
อยู่สบาย ตายสงบ ด้วยวิถีชีวาภิบาล กับ เยือนเย็นเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมและเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ช่วยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างดีที่สุดและทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความสุขโดยที่ไม่ต้องนึกเสียใจหรือเสียดายในภายหลัง
บริษัท เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดจากความจริงที่ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนไม่ได้รักษาหายขาด และไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่อยากจะต่อสู้กับการรักษา ไม่ใช่แค่เพียงความเจ็บปวดทางร่างกายแต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายที่มาจากการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ ฉีดยา เป็นต้น การรักษา ทางบริษัทจึงสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับระบบสุขภาพและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ในตอนนี้แอดจะพาทุกคนไปรู้จักกับอีกมุมมองหนึ่งของการรักษา ที่เป็นความจริงที่หลายคนรู้แต่ไม่ยอมรับ ไม่ใช่ทุกคนที่จะรักษาโรคมะเร็งได้หายขาดและไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะรักษา สิ่งที่คนไข้หลายคนต้องการหลังจากพบว่าเป็นโรคมะเร็งคือพวกเขาต้องการมีชีวิตที่หอบล้อมไปด้วยครอบครัวอย่างอบอุ่น มีช่วงชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข และได้จากไปอย่างสงบ ซึ่งเราจะเรียนรู้กันว่าบริษัทนี้เขาทำได้อย่างไร ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้ก่อตั้งบริษัท เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม และศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดเริ่มต้น
คุณหมอเริ่มต้นจากการเป็นคุณหมอรักษาโรคมะเร็งในเด็ก ซึ่งโรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยาก มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้วหายขาดเพียงแค่ 50 – 60% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าอีก 40% คือคนที่เข้ารับการรักษาด้วยความหวังว่าจะหาย แล้วผิดหวังจากการรักษา รับยาไปกิน เหมือนจะหาย แล้วสุดท้ายโรคก็กลับมาใหม่ พวกเขาล้วนเสียชีวิตไปด้วยความผิดหวัง คุณหมอจึงเริ่มคิดว่าแทนที่พวกเขาจะต้องมาเจ็บปวดเพราะรักษาไปแล้วไม่หาย เรามาเพิ่มคุณภาพชีวิตของเขาให้ดี ในตอนที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ดีกว่าไหม
“แทนที่จะให้ความสำคัญกับการรักษาโรคที่ไม่สำเร็จ เราควรมาให้ความสนใจกับการใช้ชีวิตและเติมเต็มคุณภาพชีวิตของผู้คนดีกว่า”
การรักษาให้หายขาดเปลี่ยนเป็นการเติมเต็มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมีความสุขที่สุดในช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่แทน ซึ่งการรักษาแบบนี้เรียกว่า Palliative Care หรือการรักษาแบบประคับประคอง แต่ส่วนตัวคุณหมอเองเรียกการรักษาแบบนี้ว่า ชีวาภิบาล ซึ่งก็คือการใช้ชีวิตให้มีความสุข ใช้ชีวิตโดยไม่ได้คำนึงถึงการรักษาว่าจะหายขาดหรือไม่มากนัก แค่เพียงทำวันนี้ของผู้ป่วยให้ดีที่สุดและเติมเต็มสิ่งที่เขายังขาดในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ก็พอ
“ผู้ใหญ่เป็นมะเร็งมากกว่าเด็กและโอกาสรักษาหายน้อยกว่าเด็ก”
คุณหมอค้นพบความจริงที่ว่าผู้ใหญ่เป็นมะเร็งมากกว่าเด็กร้อยเท่า และรักษาให้หายขาดได้ยากกว่าเด็กเสียด้วย เมื่อพบกับความจริงข้อนี้คุณหมอจึงเริ่มค้นคว้าและได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ทำให้ได้รู้ว่าส่วนใหญ่แล้วพวกเขาต้องการเพียงการใช้ชีวิตอย่างสงบ มีลูกหลานอยู่เคียงข้าง และใช้ชีวิตร่วมกับมะเร็งอย่างสันติ ตามคอนเซ็ปต์ อยู่สบายตายสงบ เท่านั้นเอง
บางครั้งความคิดของผู้ป่วยกับญาติก็ไม่เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าบางครั้งตัวผู้ป่วยจะพร้อมจากไปอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องพวกเขาต้องการคือการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสงบ ไม่ทรมานและมีความสุข แต่ญาติของผู้ป่วยไม่ได้คิดแบบเดียวกันเสมอไป เพราะบางครั้งญาติก็ไม่อยากพบเจอกับความสูญเสีย อยากจะอยู่ด้วยกันและรักษาผู้ป่วยให้หายขาด ก่อนเข้ารับการรักษาแบบประคับประคองจึงต้องมีการพูดคุยกับญาติและผู้ป่วยแบบพร้อมหน้าพร้อมตากันที่บ้านของผู้ป่วยเสียก่อน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง

กระบวนการประคับประคอง
หลังจากที่คุยกันแล้วว่าถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น จะไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องความเป็นความตายอีกต่อไป จะเป็นการพูดถึงสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการต่อจากนี้ ในชีวิตต้องการอะไร อยากทำอะไรแล้วยังไม่ได้ทำ เหมือน เป้าหมายในชีวิตตอนนี้ยังมีอะไรที่ขาดอยู่ หรืออยากเพิ่มเข้าไปไหมว่าจะต้องทำอะไรให้ได้ก่อนตาย ช่วยกันคิดและวางแผนเพื่อเติมเต็มชีวิตให้ผู้ป่วยก่อนที่พวกเขาจะจากไป ทุกคนจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายในวันที่สายไปอีก
