
เกษียณอายุแล้ว จะได้รับเงินอะไรบ้าง? แล้วเราจะต้องจัดการกับเงินที่ได้รับอย่างไร? ภาษียังต้องจ่ายไหม? อะไรที่เราต้องเตรียมตัวบ้าง?
ดังนั้นในบทความนี้ แอดมินจะพาพวกเราไปทำความเข้าใจในเรื่องที่ต้องรู้ หลังจากที่เราต้องเกษียณอายุงานกัน ว่าเราจะได้อะไรบ้าง และ ต้องเตรียมอะไรบ้าง? (สำหรับปี 2563) คนที่ยังไม่เกษียณ ก็สามารถทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไปล่วงหน้าได้เช่นกัน
เกษียณอายุแล้ว จะได้รับเงินอะไรบ้างจากบริษัท?
เกษียณอายุแล้ว จะได้รับเงินอะไรบ้างจากบริษัทฯ หลักๆ ที่เราจะได้ก็จะเป็นเงินได้ที่มาจากรายได้ในปีสุดท้ายที่ทำงาน เงินได้จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี)
ได้เงินชดเชยตามกฏหมายแรงงาน :
การเกษียณอายุเสมือนหนึ่ง “การเลิกจ้าง” กฎหมายคุ้มครองแรงงาน บัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยเรื่องการเกษียณอายุการทำงาน ดังนี้
- กรณีกำหนดการเกษียณอายุ “ก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์” ให้ถือว่าการเกษียณอายุไปเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
- กรณีกำหนดการเกษียณอายุ “เกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ได้มีการกำหนด” ลูกจ้างมีสิทธิขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนา
โดยลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย (กรณีเกษียณอายุ ก็คิดค่าชดเชยเหมือนกับกรณีเลิกจ้าง)
- ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าชดเชย 30 วัน
- ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน
กรณีที่ เราทำงานครบเกษียณอายุ และทำงานมามากกว่า 5 ปี เงินชดเชยตามกฏหมายแรงงานนั้น ได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีและสามารถแยกยื่นภาษีได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำไปรวมกับเงินได้ประจำปี
- เงินได้ที่มาจากเงินเดือน หรือ โบนัส หรือ อื่นๆ ที่ได้ในปีสุดท้ายก่อนออกจากงาน (ก่อนเกษียณอายุ) ให้ทำการยื่นภาษีตามปกติ (แบบ ภ.ง.ด.90/91)
- การแยกยื่นภาษีในส่วนของ เงินที่ได้จาก“การเลิกจ้าง” สามารถเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) ได้ คือ เงินได้ส่วนนี้ถือเป็น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้เราครั้งเดียว โดยคิดจาก เงินชดเชยที่ได้รับ หัก 7,000 บาท คูณ จำนวนปีที่ทำงาน แล้วนำทั้งหมดมาคูณ 50% เพื่อคิดเป็นเงินได้สุทธิเพื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้ต่อไป
เกษียณอายุแล้ว จะต้องยื่นภาษีอย่างไร?
ตัวอย่างเช่น คุณจินตนา
ทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปีในสิ้นปีนี้ ทำงานมาแล้ว 14 ปี ได้รับเงินเดือนคงที่ตลอดปีเดือนละ 80,000 บาท เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงาน เมื่อเกษียณจะได้รับจากกองทุนฯ รวม 800,000 บาท เงินที่นายจ้างจ่ายให้ตามนโยบายของบริษัท เท่ากับ เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ อายุงาน คิดเป็นเงิน 1,120,000 บาท
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 (ก่อนเกษียณ) ก็ยื่นตามปกติ เพราถือว่า คุณจินตนา ยังมีรายได้อยู่ เดือนละ 100,000 บาท (แบบ ภ.ง.ด.90/91)
สำหรับเรื่อง เงินที่ได้จาก“การเลิกจ้าง” 1,120,000 บาท สามารถนำมาแยกยื่นได้ (ยื่นใบแนบ ฐานคำนวณค่าใช้จ่าย 1,120,000 บาท) โดย คำนวณจาก 1,120,000 บาท – (ค่าใช้จ่ายส่วนแรก 7,000 บาท x อายุงาน 14 ปี) เท่ากับ 1,022,000 บาท จากนั้น นำมาหักค่าใช้จ่ายส่วนที่สองอีก 50% ดังนั้นเงินได้สุทธิ คือ 511,000 บาท
ซึ่งเงินจำนวน 697,500 บาทนี้ จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษี ซึ่งเงินได้สุทธินี้ ก็จะนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จะไม่ได้รับยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท เหมือนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91

จากตารางเราจะเห็นว่า เงินได้จากการเกษียณอายุ หากเราแยกยื่นภาษี ก็จะเสียภาษีเพียงเล็กน้อย ซึ่งแตกต่างจากการยื่นภาษีรวมไปด้วยกันกับรายได้ในปีสุดท้าย เพราะจะทำให้เงินได้สุทธิเพิ่มมากขึ้นและฐานภาษีสูงมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นแนะนำให้นำเงินได้เมื่อเกษียณ แยกยื่นใบแนบ จะทำให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า มีเงินเหลือเอาไว้ใช้หลังเกษียณเยอะกว่าเดิมอีกด้วย
เกษียณอายุแล้ว จะต้องทำอย่างไรกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดี?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ :
เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่บริษัทฯ มีให้กับพนักงานเมื่อลาออกจากงานหรือ เมื่อเกษียณอายุ เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาก็คือ
“จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทั้งจำนวน” หากมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมามากกว่า 5 ปี ขึ้นไป
ตัวอย่างเช่น กรณีของ คุณจินตนา เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงาน เมื่อเกษียณจะได้รับจากกองทุนฯ รวม 800,000 บาท เงินทั้งหมดในก่อนนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
โดย คุณจินตนา ก็มีทางเลือก ดังต่อไปนี้ ก็คือ
- สามารถรับเงินจากกองทุนฯ รวม 800,000 บาทได้เลย แล้วนำไปใช้จ่าย หรือ นำไปลงทุนต่อไป (ถามว่าวิธีนี้ เสี่ยงไหม? ถอนเงินออกมาหมด หากไม่มีวิธีการที่ดีรองรับ เงินก็อาจจะหมดไว ก็เป็นได้)
- หรือ ตัดสินใจยังไม่รับเงินในส่วนนี้ เพราะมีเงินส่วนอื่นเพียงพอใช้อยู่บ้างแล้ว ก็สามารถคงเงินก้อนนี้ เอาไว้ในกองทุนฯ อย่างเดิมก็ได้ (มีค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย) อาจจะเก็บเอาไว้เป็นมรดก หรือ เอาไว้ใช้ในยามจำเป็นจริงๆ หรือ อีกทางเลือกนึงก็คือ โอนเงินจากกองทุนฯ ไปไว้ใน RMF เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะตัวเลือกในการลงทุนใน RMF มีมากกว่าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตามการลงทุนที่หวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่ตามมาด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า ในวันที่เราเกษียณอายุ เราสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้เท่าไร
“จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทั้งจำนวน” หากมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ แต่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี
นั่นหมายความว่า หากเราตัดสินใจออกจากกองทุนฯ ก็ต้องเสียภาษี ทั้งในส่วนของผลประโยชน์จากเงินสะสมในส่วนของเรา ส่วนเงินสบทบของนายจ้าง และ ผลประโยชน์จากเงินสบทบของนายจ้าง ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก
คำแนะนำ หากเข้าข่ายกรณีนี้ ควรเก็ยเงินก้อนนี้เอาไว้ในกองทุนฯ เช่นเดิม ให้อยู่ในกองทุนเกิน 5 ปี แล้วค่อยไถ่ถอนจะดีกว่า หรือ โอนไปลงทุนใน RMF แล้วค่อยไป ไถ่ถอนภายหลังก็ได้
บทสรุป
เรื่องเกษียณอายุ เป็นเรื่องที่คนทำงานทุกคนต้องเจอ เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราเข้าใจวิธีการคำนวณ และวิธีการยื่นภาษี รวมไปถึงวางแผนเงินที่ได้จากการเกษียณอายุเอาไว้อย่างดีแล้ว การใช้ชีวิตหลังจากเกษียณก็จะง่ายยิ่งขึ้น มีเงินเพียงพอเอาไว้ใช้
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ต้องตกอยู่ในภาวะเงินหมดเสียก่อน เราก็ควรหางานอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะสร้างรายได้เอาไว้หลังเกษียณเอาไว้บ้าง อย่างน้อยก็เพื่อเป็นรายได้เสริม และ เป็นการแก้เบื่อในยามที่เราไม่ได้ทำงานประจำอีกต่อไปแล้ว
Source: https://www.rd.go.th
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ ภาษี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และคำนวณอย่างไร?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVF) จะต้องทำอย่างไรดี หากต้องลาออกจากงาน?