เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขอบเขต และอย่างไม่มีข้อจำกัด คือข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ หลังจากที่เราได้รับฟังเรื่องราวของ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
จากคำสอนแรกในโรงเรียนสอนคนตาบอดที่ว่า “ตาบอดทำได้ทุกอย่าง” ได้กลายเป็นแสงสว่างให้กับ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่สูญเสียความสามารถในการมองเห็นไปตั้งแต่อายุ 15 ปีจากอุบัติเหตุ ทำให้ได้พลิกมุมคิดและเริ่มต้นการเรียนรู้ในโลกใบใหม่
ตลอดชีวิตอาจารย์วิริยะ ได้ก้าวข้ามความท้าทายที่เป็นบททดสอบศักยภาพของตนเองมาอย่างมากมาย ทั้งด้านการเรียน การทำหน้าที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และบทบาทในการช่วยเหลือผู้พิการในสังคมในหลายองค์กร การท้าทายกับขีดจำกัดเหล่านั้นล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และมองเห็นแสงสว่างแห่งคุณค่าในความเป็นมนุษย์ทั้งในตัวเองและผู้อื่น
ความเชื่อและความศรัทธา ยังทำหน้าที่เป็นแสงที่คอยส่องทางทุกก้าวย่างในชีวิตมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน
เรียนรู้อย่างไร้ขอบเขต
ถึงแม้ว่าอาจารย์วิริยะจะสูญเสียความสามารถในการมองเห็นไป แต่นั่นได้กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่ทำให้เขาได้เริ่มต้นการเรียนรู้ครั้งใหม่ ซึ่งได้มอบโอกาสให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและได้ใช้ศักยภาพนั้นในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
“การเรียนรู้ คือ การพัฒนาความสามารถของเราให้เต็มตามศักยภาพตามที่เราถนัด การเรียนรู้อาจมาจาก ทั้งใน และนอกชั้นเรียน บ่อยครั้งที่ผมได้เรียนรู้จากนอกชั้นเรียน เพราะเมื่อเราอยากจะพัฒนาตนเองนอกกรอบจากที่ครูสอนในห้องเรียน เราก็จำเป็นต้องค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ติดตามฟังคนที่ประสบความสำเร็จ ผมชอบฟังเรื่องราวของคนที่ประสบผลสำเร็จ อ่านหนังสือเกี่ยวกับความสำเร็จ แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตัวเราไปเรื่อยๆ” อาจารย์วิริยะเล่าถึงวิธีการเรียนรู้ที่ช่วยให้เขาสามารถพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการเรียน การทำงาน รวมถึงอุทิศตนในการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด
“ผมว่ามนุษย์เราพัฒนาได้อย่างไร้ขอบเขต เพราะฉะนั้นเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยหลากหลายวิธีเท่าที่เราจะสามารถทำได้ และพัฒนาตัวเราให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ความสามารถของเราถูกแสดงออกมาได้มากที่สุดเท่าที่เรามีปัญญาทำได้” เขากล่าวถึงเป้าหมายในการเรียนรู้ที่สอดประสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเป้าหมายในชีวิต
ความเชื่อเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยน
อาจารย์วิริยะบอกว่าในฐานะที่เขาเป็นผู้พิการทางสายตาคนหนึ่ง เขาเห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้พิการ และการเปลี่ยนความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์เรียนรู้มาโดยตลอด คือ การพัฒนาตนเอง จนกระทั่งสังคมมองเห็นความสามารถและให้การยอมรับด้วยตัวเอง
“เพราะฉะนั้นผมมักจะบอกกับเพื่อนๆ ว่าเราต้องพัฒนาตัวเอง ต้องทำให้เขาเห็นว่าคนพิการอย่างเราทำอะไรได้หลายอย่าง เมื่อสังคมเห็นมากขึ้นๆ ความเชื่อของสังคมก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เหมือนในสังคมตะวันตกที่เขาส่งเสริมให้คนพิการทำงานท้าทาย เช่น เขามีการระดมทุนให้คนตาบอดที่อยากปีนเขาเอเวอเรสต์ จนกระทั่งทำสำเร็จได้ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปี
ที่แล้ว นี่คือวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนคิดนอกกรอบที่จะทำให้สังคมมีพลัง ซึ่งจะทำให้สังคมมีของดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
อาจารย์วิริยะกล่าวว่าเขาเองได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ให้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองด้วยเช่นกัน โดยกระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ
“ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ผมได้พบกับ มิสเจนีวีฟ คอลฟีด์ล สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และซิสเตอร์โรส มัวร์ แม่อธิการโรงเรียน ทั้งสองท่านสอนผมให้ท่องคาถาแรกว่า ‘ตาบอดทำได้ทุกอย่าง’ แล้วก็หาเรื่องท้าทายให้ทำเพราะความท้าทายจะดึงความสามารถของคนตาบอดออกมาได้ และความท้าทายที่สุดของมนุษย์เรา ก็คือ ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส”
อาจารย์วิริยะเล่าว่าบทเรียนแห่งการเรียนรู้บทแรกๆ ในชีวิตที่ช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดความเชื่อต่อตนเอง ก็คือ การเรียนรู้การเดินด้วยไม้เท้า แม้ในช่วงแรกๆ จะเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ในเวลาต่อมาเขาก็สามารถเดินด้วยไม้เท้าได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถรับรู้เป็นครั้งแรกว่าแท้จริงแล้วความพิการทางสายตาไม่ได้เป็นข้อจำกัด ทำให้เขาตระหนักถึงคำสอนที่ว่า ‘ตาบอดทำได้ทุกอย่าง’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการท้าทายข้อจำกัดของตนเองที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก
“ตอนแรกผมก็ไม่ได้เชื่ออะไรมาก ท่านให้ท่องก็ท่อง แต่ว่าท่านให้ปฏิบัติด้วย คือ ให้ผมเดินด้วยไม้เท้า แรกๆ ผมก็ยังงุ่มง่ามอยู่ ท่านก็ให้รุ่นน้องมาพาเดินด้วยไม้เท้าไปที่พักเอง ไปห้องอาหารเอง ผมก็ฝึกจนทำได้แล้วก็เริ่มรู้สึกว่ามันจริงนะ เดิมเราคิดไม่ออกว่าตาบอดจะเดินไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเองแต่มันก็ได้นี่ วันต่อมาก็ฝึกซักผ้า ฝึกล้างถ้วยล้างชาม ก็ทำได้เหมือนกัน เราก็เลยคิดว่าคาถา ‘ตาบอดทำได้’ นั้นจริงนะ แล้วเราก็เริ่มทำได้ทีละอย่างสองอย่างไปเรื่อย ๆ ทำทุกอย่างในมาตรฐานเดียวกับคนตาดีเลย คนอื่นเขาใช้ตา แต่เราใช้มือ” อาจารย์วิริยะเล่าถึงการเรียนรู้ครั้งสำคัญที่เริ่มต้นจากความเชื่อเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
แสงสว่างจากการเป็นผู้ให้
บทเรียนแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญลำดับต่อมาที่อาจารย์วิริยะได้รับจากคำสอนของมิสเจนีวิฟ คอลฟิลด์ ก็คือ “ตาบอดต้องรู้จักให้”
“ตอนที่ท่านสอนผมยังไม่เข้าใจ ผมถามท่านว่าเราจะให้ได้อย่างไร ในเมื่อช่วยตัวเราเองยังลำบาก ท่านบอกว่ารอยยิ้มไง รอยยิ้มของคนตาบอดช่วยให้คนที่มาบริจาคเงินให้มูลนิธิเลิกคิดฆ่าตัวตายมาเยอะแล้ว มีหลายคนเปลี่ยนจากคิดฆ่าตัวตายหันมาทำการกุศลหาเงินมาเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้แทน สิ่งนี้แหละครับที่เราถูกสอน” อาจารย์วิริยะกล่าว และบอกว่าที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ มีประเพณีการบริจาคโลหิตเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำคำสอนเรื่อง ‘ตาบอดต้องรู้จักให้’ มาต่อยอดในทางปฏิบัติให้นักเรียนคนตาบอดได้เกิดประสบการณ์และสัมผัสความรู้สึกซาบซึ้งจากการให้ด้วยตัวเอง
“พอเราเริ่มทำ เราจึงเริ่มรู้ว่าการให้มันมีความสุขนะ ผมคิดว่าสองเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคนตาบอดอย่างผม เพราะเมื่อเราเปลี่ยนความเชื่อแล้วเราจะเริ่มทำงานที่ท้าทายและเราจะเริ่มช่วยเหลือคนอื่น” อาจารย์วิริยะกล่าวถึงแนวคิดที่หล่อหลอมให้เขาเติบโตอย่างมีคุณค่า
อาจารย์วิริยะ ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ทำงานเพื่อผู้อื่นจากการได้รับการปลูกฝังจากโรงเรียนสอนคนตาบอด เป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงฟันฝ่าอุปสรรคมากมายจนกระทั่งสามารถสอบเป็นอาจารย์ผู้พิการทางสายตาคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา อาจารย์วิริยะไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น แต่ยังท้าทายตนเองมากขึ้นด้วยการทำงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อพิสูจน์ว่าเขามีความสามารถเพียงใดด้วยการทำงานอย่างเต็มความสามารถและไขว่คว้าโอกาสใหม่ๆ ด้วยการสอบไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาและทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากที่สุด
มองหาความท้าทาย เพื่อการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด
“ความเชื่อที่ว่าตัวเรามีศักยภาพนั้น มันได้เปลี่ยนชีวิตผมจริงๆ ทำให้ชีวิตที่ไร้คุณค่ากลับมาเป็นชีวิตที่มีพลัง”
เมื่อผมตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการขึ้น ผมจึงใช้สโลแกนว่า “เชิญชวนคนไทย ร่วมเปลี่ยนคนพิการ จากภาระให้เป็นพลัง” เพราะเมื่อเรามองคนพิการว่าเป็นภาระเขาก็จะเป็นภาระ แต่เมื่อเราให้โอกาสคนพิการก็เป็นพลังได้ รุ่นพี่รุ่นน้องของผมที่มหาวิทยาลัยเขาบอกกันว่า วิริยะตาบอดยังเป็นศาสตราจารย์ได้เลยแล้วทำไมคนอื่นจะทำไม่ได้ เขาก็ทุ่มเทกัน เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราเป็นกำลังใจให้คนอื่นต่อสู้กับชีวิตต่อไป
“ผมไม่เสียใจที่ผมตาบอด ผมกลับรู้สึกว่าการตาบอดได้สร้างโอกาสดีๆ หลายอย่างให้ผม ทำให้ผมมีความสุข สำหรับผมความตาบอดมันไม่ได้เป็นเคราะห์แล้วนะครับ แต่มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราภาคภูมิใจได้อย่างทุกวันนี้”
อาจารย์วิริยะ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ และ เขายังย้ำถึง ‘ความเชื่อ’ ที่เป็นหัวใจและรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ที่ทำให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองมาได้ตลอดชีวิตว่า “ความเชื่อเป็นหัวใจและรากฐานสำคัญแห่งการเรียนรู้เลยครับ มีผลต่อการเรียนรู้ของคนเรามาก ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณต้องมีความเชื่อสามอย่าง คือ หนึ่ง-รักงานท้าทายและเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส สอง- รู้จักให้ และสาม-เมื่อช่วยเหลือตัวเองได้แล้วต้องช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
“ผมว่าความเชื่อสามอย่างนี้ ถ้ามันเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราเมื่อไหร่ มันจะขับเคลื่อนให้เราพัฒนาตนเองไปโดยอัตโนมัติ เราจะมองหาเรื่องท้าทายทำไปเรื่อยๆ การทำงานที่ท้าทายจะยกระดับตัวเราขึ้นไป และมันจะขับเคลื่อนให้เราไปอยู่ในจุดที่ถูกต้องได้เอง” อาจารย์วิริยะผู้ใช้ความเชื่อเป็นแรงผลักดันในกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองกล่าว
ส่ิงที่อาจารย์วิริยะ เล่าให้เราฟังเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่า เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขอบเขต และอย่างไม่มีข้อจำกัด จริงๆ
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณป๊อด – ธนชัย อุชชิน การเรียนรู้ ผ่านความสนุกและความสงบ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับเราได้
คุณแตง – อาบอำไพ รัตนภาณุ เรียนรู้จากวิชาชีวิต ด้วยการเป็นนักเรียนวิชาธรรมชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง