บางคน เข้าใจผิดคิดว่า หุ้นกู้ คือ การที่เราไปกู้เงินมาลงทุน บางคนเป็นนักลงทุนแล้ว ก็ยังมีความสับสนระหว่าง “หุ้นกู้” และ “หุ้น” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร?
บทความนี้จะพาพวกเรา มาทำความเข้าใจกันว่า หุ้นกู้คืออะไร กันเสียก่อน
หุ้นกู้คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ซึ่งก็คือ สัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ต้องการเงินทุน (ผู้ออกตราสารหรือลูกหนี้) กับผู้ลงทุน (ผู้ถือตราสารหรือเจ้าหนี้)
ชื่อเรียกของตราสารหนี้ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้ออกตราสาร เช่น ถ้าเอกชนออกตราสาร เรียกว่า “หุ้นกู้” ถ้ารัฐบาลออกตราสาร เรียกว่า “พันธบัตรรัฐบาล” เป็นต้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ถ้าบริษัท ABC เป็นบริษัทเอกชน ต้องการกู้เงิน เพื่อไปขยายกิจการ ถ้าบริษัทฯ ไม่ไปกู้จากธนาคาร บริษัทฯ ก็สามารถออก “หุ้นกู้” แล้วไปเสนอขายให้กับคนที่สนใจ จะเป็นบุคคล หรือองค์กร ก็ได้
เราสามารถซื้อหุ้นกู้จากบริษัท ABC ได้ และเมื่อซื้อมาแล้ว เราจะมีฐานะกลายเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัท ABC ส่วนบริษัทฯ ก็จะมีฐานะกลายเป็น “ลูกหนี้” ของเราไปในทันที กล่าวคือ
- ผู้ที่ออกหุ้นกู้ จะมีสถานะเป็น ลูกหนี้
- ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ จะมีสถานะเป็น เจ้าหนี้
“หุ้นกู้” และ “หุ้น” มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ถ้าเราซื้อหุ้นกู้ เราก็จะกลายเป็น “เจ้าหนี้ของบริษัท” และจะได้ผลตอบแทนเป็น ดอกเบี้ย และเมื่อครบอายุของหุ้นกู้ ก็จะได้รับเงินต้นคืน
แต่ถ้าเราซื้อหุ้นของบริษัท เราก็กลายเป็น “เจ้าของร่วม” ซึ่งถ้าบริษัทมีกำไร เราก็อาจจะได้เงินปันผล (ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท ว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลอย่างไร) และ หากเราขายในช่วงที่ราคาหุ้นสูงกว่าราคาที่เราซื้อมา เราอาจได้กำไรจากส่วนต่างราคา
“หุ้นกู้” ให้ผลตอบแทนอย่างไร?
หุ้นกู้ถือเป็นการลงทุนแบบนึง เราจะรู้ล่วงหน้าเลยว่า เราจะได้รับผลตอบแทนเท่าไร? และจะได้ผลตอบแทนกี่ครั้งต่อปี จะได้เงินต้นคืนเมื่อไหร่
เช่น ณ วันที่ 1 ม. ค. 61 เราลงทุนในหุ้นกู้ ของบริษัท ABC ด้วยเงิน 100,000 บาท โดยหุ้นกู้นั้นจะให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ยนั่นเอง) 6% ต่อปี โดยจะจ่ายผลตอบแทนปีละ 2 ครั้ง และหุ้นกู้นี้มีอายุ 6 ปี
นั่นหมายความว่า เราจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินเท่ากับ 3,000 บาท ใน 6 เดือนแรก (1 ก.ค. 61) และอีก 3,000 บาท ใน 6 เดือนหลัง (1 ม.ค. 62) ตลอดอายุของหุ้นกู้ คือ 6 ปี
เมื่ออายุของหุ้นกู้ ครบ 6 ปี เราจะได้เงินต้นที่เราซื้อหุ้นกู้ 100,000 บาท คืนมา และรวมกับผลตอบแทนในช่วง 6 ปี อีก 36,000 บาท หากต้องการขายหุ้นกู้ก่อนครบ 6 ปี ก็อาจต้องไปหาผู้ซื้อเอง หรือไปซื้อขายในตลาดรอง เช่น BEX ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“หุ้นกู้” มีความเสี่ยงไหม?
ฝากธนาคาร เราก็ได้ดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่ได้มันช่างน้อยนิด แต่ก็แลกกับความเสี่ยงต่ำ
แต่ถ้ามาลงทุนกับหุ้นกู้ เราก็จะได้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากธนาคารก็จริง แต่ก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ “ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืน (Default Risk)”
เพราะมันก็มีโอกาสที่บริษัทฯ จะเบี้ยวหนี้เราได้ เช่น ประสบปัญหาทางการเงิน หรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ เพราะผิดเงื่อนไขตามสัญญา ก็จะทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถหาเงินต้น หรือดอกเบี้ยมาจ่ายให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ได้ตามกำหนด
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ต้องมีการจัดลำดับความเสี่ยง โดยดูจาก Credit Rating ซึ่งไทย มีบริษัทจัดอันดับเครดิต หรือคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า CRA (Credit Rating Agency) ที่ ก.ล.ต เห็นชอบ 2 บริษัท คือ ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง มีความเสี่ยงและผลตอบแทนต่ำ จะเรียกว่า Invesment Grade Bonds คือ BBB ขึ้นไป (BBB, A, AA, และ AAA)
- กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง จะเรียกว่า High-Yield Bonds เช่น D, C, B, และ BB
แน่นอนครับว่า กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หรือ Investment Gradeมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่า แต่ผลตอบแทนก็ต่ำกว่าเช่นกัน ตามหลัก “high risk high return”
โดยสรุป แนวทางการเลือกลงทุนในหุ้นกู้ คือ ยิ่ง Credit Rating สูงเท่าไหร่ (เอหลาย ๆ ตัว) ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็จะยิ่งต่ำเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Credit rating สามารถเปลี่ยนได้นะครับ ถ้ามีปัจจัยที่มากระทบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องติดตามหุ้นกู้ที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และต้องดูด้วยนะครับว่า credit rating เป็นของผู้ออก หรือของตราสารนั้นๆ
และรู้ไหมครับว่า มีหุ้นกู้บางประเภทที่ไม่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “unrated bond”ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่เราไม่สามารถดูความเสี่ยงจาก Credit Rating ได้ หุ้นกู้ประเภทนี้จะถูกเสนอขายให้กับ “ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (Accredited Investor)” เท่านั้น และต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างมาก
นอกจากความเสี่ยงเรื่อง การผิดนัดชำระหนี้แล้ว การลงทุนในหุ้นกู้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือ ถ้าหุ้นกู้ไม่มีตลาดรอง หรือไม่มีคนอยากซื้ออยากขายมาก ซึ่งจะทำให้ขายไม่ได้ราคา หรือภายในเวลาตามที่ต้องการ
หุ้นกู้ เหมาะกับใคร?
เหมาะกับคนที่สนใจในการลงทุนระยะยาวนิดนึง เช่น มากกว่า 4-5 ปีขึ้นไป เพราะอายุของหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะมีอายุสัญญายาว
และ ต้องเป็นนักลงทุนประเภทที่ มีเงินเก็บอยู่แล้ว แต่ชอบลงทุนที่ไม่หวือหวา รับความเสี่ยงได้น้อย เน้นรับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ คาดหวังผลกำไรแบบไม่มาก แต่ต้องมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่อย่าลืมนะครับว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ไม่มีการลงทุนใด ๆ ที่ปลอดภัย 100% แต่ก็แลกมากับโอกาสที่ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น)
หุ้นกู้ มีหลายประเภท ทั้งแบบธรรมดา (plain) และแบบซับซ้อน ซึ่งผลตอบแทนและความเสี่ยงก็แตกต่างกันไป เช่น หุ้นกู้ประเภท “perpetual bond” มีเงื่อนไขที่ผู้ลงทุนต้องถือแบบไม่มีกำหนดอายุ ผู้ออกสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด (call option) ซึ่งด้วยเงื่อนไขที่มาก มักจะให้ผลตอบแทนที่สูง
ก่อนลงทุน เราก็ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี ซึ่งก็สามารถไปหาอ่านต่อได้ในหนังสือชี้ชวน หรือแวะเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต.> www.sec.or.th ครับ
หุ้นกู้ คืออะไร? ตกลงแล้วมันใช่การลงทุนหรือเปล่า?
