สำนักงานนิติเวช ห้องทำงานที่เงียบที่สุดกับหน่วยงานด่านสุดท้าย ของการรักษา เรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครได้มีโอกาสได้เห็น กับการรักษาสิทธิสุดท้ายของชีวิต ขั้นตอนการทำงานในส่วนของสำนักงานนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ในตอนที่แล้ว แอดมินได้พาทุกคนไปดูเกี่ยวเส้นทางการก้าวสู่ความเป็นแพทย์ในคาแรกเตอร์ “แพทย์ธรรมศาสตร์ แพทย์ของประชาชน” ไปแล้ว ทุกคนคงเห็นแล้วว่าการตัดสินใจเรียนแพทย์ไม่ใช่เรื่อง การเรียนแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งกว่านั้นการเป็นแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากนี้ในคำว่าแพทย์เนี่ยยังสามารถแตกแขนงไปได้อีกในเส้นทางที่หลากหลายมาก อย่างวันนี้แอดก็จะมาทุกคนไปดูหนึ่งในแขนงที่ต่อยอดมาจากคำว่าแพทย์กัน
แพทย์ในแขนงนี้เป็นแขนงที่อยู่ไกลจากแพทย์อื่นๆเสียหน่อย แพทย์มีหน้าที่ในการช่วยชีวิตคน ต่อลมหายใจให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยได้มีชีวิตต่อไปอย่างแข็งแรงใช่ไหม แต่แพทย์แขนงนี้เขาทำงานเพื่อรักษาสิทธิ์ให้แก่คนไข้ ส่งต่อข้อความสุดท้ายที่คนไข้อยากจะบอกก่อนจะจากไปตลอดกาล วันนี้แอดจะพาทุกคนไปรู้จักกับ สำนักงานนิติเวช โดยมีคุณหมอทศนัย พิพัฒน์โชติธรรม แพทย์นิติเวช สำนักงานนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นไกด์นำทางเราในวันนี้
“เราไม่ได้รักษาให้เขาฟื้นมีชีวิตขึ้นมาได้ เรารักษาสิทธิของเขา”
งานนิติเวชตามกฎหมายคือแพทย์ที่ทำหน้าที่ร่วมกับตำรวจในการชันสูตรศพ สำหรับการตายที่เรียกว่า “การตายผิดธรรมชาติ” หรือ “การตายมิปรากฏเหตุ” ทางกฎหมายจะตีกรณีนี้ไว้ก่อนว่ามีความน่าสงสัย จำเป็นต้องตรวจสอบดูว่าเกิดอะไรขึ้น การตรวจในกรณีพวกนี้อาจจะเป็นจากการป่วยตาย หรือการได้รับบาดเจ็บตาย แต่ยังไม่สามารถคาดเดาหรือสรุปได้แน่ชัด จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์นิติเวชที่ต้องทำกับหาคำตอบให้แน่ชัด
บทบาทเมื่อโควิด-19 เข้ามา
เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น นิติเวชจึงเข้ามาช่วยในเรื่องของการจัดการศพติดเชื้อตรงนี้ร่วมด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตามให้ไปชันสูตรที่เกิดเหตุ ก็จะลงพื้นที่ ไปดูสถานที่เกิดเหตุ ดูข้อมูลต่างๆที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ หากสงสัยการติดเชื้อของศพ เราก็ใส่ชุด PPE เข้าไปเก็บตัวอย่างของศพ จัดการกับศพติดเชื้ออย่างถูกต้องก่อนที่จะขนส่งศพมายังโรงพยาบาล ถ้าตรวจสอบแล้วผลออกมาเป็นบวก มีการติดเชื้อ ก็จะทำ CT Scan ศพ เพื่อคัดกรอง แม้จะไม่ได้เต็มที่เท่าการผ่าศพ แต่ก็ได้ข้อมูลมากพอที่จะวินิจฉัยการตายได้ แต่ถ้าผลที่ตรวจการติดเชื้อของศพออกมาเป็นลบ ก็จะต้องการผ่านชันสูตรศพกันตามปกติ
“พูดได้ว่าห่อศพทุกวัน”
ความเหนื่อยล้ามันมีเป็นธรรมดาของคนทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้ความเหนื่อยล้ามันก็เพิ่มขึ้นตามจำนวนของตัวเลขการสูญเสีย เจ้าหน้าที่สำนักงานนิติเวชมีแค่ 13 คน บางวันต้องห่อศพกัน 3 ราย 4 ราย แล้วแต่ละรายใช้เวลาเป็นชั่วโมง หากศพติดเชื้อต้องใส่ถุงคลุมศพถึง 2 ชั้น ต้องมีการทำความสะอาดและระมัดระวังอย่างดีในการห่อศพ เพื่อไม่ใช่เชื้อเกิดการปนเปื้อนที่ถุงห่อ งานตรงนี้มันเหนื่อยล้ามาก พอมีช่วงไหนพักได้ เลยรีบให้พัก 13 คนนี้ต้องสลับกันทำงานให้ดี
“ทำงานกับคนที่ไม่มีชีวิต”
ทีมงานมีทั้งคนจบนิติศาสตร์ บัญชี ไม่ได้จบแพทย์เสมอไป เข้ามาทำงานแรกๆทุกคนก็จะมีความกลัวเป็นปกติ จะมีการพูดคุยกันว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ การกระทำของเราก่อประโยชน์อย่างไร อาจจะดูเหมือนเราไม่ได้รักษาคน แต่เรารักษาสิทธิ์ของคนตาย การตรวจประเมินของเราเป็นเหมือนการรักษาสิทธิของผู้ป่วยและศพคนตาย เหล่าบุคลากรเมื่อเข้าใจเนื้องานและจุดประสงค์ของการทำงานตรงนี้พวกเขาก็ไม่ได้กลัว เข้าใจ แล้วก็ตั้งใจทำงาน