จากการค้นคว้าสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม
คุณหมอเล่าว่าโดยส่วนตัวแล้วคุณหมอเป็นคนทำธุรกิจไม่เป็นอยู่แล้ว เริ่มแรกจึงเป็นเหมือนการทำงานการกุศล หลังจากนั้นจึงเริ่มขายไอเดียเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่ใจสู้ แต่ไม่ได้หมายถึงการสู้กับการรักษาแต่เป็นการสู้กับการใช้ชีวิตให้คุ้มในวันนี้ และไอเดียนี้ก็ถูกเสนอให้กับ ชีวามิตร Cheevamitr ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีวิสาหกิจเพื่อสังคม คุณหมอจึงได้รับคำแนะนำให้ทำเป็นองค์กรหรือธุรกิจไปเลย ซึ่งดีกว่าและยั่งยืนกว่าทำเพื่อการกุศล
“หมออย่าทำฟรีนะ”
การให้ความช่วยเหลือตรงนี้เป็นการช่วยเหลือที่มีราคา การเติมเต็มความต้องการให้แก่ผู้ป่วยไม่ใช่การช่วยแบบไร้มูลค่า เพราะฉะนั้นคุณหมอจึงได้รับคำแนะนำว่าอย่าทำฟรีนะ มิเช่นนั้นตัวคุณหมอและองค์กรเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน การทำเป็นองค์กรไม่ได้หมายความว่าจะแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว แต่ตัวองค์กรยังสามารถหาเงินมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายซึ่งในขณะเดียวกันก็สามารถทำการกุศลไปด้วยได้
สนใจใช้บริการต้องทำอย่างไร?
หากใครสนใจสามารถติดต่อมาตามช่องทางอย่าง Facebook หรือ Line ได้เลย จะมีการให้คำแนะนำตามอาการและความต้องการของผู้ป่วย มีการนัดหมายผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจให้ตรงกัน หากผู้ป่วยและครอบครัวยังคงสนใจก็จะแนะนำในเรื่องการดูแลและที่อยู่อาศัยตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้ป่วย
“ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเข้ารับบริการได้หรือไม่ได้”
ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการจะมีการประเมินอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทต่อครอบครัว หรือถ้าไม่มีกำลังมากพออาจจะชำระน้อยกว่านี้ก็ได้ หรือถ้ามีกำลังมากและอยากช่วยสนับสนุนองค์กรหรือช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นๆก็สามารถจ่ายมากกว่านี้ได้ เงินที่เกินมาจะถูกนำไปช่วยครอบครัวที่มีเงินไม่เพียงพอ
จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้
ปีแรกมีผู้ป่วยให้ความสนใจใช้บริการประมาณ 50 คน ปีต่อมาเพิ่มเป็น 75 และเพิ่มเป็น 100 ในปีต่อไป จำนวนผู้ป่วยมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีคนติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในอนาคตคุณหมอเชื่อว่าการดูแลแบบประคับประคองจะเป็นทางที่ผู้ป่วยเองต้องการที่สุดและหากญาติเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วยได้ ก็ถือว่าญาติได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน ผู้ป่วยเป็นเจ้าของชีวิตนี่นา เนื่องจากการดูแลแบบนี้เป็นการใช้ทรัพยากรน้อยมาก นอกจากเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายทั้งระบบการรักษาของผู้ป่วยอีกด้วย
บทสรุป
ใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นทำวิสาหกิจเพื่อสังคมหมายความว่าคุณเป็นคนมองการณ์ไกล ความต้องการที่อยากจะช่วยทำให้สังคมดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญก็จริง แต่การทำวิสาหกิจเพื่อสังคมจำเป็นต้องอาศัยการจัดการในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ดี เพราะการมอบความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนหมายถึงการที่ผู้มอบความช่วยเหลือต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย มันไม่ใช่การบริจาค แต่เป็นการทำธุรกิจให้หาเลี้ยงตัวเองได้และช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน
“เวลาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เวลาจะเหลือเท่าไรไม่สำคัญ แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุดพอ”
“อยู่สบาย ตายสงบ” ด้วยวิถีชีวาภิบาล กับ บริษัท เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด | The Practical Sustainability วิสาหกิจ “เพื่อน” สังคม
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ช่องทางการติดต่อ
บริษัท เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เว็บไซต์ : Facebook: https://www.facebook.com/yuenyenSE/ โทร. : 0080 776 6712
สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)
บทความแนะนำ :
เน็ตถึงบ้าน บริการเพื่อสังคม กับ บริษัท เน็ตถึงบ้าน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด