เรียนรู้จากธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเป็นครู เพราะว่าถ้าเราอยากจะอยู่รอดในวิกฤติ เราต้องทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติมีคำตอบมากมาย และ มีปัญญาหลายอย่างซ่อนอยู่ และกำลังรอเราไปค้นหา
ในบทความนี้เราจะมาพูดคุยและทำความเข้าใจกันมากขึ้น ในเรื่องของความสำคัญที่ว่า เรียนรู้จากธรรมชาติ เป็นอย่างไร? จากมุมมองของ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
นักถ่ายทอดจากธรรมชาติ
ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ บอกว่าเธอเป็นคนเมืองรุ่นสุดท้ายที่ได้ใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ นั่นจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ในปัจจุบันเธอทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการนักสืบสิ่งแวดล้อม จักรยานกลางเมือง หรือพลเมืองเปลี่ยนกรุง
ดร. สรณรัชฎ์ มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติจากความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของเธอ และการชี้ให้สังคมมองเห็นถึงความงามและความเชื่อมโยงที่แท้จริงของธรรมชาติกับมนุษย์นั้นคือหนึ่งในงานที่เธอพยายามทำมาโดยตลอด
ผสานกายและใจไปกับธรรมชาติ
ทั้งแนวคิดการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Tranformative Learning) ล้วนแต่เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เรื่องราวการเรียนรู้ ความสนใจ และเนื้องานที่ ดร.สรณรัชฎ์ ทำมาตลอดชีวิตยืนยันว่าเธอคือนักเรียนรู้ที่ผสมผสานแนวคิดการเรียนรู้ทั้งสองรูปแบบไว้ในตนเองอย่างกลมกลืน และสิ่งที่เธอสนใจจนอาจถือว่าเป็นครูที่ได้มอบ ‘ความเข้าใจ’ ต่างๆ ให้มากที่สุดก็คือ ธรรมชาติ นั่นเอง
“เราเน้นการเรียนรู้จากธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเป็นครู เพราะว่าถ้าเราอยากจะอยู่รอดในวิกฤติสิ่งแวดล้อม เราต้องทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ น้อมรับธรรมชาติรอบตัวเข้ามาช่วยชีวิตของเรา เพราะในธรรมชาติมีคำตอบมากมาย ปัญญาหลายอย่างซ่อนอยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา ถ้าเราไม่เรียนรู้จากธรรมชาติเราก็จะไม่มีทางออก เพราะว่าปัญญาดั้งเดิมที่คนรุ่นก่อนหน้าเราสะสมมามันได้เห็นผลแล้วว่าทำลายโลกไปแค่ไหน เราใช้วิธีเดิมไม่ได้แล้ว ต้องใช้เรียนรู้ใหม่ๆ” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวถึงการเรียนรู้จากธรรมชาติ เธอยกตัวอย่างด้วยการตั้งคำถามให้เห็นภาพว่าในเรื่องการสร้างบ้านเรือนของคนเราในยุคต่อไปนั้นจำเป็นต้องใช้วิธีระเบิดภูเขาเพื่อทำปูนซีเมนต์หรือไม่ และเธอชี้ให้เห็นว่าบางครั้งเราอาจเรียนรู้เรื่องนี้และหาคำตอบจากเพื่อนร่วมโลกอย่างปะการังและหอยก็เป็นได้
ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวว่า ธรรมชาติมีความลึกซึ้งและสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากกว่าที่หลายคนคิด ระบบการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากการคิดวิเคราะห์ภายในสมองเท่านั้น เพราะก่อนที่สมองจะเริ่มวิเคราะห์นั้น ร่างกายของเราได้มีการสังเกตเพื่อรับข้อมูลผ่านระบบประสาทสัมผัสที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัวอย่างลึกซึ้ง
ภายในที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอก
“ทำไมเราต้องเรียนรู้จากธรรมชาติ” ดร.สรณรัชฎ์ ตั้งคำถามกับเราว่า “เพราะเราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ถ้าเราไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเองว่ามันสัมพันธ์กับข้างนอกเราก็จะมีปัญหาในการดำเนินชีวิตมากมาย”
ดร.สรณรัชฎ์ บอกว่า วิธีปฏิบัติในการทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับธรรมชาติว่ามนุษย์ต้องสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ลดทอนการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี เช่น โซเชียลมีเดีย
“ทุกวันนี้เราอยากรู้อะไรก็เปิด Google ซึ่งมันก็ดีที่เราจะเข้าถึงข้อมูลได้เยอะ แต่การใช้เทคโนโลยีพวกนี้เยอะก็เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสของเรา แต่เป็นประสาทสัมผัสแค่แบบหยาบๆ ถ้าเราทำตัวช้าลง ปิดจอ ปิดมือถือ เราจะสามารถรับรู้อะไรได้ละเอียดขึ้น ทุกๆ คนจะต้องมีอย่างน้อยชั่วขณะหนึ่งในชีวิตที่รู้สึกเป็นสุขมาก รู้สึกปิติ สุข สงบ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
เราต้องย้อนไปคิดว่าชั่วขณะนั้นมันคือช่วงไหนของชีวิต อาจจะเป็นคืนวันหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาแล้วเห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้า เพราะช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่คลื่นสมองของเราอยู่ในจังหวะที่ช้าลง การที่เรารับรู้อย่างละเอียดขึ้นคือเราสามารถสัมผัสถึงการเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหมา แมว ต้นไม้ ใบหญ้า แสงดาว หรือสิ่งใดต่างๆ ก็ตาม รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งเหล่านั้น” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์เรา
เติบโตแบบธรรมชาติ
ในวัยเด็กของ ดร.สรณรัชฎ์ เธอเติบโตมากับธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์จึงทำให้เธอมีความผูกพันกับทุกสรรพสิ่งรอบกาย เมื่อเติบโตขึ้นความสนใจของเธอจึงอยู่ที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นด้านหลัก แม้ว่าเธอจะใช้เวลาค้นหาตัวตนตามประสาเด็กด้วยการเข้าเรียนด้านศิลปะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เมื่อรู้ตัวว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอสนใจอย่างแท้จริง เธอจึงค้นหาทางสายใหม่ด้วยการทดลองสายงานที่หลากหลาย เช่น การเป็นล่ามให้นักข่าว ทำงานโฆษณา แม้กระทั่งตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่าเป้นกระบวนการเรียนรู้ในการแสวงหาตัวตนที่ชัดเจน ซึ่งไม่มากก็น้อยได้ขัดเกลาให้เธอมีความคิดและทักษะที่แหลมคมมากขึ้น
หลังจากชัดเจนในตัวเองมากขึ้น เธอเลือกกลับไปศึกษาต่อปริญญาตรีด้านโบราณคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาขาที่ทำให้เธอค้นพบความสุขจากการเรียนรู้อย่างแท้จริง
“โบราณคดีกับภูมิศาสตร์นั้นมีความคล้ายคลึงกันแต่ต่างกันที่ช่วงของเวลาโบราณกับเวลาปัจจุบัน ทั้งสองศาสตร์เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์หรือของสรรพสิ่งในโลกใบนี้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาก ยิ่งเมื่อได้เรียนลึกลงไปถึงการเชื่อมโยงของภูมิศาสตร์และระบบนิเวศวิทยาต่างๆ ยิ่งทำให้เข้าใจและเห้นคามเชื่อมโยงทั้งหมด ความสนใจที่หลากหลายของเราเริ่มต่อกัน เอาทุกอย่างที่เราสนใจมาร้อยเรียงเชื่อมโยงได้ทำให้เป็นการเรียนที่มีความสุขมาก” ดร.สรณรัชฎ์ ย้อนถึงการเรียนรู้ที่เป็นต้นทางให้เธอสนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
“แต่การเรียนด้านโบราณคดีที่ต้องนำมาประยุต์กับนิเวศวิทยาในยุคปัจจุบันยิ่งทำให้เราค้นพบคำตอบที่เอาไปใช้งานได้ พบความรู้ที่มีประโยชน์โดยตรง ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก” ดร.สรณรัชฎ์ เล่าให้ฟังอย่างมีความสุข
เรียนรู้จากการสำรวจตัวเอง
ดร.สรณรัชฎ์ ให้ความสำคัญกับการสำรวจตัวเอง และการใช้ชีวิตของเธอนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีในการค้นหาตัวตน ค้นหาสิ่งที่ใช่ เธอไม่เพียงคิดเท่านั้นแต่ยังลงมือทดลองปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบจากสมมติฐานแห่งชีวิตที่เธอตั้งเอาไว้
“เราให้เวลาในการสำรวจและใช้เวลาในการทดลอง ซึ่งเราคิดว่าไม่แปลกเพราะสำหรับบางคนเขาอาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยเพื่อหาตัวเองว่าชอบอะไร เป็นต้นว่าตอนที่เราจบมัธยมที่อังกฤษ แล้วก็เป็นเรื่องปกตินะคะที่เด็กที่นั่นจะไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยในทันที เขาเรียกว่าเป็น Gap Year ซึ่งมันเป็นเรื่องดีที่เราจะได้เปิดโลกกว้างและได้ลองทำหลายๆ อย่าง ต้องไปหลายๆ ที่ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้เห็นอะไรเต็มไปหมด ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับเด็กบางคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และนี่คือความสำคัญที่เราต้องเปิดพื้นที่กว้างๆ เอาไว้เพื่อการสำรวจตัวเอง” เธอแนะนำจากประสบการณ์ของตนเอง
จากช่วงเวลาที่ค้นหาตัวเองและค้นพบศาสตร์ที่ตนเองสนใจและหลงใหล ดร.สรณรัชฎ์ ก็ได้ต่อยอดการเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านนิเวศวิทยา หลังจากนั้นเธอเข้าร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียวเพื่อทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในหลายๆ ระดับ
“การได้ทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติที่เหมาะกับตัวเราเอง เพราะจากการทำงานทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร”
ดร.สรณรัชฎ์ บอกและเล่าว่าความสนใจในการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เคยได้สัมผัสกับธรรมชาติแบบใกล้ชิด
“เราเป็นคนเมืองรุ่นสุดท้ายที่ได้สัมผัสธรรมชาติตรงๆ เช่น ยืนอยู่บนหาดศรีราชาแล้วได้เจอลูกฉลามมาเกยตื้นเราก็ต้องขุดบ่อช่วยชีวิตมัน นั่นคือชีวิตปกติในวัยเด็ก เราจะเข้าถึงความ wild ได้ง่ายๆ เพราะตอนนั้นธรรมชาติยังไม่ได้ถูกมนุษย์ควบคุม แต่ต่อมาด้วยการพัฒนาทำให้สิ่งที่เคยเข้าถึงได้ง่ายกำลังหายไป
เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นเดียวกับเราจึงมาทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเรามีความผูกพันและมีประสบการณ์ที่ดีในวัยเด็กที่เติบโตมากับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการทำงานอนุรักษ์ก็คือการทำงานในเรื่องที่เราแคร์ กับสิ่งที่เรารัก” ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว อธิบายถึงความหลังที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ด้วยหัวใจของเธอ
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณโรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ด้วยวิธีการสอนที่ถูกต้องและถูกจริตกับเขา
เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง เรียนรู้ผ่านการทำงาน กับผู้คนและชุมชน เพื่อดึงศักยภาพที่พวกเขามีอยู่แล้วออกมา