เจาะเลือด เราเคยสงสัยไหมว่า หลังจากที่เรา เจาะเลือด ไปแล้ว เบื้องหลังของการทำงานของทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ เขาเอาเลือดของเราไปไหน?
จากตอนที่แล้ว ทุกคนคงได้เห็นการทำงานของบุคลากรทุกคนไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังกันไปแล้ว ซึ่งแต่ละหน้าที่ก็เป็นหน้าที่ที่เราพอจะเดาได้ว่ามันต้องมีใครสักคนทำหน้าที่ตรงนี้แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุวัคซีน การฉีดวัคซีน ลงทะเบียน การรับผิดชอบในเรื่องความสะอาด หรือหน้าที่อื่นๆอีกมากมายที่น่าชื่นชม ซึ่งแอดมินได้นำเสนอในตอนที่ผ่านมา
ในตอนนี้ แอดมินจะพาทุกคนมารู้จักและทำความเข้าใจการทำงานของทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ทนพญ.นฤมล เสรีขจรจารุ หัวหน้าหน่วยบริหารจัดการเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (POCT) ซึ่งคุณหมอจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำงานที่เรามองไม่เห็น และความทุ่มเทที่ต้องการจะเป็นส่วนช่วยในวิกฤตครั้งนี้ให้มากที่สุด
เจ้าหน้าที่เจาะเลือด?
คนส่วนใหญ่จะเห็นการทำงานของทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ว่าเป็นเจ้าที่เจาะเลือด เพราะบุคลากรในทีมมีหน้าที่เบื้องหน้าเป็นการเจาะเลือดเท่านั้นที่ทุกคนจะสามารถพบเห็นได้
เจาะเลือดแล้วไปไหน?
งานของทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ก็คือคำตอบของคำถามนี้ หลังจากเจาะเลือด จะต้องมีการนำไปวินิจฉัยในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยทั้งทางโลหิต เคมี ฮอร์โมน จุลทรรศน์ศาสตร์ และโมเลกุล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงที่สุด ว่าเลือดที่ได้รับมามีอะไรแทรกแซงหรือมีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่ หลังจากวินิจฉัยจะมีการส่งผลกลับไปยังจุดตรวจเลือดเพื่อส่งผลไปหาคุณหมอที่รับผิดชอบในแต่ละสาขาอีกทีหนึ่ง
“ตรวจที่ไหน โรงพยาบาลใด ก็จะได้ผลที่ตรงกัน เพราะเป็นมาตรฐานเดียวกัน”
หน้าที่ของเทคนิคการแพทย์ส่วนใหญ่ จะเป็นงานในห้องแล็บ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด แต่ในพื้นที่นี้ทุกอย่างจะบนมาตรฐานการปฏิบัติงานของเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักที่ทุกโรงพยาบาลต้องปฏิบัติตามทุกโรงพยาบาล
“มุ่งเน้นความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว”
การทำงานของทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจาะ ตรวจ และวินิจฉัยเลือดเท่านั้น แต่รวมถึงปัสสาวะ และอุจจาระด้วย แต่เลือดเป็นตัวที่ให้ผลลัพธ์ได้เร็วที่สุด และมีความแม่นยำสูงเพราะเลือดเป็นสิ่งที่ต้องไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย หากร่างกายส่วนใหญ่ผิดปกติ จะถูกแสดงออกในเลือดทันที
ก่อนมีโควิด-19
ทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ตรงนี้เดิมทีเป็นโรงเรียนแพทย์มาก่อนที่จะเจอกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนเตียง ขยับขยายสถานที่ เป็นการปรับปรุงพัฒนาสถานที่เพื่อรองรับจำนวนบุคลากรและคนไข้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี
การปรับตัวเมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19
“เพราะเรามีการจัดการที่ดี และคนที่มีคุณภาพ ทุกอย่างจึงง่าย”
เมื่อปะทะเข้ากับวิกฤตโควิด-19 โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์คือจำนวนงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างต้องพร้อมในเวลาอันสั้น อัตราการทำงานของบุคลากรแต่ละคนจึงต้องเพิ่มขึ้น บางคนต้องทำงานนานขึ้น บางคนมีหน้าที่เพิ่มขึ้น เพราะหน้าที่สำคัญของทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์คือการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โชคดีมากที่บุคลากรตรงนี้ทุกคนเป็นคนที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกันทั้งนั้น ทำให้งานเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเตรียมตัวเพียงไม่นาน
ก่อนจะตรวจเลือดแต่ละครั้ง
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากตรวจเลือดก็ได้ตรวจเลย เพราะทุกครั้งที่มีคนไข้เข้ามาขอรับการตรวจเลือด จะต้องได้รับการวินิจฉัยตามความเหมาะสมจากคุณหมอเสียก่อน ว่าสมควรได้รับการตรวจหรือไม่ โดยจะวินิจฉัยจากโรคประจำตัว อาการที่มี เช่น หากคนไข้เกิดอาการตัวซีด จะต้องได้รับการตรวจเลือดแล้วส่งให้สาขาโลหิตวิทยา หรือถ้าคนไข้มีโรคประจำตัวอย่างมะเร็ง จะส่งผลเลือดไปให้สาขาฮอร์โมน เป็นต้น
คำแนะนำก่อนเข้ารับการเจาะเลือด
“เพื่อความแม่นยำและถูกต้อง คนไข้ต้องให้ความร่วมมือในการลดปัจจัยที่อาจกระทบต่อการเลือดด้วย”
เนื่องจากเลือดเป็นสิ่งที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย หากมีอะไรผิดปกติไปจะสามารถทราบได้ทันที และในอีกทางหนึ่งผลเลือดก็สามารถผิดเพี้ยนได้จากความผิดปกติเช่นกัน เช่น การตรวจน้ำตาลในเลือด จะแนะนำให้อดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะหากรับประทานอาหารมาจะทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดมีค่าที่คลาดเคลื่อนไป และการเจาะเลือดเป็นการตรวจเป็นการตรวจขั้นพื้นฐานเท่านั้น ในบางครั้งจึงต้องขอให้คนไข้เก็บปัสสาวะ อุจจาระ หรือเสมหะ เพื่อหาผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด
การเจาะเลือด
“เป็นห่วงคนไข้ ไม่อยากให้คนไข้เจ็บเยอะ”
ในบางครั้งที่มาถึงจุดเจาะเลือดแล้ว คนไข้จะเกิดความเครียด ตื่นเต้น หรือความวิตกกังวล บุคลากรที่รับผิดชอบจะต้องรู้วิธีการพูดคุยเพื่อช่วยให้คนไข้ผ่อนคลายขึ้น ในการเจาะเลือดจะมีเครื่องแสกนหาเส้นเลือดเพื่อช่วยให้บุคลากรสามารถเจาะเลือดได้อย่างแม่นยำ หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถเจาะเลือดคนไข้ได้ภายใน 2 ครั้ง ให้หยุดแล้วเรียกหัวหน้าทีมมาช่วยทันที เพราะการเจาะเลือด แน่นอนว่าคนไข้ต้องเกิดอาการเจ็บปวดจากการแทงเข็มลงไปในแต่ละครั้ง ทางทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์เองก็ไม่อยากให้คนไข้เจ็บโดยไม่จำเป็น และการเจาะเลือดคนไข้แต่ละคนห้ามเกิน 3 นาที เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเข้ารับการตรวจเลือดของคนไข้
“ห้องแล็บ” ที่ไม่เคยหลับ
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ต้องทำงานกันหนักขึ้นอีก อย่างเช่นในช่วงนี้มียอดตรวจแล็บมากกว่า 8,000 เคสต่อเดือน สำหรับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และแลปมีการทำงานกัน 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาปิด ต้องพลัดเวรกันทำงาน พลัดเวรกันพัก นอกจากนี้บุคลากรทุกคนยังมีต่อยอดความรู้ในหลายสาขา เพื่อส่งคนไปช่วยในฝ่ายต่างๆเพิ่มด้วย
“รู้สึกภูมิใจในวิชาชีพ ที่งานเรามีความสำคัญและได้มีส่วนช่วยในหลายฝ่าย”
วิกฤตโควิด-19 ทำให้รู้สึกชื่นชมและภูมิใจทุกคนในงาน ในวิชาชีพ และทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ทุกคนมาก เพราะทุกคนต้องมีความกระตือรือร้น ทำงานเป็นทีม เรียนรู้เพิ่ม ฝึกฝนเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาทุกคนมีเพียงการเรียนรู้จากทฤษฎีใหม่เท่านั้นเกี่ยวกับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ หรือโรคเกี่ยวกับไวรัสวิทยา แต่ตอนนี้คือสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ๆที่เราต้องเจอและแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด ภายในเวลาที่สั้นที่สุด
บทสรุป
แม้หน้าที่บางหน้าที่เราอาจจะมองไม่เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้มีอยู่ ทีมปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ เป็นหนึ่งในทีมบุคลากรที่ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยทุกคนให้รอดจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
จากบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ จะเห็นได้เลยว่าบุคลากรให้ความสำคัญกับคนไข้มาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ทุกคนยอมเหนื่อย อดหลับอดนอน เพื่อคนไข้ทุกคน ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการให้ความร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้ารับการบริการได้ด้านต่างๆ และเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทุกฝ่าย ให้เราได้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
….
ติดตามรับชมเรื่องราว เบื้องหลังวิกฤติและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด ได้กับรายการ Unmask Story เรื่องเล่าหลังแมสก์ ของ บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
….
บทความ แนะนำ :
เรื่องของวัคซีน กับคำถามมากมาย ที่ผู้เชี่ยวชาญอยากตอบ
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical