เรียนรู้ผ่านการทำงาน ก็ถือเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบนึง การ เรียนรู้ผ่านการทำงาน ร่วมกับชุมชน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการ ที่จะทำให้เราเข้าใจศักยภาพและความสามารถของพวกเขา และ สามารถช่วยพวกเขาดึงศักยภาพของวิถีชีวิตที่เขามีอยู่แล้วออกมา
“ภูคราม” เป็นแบรนด์ผ้าฝ้ายย้อมมือจากจังหวัดสกลนครที่เกิดจากการศึกษาเรื่องราวและรากเหง้าของชุมชนบ้านเกิดตัวเองของ เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง
เธอเป็นอดีตนักประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีบ้านเกิดอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่เดินทางไปเรียนต่อและทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหนาครเป็นระยะเวลาหลายปี เมื่อเสียงในหัวใจเรียกร้องให้กลับบ้าน ปิลันธน์ใช้ความรู้ความสามารถที่เธอมีมาปรับใช้กับบ้านเกิดของตัวเองเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนอย่างเต็มความสามารถ
ทุกวันนี้ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านและความมีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปิลันธน์ได้สามารถสร้างแบรนด์เล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะแบรนด์สินค้าและในฐานะผู้นำที่ได้สร้างเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้กับบ้านเกิดของตนได้อย่างแท้จริง
ตรวจสอบภายในตนเอง
ก่อนหน้านี้คุณเหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง ทำงานเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชน หน้าที่ของเธอคือการลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัยชุมชนเป้าหมายเพื่อค้นคว้าข้อมูล เรื่องราว และความเป็นมาเป็นไปของชุมชนและคนในชุมชนนั้นๆ
“การทำงานของเราในตอนนั้น เราไม่ได้ทำวิจัยแบบเน้นประวัติศาสตร์มาก เราเน้นการลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เยอะ เป็นการทำงานเชิงบูรณาการ เกี่ยวกับวัฒนธรรม เกี่ยวกับชุมชนในปัจจุบัน วิถีชีวิตเขาเป็นยังไงบ้าง เพราะคำว่าชุมชนคือองค์รวมของสังคม ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม” การทำหน้าที่ดังกล่าวทำให้เธอต้องเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน และเมื่อถึงจุดหนึ่งการทำงานใกล้ชิดกับชุมชนอื่นๆ ได้เร้าความรู้สึกภายในให้เธอคิดอยากกลับไปหาชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง
“เรามีความคิดที่อยากจะกลับไปอยู่บ้านตั้งแต่ตอนที่เรียนจบ แต่บังเอิญได้งานทำที่กรุงเทพฯ ก่อนจึงอยู่มาเรื่อยๆ แต่ถึงจุดหนึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 30 ปี เรารู้สึกว่าไม่เห็นเป้าหมาย ไม่เห็นทิศทางของชีวิต แต่สิ่งที่เห็นชัดในความรู้สึกเลยคืออยากกลับบ้าน อยากอยู่กับพ่อแม่ อยากทำงานอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเอง” เหมี่ยว ปิลันธน์ เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอในอดีต
เมื่อความรู้สึกในจิตใจเรียกร้องหนักขึ้น เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานและกลับไปตั้งหลักปักฐานที่บ้านเกิดอย่างเต็มตัว และได้เริ่มต้นใช้ความรู้ความสามารถจากประสบการณ์ในการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนของเธอเอง
“ก่อนออกจากงานเราก็มีความกล้าๆ กลัวๆ ที่จะออกจากงานเหมือนกันนะคะ แต่เรากล้ามากกว่ากลัว เพราะเป้าหมายเราอยู่ที่บ้าน พอกลับมาบ้านเราก็คิดว่าเราสามารถที่จะทำหลายๆ อย่างได้ เราเห็นลู่ทางของการพัฒนาชุมชนที่เรารัก เห็นลู่ทางในการทำงานเกี่ยวกับวิถีชีวิต เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และเห็นลู่ทางในการทำงานกับผู้คน” เธอกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์ภูคราม
นำความเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชนด้วยแบรนด์ภูคราม
เหมี่ยว ปิลันธน์ เล่าว่าก่อนเธอเริ่มต้นทำแบรนด์ภูครามโดยศึกษาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนของตัวเอง เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้วเธอจึงนำความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างชีวิตชีวาให้กลับคืนมาสู่คนในชุมนอีกครั้งหนึ่ง
“เราลงมือค้นหาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่ว่าเขามีอะไรดี เขามีประวัติศาสตร์อย่างไร มีชีวิตแบบไหน จึงเป็นที่มาที่เราทำแบรนด์ผ้าฝ้ายทอมือภูครามขึ้นมา เพราะเราพบว่าชาวบ้านที่นี่มีภูมิปัญญาเรื่องการปลูกฝ้าย ทอฝ้าย และย้อมครามอยู่ในสายเลือดของเขาอยู่แล้ว
“ภูครามทำผ้าฝ้ายทอมือ ดึงเส้นฝ้ายด้วยมือ เพราะคอนเซ็ปต์ของเราคือเราอยากจะให้การทำงานดึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขาออกมาเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้เอาไว้ คนที่นี่เราเคยปลูกฝ้าย เราเคยทอผ้าเอง เราเคยย้อมผ้าด้วยวิธีธรรมชาติแบบนี้กันมา สิ่งที่เราทำคือการดึงศักยภาพของพื้นที่ ศักยภาพของประวัติศาสตร์ และศักยภาพของวิถีชีวิตที่เขามีอยู่แล้วออกมา” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ภูครามกล่าวถึงแนวคิดสำคัญ
ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ปิลันธน์ให้ความสำคัญกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก ด้วยถือว่าชาวบ้านคือหัวใจสำคัญในการทำงาน เธอจึงเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นและแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจิตวิญญาณของพวกเขาจะสะท้อนความเป็นท้องถิ่นออกมาในงานได้อย่างชัดเจน
“เราอยากให้คนในพื้นที่เขาอนุรักษ์ความรู้ในท้องถิ่นของเขา อยากให้คนในพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเขา เพราะว่าภูครามทำงานในหมู่บ้านเล็กๆ ของเรา เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่ดูแลที่นี่ใครจะมาดูแล เราก็เริ่มต้นจากบ้านของเรา ลายดอกไม้ลายต้นไม้ที่เราปักลงไปบนผ้าคือเงาสะท้อนของคนในชุมชนที่ออกมา เราอยากให้เขาสะท้อนความงามเหล่านี้โดยการให้ชาวบ้านคิดงานด้วยตัวเองว่าดอกไม้ของเขา บ้านของเขา วิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างไร คนที่จะสะท้อนได้ดีที่สุดก็คือตัวเขา”
เรียนรู้จากการทำงานกับชาวบ้าน
“เราให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทั้งความคิดและความรู้สึกของเขา” ปิลันธน์เล่าวิธีการทำงานกับชาวบ้านชาวภูพาน “การทำแบรนด์ภูครามเป็นงานที่เกี่ยวกับชุมชนเกือบ 100% มันเป็นแบรนด์ส่วนตัวก็จริง แต่เราอยากเอากระบวนการทำงานที่ผ่านมาของเรามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแนวความคิดในการพัฒนา การมีส่วนร่วม เราไม่อยากให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจมาเป็นอันดับแรก แต่เราให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เราจึงต้องย้อนไปถึงเรื่องการทำผ้าว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมถึงเป็นผ้าฝ้าย ทำไมถึงมีวิธีการทอผ้าแบบนี้ พัฒนาขึ้นเป็นคอนเซ็ปต์ของภูคราม”
เธอบอกว่าเธอใช้เวลาในการพัฒนาสินค้าในแบรนด์ภูครามเป็นเวลาหลายปี การทำงานในแต่ละขั้นตอนเหมือนกับการทำงานวิจัยที่ไม่มีรูปแบบและไม่มีการวางแผนตายตัว สิ่งที่ค้นพบในแต่ละขั้นตอนมีส่วนในการกำหนดให้เกิดการเรียนรู้และเกิดเป็นรูปแบบของแบรนด์ภูครามในเวลาต่อมาอย่างชัดเจน
“เราค่อยๆ ศึกษา พัฒนา วิจัย แต่เป็นการวิจัยเล็กๆ ที่ไม่มีการบันทึก ในแต่ละขั้นตอนเราค่อยๆ เรียนรู้ว่าถ้าเราทำแบบนี้มันจะเป็นยังไง แต่หลักสำคัญที่เป็นแก่นกลางตั้งแต่แรกคือเราอยากให้คนที่ทำงานกับเรามีความสุข อยากให้เขาคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้หมายถึงความสุขที่แฮปปี้อะไรแบบนั้น แต่อยากให้เขามีความสุขแบบเรียบง่าย ให้เขาได้ทำงานที่เข้ากับวิถีชีวิตของเขา เขาจะได้ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานในเมืองหรือที่อื่นแบบที่เราเคยไป”
ในระยะเริ่มต้นของการทำงาน “ตอนแรกทำงานกับกลุ่มเล็กๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด เพราะเขายังไม่เห็นภาพว่าเขาจะอยู่กินยังไง เราจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ยังไง เพราะเขาก็มีทางเลือกในการทำไร่ทำนา แต่พองานเรามันเข้ามาเป็นสิ่งใหม่ เขาก็จะไม่ค่อยกล้าในตอนแรก แต่ต่อมาพอเขาอยู่ได้จริง คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น คนอื่นๆ ก็เริ่มตามเข้ามา แล้วเขาก็จะเป็นคนที่สนับสนุนการทำงานของเราต่อไปกันเอง”
อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานที่อาศัยวิธีการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน ในแง่ดีคือการได้ใกล้ชิด สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันได้โดยง่าย หากแต่ในอีกแง่หนึ่งการทำงานแบบไร้กรอบไร้กฎเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการลองผิดลองถูก ทั้งปิลันธน์และชาวบ้านที่เข้ามาร่วมงานจึงต้องเกิดการเรียนรู้และปรับตัวในการทำงานซึ่งกันและกันพอสมควร
“เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการทำงานภูครามเป็นงานที่เราไปสร้างความหวังให้กับชาวบ้าน เราจึงต้องทำงานกับความรู้สึกของคน และมันเป็นงานศิลปะด้วย เราต้องทำงานกับคนจำนวนมากโดยที่ทุกคนมาเรียนรู้พร้อมกัน ถ้าเราทำงานด้วยการมีออฟฟิศ มีกฎกติกาตั้งเอาไว้ เราก็จะสามารถคัดคนได้ แต่รูปแบบของเราคือการทดลองหาว่ารูปแบบของเราควรจะเป็นยังไง ทุกคนจึงต้องค่อยๆ ตกผลึกไปพร้อมกัน ข้อดีคือมันจะมีความยืดหยุ่นสูง แต่ความยืดหยุ่นนี้มันจัดการยากเหมือนกัน” ปิลันธน์กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ
คุณเหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง กล่าวว่า เธอเชื่อเรื่องการเรียนรู้และเห็นความสำคัญในประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน และเนื่องจากการที่แต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกันก็ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละบุคคลในแต่ละวันที่ดำเนินไป และหากให้เธอย้อนมองกลับไปในชีวิตของเธอเองเธอก็พบร่องรอยแห่งประสบการณ์และการเรียนรู้ที่พาให้เธอเดินมาถึงจุดนี้อย่างชัดเจน
เรื่องราวอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ คุณเหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง
จากโครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โครงการ พื้นที่เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
โจน จันใด ประสบการณ์ที่เลวร้าย ก็ถือเป็นครูอีกคนนึง ที่ให้บทเรียนที่ยากที่สุดให้แก่เรา
ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน เราก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เราชอบได้
ครูไอซ์ – ดำเกิง มุ่งธัญญา Mindset ที่ดี สามารถช่วยให้เรา ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตได้