ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน หน่วยงานสำคัญที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด เพราะทุกเสี้ยววินาทีคือโอกาสของการมีชีวิต การทำงานของศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทุกคนพร้อมทำงานแข่งกับเวลา เพื่อแลกกับความปลอดภัยของผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินทุกกรณี
ในตอนที่แล้ว เราได้ไปดูการทำงานของหมอยาหรืองานเภสัชกรรมที่เรามักได้เจอพวกเขาบ่อยๆหลังจากเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์เสร็จใช่ไหม คงมีหลายอย่างเลยจากตอนที่แล้วที่ทำให้เราได้เข้าใจเภสัชกรมากขึ้น งานที่เหมือนจะมองเข้าไปแล้วเห็นได้ทันทีว่าทำอะไร กลับเป็นงานที่ยังมีอีกหลายส่วนเลยที่ไม่สามารถเห็นได้จากตอนนั่งรอรับยา
มาถึงตอนนี้แอดมินจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับงานเร่งด่วน ที่หากมองเข้ามาเนี่ย พูดได้เลยว่าจะมองเห็นแต่เพียงความวุ่นวายและโกลาหลในทุกวัน และเกือบทุกโรงพยาบาลเลยด้วยที่ทีมนี้จะต้องมีการทำงานกันตลอดเวลาชนิดแทบลืมหายใจ พวกเขาคือ ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน วันนี้ทีมงานที่จะพาเราไปรู้จักกับศูนย์นี้ก็คือ พว.วิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินและการปฏิบัติการส่งต่อ คุณพุทธธิดา นุชนาฏ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป งานบริการเปลและยานพาหนะ คุณกิติพงศ์ โมกงาม และคุณธนวัฒน์ คำใบใหญ่ พนักงานช่วยงานบริการเปล งานบริการเปลและยานพาหนะ พว.ศิริพร คิ้วสถาพร และพว.พรรณทิพย์ภา อารีมิตย์ พยาบาลวิชาชีพ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
“ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินจะเป็นคนแรกที่เข้าไปในสนามรบ”
งานที่ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินจะเป็นงานลงพื้นที่ไปรับผู้ป่วย คือ เมื่อมีการโทรเข้ามาที่ 1679 ทางบุคลากรในทีมจะถามไถ่ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงอะไรมากน้อยแค่ไหน เป็นการคัดกรองทางโทรศัพท์สั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้นจะมีการส่งรถไปรับพร้อมทีมฉุกเฉิน และงานอีกส่วนคืองานส่งต่อผู้ป่วย เป็นการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ทั้งเคสปกติและเคสโควิด-19
“ความเสี่ยงเกิดขึ้นทันทีที่เริ่มงาน”
เมื่อบุคลากรลงพื้นที่ไปรับผู้ป่วยที่บ้าน บุคลากรไม่ได้ใส่ชุด PPE ออกไปปฏิบัติงานเสมอไปเพราะบางครั้งมันไม่สะดวกในการปฏิบัติงานต่างๆ บางสิ่งบางอย่างมันทำไม่ได้เมื่อใส่ชุด PPE บางกรณีที่มีสอบถามข้อมูลเบื้องต้นแล้วประเมินว่าไม่เสี่ยง แต่เมื่อลงพื้นที่ไปถึงแล้วพบว่าคนไข้เสี่ยง ต้องสวมชุด PPE กันหน้างานแล้วจึงค่อยลงพื้นที่ปฏิบัติงานก็มี ดังนั้นการคัดกรองทางโทรศัพท์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนไข้ควรให้ความร่วมมือกับบุคลากรอย่างมาก เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและคนไข้เอง
งานบริการเปล
เป็นการให้บริการในลักษณะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จะให้บริการครอบคลุมทั้งในเรื่องของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีมีการส่งต่อผู้ป่วยและรับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเข้ามารับการรักษาภายในโรงพยาบาลด้วยตามหลักมาตรฐานการเคลื่อนย้ายของโรงพยาบาล
“งานตรงนี้ ทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยง”
อย่างแรกเลยบุคลากรทุกคนต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างดี เพราะผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการทุกคนล้วนมีความเสี่ยง จึงต้องมีการใส่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเพื่อให้บริการผู้ป่วยอย่างปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วยและตัวผู้ให้บริการเอง เจ้าหน้าที่และทีมงานทุกคนจะมีการฝึกอบรมในการสวมใส่ชุด การปฏิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 บุคลากรและผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องสัมผัสกันโดยไม่จำเป็น
“ถ้าเราไม่ทำเราอาจจะเสี่ยงและคนอื่นจะเสี่ยงด้วย”
ส่วนใหญ่จะมีเป็นการสอบถามอาการและประวัติเบื้องต้น เช่น เป็นอะไรมา มาอย่างไร ไปอยู่จุดเสี่ยงมาหรือเปล่า หรือมีอาการอะไรที่เข่าข่ายกลุ่มเสี่ยงไหม ถ้ามีอาการที่เข่าข่ายก็จะส่งให้พยาบาลมาคัดกรองอีกทีหนึ่ง ที่ต้องทำแบบนี้เพราะถ้ารับเข้าไปเลยมันเสี่ยงมากที่จะเกิดการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะฉะนั้นตรงเวรเปลต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการสกรีนคนไข้ก่อนเข้าไปถึงตัวพยาบาลหรือในโรงพยาบาล
การประเมินคนไข้
เราต้องรู้ว่าคนไข้เป็นอะไรมา บาดเจ็บตรงไหนบ้าง เราสามารถเคลื่อนย้ายคนไข้ได้อย่างไร ถ้าเป็นอุบัติเหตุมาเราต้องดูว่าสามารถยกเพื่อเคลื่อนย้ายได้ไหม อยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินหรือไม่ ก็จะมีการประเมินอาการและระดับความฉุกเฉินของคนไข้เพื่อแยกประเภทรถนั่งกับรถนอน หลังจากประเมินเสร็จก็จะส่งคนไข้เข้าสู่การคัดกรองจากโรงพยาบาล แล้วทำการรักษาด้านใน ซึ่งคนไข้ที่รับเข้ามาจะมีการถูกแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน สีเขียว สีเหลือง สีแดง และถ้าเป็นอุบัติเหตุก็จะเป็น สีส้ม
“ช่วงแรกทุลักทุเลมาก อยากรักษาคนไข้ทุกคนแต่ทำไม่ได้”
ช่วงแรกที่โควิด-19 เข้ามาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินมาก เพราะห้องรองรับคนไข้ฉุกเฉินมีไม่เพียงพอ ในขณะที่คนไข้เข้ามาแบบไม่จำกัดเลย ทางโรงพยาบาลไม่มีพื้นที่พอจะแยกได้ด้วยซ้ำว่าคนไข้ที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรแยกไปไว้ตรงไหน ในตอนนั้นทั้งคนไข้ เจ้าหน้าที่ และตัวบุคลากรเองเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยกันทั้งหมด แม้จะอยากรับคนไข้เข้ามาแค่ไหนก็ทำไม่ได้เพราะห้องไม่พอ
“คำว่าฉุกเฉิน มันไม่ได้หมายความว่าเรารับรักษาแค่คนไข้ฉุกเฉินอย่างเดียว”
แม้จะเป็นศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน แต่คนไข้ที่ศูนย์รับเข้ามามีมากกว่าคำว่า “ฉุกเฉิน” มันยังรวมถึงคนไข้วิกฤต อย่างคนไข้หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หัวใจหยุดเต้น หอบเหนื่อยมาก ทางเดินหายใจหยุด คนไข้กลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาทันทีภายใน 4 นาที นอกจากคนไข้วิกฤตแล้วรองลงมาคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะแยกไปอีก ก็คือเร่งด่วน เร่งด่วนปกติ เร่งด่วนธรรมดา คนไข้ทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องได้รับการตรวจรักษาภายในเวลา 15 นาที เร่งด่วนภายในครึ่งชั่วโมง เร่งด่วนทั่วไป 1-2 ชั่วโมง
ห้องความดันลบ
ห้องความดันลบจะมีคนไข้จำเพาะอยู่ ถ้าความดันลบ 5 จะเป็นสำหรับคนไข้ที่ยังสงสัยว่าติดเชื้อหรือเปล่า อยู่ในช่วงกำลังรอผล ห้องความดันลบ 10 จะเป็นคนไข้ติดเชื้อแล้ว นอกจากนี้ยังมีห้องความดันบวกไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูงาน ทางศูนย์จะให้การดูแลรักษาผ่านทางกล้องวงจรปิด และสื่อสารกับคนไข้ผ่านวอร์ ซึ่งถ้าสื่อสารแล้วคนไข้รู้ตัวก็อาจจะให้แค่พยักหน้าหรือชูมือ แต่ถ้าตรวจร่างกายเพิ่มเติม มีการเข้าไปประชิดตัวก็ต้องแต่งชุด PPE เข้าไป
“เพราะถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำแล้ว”
งานนี้เป็นงานที่มีความเครียด ความกดดัน ได้รับความกดดันจากทั้งจากคนไข้เองและตัวญาติคนไข้ด้วย สิ่งสำคัญคือเราต้องการข้อมูลที่ดีที่สุดจากคนไข้ด้วย เพื่อจะได้เลือกส่งไปรักษาให้ถูกจุดและเหมาะสม บุคลากรทุกคนพร้อมที่จะให้บริการผู้ป่วยทุกคนเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนปลอดภัย เมื่อผู้ป่วยหายและสามารถกลับไปอยู่บ้านได้ปกติ พวกเขาก็มีความภาคภูมิใจและยินดีไปด้วย
บทสรุป
งานศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินเป็นงานที่ต้องอยู่ร่วมกับความเสี่ยงกันเป็นปกติ การทำงานตรงนี้มันกลายเป็นด่านหน้าที่ต้องเจอก่อน รับก่อน และยิ่งกว่านั้นการลงพื้นที่ไปรับคนไข้ในแต่ละครั้งก็ถือเป็นงานที่ท้าทายความเสี่ยงและต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะการที่พวกเขาติดเชื้อมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่มันกระทบถึงทั้งโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความยาก ความกดดัน และความท้าทายที่พวกเขาต้องพบเจอในทุกวันที่ทำงาน สิ่งที่พวกเขาทำไปทั้งหมดก็เพื่อให้คนไข้และทุกคนที่เข้ามารับบริการกลับบ้านไปอย่างปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง แค่นี้พวกเขาก็ภาคภูมิใจแล้ว
“การออกไปข้างนอกโรงพยาบาล เป็นงานที่เราถนัดที่สุดอยู่แล้ว”
เวลาคือชีวิต โดยศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน | โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
บทความ แนะนำ :
งานเภสัชกรรม ความแม่นยำที่มาจากความใส่ใจ รพ. ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical