
หากเราทุกคนอยากจะสำรวจตัวเอง เพื่อไม่อยากเป็นคนที่อยู่ในกล่องใบแคบๆแล้วล่ะก็ ลองอ่านบทความรีวิวนี้ จะทำให้คุณสามารถเข้าใจความหมายของกล่องใบเล็กๆ และวิธีการที่จะช่วยให้คุณออกมาจากกล่องได้
เพราะในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันนั้น สิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือการพบปะผู้คน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเราลืมตาตื่นนอน เราก็จะพบกับสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ ภรรยา หรือ ลูกๆ หรือ สมาชิกคนอื่นๆ
และ เมื่อเราก้าวออกจากบ้าน ก็อาจจะพบเจอเพื่อนบ้าน หลังจากนั้นในเวลาเกือบครึ่งค่อนวัน เราก็จะต้องอยู่ที่ทำงาน ก็ต้องเจอกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งในทุกๆ วินาที ความความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ล้วนต่างก็มีสิ่งที่ทำให้เราประทับใจ ที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันแบบมีความสุข
แต่เอาเข้าจริง หากโลกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เราอาจจะต้องเจอกับสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือไม่พอใจได้เช่นกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน
ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่หรือภรรยา บ่นที่เราที่เรากองเสื้อผ้าที่ใส่แล้วเอาไว้บนพื้น ลูกของเรากลับบ้านไม่ตรงต่อเวลา เพื่อนร่วมงานของเราทำงานผิดพลาด เราจะมองพวกเขาเหล่านั้นเป็นแบบไหน? ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง ว่าเรามองพวกเขาเหล่านั้นจาก นอกกล่อง หรือ ในกล่อง
ความสัมพันธ์ที่มีแต่ปัญหาเกิดจาก “กล่อง” ใบเล็กๆ ที่กำลังครอบคลุมเราอยู่ เมื่อเราอยู่ในกล่อง เราจะมองว่าตัวเองทำถูกแล้ว และจะหาคนผิดด้วยการโทษคนอื่นๆ เพื่อเป็นเหตุผลมาสนับสนุนตัวเราเอง การทำแบบนี้ก็เพื่อให้คนอื่นเข้ามาอยู่ในกล่องอันน่าสะพรึงนี้ของเราไปด้วย
เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้าความสัมพันธ์ต่างๆก็เริ่มเปราะบาง แต่ก็ยังไม่ใช่บทสรุปของความสัมพันธ์ทั้งหมด จากหนังสือเรื่อง “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” จะสอนให้คุณได้รู้จักการหลอกตัวเองทำให้เราอยู่ในกล่อง ทำไมคนเราถึงสามารถเข้าไปอยู่ในกล่องได้ และสุดท้ายคุณจะออกจากกล่องได้อย่างไร ?
โลกของการหลอกตัวเองที่เรียกว่ากล่อง
โลกที่เราอยู่ในแต่ละวันเราทุกคนต้องเจอเรื่องที่แตกต่างกันออกไป ปัญหาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้สามารถพบเจออยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากภายในครอบครัว หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน และไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากสักแค่ไหน เราทุกคนก็ย่อมมีจุดอ่อนเสมอ
อาทิ เช่น ในที่ทำงาน เมื่อเราทำงานอย่างหนัก ใส่ความตั้งใจและทุ่มเทเกินร้อยให้กับงานนั้นอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ได้รับ ก็คือ กลับถูกโดนตำหนิจากหัวหน้า หรือ ถูกวิพากษณ์วิจารณ์ในทางลบจากเพื่อนร่วมงาน
หรือ ในช่วงเวลาเราอารมณ์เสียใส่ลูกน้องในที่ทำงาน เมื่อเขาพลาด ดันไปลบข้อมูลสำคัญที่เรา ได้เขียนเอาไว้บนไวท์บอร์ด ซึ่งข้อมูลนั้นเราใช้เวลาหลายวันกว่าจะคิดออกมาได้ ซึ่งเราโกรธมาก และ มองว่าลูกน้องเป็นคนผิด ซึ่งการที่เราแสดงอารมณ์เสียออกไป เราถือว่าเป็นสิ่งที่เราคิดว่าตัวเราเองทำถูกแล้ว แต่หากมองกันในแง่ความเป็นจริง ตัวเราเองอาจจะเป็นต้นตอของปัญหาของเหตุการณ์นั้นๆ เองก็เป็นได้
ดังนั้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ “เราไม่รู้ตัว ว่าเรามีปัญหาอะไร?”
นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยู่ใน “กล่อง” การที่เราได้เข้าไปอยู่ในกล่องแล้ว เราก็จะมองคนอื่นว่าเป็นแค่สิ่งของที่เราเองก็ไม่ได้แคร์ว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราแคร์มากที่สุด คือตัวเราเอง
และจากการที่เราอยู่ในกล่องไปเรื่อยๆ สุดท้าย ก็จะทำให้เราต้องเจอกับการหลอกตัวเอง ซึ่งการหลอกตัวเอง จะคล้ายโรคระบาดที่ค่อยๆ กัดกร่อนความสัมพันธ์ต่างๆให้ร้าวฉานจนอาจจะทำให้เราไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้
คนเราเข้าไปอยู่ในกล่องได้อย่างไร?
เมื่อเราเริ่มหลอกตัวเองจนทำให้เกิดกล่องขึ้นมานั้น แต่แท้จริงแล้วเราเข้าไปอยู่ในกล่องได้อย่างไร?
จากหนังสือ วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก ได้กล่าวถึงว่า การที่คนเราที่สามารถเข้าไปอยู่ในกล่องได้ โดยการที่เรา “ทรยศตัวเอง” ซึ่งการทรยศตัวเองคือการที่ เราจะทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของตัวเราเอง ซึ่งในบางครั้งเราก็จะทำบางสิ่งบางอย่าง ให้คนอื่นเพียงเพราะแค่ความรู้สึกของตัวเราเองนั้นมีมากกว่าความรู้สึกของคนอื่น
หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มมองโลกในแบบ ที่หาเหตุผลมาต่างๆนานา ขึ้นมาเพื่อรองรับการกระทำนั้นๆ ที่เราได้ทำมันลงไป จนทำให้เราเริ่มมองสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอย่างบิดเบือน ประหนึ่งว่า ตัวเราเองเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวนั้นๆ และเป็นฝ่ายที่ถูกต้องเสมอ หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มเดินทางเข้าไปสู่ในกล่องที่ล้อมรอบด้วยผนัง 4 ด้านในทันที
“นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของปัญหา ที่เกิดจากการที่เรา กำลังหลอกตัวเอง (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Self-Deception)”
อาการหลอกตัวเอง ก็คือ การที่เราพยายาม ปฏิเสธว่าตัวเราเองมีปัญหา ด้วยการมองสิ่งรอบๆ ตัวบิดเบือนไป และ พยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างตนเอง หรือ อะไรก็ตามมาเป็นปัญหาแทน หรือ ไปกล่าวโทษสิ่งอื่นแทน
โดยท้ายที่สุด เราก็จะได้นิสัยที่เราอยู่ในกล่องติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง และเมื่อเราอยู่ในกล่องแล้ว เราก็จะคอยกระตุ้นคนรอบข้างให้เขาเข้ามาอยู่ในกล่องกับเราด้วย สิ่งนี้จะทำให้เราและคนที่เราเชื้อเชิญเข้ามาในกล่องจะยังคงอาศัยอยู่ในกล่องต่อไป เพราะคนเหล่านั้นจะพยายามหาเหตุผลโดยจะสมรู้ร่วมคิดกันไปทุกเรื่อง นี่คือวิธีการที่เราเข้าสู่กล่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นในที่ทำงาน เช่น หากเราไม่ชอบหัวหน้า (ถึงแม้ว่าความจริงหัวหน้าเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด) เราก็จะหาพวก พยายามหาเหตุผลที่ทำให้หัวหน้าดูไม่ดี มาชักชวนเพื่อนร่วมงานคนอื่นให้เกลียดและไม่ชอบหัวหน้าไปกับเราด้วย ซึ่งหากเพื่อนคนไหน เชื่อตามที่เราบอก นั่นก็หมายความว่า เขาคนนั้นก็ลงมาอยู่ในกล่องไปพร้อมๆ กับเราแล้วนั่นเอง
เราจะสามารถออกจากกล่องได้อย่างไร?
โดยในหนังสือเล่มนี้ ได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดในประเด็นนี้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของเรื่องราวทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่ ถ้าหากเราได้พบกับลูกน้องที่ไม่เก่ง หรือ ไม่มีความสามารถเพียงพอ ในใจของเราในฐานะหัวหน้า เราก็อยากให้ลูกน้องคนนี้ดีขึ้น ความหมายก็คือ เราหวังดี อยากจะเปลี่ยนแปลงคนอื่น เพื่อจะทำให้เราออกจากกล่องได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราทำแบบนั้น เท่ากับว่าเราไปกระตุ้นสิ่งที่เราตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงให้รุนแรงยิ่งขึ้น เท่ากับว่าเป็นการยั่วยุให้คนอื่นมอบเหตุผลให้คุณอยู่ในกล่องมากขึ้น ซึ่งบางทีลูกน้องเขาก็ไม่ได้ต้องการให้เราไปช่วยในการพัฒนาตัวเขาเองก็ได้ หรือ สิ่งที่เราจัดการให้ลูกน้องไป ก็อาจจะทำไปเพราะแค่ไม่อยากให้คนอื่นมองเราว่าเป็นหัวหน้าที่ไม่ดีก็ได้ (ทำไปเพราะไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อลูกน้องจริงๆ)
ดังนั้น “การที่เราพยายามรับมือกับคนอื่น” ก็ไม่ได้ช่วยให้เราออกจากกล่องได้ แต่เป็นการกล่าวโทษคนอื่น และเป็นการเชิญชวนให้คนอื่นมาอยู่ในกล่องด้วย
“การหนีปัญหา” เวลาที่เราอยู่ในกล่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะมาจากคนอื่นเสมอ แต่ในความเป็นจริงปัญหานั้นอยู่ที่ตัวเราเอง แต่บางสถานการณ์อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ยังไม่เพียงพอสำหรับคำตอบที่เราต้องการที่จะออกจากกล่อง
“การสื่อสาร” แม้ว่าเราจะพยายามสื่อสารด้วยคำพูดที่นุ่มนวลขึ้น เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง มันอาจจะทำให้ทุกอย่างดูดีขึ้น แต่เราก็กำลังสื่อสารจากในกล่อง
“การใช้ทักษะ” จะช่วยให้เรามีวิธีที่สวยหรูในการกล่าวโทษคนอื่นได้เยอะขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีที่มีความน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะเราไม่ได้ทำด้วยใจจริง เราทำเพื่อแค่ให้มันจบๆ ไป ก็เท่านั้นเอง
โดยสุดท้ายหนังสือ วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก ได้สรุปว่า จริงๆแล้ว การที่เราสามารถออกจากกล่องได้ เพียงแค่เรา หยุดต่อต้านคนอื่น และเป็นอิสระจากความคิด หยุดการเข้าข้างตัวเอง และมองคนรอบๆตัวว่าเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่มองว่าเขาเป็นสิ่งของ นี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถก้าวออกจากกล่องได้ และจะทำให้ทุกความสัมพันธ์ที่เริ่มเลวร้ายกลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง
บทสรุป
จากหนังสือ วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก ได้สอนให้เราเรียนรู้ว่า การทรยศตัวเองจะนำไปสู่การหลอกตัวเอง (กล่อง) เมื่อคุณอยู่ในกล่อง เราจะไม่สามารถจดจ่อกับผลลัพธ์ได้เลย โดยอิทธิพลและความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น ล้วนเกิดจากการที่เราอาศัยอยู่นอกกล่อง ซึ่งการที่เราจะออกจากกล่องได้ ก็คือ เราต้องเลิกต่อต้านคนอื่น
“อย่าพยายามทำตัวเองให้สมบูรณ์แบบ แต่พยายามทำตัวเองให้ดีกว่าเดิมในทุกๆวัน”
สิ่งที่เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ ก็คือ อย่าพยายามทำตัวเองให้สมบูรณ์แบบ แต่พยายามทำตัวเองให้ดีกว่าเดิมในทุกๆวัน อย่าพยายามกล่าวหาคนอื่น แต่จงพยายามผลักตัวเองออกมาจากกล่องให้ได้
และ อย่าปฏิเสธตัวเองว่าไม่เคยอยู่ในกล่อง แต่จงเดินหน้าต่อไป และพยายามช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่ตำหนิสิ่งที่คนอื่นทำผิด ไม่คาดหวังความช่วยเหลือจากใคร แต่ควรจะเป็นที่ตัวเราเองที่ต้องพยายามช่วยเหลือคนอื่นเพื่อให้ออกจาก “กล่อง”
ราคา และ หาซื้อได้ที่ไหนบ้าง?
หนังสือ วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก เล่มนี้ ฉบับภาษาไทย แปลโดย สำนักพิมพ์ We Learn ราคา 160 บาท อ่านได้เรื่อยๆ ตัวหนังสือค่อนข้างใหญ่ สบายสายตา เหมาะสำหรับใครที่อยากเรียนรู้ อยากได้แนวคิดในเรื่องของความคิด
หากเป็นฉบับภาษาอังกฤษ Leadership and Self-Deception: Getting out of the Box

สามารถหาซื้อได้จากร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปได้
หนังสืออื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Mindset – ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา ทำให้เราประสบความสำเร็จได้จริงเหรอ?