
อยากให้พนักงานเคารพนับถือ หัวหน้ายุคใหม่ต้องทำอย่างไร? ในบทความนี้ ขอนำเสนอ 7 วิธี ที่ได้มาจากงานวิจัยที่จะบอกคุณว่าต้องทำอย่างไร
อยากให้พนักงานเคารพนับถือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำต้องการ แต่จะไปถึงจุดนี้ได้ หนึ่งในพฤติกรรมหรือทัศนคติที่ผู้นำที่ดีควรมีคือ หากคุณต้องการให้ผู้อื่นเคารพและยอมรับในตัวคุณ จุดเริ่มต้นคือ คุณต้องหัดเคารพและยอมรับคนอื่นให้เป็นเสียก่อน ซึ่งความเคารพและการยอมรับเป็นรากฐานของทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คนรัก หรือแม้แต่ในคนในครอบครัวก็ตาม
จากข้อมูลในปี 2022 เราพบว่าในกลุ่มพนักงาน 4,849 คน มี 86% ที่บอกว่าพวกเขารู้สึกได้รับความเคารพที่ทำงาน และมี 4% ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเคารพหรือการยอมรับที่มากพอ คุณอาจจะเห็นว่าตัวเลขมันดูน้อยมาก แต่อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงการสำรวจกลุ่มพนักงานแค่หลักพันคนเท่านั้น แต่ถ้าข้อมูลนี้บอกว่าเป็น 4% จากพนักงานทั้งโลก นี่คงไม่ใช่ปริมาณน้อยๆ เลย มีพนักงานที่กำลังเผชิญหน้ากับการไม่ได้รับความเคารพ การแบ่งแยก หรือความรู้สึกต่ำต้อย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พนักงานที่มีความรู้ตึกต่ำต้อยในตัวเองแสดงศักยภาพการทำงานที่ดีออกมาได้
“พฤติกรรมที่จะแสดงออกว่าคุณเป็นผู้นำที่เคารพลูกน้อง”
ทางฝั่งของผู้นำหรือหัวหน้าเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องพยายามเช่นกันที่จะแสดงความเคารพและการยอมรับในตัวพนักงานออกมาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ลำเอียง จากงานวิจัยจึงมีการสร้างค่าสัมประสิทธิ์ความความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของผู้นำและการให้คะแนนจากพนักงาน แน่นอนว่ายิ่งคะแนนน้อยยิ่งบ่งบอกว่าพฤติกรรมนั้นไม่ได้เกี่ยวกับการแสดงความเคารพที่ผู้นำมีต่อพนักงานของเขาเลย และในทางกลับกัน หากพฤติกรรมใดที่มีได้คะแนนสูงก็หมายความว่าพฤติกรรมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการแสดงความเคารพในตัวพนักงานอย่างมาก การวิจัยนี้เองทำให้ค้นพบ 7 พฤติกรรมของผู้นำที่จะนำไปสู่การสร้างความประทับใจให้กับลูกน้องด้วยการแสดงออกถึงความเคารพและการยอมรับพวกเขา
1. การให้คุณค่ากับความแตกต่างและหลากหลาย: นี่อาจเป็นประเด็นที่คุณเคยได้ยินกันเยอะมาโดยตลอด ผู้นำหลายคนพยายามอย่างหนักในการค้นหาพนักงานที่มีความสามารถ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนมีภูมิหลังและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ที่ทำงานจึงเป็นเหมือนการรวมกันของคนที่แตกต่างกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน
“เพราะฉันแตกต่าง ฉันจึงเข้ากับคนอื่นไม่ได้”
ความคิดเหล่านี้มักเกิดขึ้นมาเอง แม้บางทีคุณเองไม่ได้เจตนาจะให้มันเกิดขึ้น แต่ในบทบาทของการเป็นผู้นำ คุณต้องแน่ใจว่าทุกคนเปิดใจรับฟังมุมมองและความคิดเห็นที่หลากหลายโดยไม่อคติ คุณปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่สนใจความแตกต่างไม่ว่าจะเพศ อายุ รูปลักษณ์ภายนอก หรือความแตกต่างในด้านอื่นๆ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้นำหลายคนมักจะประเมินผลกระทบในข้อนี้ต่ำเกินไป พวกเขามักมองข้ามและลืมคิดว่าการแสดงออกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพและยอมรับในคุณค่าที่หลากหลายของพนักงานทุกคน
2. ให้ความสำคัญกับปัญหาและความกังวลของพนักงาน: แม้ว่าคุณไม่ได้ทำงานเพื่อหาเพื่อนสนิทที่ดีที่สุด แต่คุณต้องรักษาความสัมพันธ์ ความคุ้นเคย และความสนิทสนมกับพนักงานหรือคนในทีมเพื่อสร้างความเคารพไว้เสียบ้าง อย่าตีตัวออกห่างหรือวางตัวเองเป็นเจ้านายเพียงเพราะบทบาทในการทำงานของคุณสูงกว่าเขา หากคุณเป็นคนสุดท้ายที่รู้ว่าพนักงานที่ทำงานร่วมกันกำลังมีปัญหา อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติเพราะคุณเป็นเจ้านาย แต่ให้คิดว่าทำไมตัวคุณถึงได้รู้เรื่องนี้ได้ช้านัก
“ตอนนี้ครอบครัวของคุณเป็นอย่างไรบ้าง?”
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟน คุณควรพยายามแสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมเสมอที่จะอยู่เพื่อตรงนั้นหากพนักงานสักคนของคุณที่ต้องการจะแบ่งปันปัญหา ความกังวล หรือความรู้สึกบางอย่างที่พวกเขาแบกรับไว้ ลองตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่า คุณจะติดต่อกับพนักงานในทีมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองถามบ่อยๆ ว่าชีวิตของพวกเขาช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง? กินอาหารอร่อย นอนหลับสบายไหม? หรือครอบครัวของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง? และอย่าลืมที่จะเน้นย้ำว่าคุณพร้อมที่จะสนับสนุนพวกเขาเมื่อจำเป็น สิ่งเหล่านี้จะนำคุณเข้าสู่การสนทนาที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น
3. ได้รับความไว้วางใจ: จากงานวิจัยเรายังพบอีกว่าหากพนักงานคนใดคนหนึ่งเริ่มไม่ไว้วางใจคุณ ระดับความไว้วางใจจากคนอื่นๆในทีมจะลดลงเช่นกัน เหตุการณ์แบบนี้เรียกว่าอารมณ์ที่ติดต่อกันได้ ความไว้วางใจนั้นสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยความสัมพันธ์เชิงบวก การแบ่งปันความรู้หรือความเชี่ยวชาญ และความสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อคุณปฏิบัติต่อผู้คนด้วยความเคารพ โดยไม่คำนึงถึงบรรพบุรุษ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา หรือ รสนิยมทางเพศของพวกเขา คุณกำลังปรับปรุงความสัมพันธ์ของคุณ ซึ่งจะเพิ่มความไว้วางใจที่ผู้อื่นมีต่อคุณอย่างมาก
4. การแก้ไขความขัดแย้ง: แม้แต่ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างสมาชิกในทีมไม่กี่คนก็สามารถส่งผลเสียต่อศักยภาพการทำงานและคุณภาพงานของทีมได้ ความขัดแย้งนั้นจะถูกลงบัญชีดำกลายเป็นความหงุดหงิดที่กระตุ้นให้เกิดความไม่เคารพซึ่งกันและกันทันที
“ฉันจะปล่อยให้พวกเขาแก้ปัญหากันเอง”
บ่อยครั้งที่เจ้านายหรือผู้นำเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็น เพราะรู้สึกว่าความขัดแย้งระหว่างคนในทีมหรือพนักงานเป็นเรื่องส่วนตัวที่พวกเขาไม่ควรแทรกแซง แต่หากคุณเป็นเจ้านายที่คิดแบบนี้ คุณคิดผิดแล้ว ความขัดแย้งในทีมเปรียบเสมือนกองไฟเล็กๆ ในป่า ที่หากคุณสามารถดับได้ตั้งแต่เนิ่นๆ คุณก็สามารถดังได้โดยง่าย แต่หากคุณเห็นอยู่แล้ว แต่ก็ยังเพิกเฉยเพราะคิดว่าเดี๋ยวมันก็จะดับไปเองแล้วละก็เพียงชั่วพริบมันจะมอดไหม้และสร้างความเสียหายได้มหาศาลเลย ผู้นำจำเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดขึ้น ผู้นำที่เคารพจะไม่ถอยกลับ แต่เต็มใจมีส่วนร่วมในการแก้ไขข้อขัดแย้ง
5. สร้างสมดุลระหว่าง “บรรลุเป้าหมาย” กับ “ความห่วงใยผู้อื่น”: หน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ถูกจัดจ้างเข้ามา คือการทำงานให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เมื่อผลลัพธ์ถูกนำมาตั้งให้มีความสำคัญมากกว่าพนักงาน พนักงานหรือคนในทีมจะเริ่มรู้สึกถึงความไม่เคารพ ไม่ยอมรับ หรือไม่เอาใจใส่ ในสถานการณ์ส่วนใหญ่คุณจำเป็นต้องมีข้อยกเว้นเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ในฐานะเจ้านาย ยกตัวอย่างเช่น คนในทีมขอลาครึ่งวันเพราะลูกป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือบางคนอาจต้องการการพักฟื้นด้านสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต เป็นต้น ผู้นำที่ดีจะรู้จักสร้างสมดุลย์ ระหว่างผลลัพธ์ที่ได้จากการบรรลุเป้าหมายกับทีมที่พยายามบรรลุเป้าหมายมาด้วยกัน
6. สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและความแตกต่าง: อันที่จริงข้อนี้สามารถทำได้ง่ายมาก คุณเพียงแค่ลองขอความคิดเห็นจากคนอื่นในทีม ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการสื่อสารด้วยความเคารพ แต่คุณจะถามเป็นพิธีอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องฟังอย่างตั้งใจ แสดงออกว่าคุณมีส่วนร่วม และเต็มใจอย่างมากที่จะรับฟังมุมมองที่แตกต่างออกไปจากทุกคนในทีม
“ฉันนับถือคุณมากง ถึงแม้ว่าเราจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน”
พนักงานหรือคนในทีม จะรู้สึกได้ว่าพวกเขามีคุณค่าและคุณคือคนที่เห็นคุณค่าเหล่านั้น คุณไม่จำเป็นต้องนำเอาคำแนะนำหรือความคิดเห็นของทุกคนมาปรับใช้จริงในทีมทั้งหมด แต่ให้รับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมที่จะนำมาปรับปรุง และหากข้อไหนที่คุณคิดว่ายังไม่ถึงเวลาหรือไม่สามารถปรับแก้ได้ตามความคิดเห็นเหล่านั้นให้พูดคุยด้วยเหตุผลในสถานการณ์ของคุณและเขา แต่อย่างน้อยสิ่งที่คุณทำแล้วก็คือการรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจและฟังด้วยความเคารพ สิ่งนี้สื่อว่าคุณเปิดรับความคิดที่แตกต่างและต้องการทำความเข้าใจพนักงานให้มากขึ้น
7. ให้คำติชมอย่างจริงใจด้วยวิธีที่เป็นประโยชน์: คำติชมที่ตรงไปตรงมาสามารถทำให้พนักงานและคนในทีมรู้สึกได้รับความเคารพหรือยอมรับมากขึ้น ตราบใดที่คำติชมนั้นถูกส่งต่อไปในทางที่ถูกต้อง คุณต้องมั่นใจว่าคำติชมที่คุณส่งไปเป็นคำติชมที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะสะท้อนถึงประสิทธิภาพของเจ้านายคนนั้นในการบริหารทีมด้วยเช่นกัน หากพนักงานทำงานถูกต้อง 90% และไม่ถูกต้อง 10% ข้อเสนอแนะที่ซื่อสัตย์ก็ควรจะเป็นไปตามนั้น ไม่ใช่ติ 90% ในข้อผิดพลาด 10% และชมแค่ 10% ในความดีความชอบที่ 90% เพียงแค่คำติชมก็สามารถสื่อได้ว่าคุณเคารพคนทำงานมากน้อยแค่ไหน
บทสรุป
ความเคารพของแต่ละคนอาจมีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน และการแสดงออกถึงความเคารพของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปเช่นกัน แต่หากคุณคือคนทำงานที่ต้องการให้พนักงาน เพื่อนร่วมงาน คนในทีม ลูกน้อง หรือลูกค้า รู้สึกถึงความเคารพ คุณต้องรู้จักสังเกต เอาใจเขามาใส่ใจเรา และทำความรู้จักพวกเขาให้มากเพื่อเรียนรู้ว่าหากคุณต้องการให้พวกเขารู้สึกว่าคุณเคารพและยอมรับ คุณควรทำอย่างไร?
การแสดงความเคารพต่อคนอื่นโดยไม่ได้มองว่าเขาอยู่ตำแหน่งอะไร แต่มองว่าพวกเขาคือเพื่อนร่วมงาน จะช่วยทำให้การทำงานของคุณเป็นไปอย่างราบรื่น แม้คุณจะเป็นคนที่มาทำงานเพื่อหาเงินไม่ใช่เพื่อน แต่หากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในทีมก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของงานได้ นอกจากนี้การทำงานที่ทุกคนเคารพและยอมรับ มันคือทีมงานในฝันของใครหลายคนเลยไม่ใช่หรอ?
“การปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ เป็นรากฐานของการเป็นผู้นำที่ดี”
Reference:
7 Ways to Make Employees Feel Respected, According to Research
บทความแนะนำ:
Ikigai – อิคิไก กับธุรกิจที่มีเป้าหมาย และต้องความสำเร็จอย่างยั่งยืน