เรียนรู้จากวิชาชีวิต ถือว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญเช่นกัน เพราะหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตก็ไม่สามารถหาเรียนได้ในห้องเรียน
คุณแตง – อาบอำไพ รัตนภาณุ ก็เป็นเช่นเดียวกับเด็กนักเรียนทั่วไปที่เติบโตขึ้นมาตามระบบการศึกษา แต่การเรียนในห้องเรียนไม่ได้ทำให้เธอตอบคำถามที่มีในใจได้ทั้งหมด จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญของเธอมาถึงจากโอกาสในหน้าที่การงาน เมื่อเธอได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์พูดคุยกับอาจารย์ยักษ์ – ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร และนั่นคือกุญแจสำคัญที่เข้ามาเปิดประตูบานใหม่ที่สามารถตอบคำถามที่มีมาตลอดชีวิตได้อย่างชัดเจน
คุณแตง ได้พบจุดเปลี่ยนชีวิตตนเองหลังลาออกจากงานประจำและเดินทางเรียนรู้วิชาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติกับอาจารย์ยักษ์เป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเกษตร แต่คือวิธีคิดในการดำเนินชีวิตที่ไม่ว่าประกอบอาชีพใดก็สามารถนำมาปฏิบัติได้ ต่อมาเธอได้รับโอกาสให้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในฐานะครูของโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย หรือ ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่นร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ในวันที่ได้ค้นพบแรงบันดาลใจ
คุณแตง – อาบอำไพ รัตนภาณุ จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีตามแบบฉบับของชนชั้นกลางที่ได้บ่มเพาะความรู้จากหลักสูตรของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ยักษ์ – ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่เข้ามาเปิดประตูบานใหม่นำพาให้เธอได้ออกไปสัมผัสกับโลกแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
คุณแตง เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของเธอว่า
“ตอนที่ไปสัมภาษณ์อาจารย์ก็เป็นเพียงงานหนึ่งที่เราได้รับมอบหมายเฉยๆ แต่พอได้ฟังอาจารย์พูดก็ทำให้เราสนใจขึ้นมา เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยในชีวิต”
นอกจากนี้ คุณแตงยังบอกกับเราอีกว่า “เราเคยได้ยินเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ผ่านช่องทางต่างๆ แต่ก็เป็นการฟังแล้วผ่านเลยไป พอได้ฟังอาจารย์ยักษ์อธิบายแล้ว เป็นการอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายและทำให้รู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราเคยได้ยินมาก่อน พอได้ยินได้ฟังเราก็สนใจอยากรู้ว่าแล้วของจริงเป็นยังไง”
หลังจากนั้น คุณแตง ก็ได้มีโอกาสได้ติดตาม ดร. วิวัฒน์ ไปลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาในหลายจังหวัด และในที่สุด ประตูบานใหม่ของเธอก็ได้เปิดออก นี่แหละ คือ เรียนรู้จากวิชาชีวิต
“สิ่งที่ได้ไปเห็นจากการลงพื้นที่ ลงไปสัมผัสปัญหาจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เห็นการตัดไม้ทำลายป่าแล้วนำมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งผลกระทบกับคนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คนที่ทำอย่างนั้นเขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลกระทบไปถึงขนาดไหน ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ความผิดของเขา ระบบเศรษฐกิจต่างหากทำให้เขาต้องทำสิ่งนั้น บีบบังคับให้เขาต้องปลูกพืชชนิดนี้เพื่อมุ่งหาเงินเลี้ยงชีพให้อยู่รอด” เธอเล่าถึงสิ่งที่พบเจอซึ่งทำให้เธอฉุกคิดถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต
ตัดสินใจลงมือทันที
ความสงสัยที่ผุดขึ้นในใจเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักให้เธอกระโจนเข้ามาในโลกแห่งการเรียนรู้ครั้งใหม่ สิ่งที่เธอค้นพบในเบื้องต้นก็คือถ้าไม่มีใครสานต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง ความพยายามของผู้ที่ทำมาก่อนก็จะสูญสลาย แนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างดีขึ้นค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาในหัวใจของคนหนึ่งคน ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ด้วยการลาออกจากงานประจำและขอติดตามอาจารย์ยักษ์ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่นอกห้องเรียน บทเรียนที่เธอเฝ้าหาคำตอบจึงได้เริ่มต้นขึ้น
“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรใหญ่โตเลย คิดแค่ว่าอยากทำตัวให้มีประโยชน์มากกว่านี้ เพราะเรารู้สึกว่าหลังจากที่อุตส่าห์ตั้งใจเรียนมาตั้งเยอะ อุตส่าห์ตั้งใจทำทุกอย่างกว่าจะจบปริญญา และมาทำงาน การเป็นเพียงผู้เล่นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแบบทุนทำให้เรารู้สึกเป็นประโยชน์น้อย ตอนนั้นก็เป็นช่วงวัยที่ยังแสวงหา เรารู้สึกเราไม่เก่งอะไรสักอย่าง หลายคนอาจจะเจอวิกฤตินี้เหมือนกับเรา จังหวะนั้นพอเราเห็นสิ่งใหม่นี้และน่าจะตอบคำถามเราได้จริงๆ เราก็พร้อมกระโดดออกไปลุย พอออกไปแล้วทำให้เราเจอว่าโลกที่เราโตมา เราคิดว่ามันกว้างแล้วแต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้กว้างเลย โลกที่เรายังไม่ได้รู้จักนั่นแหละกว้างกว่าเยอะ ยิ่งไปในโลกกว้างยิ่งได้เจอ ได้เรียนรู้โลกใหม่ๆ”
แต่การเริ่มต้นบางครั้งก็ไม่ได้สวยหรูเสมอไป เช่นเดียวกับการเริ่มต้นใหม่ของนิสิตอักษรศาสตร์ที่ต้องมาเรียนรู้การทำงานในสนามใหม่ๆ ด้วยความที่ประสบการณ์ทำงานภาคสนามน้อยทำให้แตงต้องเรียนรู้ใหม่แทบทุกอย่าง ตั้งแต่จุดไฟหุงข้าว จับจอบ เรียนรู้วิธีขุดดิน ซึ่งเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยช่วยอะไรเธอไม่ได้มาก แต่ความยากลำบากไม่ได้เป็นปัญหา เพราะหัวใจที่เต็มไปเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นของเธอไม่ได้ทำให้เธอถอยหลังเลยแม้แต่น้อย
ลงมือปฏิบัติควบคู่ไปกับทฤษฎี
ตลอดระยะเวลาที่การเรียนรู้ดำเนินไป การนั่งอ่านหรือนั่งฟังในห้องเรียนไม่สามารถตอบโจทย์คำถามในหัวใจได้ทั้งหมด หากแต่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งผ่านการปฏิบัติจริงควบคู่กันไป การลงพื้นที่ทำให้แตงได้พบกับภูมิปัญญาต่างๆ รวมถึงวิธีการแบบบ้านๆ ที่ทำให้เธอต้องแปลกใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะพบเจอได้จากในห้องเรียนแบบที่เธอคุ้นเคย
คุณแตง เล่าให้เราฟังว่า “เราได้ไปลงพื้นที่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่โรงเรียนนั้นมีบ่อน้ำที่ไม่สามารถเก็บน้ำได้ อาจารย์ยักษ์จึงแนะนำให้แก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษคือเอาขี้วัวมาย่ำเพื่อยาพื้นหนองน้ำ โดยเราต้องย่ำแล้วปล่อยให้แห้งแล้วก็ยาใหม่ซ้ำทั้งหมดสามรอบถึงจะเก็บน้ำได้ พอทำเสร็จคืนนั้นฝนตกพอดี ปรากฏว่าตื่นเช้ามามีน้ำขังในบ่อน้ำ มันทำให้เราเห็นว่าทั้งๆ ที่บ่อน้ำนี้เคยมีคนพยายามแก้ปัญหาด้วยหลายวิธี ทั้งใช้ทั้งยาง ปูน พลาสติกมารองก้นบ่อก็ยังเก็บน้ำไม่อยู่ แต่พอใช้ขี้วัวกลับเก็บน้ำอยู่ มันทำให้เราทึ่งกับภูมิปัญญา เรามาเข้าใจคำนี้อย่างชัดๆ ปัญญาที่คู่กับภูมิ แปลว่าความรู้ที่เหมาะกับที่นั้นๆ หลังจากนั้นเราจึงสนใจมากเลยว่าคำว่าความรู้ที่เหมาะกับพื้นที่นั้นมันมีอีกไหมและมีอะไรอีกบ้าง ทำไมมันน่าตื่นเต้นขนาดนี้ สิ่งที่เรารู้เราเรียนมามันไม่มีคำตอบแบบนี้เลย”
“เราจึงตามไปศึกษาอีก ก็ไปพบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงทำอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะอาจารย์ยักษ์มักจะแนะนำว่าให้ลองไปค้นข้อมูลเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ทำให้เราได้ไปหาอ่านพระราชดำรัสเป็นจำนวนมาก ได้ตามไปดูทุกอย่างที่ท่านทรงทำให้ได้มากที่สุด เข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง นั่นทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเรามีเป้าหมายแล้ว ปักธงในใจแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราหยุดศึกษาได้ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเข้าใจก็สามารถสื่อสารส่งต่อกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น”
เธอเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การลงพื้นที่ที่ทำให้เธอเกิดคำถามและสงสัย นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จุดประกายเป็นแสงนำให้เธอได้เดินไปในเส้นทางใหม่อีกครั้ง นั่นก็คือ เรียนรู้จากวิชาชีวิต ของผู้คนจริงๆ ด้วยการลงไปทำจริงๆ ด้วย
คุณแตง เล่าให้เราฟังว่า “ตั้งแต่เด็ก ชีวิตเราเรียนเรื่องยากมาตลอด การที่เราทำความเข้าใจอะไรบางอย่างบางเรื่องที่ยาก มันต้องทำอย่างอุตสาหะมากเลย แต่ว่าสิ่งที่ปฏิบัติในวิถีชีวิตด้วยภูมิปัญญาจริงๆ กลับทำแล้วได้ผล ไม่ต้องซับซ้อน มีอยู่คำหนึ่งที่เราอ่านมาจากงานของ ดร.แสวง รัตนมงคลมาตย์ ท่านพูดว่า Conception without Perception is Empty , Perception without Conception is Blind คือ ถ้ามีความคิดแต่ปฏิบัติไม่เป็นมันก็คือความว่างเปล่า แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเดียวโดยไม่รู้แนวคิดทฤษฎีก็ต้องคลำไปอย่างมืดบอด สองอย่างนี้ต้องทำคู่กันเสมอ ไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะเกิดผลได้จริง”
ส่งต่อความรู้ คือ การเพิ่มความรู้
การตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาติดตามอาจารย์ยักษ์ไปทุกที่ด้วยความมุ่งมั่นทำให้เธอได้เรียนรู้แบบก้าวกระโดด ระยะเวลา 4 ปีแรกที่ออกทำงานด้านการสร้างความพอเพียงทำให้เธอรู้สึกว่ามันแตกต่างกับ 4 ปีในมหาวิทยาลัยมาก และการเรียนรู้แบบมีหลักการพร้อมกับความตั้งใจลงมือปฏิบัติได้ส่งผลให้เธอเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับความรู้สึกที่อยากจะใช้ชีวิตให้มีความหมาย จนกระทั่งได้เข้ามาเป็นครูที่ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง หรือโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีใหม่ สอนวิชากสิกรรมธรรมชาติและวิชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องหรือโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีกสิกรรมธรรมชาติที่มุ่งเน้นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิตผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบให้เกิดความต้องการจะเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวนักเรียนเอง นักเรียนจะสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเขาได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบังคับ ด้วยวิธีการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ
“เราไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสร้างเด็กและชุมชนและครอบครัวให้ไปแข่งขันอยู่ในโลกการค้าเสรี ต้องชนะเป็นที่ 1 ได้กำไรสูงสุดเสมอ แต่เราสอนให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน สอนให้เด็กรู้จักการให้ สอนให้พึ่งพาตนเอง อยากกินข้าวปลูกข้าว อยากได้โต๊ะก็ต่อโต๊ะขึ้นมา แต่เราก็ไม่ได้เป็นเศรษฐกิจแบบหลังเขาที่ต้องทำทุกอย่างเองหรือตัดขาดจากเพื่อนบ้านรอบข้างเลย เด็กมีโทรศัพท์มือถือใช้ โรงเรียนมี Wifi นักเรียนได้เดินทางไปเรียนรู้กับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทั่วประเทศไทยและต่างประเทศด้วย ”
นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องทฤษฎีและวิธีการลงมือปฏิบัติในงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและจากการทำงานเพื่อสังคมมาตลอดระยะเวลา 7 ปี เธอยังได้เรียนรู้ตัวตนเธอเองและเติบโตไปพร้อมกับบทบาทหน้าที่เพื่อสังคมเช่นกัน
“การทำงานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เรารู้จักตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้เราเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงผิดไป นึกว่าต้องประหยัดอดออม หรือต้องไปทำนา ต้องอยู่แบบจนๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย การมาสัมผัสคนที่ทำจริงเปลี่ยนความคิดไปเลย ถ้าอธิบายตอนนี้ก็คงจะตอบว่า เศรษฐกิจพอเพียงแปลว่าพอดี คำว่าพอดีคือคุณต้องรู้จักตัวเองก่อน ทำอะไรที่พอดีกับตัวเรา”
“ความพอเพียงในแบบของเราไม่ได้หมายความว่าพอแล้ว พอแค่นี้ ไม่เอาอีกแล้ว แต่มันหมายความถึงการรับรู้ว่าจะต้องเดินต่อไปได้อีกกี่ก้าว”
และนั่นคือแนวคิดที่ถูกกลั่นกรองจากประสบการณ์ความมุ่งมั่นและหลักการเรียนรู้อย่างเป็นระบบของเธอ
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ คุณแตง – อาบอำไพ รัตนภาณุ
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณอุ๋ย – นที เอกวิจิตร ความรู้ ไม่ต้องเสียเวลาตามหา เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้รอบตัวเรา