สร้างวินัย สร้างนิสัยการออม ในเรื่องเหล่านี้ สำหรับคนทำงาน ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงคนทำงานส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ด้วยเหตุเพราะปัจจัยหลายอย่างที่ล้วนมีผลมาจากพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง
ผลที่ตามมาคือ ไม่มีเงินเก็บ ทำให้หลายคน ที่อยากเป็นนักลงทุน แต่ก็บ่นว่าไม่มีเงินลงทุน ทำให้ต้องพลาดโอกาสในการลงทุนดีๆ ไป หลายต่อหลายครั้ง หลายคน อยากลดหย่อนภาษี ให้ได้เยอะๆ ด้วยการซื้อ กองทุน SSF หรือ RMF แต่ก็มีเงินไม่พอที่จะซื้อกองทุนเหล่านั้น เพื่อสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี หรือ เพื่อการลงทุนเพื่อยามเกษียณ ทำให้พลาดต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงขึ้น (บางรายอาจจะต้องเสียเพิ่ม) และ ไม่มีเงินพอเอาไว้ใช้ยามเกษียณ
หรือแม้กระทั่งในยามที่ต้องเจอกับวิกฤติทางการงาน หรือ อาชีพ เช่น ต้องตกงาน โดยเฉพาะในช่วงปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี เราก็เห็นแล้วว่า การมาของโควิด ทำให้หลายๆ ธุรกิจต้องปิดกิจการไป บางธุรกิจก็จำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงาน บางแห่งก็จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานไปก็มากมาย
“ความแน่นอนไม่มีจริง ทุกคนพร้อมที่จะโดนออกจากงานได้เสมอ”
คนทำงานอย่างเรา หากไม่มีเงินสำรอง หรือ มีไม่เพียงพอ ก็ลำบากเช่นกัน ถ้าเราต้องเจอกับปัญหา เช่นโดนลดเงินเดือนไปสัก 25-30% เราจะยังไหวไหม? ยังอยู่รอดไหม? หรือ หากเราต้องโดนออกจากงานขึ้นมา เราจะอยู่ได้กี่เดือนจนกว่าจะหางานใหม่ได้? พวกเราเคยคิดถึงประเด็นเหล่านี้กันบ้างไหม?
ปัญหาเรื่องเหล่านี้ มีต้นตอมาจาก เรื่องเดียวกันนั่นก็คือ “ไม่มีเงินเก็บ” และ ไม่ได้วางแผนการเงิน นั่นเอง เรื่องเงินเก็บ ถ้าเราจะมีได้ และจะเก็บเงินได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องมี “วินัย”
ดังนั้นหากตอนนี้เรายังมีงานทำอยู่ และเรารู้ตัวแล้วว่า เรื่องการออมเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้เรามา เริ่มต้นด้วยการสร้างเป้าหมาย สร้างวินัย สร้างนิสัยการออม ด้วย 4 วิธีการนี้ได้เลย
1 “เก็บก่อนใช้”
เราควรต้องเก็บเท่าไรดี?
เอาเป็นว่า ถ้าไม่เคยเก็บมาก่อนเลย ก็เริ่มจากง่ายๆ ก่อนก็ได้ ด้วยการหักจากเงินเดือนให้ได้สัก 8-10% แต่ถ้าเป็นไปได้ 20% นี่เจ๋งเลยครับ หรือ ตั้งเป้าด้วยตัวเลขจำนวนเงินที่อยากจะเก็บเท่าๆ กันในแต่ละเดือนก็ได้ เช่น 500 หรือ 1,000 บาท เป็นต้น
เปิดบัญชีเงินฝากประจำเอาไว้ (เพราะดอกเบี้ยฝากประจำจะสูงกว่าฝากออมทรัพย์) เมื่อเงินเดือนออก ให้โอนเงินเก็บเข้าบัญชีเงินฝากประจำที่เราเปิดเอาไว้เลย แบบนี้ง่ายที่สุด
หรือเอาเงินไปลงทุนให้เงินงอกเงย อาจจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวมประเภทต่างๆ ซึ่งผลตอบแทนและความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันไป หากให้ดีใช้วิธี DCA (Dollar cost average) ไปเลย คือตัดเงินของเราไปลงทุนอัตโนมัติทุกเดือน จะช่วยสร้างวินัยการลงทุนที่ดีเลยครับ
เชื่อหรือไม่ ในช่วง 1-3 เดือนแรก อาจจะทำยากนิดนึง แต่เชื่อสิ หลังจากเริ่มติดเป็นนิสัย สร้างวินัย สร้างนิสัยการออม ได้เมื่อไหร่ เราก็จะเริ่มเห็นตัวเลขของเงินที่เราเก็บ หรือ ที่เราเอาไปลงทุนมากขึ้น เราก็จะยิ่งภูมิใจ และ อยากเก็บเพิ่มหรือ ลงทุนเพิ่มอย่างแน่นอน
2 “ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแบบง่ายๆ”
สร้างวินัยสร้างนิสัยการออม ที่ดี เราควรต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเราเอง จริงๆการทำบัญชีรายรับรายจ่ายมันไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย เพียงแต่ว่าเรารู้สึกฝืนใจที่จะต้องทำมากกว่า เพราะไม่อยากรับรู้ว่าเราได้ใช้เงินไปเยอะแค่ไหน หรือ ใช้ไปกับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไรบ้าง
วิธีการก็ไม่ต้องทำอะไรให้มันยุ่งยากแค่บันทึกให้ใช้จ่ายในแต่ละวันว่าเราใช้อะไรหลักๆบ้าง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือ สิ่งของใช้ต่างๆและ จะยิ่งดีมาก ถ้าอะไรที่ใช้จ่ายไปมีการเก็บใบเสร็จเอาไว้ด้วย
เมื่อเราบันทึกรายจ่ายไปเรื่อยๆ (รายรับ คงเท่าเดิมทุกเดือน เพราะมาจากเงินเดือนของเรา ยกเว้นบางคนมีรายได้หลายทาง) เราจะเริ่มเห็นว่า เราหมดเงินไปกับอะไรบ้าง หรือ เราหมดไปกับสิ่งที่ไม่ควรใช้อะไรบ้าง สื่งที่จำเป็น (ต้องมี)หรือฟุ่มเฟือย (ต้องการ)
หลังจากนั้นเราก็สามารถมาวางแผนหามาตรการปรับลด หรือ ปรับเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายที่มองว่าเกินไป หรือ ไม่ควรจ่ายก็ได้
เชื่อหรือไม่ หลังจากที่มีการบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย ไปสัก 3 เดือน คุณจะเริ่มวางแผนประหยัดค่าใช้จ่ายทันที เช่น เปลี่ยนโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนวิธีการเดินทางไปทำงาน หรือ ยกเลิกค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น เช่น เปลี่ยนจากการกินกาแฟแพงๆเป็นกาแฟที่ราคาที่ราคาลดลงหรือชงเอง ป็นต้น
3 “สร้างและรักษาสภาพคล่องทางการเงิน”
ในช่วงปลายปี หรือ ต้นปี หลายคนโบนัสก็ออกมาแล้ว และ อีกหลายๆ คนโบนัสก็กำลังจะออก ถึงจะมีน้อย ก็ควรถือโอกาสนี้แบ่งเงินออกมาจากโบนัสที่ได้มาแล้ว หรือ ที่กำลังจะได้ ออกมาสักกึ่งนึง เพื่อมาตั้งเป็นเงินเผื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
เงินฉุกเฉิน ในที่นี้คือ ไม่ใช่เงินเก็บ แต่เป็นเงินที่เอาไว้ใช้ในกรณีที่เรา หรือ คนในครอบครัวเจ็บป่วย ไม่สบาย หากไม่มีประกันสุขภาพก็ต้องใช้เงิน หรือ เกิดเราต้องพลาดท่า ตกงาน เราก็ยังพอมีเงินให้ใช้ระหว่างรองานใหม่ เป็นต้น
เงินฉุกเฉิน ควรมีอย่างน้อย 4-6 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ยในแต่ละเดือน เมื่อก่อนเขาบอกว่า เงินฉุกเฉิน อย่างน้อย ก็ควรมีอย่างน้อย 4-6 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ยในแต่ละเดือน แต่ตอนนี้ เพราะสถานการณ์แวดล้อมมันเปลี่ยน เอาเป็นว่า จะเก็บเงินฉุกเฉินเท่าไร จะมากแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับอาชีพ และ การใช้ชีวิตของเราว่ามีความเสี่ยงที่จะสูยเสียรายได้มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น เรามีรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน คือ 10,000 บาท เงินฉุกเฉิน ควรมีอย่างน้อย 40,000 บาทเป็นต้น แต่หากว่างานของเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ตอนนี้มีความเสี่ยงสูง ที่จะตกงาน ก็อาจจะต้องเก็บเงินฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นสักหน่อย เผื่อเอาไว้ หากเกิดเหตุต้องตกงาน และ งานอาจจะหายาก
ถ้าตอนนี้มีไม่ถึง ก็ค่อยๆ ทะยอยเก็บไปนะครับ โดยใช้หลักการเดียวกับการออมเงิน คือ ทะยอยตัดจากเงินเดือน แล้วนำไปเข้าบัญชีฝากประจำที่ใช้เป็นเงินฉุกเฉิน
4 “สร้างแผนการให้เงินทำงานผ่านการลงทุน”
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า เราสามารถแบ่งเงินเก็บไปออมในเงินฝากธนาคารหรือลงทุนก็ได้
แต่การฝากธนาคารเพียงอย่างเดียวต้องระวังเรื่องเงินเฟ้อนะครับ พูดง่ายๆก็คือ เงินเฟ้อสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นการต่อยอดด้วยการลงทุนจะช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อนี้ได้
หรือ เราอาจเริ่มลงทุนแบบง่ายๆ ก็ได้
แบบแรก คือ การลงทุนในอาชีพเสริม ด้วยการลองสำรวจตัวเองว่าตัวเองมีความถนัดด้านไหน แล้วหาอาชีพพิเศษที่ตัวเองถนัด บางทีอาจจะสร้างรายได้มากกว่าที่คิดก็ได้
แบบสอง คือ ให้เงินทำงาน ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ เช่น ลงทุนในกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
หรือเราอาจจะเลือกเป็นแบบที่นำไปลดหย่อนภาษีก็ได้ เช่นการลงทุนใน SSF หรือ RMF ทำให้ได้ประโยชน์ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต่อยอดเงินให้เงินงอกเงย กองทุนบางประเภทยังช่วยในเรื่องลดหย่อนภาษี และ ยังเป็นการวางแผนรองรับการเกษียณในอนาคตได้อีกด้วย
หรือ หากเราอาจจะมีเงินเหลือ (เงินออม) จากการบริหารจัดการที่ดี จากการบริหารจัดการในเรื่องรายจ่าย เราก็สามารถนำส่วนต่างนี้มาลงทุนได้เช่นกัน
นี่แหละครับ 4 วิธีการที่สำคัญ ในแบบไม่ยากจนเกินไปสำหรับคนทำงาน ในการสร้างเป้าหมาย สร้างวินัยสร้างนิสัยการออม ที่คนทำงานทุกคนควรต้องมี เพื่อเอาไว้สู้วิกฤติ และ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน และ เกษียณแบบไม่ยากในแบบของเรา
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การเงินและการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
“บรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ยามเกษียณได้ไม่ยากด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”