“นิติเวชคือยุ่งกับศพ ร่างกาย งานที่เกี่ยวกับที่เกิดเหตุจะเป็นงานนิติวิทยาศาสตร์”
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และธรรมศาสตร์จะมีตู้เย็นรวมกัน เมื่อเราทำการเก็บของเข้าสโตร์เสร็จแล้วก็จะมาทำงานร่วมกับที่ห้องโถงใหญ่ แต่ทางสำนักงานนิติเวชจะมีทำห้องแยกด้วย เป็นห้องสำหรับผ่าชันสูตร มีเตียงที่ใช้ผ่า เป็นเตียงที่ดูดอากาศลงข้างล่างเพื่อดูดกลิ่นลงไป สำหรับวัตถุพยานหรือสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุจะถูกเก็บไว้ในตู้สีฟ้า เช่น เสื้อผ้า เชือก เป็นต้น นอกจากนี้ถ้ามีรอยแทงหรือรอยกระสุนก็จะถูกเก็บไว้ให้แห้งก่อนในตู้ที่กรองอากาศ
“ไม่ได้มีแค่ศพจากผู้ติดเชื้อโควิด-19”
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดหนักมีคนพูดกันอย่างหนาหูเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่เก็บศพไม่เพียงพอ เพราะยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงเกินควบคุม และยอดผู้ติดเชื้อก็ยังไม่มีวี่แววจะลดลงเลย แม้หน้าที่หลักของนิติเวชในสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นการเข้าไปช่วยจัดการในเรื่องศพติดเชื้อ แต่ทางนิติเวชก็ยังคงมีงานหลักที่ทำอยู่ประจำเช่นกัน ก็คือการดูแลและจัดการในส่วนของศพภายในโรงพยาบาลด้วย ทั้งศพที่ตายในโรงพยาบาล รอญาติมารับ และศพที่ตายข้างนอกมาจากสถานที่เกิดเหตุ
“พื้นที่เก็บศพไม่เพียงพอ”
พอเข้าช่วงกรกฎาคมเริ่มกลายเป็นวิกฤต ที่จำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาทั้งศพติดเชื้อ ผู้ป่วยใน และศพที่ตายข้างนอก ขึ้นเกือบ 2 เท่า ทางสำนักงานนิติเวชจึงคำนวณแล้วว่าเราไม่สามารถเก็บศพทั้งหมดได้แน่ๆ ปกติศพเข้ามาจะใช้เวลาในตู้ประมาณ 1 วัน แต่ในกรณีของโควิด-19 กลายเป็นว่าเมื่อมีคนติดแล้วเสียชีวิต ในครอบครัวทั้งหมดต้องกักตัวแล้วไม่สามารถมารับศพได้ กินเวลาในตู้นานขึ้นตามจำนวนวันกักตัวของญาติ ทางสำนักงานจึงต้องขอการสนับสนุนจากผู้บริหารในการเพิ่มตู้แช่ศพเพื่อให้เพียงพอกับตัวเลขการสูญเสียที่เพิ่มขึ้น
“เป็นงานที่คนอยากทำน้อย”
การทำงานตรงนี้ คืองานด่านสุดท้ายที่แพทย์จะช่วยให้บริการกับตัวญาติได้ เมื่อมีการจากไป มันจะกลายเป็นการจากไปอย่างสงบตามที่เขาต้องการ แม้จะแพทย์ที่รักษาคนให้ฟื้นไม่ได้ แต่ยังคงช่วยรักษาสิทธิ์ของเขาที่อยากจะบอกอะไรเป็นสิ่งสุดท้ายได้ ถึงแม้ว่าจะมีโควิด-19 เข้ามา คนอื่นเริ่มกลัวการกระจายของเชื้อแต่สำนักงานนิติเวชยังคงทำทุกอย่างให้อย่างถูกต้องและเต็มใจ ประสานงานกับทางวัด ไปเผา เก็บกระดูกให้ แล้วรอเผื่อว่าจะมีญาติมารับในเดือนสองเดือนข้างหน้า “ถ้าคุณพร้อมคุณก็มารับเอาไปทำบุญ ถ้าคุณไม่พร้อม เราก็จะทำให้”
บทสรุป
สำนักงานนิติเวชคือด่านสุดท้ายของการเดินทางอันแสนยาวไกลในการรักษา แพทย์มีหน้าที่และความเชี่ยวชาญที่แตกแขนงออกไปอย่างหลากหลาย และความเชี่ยวชาญของแพทย์นิติเวชก็เป็นการรักษาที่เฉพาะตัวและแตกต่างออกมาอย่างสิ้นเชิง
แพทย์ไม่จำเป็นต้องรักษาชีวิต หรือทำให้คนไข้กลับมาแข็งแรงเท่านั้น แต่แพทย์นิติเวชคือแพทย์ทำให้พวกเขาได้จากไปอย่างสงบสุขที่สุด ช่วยพูดแทนเขาเกี่ยวกับข้อมูลสุดท้ายที่จะสามารถนำส่งให้กับกระบวนการยุติธรรมต่อได้
“เราเป็นหมอที่รักษาสิทธิ์ของคนตาย”
ห้องทำงานที่เงียบที่สุด | โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
บทความ แนะนำ :
อยากเป็นหมอ ต้องเตรียมตัวอย่างไร? เส้นทางสู่การเป็นแพทย์ กับเรื่องจริงที่ต้องรู้
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical