
สารพัดสรรพศิลป์ เปรียบเสมือนหน้าต่างที่เปิดออกเพื่อให้คนในชุมชนได้มีโอกาสในการแสดงสินค้าจากภูมิปัญญาและความสามารถของคนในชุมชน โดยเป็นเหมือนการบอกต่อช่องทางในการซื้อขายสินค้าชนิดต่างๆ ของชุมชนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าชุมชนได้ง่ายขึ้น
ในตอนนี้แอดมินจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวิสาหกิจเพื่อสังคมสุดแนวที่บวกศิลปะสุดติสท์เข้ากับความอยากช่วยเหลือสังคมจึงทำให้เกิดเป็นสารพัดสรรพศิลป์ที่เปรียบเสมือนตู้โชว์สินค้าให้แก่คนในชุมชนทุกคน แถมยังช่วยพัฒนาให้กระเป๋าที่เคยขายใบละร้อยสองร้อยกลายเป็นใบละหมื่นได้อย่างเหลือเชื่อ หรือเสื้อผ้าบางชุดในเพจที่ขายหมดภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หลายคนคงสงสัยกันแล้วว่าเจ้าของเพจเขาทำได้อย่างไร แอดว่าเราไปทำความรู้จักกับบริษัทนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณจุ๋ม อรสา โตสว่าง กรรมผู้จัดการบริษัท สารพัดสรรพศิลป์ จำกัด กันเลย
จุดเริ่มต้น

คุณจุ๋มเล่าย้อนให้ฟังว่าเรื่องมันเริ่มขึ้นในปี 2016 คุณจุ๋มเป็นพนักงานบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (ซึ่งตอนนี้ก็เป็นอยู่) แล้วอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือชุมชน ซึ่งชุมชนที่เข้าไปเป็นชุมชนที่ภูเก็ต จังหวัดบ้านเกิดของคุณจุ๋ม เธอจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะจะได้กลับบ้านได้ ความช่วยเหลือที่เข้าไปมอบให้ในตอนนั้นคือการชักชวนคนในชุมชนมาออกบูธขายของ เพราะชุมชนตรงนั้นทุกคนมีความสามารถในการประดิษฐ์และผลิตสินค้าชุมชนที่มีความน่าสนใจอยู่แล้ว ที่พวกเขายังขาดคือพื้นที่ขาย
“ในยามที่ยากลำบาก คนไทยไม่ทิ้งกันจริงๆ”
ในตอนที่คุณจุ๋มพาคนในชุมชนออกมาขายของเป็นระยะเวลา 9 วัน ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ของขายดีมากเหมือนแจกฟรี ยิ่งคนได้เห็นว่าคนในชุมชนออกมาขายด้วยตัวเองเลย ทุกคนยิ่งช่วยกันซื้อ แต่เมื่อหมดงาน 9 วันแล้ว ชาวบ้านก็กลับไปขายในพื้นที่ของตัวเองแล้วก็ขายไม่ได้เหมือนเดิม จึงมองหาวิธีช่วยชาวบ้านแบบระยะยาว ที่ทำให้พวกเขาได้มีพื้นที่ขายของได้ตลอด
“สะพายสายแนว”
คุณจุ๋มที่ตระหนักถึงปัญหาสังคมที่ได้พบกลับมาคิดพิจารณาว่าตัวเองควรจะช่วยคนในชุมชนอย่างไรดี? จนกระทั่งได้ไอเดียการขายของออนไลน์ เพราะในยุคสมัยนี้ทุกคนสามารถสร้างโอกาสได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณมีช่องทางออนไลน์ คุณจุ๋มจึงลองนำสินค้าของชาวบ้านมาลงขายใน Facebook ของตัวเองแล้วปรากฏว่าได้ผล โดยสินค้าที่ขายในตอนนั้นคือ ย่าม ที่ตัวคุณจุ๋มเองตั้งชื่อให้มันว่า สะพายสายแนว
ที่มาของชื่อ สารพัดสรรพศิลป์
ในช่วงโควิด-19 หัวหน้าของคุณจุ๋มเล็งเห็นว่าสะพายสายแนวสามารถไปไกลได้กว่านี้ จึงแนะนำให้เอาสินค้าอื่นๆที่คนในชุมชนผลิตได้ออกมาขายด้วย แล้วตั้งชื่อให้ว่า สารพัดสรรพศิลป์ ซึ่งมาจากสารพัดบวกเข้ากับศิลปะ โดยสารพัดสรรพศิลป์เองเป็นเหมือนพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มีโอกาสในการโฆษณาผลผลิตของพวกเขาเอง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้เข้าไปขายให้ เป็นเพียงการดึงเอาสินค้าของชุมชน เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า หมวก รองเท้า หรืออาหารแปรรูปที่น่าสนใจมาโฆษณาผ่านเพจ แล้วให้คนที่สนใจติดต่อไปยังชุมชนด้วยตัวเอง ทุกคนที่สนใจสินค้าตัวไหนจากชุมชนก็สามารถติดต่อไปเพื่อพูดคุยกับคนในชุมชนได้โดยตรงเลย

บทบาทของสารพัดสรรพศิลป์
คุณจุ๋มอธิบายว่าบทบาทที่สารพัดสรรพศิลป์ต้องการคือ การเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนในชุมชน คุณจุ๋มบอกว่าส่วนตัวแล้วเธออยากโดนลอกเลียนแบบเพจหรือลอกเลียนแบบคอนเทนต์ของเพจใน Facebook มาก เพราะเพจที่คุณจุ๋มทำขึ้นมีแต่ประโยชน์ มีการเขียนเรื่องราวที่น่าสนใจของชุมชน และเป็นพื้นที่ในการซื้อชายสินค้าของชุมชนโดยไม่เคยรับเงินจากคนในชุมชนเลยแม้แต่บาทเดียว ถ้าหากมีคนทำลักษณะเดียวกับคุณจุ๋มเพิ่มอีกก็จะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้มากขึ้นไปอีก
“สิ่งที่ทำมันรอดได้ด้วยตัวมันเอง”
การทำวิสาหกิจเพื่อสังคมของสารพัดสรรพศิลป์ ทางบริษัทไม่เคยรับเงินจากคนในชุมชนเลยและบริษัทเองก็ไม่เคยเสียเงินเพื่อซื้อโฆษณาในช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียใดๆ เลย หากลองกดเข้าไปในเพจจะเห็นว่ามีจำนวนคนกดถูกใจหรือแชร์น้อยมาก อยู่ที่ประมาณ 10-20 คน แต่ยอดการซื้อขายสินค้ามีในระดับหมื่นถึงแสนโดยไม่พึ่งพาการโฆษณาเลย นอกจากนี้ทีมงานทุกคนรวมถึงคุณจุ๋มมีการรับเงินเดือนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการค่าจ้างใดในการทำงานตรงนี้
“การทำงานที่อาจจะดูไม่ค่อยมีรูปแบบ แต่ก็ทำด้วยใจล้วนๆ”
ทีมงานที่เข้ามาทำงานตรงนี้ไม่ได้มีจำนวนเยอะ แต่ทุกคนที่เข้ามาทำล้วนทำด้วยใจ การช่วยเหลือที่มอบให้แต่ละคนในชุมชนเป็นการช่วยเหลือรายบุคคลเพราะฉะนั้นการทำงานจึงขึ้นอยู่กับว่ากำลังช่วยใคร บางคนกำลังจะฆ่าตัวตายแล้ว ขายของไม่ได้ อยู่ไม่ไหว หรือบางคนแค่เครียดที่ทำสีตกใส่เสื้อของลูกค้า เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือจึงเป็นความยืดหยุ่นที่ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆที่ทางทีมงานเองก็ต้องหาวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่น หาวิธีที่เหมาะสมกับคนในชุมชนแต่ละคนไปเช่นกัน
“อุดทุกรอยรั่วในกระบวนการทำงาน”
กลุ่มลูกค้าของสารพัดสรรพศิลป์มีทั้งคนไทย คนยุโรป และคนจีน แต่โชคดีที่ตัวคุณจุ๋มเองพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะฉะนั้นอีกหนึ่งบทบาทของคุณจุ๋มก็คือการเป็นล่ามด้วย คุณจุ๋มจะรับคำถามจากฝั่งลูกค้ามา แล้วจดเป็นสคริปต์คำตอบจากชุมชนมาแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วนำไปตอบลูกค้า ดังนั้นตัวคุณจุ๋มเองจึงเหมือนเป็นคนที่อุดรอยรั่วทุกรอยในกระบวนการทำงานตรงนี้
“เมื่อลูกค้าติดต่อมา แต่ชุมชนทำให้ไม่ได้”
คุณจุ๋มเคยนำสินค้าไปออกตามงานแล้วปรากฏว่ามีคนจีนมาสนใจสินค้าชุมชนที่คุณจุ๋มนำไปขายเอามากๆ แต่จำนวนที่ลูกค้าต้องการคือ 100,000 ชิ้น ซึ่งด้วยกำลังของชาวบ้านแล้ว ชาวบ้านไม่สามารถทำได้ไหว ชาวบ้านสามารถทำได้ตามระยะเวลาที่มีให้ได้มากสุดก็ 100 ชิ้นเท่านั้น ฝั่งลูกค้าคนจีนเองก็บอกว่า 100 ชิ้นไม่คุ้มค่าส่ง อยากได้ 100,000 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งดีลนี้ก็ต้องปัดตกไป หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือมีคนญี่ปุ่นติดต่อมาว่าอยากได้สินค้าชุมชน แต่อยากได้แค่ชิ้นเดียว แต่ชิ้นนั้นยากมาก เหมือนกับการต้องถอดจิตวิญญาณทำเลย จึงไม่มีชุมชนไหนทำได้ตรงเป๊ะตามที่เขาต้องการเลย ซึ่งก็ไม่คุ้มกับการลงมือทำของชุมชนอีก เป็นต้น
ก้าวต่อไปของสารพัดสรรพศิลป์
คุณจุ๋มเล่าว่า ตอนนี้ตัวเธอเองเป็นแอดมินเพจสารพัดสรรพศิลป์มาเข้าปีที่ 5 แล้ว เธอพยายามสอนทีมงานคนอื่นในบริษัทให้ลองหัดเขียน โดยเทคนิคมีเพียงแค่การเขียนให้น่าสนใจไม่ต้องพิสดารอะไรแต่ต้องอ่านแล้วสร้างความรู้สึกอยากซื้อสินค้า ถ้ารู้สึกสนใจในตัวชุมชนมากพอทุกคนจะสามารถเขียนคอนเทนต์ออกมาได้โดยไม่ต้องปั้นเรื่องราวใดขึ้นมา
เรายังพร้อมเปิดรับทุกชุมชน คุณจุ๋มบอกว่า ถึงแม้ว่าจะทำมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว แต่ตอนนี้ทางสารพัดสรรพศิลป์ยังไม่เคยปฏิเสธชุมชนไหนเลย แค่เพียงติดต่อเข้ามาว่าต้องการให้ช่วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านพัฒนาสินค้า ให้คำแนะนำการโฆษณาสินค้า หรือการเป็นพื้นที่ให้แสดงสินค้าก็ตาม แต่จะมีในบางกรณีที่หยุดให้การช่วยเหลือเพราะชุมชนไม่ซื่อสัตย์อย่างเช่น กรณีการลอกเลียนแบบงานชุมชนอื่นหรือซื้องานคนอื่นมาขายต่อ เป็นต้น
บทสรุป
วัยรุ่นสมัยนี้ที่ให้ความสนใจในเรื่องธุรกิจ ทุกคนมีความสามารถ มีใจ มีแรง และทันโลกไม่ว่าจะเรื่องของกระแสสังคมหรือเทคโนโลยี แต่สิ่งที่เด็กยังไม่มีคือเพดานความฝัน เมื่อฝันแล้วโบยบินขึ้น ทุกคนล้วนมุ่งไปข้างหน้าแบบไม่ยั้ง จึงเป็นเหตุผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพมีอัตราความล้มเหลวอยู่ที่ 95% ทุกคนมีความฝันแต่สิ่งที่ทุกคนลืมนึกถึงไปก็คือเมื่อตื่นขึ้นมาสู่โลกความจริง มันมีอุปสรรครอเราอยู่เช่นกัน
ก็เหมือนดังเช่นกรณีของสารพัดสรรพศิลป์ ที่คุณจุ๋มคือผู้ที่มาช่วยชุดมนด้วยการอุดรอยรั่ว คอยแนะนำจุดบอดที่เด็กสมัยนี้มองพลาดไป เพราะตอนนี้ตัวคุณจุ๋มเองก็มีให้คำปรึกษาแก่เด็กๆที่พยายามดึงชุมชนต่างมาโฆษณาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน
“เราสามารถมีความฝันที่อยากจะช่วยเหลือสังคมได้ แต่ต้องทำอย่างมีสติ เพราะเมื่อตื่นขึ้นจากฝัน เรามักพบอุปสรรคก้อนใหญ่รอเราอยู่เพื่อทดสอบเราเสมอ”
ทำด้วยมือ สร้างด้วยหัวใจ | The Practical Sustainability วิสาหกิจ “เพื่อน” สังคม
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ช่องทางการติดต่อ
บริษัท สารพัดสรรพศิลป์ จำกัด โทรศัพท์: 062 998 8019, อีเมล์ : phannapa.p@thaibev.com, Facebook: สารพัดสรรพศิลป์ –จิตอาสา
สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)
บทความแนะนำ :
Akha Ama Coffee กาแฟจากยอดดอย สู่กาแฟดังระดับโลก
“SIAM ABLE INNOVATION” เครือข่ายผู้พิการผลิตกายอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